ชีวิตที่พอเพียง  4392. เป็นนายหรือเป็นโค้ช


 

ผมสะท้อนคิดเรื่องนี้ จากประสบการณ์ตรงของตนเองในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา   ในการทำงานบริหาร (management)  และจากการสังเกตผู้อื่นในช่วงหลัง ที่ตัวผมเองไม่ได้ทำงานบริหารแล้ว    เป็นช่วงทำงานด้านธรรมาภิบาล (governance) เป็นหลัก   เท่ากับเป็นข้อเรียนรู้สองยุค จากมุมมองในสองบทบาท 

 สมัยผมทำหน้าที่บริหาร หากผลงานออกมาไม่ดีในสายตาคนนอก   ผมจะแสดงความรับผิดชอบ    ไม่มีการยกข้อบกพร่องไปให้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา (คำในสมัยนั้น) ที่สมัยนี้เรียกว่า “เพื่อนร่วมงาน”    เพราะผมถือว่า ผู้รับผิดชอบในภาพรวมคือหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ   

สมัยโน้นผมจึงมุ่งมั่นหาทางพัฒนางาน และพัฒนาบุคลากร อย่างเอาจริงเอาจัง   รวมทั้งการโค้ชงาน   ซึ่งส่วนใหญ่ทำผ่านม้วนเทป (tape cassette) ที่คนหนุ่มสาวสมัยนี้คงจะไม่รู้จัก   

สิ่งที่ผมเน้นโค้ชคือ ผลงานที่ดีหรือคุณภาพสูงเป็นอย่างไร   และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง   โดยพูดลงไปในเทปเสียง   โดยทุกเรื่องจะบอกว่า เอกสารที่ผมยกร่างให้ตามที่บอกนั้น เป็นฉบับร่าง   ขอให้เจ้าของงานปรับปรุงให้เหมาะสมและสละสลวยอีกชั้นหนึ่ง   

ย้ำว่า เป้าหมายหลักในเทปเสียงนั้น    มุ่งบอกว่าผลงานที่คุณภาพสูงเป็นอย่างไร    หากกล่าวตามความรู้ (ของผม) ในสมัยนี้    ส่วนสำคัญคือการมี empathy ต่อฝ่ายผู้รับเอกสารนั้น    ว่าเขาเองมีความต้องการอะไร    เราสนองความต้องการอะไรของเขา   รวมทั้งให้มีความชัดเจนว่า เราต้องการให้เขาทำอะไร    ด้วยเหตุผลอะไร   

เรื่องเทปของหมอวิจารณ์ยังเป็นตำนานของคนเก่าๆ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนบัดนี้   

ที่ต้องใช้เทป ก็เพราะงานมาก    ผมต้องไปทำงานตอนกลางคืน หรือตอนเช้ามืด หลังวิ่งออกกำลัง 

พูดในภาษาสมัยนี้    ผมใช้เทปเป็นเครื่องมือของ โค้ชชิ่ง

จากประสบการณ์ในองค์กรหนึ่ง    ผมแปลกใจมากที่ผมไม่เห็นผู้บริหารทำ โค้ชชิ่ง ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเลย    แถมเมื่อผลงานมีปัญหา    ผู้บริหารกลับยกข้อตำหนิไปให้ผู้ปฏิบัติงาน    ไม่ทราบว่าข้อสังเกตนี้เกิดจากอคติของผมหรือเปล่า     

ทำให้ผมสงสัยว่า สมัยนี้ ผู้บริหาร (ในบางองค์กร) มุ่งทำตัวเป็นนาย   ไม่สนใจโค้ชงานให้แก่ผู้ร่วมงาน   หรือเปล่า    หากมี พฤติกรรมนั้นก่อผลดีหรือผลเสียต่อองค์กรอย่างไรบ้าง   ควรมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการบริหารงานแบบนั้นหรือไม่   

สะท้อนคิดใหม่    แบบเถียงตัวเอง    สมัยสี่สิบปีก่อนที่ผมทำงานบริหาร    ผมไม่ได้ทำตัวเป็นทั้งนาย และทั้งโค้ช    แต่ผมมุ่งทำตัวเป็น “นักเรียน” หรือ “นักเรียนรู้” ร่วมกับผู้ร่วมงาน    เพียงแต่ผมมีทุนเดิมมากกว่า มีความเข้าใจเป้าหมายของงานอย่างลึกซึ้งกว่า     จึง “เรียนรู้และพัฒนา” งาน ผ่านงานที่กำลังปฏิบัติ   แล้วนำออก “โค้ช” เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานชิ้นนั้น     

คำตอบต่อชื่อบันทึกนี้จึงตอบว่า ไม่เป็นทั้งนายและโค้ช   แต่เป็นเพื่อนนักเรียน เรียนรู้จากการทำงานไปด้วยกัน

ผมจึงได้ทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning skills) เอาไว้สร้างความบันเทิงใจจากการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  หรือจากประสบการณ์ มาจนบัดนี้

การที่คนแก่สะท้อนคิดเรื่องของตัวเองเชิงประวัติศาสตร์ ย่อมอดยกหางตนเองไม่ได้   โปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยธรรมะในกาลามสูตร   และให้อภัยต่อ “อัตตา” ของผู้เขียน 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ธ.ค. ๖๕

 

 

 

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 711487เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2023 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2023 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านเรื่องของ อจ.วิจารณ์ แล้วใจหายทุกที ว่าตัวเองผ่านขั้นตอนเช่นนั้นมาบ้างหรือเปล่า อีกอย่างก็ดีที่ได้ฉุกคิดขึ้นมาในตอนนี้ ขอบคุณมากครับ….วิโรจน์ ครับ (คำลงท้ายนี้ ผมชอบทำแบบนี้ เพื่อเป็นตรวจเช็คข้อความที่พิมพ์ เผื่อพิมพ์พลาดไป แต่ก็ยังมีผิดเป็นประจำน่ะครับ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท