การขัดเกลาทางสังคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


การขัดเกลาทางสังคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำหลักธรรมในพุทธศาสนา เช่น สติปัญญาและฆราวาสธรรมในทางพุทธศาสนามาปรับประยุกต์ใช้เพื่อสร้างฐานคุณธรรมในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันควบคู่ไปกับการขัดเกลาทางสังคม อันเป็นเหตุทำให้สังคมเกิดความสงบสุขบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

          เมื่อพิจารณา “ฐานความรอบรู้” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย ความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง พบว่า คำว่า “ฐานความรอบรู้” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ฐานความรู้ (knowledge) ในทางวิชาการ หรือการสะสมข้อมูล ความรู้ ข่าวสาร เพื่อสร้าง big data แต่อย่างใด แม้ว่าความรู้วิชาหรือฐานความรู้ (data base) จะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ก็เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้มนุษย์ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิต แต่ความรู้จะถูกนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งโดยส่วนตนและส่วนรวมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสติปัญญา หรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง ดังนั้น “ฐานความรอบรู้” ในที่นี้จึงหมายถึง ความรู้สึกตัว ความตระหนักรู้ หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า สติปัญญา หรือ สติสัมปชัญญะ นั่นเอง 

          หากมองในเชิงปัจเจก ความรู้สึกตัวหรือความตระหนักรู้ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ช่วยทำให้เกิดการรู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ เช่น รู้เท่าทันสื่อ (media literacy) เป็นต้น สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต เป็นเหตุแห่งความมั่นคง สมดุล จากภายใน เพราะปราศจากอคติและเป็นอิสระจากการครอบงำทางอารมณ์ เช่น ความโลภ ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น ในทางพุทธศาสนาถือว่า สติ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดข้อคุณธรรมทั้งปวง ดังนั้น สติปัญญาหรือสติสัมปชัญญะ ได้แก่ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง จึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่ช่วยขัดเกลาจิตใจให้เกิดความพอเพียงและสมดุลจากภายใน ช่วยสร้างกระบวนทรรศน์และทัศคติอันเป็นไปเพื่อการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขจากภายใน เป็นสุขอันเกิดจากการพึ่งพาตนเองได้จากใจที่รู้จักพอ คือ มีความเต็มอิ่มและมั่นคงจากข้างใน อันจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมหรือความประพฤติที่เป็นไปเพื่อการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขจากภายนอกด้วย เช่น มีกายและวาจาที่ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นต้น 

          เมื่อพิจารณา “ฐานคุณธรรม” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย ซื่อสัตย์สุจริต อดทน ความเพียร มีสติปัญญา และแบ่งปัน พบว่า คำว่า “ฐานคุณธรรม” ในที่นี้มาจากหลักฆราวาสธรรม ซึ่งเป็นธรรมพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ประกอบด้วย สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ

“ฆราวาสธรรม” คือ หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ที่จำเป็นต้องมีอยู่ประจำ เพื่อเสริมให้มีความสุขยิ่งขึ้น พระพุทธองค์ได้ตรัสกับยักษ์ ชื่ออาฬวกะ ปรากฏอยู่ในอาฬวกสูตร (๑๕/๒๙) มี ๔ ประการ คือ 

๑. สัจจะ คือ ความจริง ดำรงมั่นอยู่ในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง เป็นเหตุนำมาซึ่งความเชื่อถือ หรือไว้วางใจได้

๒. ทมะ คือ ฝึกตน ปรับปรุงตน ขัดเกลาจิตใจตนเองให้รู้จักปรับตัว แก้ไขปรับปรุงและพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งการยอมรับและแก้ไขสิ่งบกพร่องของตนด้วย 

๓. ขันติ คือ อดทน อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย ทนตรากตรำ ทนต่อความเจ็บใจ ทนข่มอารมณ์ของตนได้ ทนต่อความยั่วยวนต่าง ๆ อดทนต่ออำนาจฝ่ายต่ำ อดทนต่อการทำการงาน 

๔. จาคะ คือ เสียสละ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ สละความโกรธ ความเห็นแก่ตัว มีใจกว้างร่วมงานกับคนอื่นได้ สละอารมณ์ขุ่นมัวภายในจิตใจได้

เมื่อนำภาษาบาลีมาเทียบเคียงกับภาษากรีกที่อริสโตเติล (Aristotle) ใช้อธิบายหลักคุณธรรมสากล พบว่า มีความตรงกันบนพื้นฐานที่มาจากรากภาษาอารยันเหมือนกัน ดังนี้

ภาษาบาลี      ภาษากรีก
สัจจะ  ตรงกับ  phronesis 
ทมะ ตรงกับ  tharros 
ขันติ ตรงกับ  metrispatheia 
จาคะ ตรงกับ  dikaiosune 

           

         สัจจะ (จริงใจ/ซื่อตรงต่อความจริง) ตรงกับ phronesis ได้แก่ ความรอบรู้ ความรู้จริง  รอบรู้ในธรรมหรือความจริง ซื่อสัตย์หรือซื่อตรงต่อธรรม เป็นคุณลักษณะของปัญญาที่แยกแยะได้ว่า อะไรคือสิ่งจริง-อะไรสิ่งปรุงแต่งหรือมายา อะไรคือตรงต่อธรรม-อะไรคืออคติ 

         ทมะ (ข่มใจ/ฝึกฝน/ขัดเกลา) ตรงกับ tharros ได้แก่ ความกล้า กล้าทำตามสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เป็นสัจจะ กล้าเผชิญต่อปัญหา กล้ายอมรับความจริง เป็นคุณลักษณะของการฝึกฝนอบรม ขัดเกลาตน  ให้ตั้งอยู่ในธรรมอย่างสม่ำเสมอ ข่มใจไม่ให้หลงใหลไปตามอคติ 

         ขันติ ตรงกับ metrispatheia ได้แก่ ทางสายกลาง มีขันติครอบคลุมให้อยู่ในความพอดี ไม่ขาดไม่เกิน เป็นลักษณะของการปรับสมดุลด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ลักษณะทน ๆ กันไป

          จาคะ ตรงกับ dikaiosune ได้แก่ การแบ่งปัน ความชอบธรรม ความเสียสละ 

          สิ่งที่น่าคิดก็คือ หลักธรรมในพุทธศาสนามีอยู่มากมาย เหตุใดจึงทรงเลือกเอาฆราวาสธรรม ๔ มาเป็นฐานคุณธรรม โดยใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสารแทนภาษาบาลี โดยเฉพาะเมื่อนำคุณธรรมเหล่านี้มาเทียบกันในระดับรากศัพท์ระหว่างภาษาบาลีกับกรีกโบราณก็พบว่ามาจากรากอารยธรรมเดียวกัน คือมีแม่เป็นภาษาอารยันเหมือนกัน และเป็นคุณธรรมสากลที่สามารถยอมรับได้ทุกศาสนา และผู้ที่ไม่นับถือศาสนาก็รับได้ในฐานะหลักมนุษยธรรม เป็นการเชิดชูปรัชญามนุษยธรรม แต่เป็นปรัชญามนุษยนิยมแบบไทยเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มาจากภูมิปัญญาของคนไทย มาจากรากฐานศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับว่าเป็นปรัชญาไทยโดยแท้

          ดังนั้น “ฐานความรอบรู้” และ “ฐานคุณธรรม” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นหลักในการขัดเกลาสังคมที่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมสากล โดยเฉพาะข้อ ทมะ (ข่มใจ/ฝึกฝน/ขัดเกลา หากนำมาเป็นแกนหลักเพื่อสร้างแนวทางในการขัดเกลาสังคมตามหลักจริยธรรมแล้ว สามารถวางพื้นฐานได้ ๓ ระดับ กล่าวคือ

          ระดับที่ ๑ เป็นระดับการขัดเกลาทัศนคติ อุปนิสัยเพื่อละเว้นความประพฤติที่เป็นโทษ เป็นอันตราย ที่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

          ระดับที่ ๒ เป็นระดับการขัดเกลาทัศนคติ อุปนิสัยที่เป็นเพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ต่อการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่คนในสังคมโดยรวม เช่น การขับเคลื่อนเครือข่ายสังคมแห่งการแบ่งปันด้วยน้ำใจหรือมิตรไมตรี เป็นต้น 

          ระดับที่ ๓ เป็นระดับการขัดเกลาทัศนคติ อุปนิสัยให้เกิดความพอเพียง พอดี สมดุล และมั่นคงจากภายในสู่ภายนอก เช่น ฝึกอบรมเพื่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญา เพื่อลดความโลภ ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

          แนวทางการขัดเกลาสังคมทั้ง ๓ ระดับนี้ ใช้หลักธรรมข้อ ทมะ เป็นแกนหลัก ส่วนหลักฆราวาสธรรมข้ออื่น ๆ ได้แก่ สัจจะ ขันติ จาคะ เป็นส่วนเสริม บนพื้นฐานของสติปัญญาที่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมสากล สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีการฝึกฝนปฏิบัติ อบรมซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนเป็นนิสัยเคยชิน ก็จะสามารถสร้างประโยชน์สุขให้แก่ส่วนรวมได้ เป็นเหตุของการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันด้วยความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ซึ่งนำไปสู่ภูมิคุ้มกันในด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ทำให้ประเทศชาติและประชาชนในชาติมีความสดุล ยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

          นอกจากนี้ หลักคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังมีความสอดคล้องกับคำสอนในศาสนาอิสลาม ดังวจนะของท่านนบี มูฮัมมัด (ซ.ล.) ที่ว่า “อาชีพที่ประเสริฐที่สุด คือ การค้าที่ซื่อสัตย์ และการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน” จากประโยคสั้นๆ นี้หากนำมาตีความในเชิงการปฏิบัติจะเห็นได้ว่ามีทั้งส่วนของความซื่อสัตย์ ความขยัน อดทน และการเสียสละ เพื่อให้เกิดสัมมาอาชีพที่บริสุทธิ์

          กล่าวโดยสรุปได้ว่า การขัดเกลาทางสังคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มต้นจากการขัดเกลาตนเอง เป็นการขัดเกลาจิตใจ เสริมสร้างสติปัญญา โดยใช้ฐานความรอบรู้และฐานคุณธรรมที่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมสากลมาปรับประยุกต์ใช้ผ่านการฝึกฝนอบรมในวิถีชีวิต ซึ่งสามารถนำหลักการนี้ไปขับเคลื่อนเชิงกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันในมิติต่าง ๆ ได้ด้วย สิ่งสำคัญของการขัดเกลาทางสังคมก็เพื่อลดทุกข์ เพิ่มสุข ให้แก่คนในสังคมจนสามารถทำให้เกิดความสมดุล พอดี และมั่นคงจากภายในสู่ภายนอก หรือสร้างสิ่งแวดล้อมจากภายนอกเพื่อเป็นอุปการะหรือส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของภายใน

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๑๑๔ - ๑๑๗.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท