วิเคราะห์เปรียบเทียบ “สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”


วิเคราะห์เปรียบเทียบ “สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

……………………………………………………………………..

 

ก. สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์

          สังคมในระบบนี้ต่างจากสังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ เพราะรัฐจะเป็นผู้กำหนดและควบคุมการผลิตทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ ในระบบสังคมนิยมยังคงให้เอกชนมีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินส่วนตัว อาทิ ที่พักอาศัย เป็นต้น รายได้จากการผลิตและภาษีจากประชาชนจะถูกนำมาจัดเป็นสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในประเทศเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันตามแนวทางของระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ รัฐบาลจะเป็นผู้ควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรมโดยการกระจายผลผลิตแก่ประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเป็นผู้ตัดสินใจในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยมีการวางแผนงานจากส่วนกลางทั้งสิ้น

          ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม มีหลักการที่สำคัญ ๒ เรื่อง คือ 

          ๑. กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นขององค์การหรือหน่วยงานสาธารณะ (รัฐบาลและองค์การบริหารต่าง ๆ) ทั้งนี้ เพื่อให้กิจกรรมผลิตสำคัญที่มีขนาดใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมดำเนินการในวิถีทางที่จะยังผลประโยชน์แก่ส่วนรวม

          ๒. รัฐเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชาติทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเป็นงานหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้บรรลุแผนเศรษฐกิจรวมของชาติ เพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

          ในขณะที่ ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่รัฐเป็นเจ้าของทุนและปัจจัยการผลิตทุกชนิด โดยรัฐเป็นผู้กำหนดการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด รัฐจะเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด โดยจะกำหนดว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร เอกชนไม่มีสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินเพื่อการผลิตต่าง ๆ เช่น การถือครองที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น นั่นคือ เอกชนมีสิทธิเป็นผู้เช่าของรัฐเท่านั้น ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จึงมีความเข้มข้นในการถือครองทรัพย์สินมากกว่าระบบสังคมนิยม 

          สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เน้นที่ทุกคนมีส่วนในกระบวนการผลิต ต่างมีหน้าที่ในกระบวนการผลิตและได้รับการแบ่งผลประโยชน์จากกระบวนการผลิตนั้น โดยมีรัฐเป็นผู้กำกับควบคุมสูงสุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สังคมเน้นการแบ่งแต่ไม่เน้นการปันนี้ ในช่วงแรก ๆ จะเน้นการที่รัฐทำหน้าที่แจกจ่ายผลผลิตให้กับประชาชนตามความจำเป็นเท่านั้น โดยทุกคนจะได้ส่วนแบ่งเท่ากัน ถือเป็นความเท่าเทียม ได้เท่ากันอย่างเสมอหน้า โดยถือว่าเป็นการแก้ปัญหาความแตกต่างด้านฐานะระหว่างคนรวยกับคนจน อย่างไรก็ตาม รัฐจะไม่ให้ผลประโยชน์แก่ส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นพิเศษ จึงเป็นสังคม ที่เน้น “การแบ่ง” แต่มิได้ส่งเสริมให้ประชาชนต้องมีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เนื่องจากทุก ๆ คน ต่างก็มีพอ ๆ กัน ไม่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องปันอะไรให้แก่กัน ด้วยน้ำใจ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องแบ่งให้ทุกคนในประเทศได้ผลประโยชน์จากการผลิตหรือสวัสดิการอย่างเสมอภาคยกเว้นเพียงกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูเป็นพิเศษตามหน้าที่ จึงจะสามารถจัดสรรทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนการช่วยเหลือและฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่

 

ข. วิเคราะห์เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและแตกต่างของ “สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

          จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับสังคมเน้นการปันภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มาแล้ว รูปแบบสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีความแตกต่างกันกับสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ แต่ช่วยปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งของแต่ละสังคมเพื่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนมากขึ้นภายใต้ระบบสังคมของประเทศนั้น ๆ

          เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เพราะส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันของชุมชนในแต่ละชุมชนเพื่อผลิตอาหาร ผลิตปัจจัย ๔ แปรรูปสินค้าต่าง ๆ ด้วยตนเอง และแลกเปลี่ยนกันในชุมชน และระหว่างชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะการตั้ง “กลุ่มสหกรณ์” ซึ่งเป็น “ศาสตร์การอยู่ร่วมกันและการทำกินร่วมกัน” โดยเน้น “การแบ่ง” ผลประโยชน์ให้ได้อย่างเท่าเทียมกันคล้ายกับระบบสังคมนิยม แต่แท้ที่จริงแล้วเป้าหมายของการตั้งกลุ่มสหกรณ์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการรวมกลุ่มอำนาจไว้ที่คณะใดคณะหนึ่ง แต่มีความเป็นประชาธิปไตยผสมผสานอยู่ด้วย กล่าวคือ มีการตกลงกันก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ แต่ละคนมารวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เกิดจากการบังคับว่าทุกชุมชนที่มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ สมาชิกในชุมชนทุกคนต้องเข้าร่วมหมดทุกคน ดังนั้น จึงมีการรักษาสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับเลือกเหมือนระบบการปกครอง นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าร่วมในกลุ่มสหกรณ์มีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะสร้างสรรค์ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงหลักภูมิสังคม เพื่อให้เกิดความประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด เหมาะกับศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ และวิถีชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐสั่งการแต่อย่างใด

          นอกจากนี้ การตั้งกลุ่มสหกรณ์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของแหล่งกู้เงิน แต่มีเป้าหมายเพื่อความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความสุขที่เกิดจากหลักการพึ่งพาตนเอง หลักการพึ่งพาตนเองนี้ไม่ได้หมายถึงคนหนึ่งคนต้องทำเป็นทุกอย่าง ไม่พึ่งพาใคร หลักการพึ่งพาตนเองนี้มีความหมายกว้างไปถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันด้วย เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน เกิดความปลอดภัย มั่นคง หากประชาชนร่วมมือกันด้วยความรู้รักสามัคคี ชีวิตจะมีความเข้มแข็งและมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ เพราะการรวมกลุ่มสหกรณ์ทำให้เกิดความประหยัด ไม่ถูกระบบทุนนิยมบีบคั้นชีวิตจนเกินไปนัก ทั้งยังได้ส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน หรือสังคมบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชุมชนและการพึ่งพาตนเอง 

          แม้ว่าในระบบสังคมนิยมยังคงให้เอกชนมีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินส่วนตัว อาทิ ที่พักอาศัย เป็นต้น แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยิ่งถ้าเป็นเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เอกชนมีสิทธิเป็นเพียงผู้เช่าของรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันตามแนวทางของระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่เน้น “การแบ่ง” แต่ไม่เน้น “ปัน” นั่นเอง ในขณะที่สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เสรีภาพแก่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และอื่น ๆ ต่างมีหน้าที่เข้าไปช่วย “อุดรูรั่ว” ในส่วนที่รัฐบาลดูแลประชาชนไม่ทั่วถึงด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ความล่าช้าของระบบราชการ ปัญหาเรื่องงบประมาณหรือกำลังคนที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น เพื่อสร้างความสมดุลทั้งในระดับบุคคล ชุมชม และประเทศชาติ

          การแบ่งสันปันส่วนในระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เป็นการเน้นแบ่งตามหน้าที่ ประชาชนทุกคนต่างมีหน้าที่ของตนเองที่ต้องรับผิดชอบในกระบวนการผลิตและได้รับการแบ่งผลประโยชน์จากกระบวนการผลิตนั้น โดยมีรัฐเป็นผู้กำกับควบคุมสูงสุด ในขณะที่สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเน้นการพัฒนาคน โดยให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งทางด้านพฤติกรรม ความประพฤติ จิตใจ และสติปัญญา สร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกของประชาชนในชุมชนหรือในสังคม (ตามหลักการทรงงานข้อปลูกต้นไม้ในใจคน) เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม เช่น การแบ่งปันความรู้ในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เป็นต้น โดยใช้กิจกรรมเป็นสื่อ (means) ในการพัฒนาคน เนื่องจากเมื่อคนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง จะก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำจริง (learning by doing) ขึ้น จากนั้นจึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการถอดบทเรียนอย่างมีวิจารณญาณเพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน หากคนในชุมชนมีคุณภาพ ผู้บริหารประเทศสามารถกระจายอำนาจ โดยคืนกรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน โดยกำหนดให้ชุมชนมีอำนาจตามกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มจิตอาสาที่พร้อมทำงานขับเคลื่อนการแบ่งปันในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะเกิดสังคมแห่งการแบ่งปันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามหลักการ ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เน้นหลักการแบ่งแต่ไม่เน้นการปันเป็นสำคัญ นโยบายมิได้มีไว้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแสดงน้ำใจหรือความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เนื่องจากหลักการเน้นแบ่งแต่ไม่เน้นปัน สร้างสามัญสำนึกทั่วไปว่า เมื่อประชาชนทุกคนต่างก็มีพอ ๆ กัน ไม่แตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องปันอะไรให้แก่กันด้วยน้ำใจ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องแบ่งให้ทุกคนในประเทศได้ผลประโยชน์จากการผลิตหรือสวัสดิการอย่างเสมอภาค ยกเว้นเพียงกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูเป็นพิเศษตามหน้าที่ จึงจะสามารถจัดสรรทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนการช่วยเหลือและฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ แต่การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นเรื่องของหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะงบประมาณต่าง ๆ มาจากภาษีประชาชน

          ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบการแบ่งปันของ “สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พบว่า มีทั้งส่วนของความคล้ายคลึงและความแตกต่างดังต่อไปนี้

ตาราง : เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและแตกต่างในเรื่องการแบ่งปันของ “สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ความคล้ายคลึง ความแตกต่าง
ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันของชุมชนในแต่ละชุมชนเพื่อผลิตอาหาร ผลิตปัจจัย ๔ แปรรูปสินค้าต่าง ๆ ด้วยตนเอง และแลกเปลี่ยนกันในชุมชน และระหว่างชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะการตั้ง “กลุ่มสหกรณ์” ซึ่งเป็น “ศาสตร์การอยู่ร่วมกันและการทำกินร่วมกัน” โดยเน้น “การแบ่ง” ผลประโยชน์ให้ได้อย่างเท่าเทียมกันคล้ายกับระบบสังคมนิยม เป้าหมายของการตั้งกลุ่มสหกรณ์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการรวมกลุ่มอำนาจไว้ที่คณะใดคณะหนึ่ง แต่มีความเป็นประชาธิปไตยผสมผสานอยู่ด้วย กล่าวคือ มีการตกลงกันก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ แต่ละคนมารวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เกิดจากการบังคับว่าทุกชุมชนที่มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ สมาชิกในชุมชนทุกคนต้องเข้าร่วมหมดทุกคน ดังนั้น จึงมีการรักษาสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับเลือกเหมือนระบบการปกครอง นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าร่วมในกลุ่มสหกรณ์มีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะสร้างสรรค์ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงหลักภูมิสังคม เพื่อให้เกิดความประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด เหมาะกับศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ และวิถีชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐสั่งการแต่อย่างใด 
มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนส่วนรวม ไม่ถูกระบบทุนนิยมบีบคั้นชีวิตจนเกินไป มีความพอเพียง พึ่งพาตนเองได้ เป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกนำไปผลิตในระบบทุนนิยมมากจนเกินไปจนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอและเสื่อมโทรม อีกทั้งยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันไม่ให้เกิดพ่อค้าคนกลางที่เป็นนายทุนเอารัดเอาเปรียบประชาชนและเกษตรกร “สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์” เน้นประโยชน์สุขจากการที่รัฐเป็นศูนย์กลางของการแบ่งสันปันส่วนให้กับประชาชน เพื่อมอบความสุขอันเกิดจากการความเท่าเทียมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย แต่ละคนเพียงทำหน้าที่ตามที่รัฐกำหนดไว้ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน คือ พอมีพอกิน เป็นพื้นฐานนั่นเอง ส่วนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายเพื่อความสุข แต่เป็นความสุขที่เกิดจากหลักการพึ่งพาตนเอง หลักการพึ่งพาตนเองนี้ไม่ได้หมายถึงคนหนึ่งคนต้องทำเป็นทุกอย่าง ไม่พึ่งพาใคร หลักการพึ่งพาตนเองนี้มีความหมายกว้างไปถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันด้วย เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน เกิดความปลอดภัย มั่นคง จึงเป็นการเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิต หากประชาชนร่วมมือกันด้วยความรู้รักสามัคคี ชีวิตจะมีความเข้มแข็งและมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ เพราะการรวมกลุ่มสหกรณ์ทำให้เกิดความประหยัด ไม่ถูกระบบทุนนิยมบีบคั้นชีวิตจนเกินไปนัก ทั้งยังได้ส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน หรือสังคมบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชุมชนและการพึ่งพาตนเอง

 

          แม้ว่า สังคมเน้นการแบ่งแต่ไม่เน้นการปันภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ จะมีจุดแข็งในเรื่องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะด้านเศรษฐกิจและรายได้ของบุคคลในสังคมได้ อีกทั้ง ยังสามารถล้มเลิกระบบผูกขาดโดยเอกชนในธุรกิจบางชนิดได้ แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ผู้วางนโยบายอาจไม่มีความสามารถมากพอในการตัดสินและจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน มากที่สุด อันมีผลทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะงักชะงัน อาจจะมีการผลิตและการจัดสรรสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผูกขาดเศรษฐกิจโดยรัฐ ทำให้รัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรการผลิต รวมทั้งปัจจัยในการผลิตทุกอย่าง แม้กระทั่งแรงงานเอกชน ไม่มีสิทธิแม้แต่จะใช้แรงงานของตนในการเลือกประกอบอาชีพตามความพอใจ เพราะทุกการตัดสินใจในเรื่องปัญหาพื้นฐาน ราคาสินค้าและบริการ ค่าตอบแทนปัจจัยการผลิต และการจำหน่ายแจกจ่ายผลผลิต จะถูกกำหนดโดยรัฐบาล การที่รัฐควบคุมกิจการมากเกินไปส่งผลให้โอกาสที่จะขยายการผลิตหรือพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นไปค่อนข้างลำบาก ทำให้การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร เนื่องจากว่า รัฐควบคุมกิจการต่าง ๆ มากเกินไป และบางครั้ง ไม่สามารถจะควบคุมหรือดำเนินการได้ทั่วถึง จึงเป็นช่องโหว่หรือการสูญเปล่า อันมีผลทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร อีกจุดอ่อนหนึ่งที่พบในเศรษฐกิจระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ก็คือ การขาดแรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้ทำการผลิตหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้เพราะว่าเอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือปัจจัยที่จำเป็นในการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนไม่สามารถแสวงหากำไรจากการดำเนินงานของตน เพราะขาดแรงจูงใจและการแข่งขันที่สมบูรณ์ จึงทำให้การผลิตมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก หากมีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งก็จะทำให้สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กล่าวคือ เมื่อรัฐส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว ควรมีการทำวิจัยในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการ ทิศทางความสนใจและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ให้องค์ความรู้ ทักษะ วิธีคิด ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้แต่ละพื้นที่สามารถเกื้อกูลกันได้ และส่งเสริมให้เกิดศักยภาพในการส่งออก เปลี่ยนจากระบบการแข่งขันให้เป็นระบบความร่วมมือของคนทั้งชาติ โดยมีรัฐเข้าไปดูแลมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน รัฐมีหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงที่อาจเข้าไปดำเนินการแทนในส่วนที่เอกชนบริหารงานโดยขาดประสิทธิภาพ แต่มีการช่วยปรับปรุงพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเอกชนที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว รัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุน ให้อิสระในการดำเนินงานของเอกชนมากขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกัน เปิดพื้นที่ให้ทางเอกชนได้มีส่วนในการให้คำปรึกษากับ “หน่วยวางแผนส่วนกลาง” (public enterprises) วิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยลดภาระของรัฐบาลและความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ได้ตรงความต้องการ เมื่อผลรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นก็ควรมีการปันผล (ration) แจกจ่ายให้ประชาชนได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากสวัสดิการต่าง ๆ วิธีการเหล่านี้เป็นการใช้เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือคอรัปชั่น ควรมีการนำระบบบล็อกเชนและแพลตฟอร์มที่สร้างสังคมธรรมาภิบาล เพื่อให้รัฐและประชาชนได้ทราบถึงการดำเนินกิจการในข้อมูลที่จำเป็นที่ต้องมีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีบทลงโทษอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในฝ่ายเอกชนและรัฐบาล 

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๑๒๒ - ๑๒๖.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท