เก็บตกวิทยากร (80) : ทบทวนตัวตน ผ่านตาราง 4 ห้องหัวใจ (สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ มมส.)


ผมให้นิสิตแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั้ง 4 ประเด็นให้เพื่อนในกลุ่มได้ร่วมรับรู้ เป็นกระบวนการฝึกทักษะการสื่อสารที่เน้นการ “เล่าเรื่อง” (Story telling) ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในมิติละลายพฤติกรรมและแบ่งปันต้นทุนชีวิตและการเรียนรู้ต่อกันไปในตัว พอๆ กับการฝึกทักษะหลายทักษะ อาทิเช่น  ทักษะการฟัง ทักษะการทบทวน/ถอดบทเรียนตัวเอง ทักษะการทำงานบนฐานข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง หรือสถานการณ์จริง ทักษะการทำงานแข่งกับเวลา

จากบันทึกที่แล้ว - เก็บตกวิทยากร (79) ความคาดหวังและเหตุผลของการเข้าสู่ถนนสายกิจกรรม (สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ มมส.)/posts/713020  

 

 

โครงการ “เตรียมความพร้อมแกนนำต้นกล้าและคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ ประจำปีการศึกษา 2566” ที่จัดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 โดยฝ่ายพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะการดำเนินงานด้านกิจกรรมนิสิต หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร

 

 

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  ผมและทีมงาน จึงเปิดเวทีภาคทฤษฎีในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานเรื่องกิจกรรมนิสิต”  บรรยายโดย คุณสุริยะ สอนสุระ หัวหน้างานกิจกรรมนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า

  • ความหมายขององค์กรนิสิต
  • ที่มา / ประเภทองค์กรนิสิต และบทบาทขององค์กรนิสิต
  • ประเภทของระบบและกลไก 4 ด้านขององค์กรนิสิต
  • นโยบายเชิงรุกด้านการพัฒนานิสิต
  • หมุดหมาย/ปรัชญาการเรียนรู้ (ปรัชญา-เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย ค่านิยมการเป็นนิสิต อัตลักษณ์นิสิต)
  • Soft skills
  • ฯลฯ

 

 

การบรรยายในช่วงนี้ หลักๆ แล้วเป็นการบรรยายเชิงกระบวนการ กล่าวคือ เน้นการบอกเล่าสู่กันฟัง คู่ไปกับการ “ถาม-ตอบ” และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวิทยากรกับผู้นำนิสิต  ขณะที่บางจังหวะ ผมก็เข้าไปเพิ่มเติมเสริมแต่งข้อมูล  เพื่อให้เกิดความคมชัดมากขึ้น 

 

 

เสร็จจากการปูพรมพื้นฐานความรู้ว่าด้วยกิจกรรมนิสิต  ผมก็ขยับเข้าสู่กระบวนการ “ทบทวนตัวเองผ่านตาราง 4 ห้องหัวใจ”  ประกอบด้วยคำถาม จำนวน 4 ประเด็น คือ 1) คุณลักษณะสำคัญของตัวเองมองผ่านสัตว์ 1 ชนิด 2) องค์ประกอบของต้นไม้  3) กิจกรรมที่ชื่นชอบในสังกัดคณะ 4) สถานที่สำคัญภายในคณะ

 

ผมมีเหตุผลในมุมของผม เป็นต้นว่า ทั้ง 4 คำถามคือการ “ทบทวนตัวเอง” ทั้งในมิติคุณลักษณะส่วนตัวกับบริบทสิ่งแวดล้อมภายในคณะ อันเป็น “นิเวศวัฒนธรรม” ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้นำนิสิต รวมถึงการหยิบยก “โมเดลต้นไม้” มาอธิบาย “ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่” และระบบ กลไกการทำงาน หรือความเป็นทีม

 

 

 

มองตัวเอง : ทบทวนตัวเองผ่านคุณลักษณะของสัตว์

 

ผมให้ผู้นำนิสิต ทบทวนตัวเองผ่านจุดเด่น จุดอ่อน ผ่านความรู้ (Hard skills)  ทักษะ (Soft skills)  ผ่านอุปนิสัยของตนเอง แล้วเชื่อมโยงไปยังสัตว์ที่ชื่นชอบ หรือสัตว์ที่มีอุปนิสัยคล้ายตัวเอง แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด เป็นการวางระบบของกระบวนการเรียนรู้ในภาคบ่ายที่จะลงลึกในเรื่อง “สัตว์สี่ทิศ” 

 

กรณีภาพที่นิสิตวาดสื่อสารเชื่อมโยงกับตัวเอง มีหลากหลายพอสมควร แต่ที่พบมากที่สุดจะเป็น แมว สุนัข นอกจากนั้นก็เป็น นก สิงโต หมาป่า  ปลา

 

 

ต้นไม้ : ระบบกลไก และโครงสร้างหน้าที่ในองค์กร

 

ในแต่ละกลุ่มสื่อสารกลับมาผ่านภาพวาดอย่างชัดเจนว่า ครบโครงสร้างหลักของโมเดลต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้น กิ่งก้าน – ใบ ซึ่งพบมากที่สุดก็คือ ราก รองลงมาคือกิ่งก้าน

 

คำถามนี้ ผมยังไม่ได้ลงลึกว่า โครงสร้างของต้นไม้ที่ว่านั้น เปรียบกับระบบการทำงานในองค์กรของนิสิตอย่างไร หรือการแชร์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่าโครงสร้างของต้นไม้แต่ละอย่างทำหน้าที่อะไรบ้าง

 

 

ค่าย ITEC และ IT GAME : กิจกรรมในดวงใจ 

 

โดยหลักๆ แล้ว ผู้นำนิสิตในเวทีครั้งนี้  สะท้อนถึงกิจกรรมที่ชื่นชอบบนฐานคิดของความประทับใจ หรือแม้แต่การมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองและคนอื่นๆ หรือมีผลต่อการพัฒนาตน พัฒนางาน พัฒนาองค์กรและสังคม  อาทิเช่น 

  • กิจกรรมรับน้อง/ปฐมนิเทศ  
  • งาน IT GAME  
  • ค่าย ITEC 
  • กีฬาราชพฤกษ์ 
  • กีฬา 5 วิชา/ติดปีกนิเทศศาสตร์/ไหว้ครู 
  • กิจกรรมผู้นำเชียร์ 
  • กิจกรรมกบจูเนียร์
  • ฯลฯ

ทั้งนี้โดยสรุปแล้ว กิจกรรมที่ผู้นำนิสิตชื่นชอบมี 2 กิจกรรมหลัก เรียงตามลำดับ คือ ค่าย ITEC และ IT GAME

 

 

ห้องฉายภาพยนตร์ : สถานที่สำคัญภายในคณะ

 

คำถามข้อนี้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับเรื่องกิจกรรมที่ชื่นชอบ (กิจกรรมในดวงใจ) เพราะผมต้องการสำรวจว่าพื้นที่หรือสถานที่ใดที่ผู้นำนิสิตชื่นชอบและเข้าไปใช้ชีวิต 

 

เป็นคำถามเพื่อสำรวจว่าพื้นทีใดภายในคณะที่เป็นพื้นที่คุณภาพและทรงอิทธิพลต่อการเรียนรู้และกำหนดพฤติกรรมของนิสิต รวมถึงการมองทะลุไปยังแผนงาน (โครงการ) ของนิสิตว่ามีกิจกรรมใดสัมพันธ์กับการสร้างสรรค์พื้นที่เหล่านั้นหรือไม่  หรือนิสิตปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของคณะและมหาวิทยาลัยในการดูและพัฒนาแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

 

สำหรับข้อมูลที่นิสิตสื่อสารกลับมามีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น 

  • ห้องนั่งเล่นชั้น 4 ห้องเรียน 
  • ห้องสโมสรนิสิต 
  • ห้องคอมพิวเตอร์ 
  • ห้องฉายภาพยนตร์ 
  • ห้องกระจก/ห้องคาเฟ่ 
  • ห้อง IT 512 
  • ห้อง IT 402 
  • ห้องวิจัย 
  • ห้องสุขา 
  • ห้องโถง 
  • ห้องเก็บอุปกรณ์ 
  • ห้องถ่ายภาพ
  • ฯลฯ

 

โดยเฉลี่ยแล้ว ห้องที่ผู้นำนิสิตมีความชื่นชอบมากที่สุด คือ ห้องกระจก/ห้องคาเฟ่ และห้องฉายภาพยนตร์  แต่พบว่าตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา ไม่มีแม้แต่แผนงาน/โครงการเดียวที่สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศจะจัดขึ้นเพื่อพัฒนาสถานที่เหล่านั้น

 

 

ท้ายที่สุด.....

 

ในทางกระบวนการทั้งปวงนั้น ผมให้นิสิตแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั้ง 4 ประเด็นให้เพื่อนในกลุ่มได้ร่วมรับรู้ เป็นกระบวนการฝึกทักษะการสื่อสารที่เน้นการ “เล่าเรื่อง” (Story telling) ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในมิติละลายพฤติกรรมและแบ่งปันต้นทุนชีวิตและการเรียนรู้ต่อกันไปในตัว

 

พอๆ กับการฝึกทักษะหลายทักษะ อาทิเช่น  ทักษะการฟัง  ทักษะการทบทวน/ถอดบทเรียนตัวเอง ทักษะการทำงานบนฐานข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง หรือสถานการณ์จริง ทักษะการทำงานแข่งกับเวลา ฯลฯ

 

ช่วงท้ายกระบวนการ  ผมให้แต่ละกลุ่มเลือกเพื่อนขึ้นมา 1 คน เพื่อนำเสนอ หรือบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวให้เพื่อนทั้งหมดรับฟัง-รับรู้ร่วมกัน เป็นการ “แบ่งปัน” หรือ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือแม้แต่การฝึกให้มีการ “เชิดชู-ชื่นชม” กันและกัน

 

------------------------------------------------------------------

เขียน : ศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566
ภาพ : สุริยะ  สอนสุระ / พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 713024เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2023 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2023 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท