ชีวิตที่พอเพียง  4404. แก้ (ป้องกัน) ปัญหาเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้า


 

รายการ เจาะข่าวเช้านี้  ช่วงวิเคราะห์เจาะลึก ในวิทยุจุฬา FM 101.5   วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๗.๓๐ - ๘.๐๐ น.    คุยกันเรื่องเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้า    ที่เห็นชัดเจนว่า เยาวชนตกเป็นเหยื่อของสังคมทุนนิยม   มีคนจำนวนหนึ่งหากินกับความไร้เดียงสาของเด็ก    ที่เวลานี้เด็กนักเรียนระดับประถมก็เริ่มติดกันแล้ว     

ผมฟังแล้วสะท้อนใจ   ว่าที่คุยกันเป็นยุทธศาสตร์ตั้งรับ    ไม่ครบวงจรของยุทธศาสตร์ ที่ต้องมีส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุกด้วย   โดยเฉพาะการรุกแบบ proactive   คือมาตรการติดอาวุธทางสังคมอารมณ์ (socio-emotional skills)  ให้แก่เด็กและเยาวชน    และติดอาวุธการพัฒนาอัตลักษณ์ (identity development)   พร้อมกับพัฒนาเป้าหมาย (purpose) ในชีวิต    ให้เป็นภูมิคุ้มกันแก่เด็ก   

เด็กที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมอารมณ์ จะหลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่ไร้สาระ    นี่คือประสบการณ์ตรงในชีวิตของผม    ที่ผมเริ่มพัฒนาใส่ตัวมาตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่น อายุ ๑๔ – ๑๕    สมัยนั้นเด็กแตกเนื้อสาวเนื้อหนุ่มช้ากว่าสมัยนี้หลายปี   

ผมเริ่มบอกตัวเองว่า    เป้าหมายชีวิตตนเองคืออะไร   เรื่องไร้สาระที่ไม่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตที่ตั้งไว้คืออะไรบ้าง    ผมทำรายการไว้ในใจ  และคอยเตือนตัวเองให้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง   เกรงจะโดนดึงเข้าไปติดกับหรือติดหนึบกับเส้นทางแห่งความเสื่อม    หรือทำให้เสียเวลาเรียน    โชคดีที่ตอนนั้นผมหมกมุ่นอยู่แต่การเรียน   การเรียนให้บรรลุผลดีเด่นเป็นเป้าหมายชีวิตในขณะนั้น    ที่ช่วยให้ผมไม่วอกแวกไปสนใจเรื่องอื่นๆ เลย   

ทำให้มองว่า   สังคมไทยต้องหาทางปกป้องและส่งเสริมเยาวชนให้รักดี   มากกว่าหาทางแก้ปัญหาเมื่อเขาเดินไปในทางเสื่อมแล้ว    และแนวทางส่งเสริมปกป้องเยาวชนทำโดยครอบครัว และการเลี้ยงดูเด็ก   รวมทั้งการศึกษาตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก   ที่มีการส่งเสริมให้เด็กพัฒนาสมรรถนะแห่งอนาคตใส่ตัว   

กล่าวใหม่ว่า ต้องทำทั้งสองทาง    ผมให้สัดส่วน ๗๐ : ๓๐    โดยร้อยละ ๗๐ เป็นเรื่องส่งเสริมและป้องกัน   ซึ่งก็คือเอาใจใส่วิธีเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย และวัยรุ่น นั่นเอง    ดังตัวอย่างในหนังสือ พลังแห่งวัยเยาว์    บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน   และ สอนเด็กให้เป็นคนดี  เป็นต้น    รวมทั้งการเลือกเข้าร่วมกิจกรรมของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว    

แต่ก็มีครอบครัวอีกจำนวนหนึ่ง ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือเป็นต้นเหตุของระบบนิเวศที่เสื่อมทรามให้แก่ลูกเสียเอง    จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเด็กจากรัฐ และจากสังคมหรือชุมชนโดยรอบ   ในการเข้าไปช่วยกระตุ้นพ่อแม่ผู้ปกครอง  หรือเข้าไปช่วยเหลือเด็ก   การมีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพสูงอยู่ในชุมชน จะช่วยได้มาก    นอกจากนั้นในทุกชุมชนควรมีศูนย์เยาวชนสร้างสรรค์ ให้วัยรุ่นได้เข้ารวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม และเพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์  เปฌนการเอื้อให้วัยรุ่นที่มีพลังเหลือเฟือได้ใช้พลังสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อการเรียนรู้และเชื่อมโยงสู่โอกาสดีๆ ในชีวิต   

ฟังจากเรื่องราวของนักเรียนวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า    เป็นนักเรียนที่พ่อแม่มีฐานะดีพอสมควร    ที่หากดำเนินการเชิงรุกที่ครอบครัว ก็น่าจะป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่   และพ่อแม่ของเด็กบางคนอาจพอใจที่จะทำหน้าที่พ่อแม่อาสาสมัคร ปกป้องเด็กและเยาวชนจากสิ่งทำลายอนาคต                   

วิจารณ์ พานิช

๔ ม. ค. ๖๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711730เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2023 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2023 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท