การปฐมนิเทศนิสิตเนื่องในโครงการ “เทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ณ อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมพยายามบูรณาการทั้งเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับเครื่องมือการเรียนรู้และการรู้ตัวตนของตนเองไปพร้อมๆ กัน
โดยเฉพาะประเด็น “การรู้ตัวตนของตนเอง” นั้น ผมตั้งใจที่จะชวนนิสิตขบคิดอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1) รู้องค์รวมของความเป็น “เทา-งาม สัมพันธ์” และ 2) การรู้ “ภาพรวมของสถานที่” ที่เกี่ยวโยงกับกิจกรรม ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และจังหวัดมหาสารคาม
หรือแม้แต่เจาะลึกลงถึงอำเภอนาดูน อันเป็นพื้นที่หลักของการขับเคลื่อนกิจกรรม
ผมให้นิสิตแบ่งกลุ่ม เพื่อฝึกให้นิสิตได้เกิดการพูดคุย (โสเหล่) หรือสุนทรียะสนทนา หรือแม้แต่การฝึกกระบวนการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ –ฟัง-คิด-บันทึก-สรุปความ” ไปในตัว โดยให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดภายใต้โจทย์กว้างๆ ว่า “ถ้าต้องพูดถึงเมืองมหาสารคาม นิสิตนึกถึงอะไรบ้าง”
หรือพูดง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ “ถ้าต้องแนะนำสถานที่สำคัญของเมืองมหาสารคามให้นิสิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับรู้ จะแนะนำที่ใดบ้าง”
ประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเกริ่นให้นิสิตได้รับรู้ว่า ในสูจิบัตร ผมได้รวบรวมเรื่องเมืองมหาสารคาม โดยเน้นเรื่องสถานที่และประเพณีหลักๆ ไว้ 25 เรื่อง ซึ่ง 25 เรื่องก็มาจากตรรกะง่ายๆ คือ “25 ปี” หรือ"ครั้งที่ 25" ของ “เทา-งาม สัมพันธ์” นั่นเอง
โดยสรุปแล้ว นิสิต ระดมชื่อสถานที่ทั้งที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และในความเป็นจังหวัดมหาสารคาม ได้ทั้งหมด 52 ชื่อ/สถานที่
ขณะที่นิสิตเอ่ยถึงชื่อสถานที่เหล่านั้น ในบางจังหวะ ผมก็เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตรงนั้นเพิ่มเติม บางสถานที่ก็เพิ่มเติมในแง่ประเพณีวัฒนธรรม บ้างเพิ่มเติมในแง่ประวัติศาสตร์ - โบราณคดี หรืออื่นๆ ตามบริบทของสถานที่ตรงนั้น รวมถึงชวนนิสิตให้ขยายความเพิ่มเติมเป็นระยะๆ เท่าที่จะพอเป็นไปได้
กระบวนการนี้ ผมดัดแปลงมาจากชุดความรู้ที่ว่าด้วย 9 ข้อคิดการจัดกิจกรรมนิสิตต่อการเรียนรู้คู่บริการที่ผมสังเคราะห์ไว้ร่วมๆ สิบปีที่แล้ว
ทั้งสองประเด็นมีความหมายชัดเจนในตัวนั่นคือ ก่อนจะทำอะไร หรือก่อนจะเข้าร่วมโครงการ นิสิตก็ควรต้องทำความเข้าใจกับตัวตนของกิจกรรมนั้นๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับตัวเองว่า มุ่งหวังอะไรจากการเรียนรู้ในครั้งนี้
เช่นเดียวกับการย้ำให้นิสิตได้ตระหนักว่า ชุมชน คือ ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าหลากมิติ ทุกเรื่องเล่าคือเครื่องมือบันทึกตัวตนของชุมชน ทั้งในมิติความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ประเพณี อาชีพ การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ
ซึ่งเรื่องเล่าที่ว่านั้น ผมก็ยืนยันว่ามีทั้งที่เป็นเรื่องเล่า ตำนาน-มุขปาฐะที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์ หรือแม้แต่ถูกจารึกไว้ในรูปลักษณ์ต่างๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่นิสิตต้องให้ความสำคัญที่จะรับรู้และให้ความสำคัญ เพราะนั่นคือ
“ตัวตนของชุมชน”
เพราะนั่นคือ “เสียงของชุมชน”
แน่นอนครับ - ผมมีเหตุผลชัดเจนที่ทำกระบวนการภายใต้โจทย์เช่นนั้น เพราะผมต้องการสำรวจ “ต้นทุน” ในตัวนิสิตว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว หรือเรื่องของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
พร้อมๆ กับการอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ คือการ “รู้ตัวตนของตนเอง” รวมถึงการอธิบายว่า “สถานที่เหล่าต่างๆ ที่นิสิตพูดถึงนั้น สำคัญอย่างไร เพราะสถานที่เหล่านั้นล้วนเป็นตัวกำหนดบทบาท-พฤติกรรมของคนในสังคมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ”
ถัดจากนั้นผมก็เข้าโหมดบรรยายเรื่องกรอบแนวคิดการเรียนรู้ พร้อมๆ ไปกับการสอดแทรกประเด็นเครื่องมือการเรียนรู้ควบคู่กันไป โดยสไลด์แต่ละแผ่น ผมจะนำภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ว่านี้มาโชว์ให้นิสิตได้รับรู้ไปพร้อมๆ กัน
ในบางจังหวะก็เฉลยว่าภาพที่ฉายโชว์นั้นคือที่ไหน ตรงกับที่นิสิตระดมความคิดมาหรือไม่
ในบางจังหวะก็ถามทักนิสิตว่าภาพนั้นคือที่ไหน—
นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการของการปฐมนิเทศนิสิตโครงการเทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25 ในแบบฉบับของผม และเป็นกระบวนการที่ท้าทายผมมากเป็นพิเศษในแง่มุมของ “เวลาอันน้อยนิด”
ผมสื่อสารกับนิสิตว่า นี่เป็นเพียงกระบวนการเบื้องต้น เน้นกระบวนการ เน้นประเด็นหลักๆ ที่อยากให้นิสิตเปิดใจที่จะไปศึกษาเพิ่มเติมต่อยอดด้วยตนเอง
เขียน : พฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566
กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
-1; waitfor delay ‘0:0:15’ –