วิเคราะห์เปรียบเทียบ “สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”


วิเคราะห์เปรียบเทียบ “สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

………………………………………………………….

 

ก. สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ 

          โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่า สังคมแบบแบ่งปันเป็นสังคมที่มีการแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้การสงเคราะห์หรืออุปถัมภ์ค้ำจุน ทำให้รูปแบบของสังคมหนึ่งได้รับความนิยม นั่นคือ ระบบสังคมที่เน้นการสงเคราะห์และอุปถัมภ์โดยชนชั้นสูงมีต่อชนชั้นล่าง โดยถือว่าเป็นสังคมที่ดี สังคมที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองในระบบกษัตริย์หรือเจ้าครองนคร ตัวอย่างเช่น สังคมภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ (patronage) ที่ปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ตัวอย่างเช่น ประเทศเนการา บรูไน ดารุสซาราม (Negara Brunei Darussalam) หรือที่รู้จักในชื่อ ประเทศบรูไน เป็นประเทศเดียวในประชาคมอาเซียนที่ปกครองด้วยระบบรัฐสุลต่าน โดยสุลต่านมีอำนาจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว มีฐานะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang Di-Pertuan Negara) และเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ (head of state) นั่นคือ สุลต่านจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะในการบริหารประเทศอีกด้วย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและการคลัง ด้วยความที่เป็นประเทศเล็ก บรูไนจึงไม่ได้มีสภาวะกดดันทางการเมือง ประกอบกับมีทรัพยากรธรรมชาติ คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้สูง ทำให้ประเทศบรูไนเป็นรัฐที่เข้มแข็ง มั่นคง อีกทั้ง ประชากรในประเทศที่มีราว ๔.๕ แสนคน ทำให้ประเทศมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ค่อนข้างดี   

          จากรายงานของ Brunei Times ประเทศบรูไนเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าต่ำที่สุดในกลุ่มประชาคมอาเซียน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ ๐.๐๙ ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ ๒ บาท) เนื่องจากรัฐให้การอุดหนุนค่าไฟฟ้าในลักษณะระบบราชูปถัมภ์แก่ประชาชน อีกทั้งโทรศัพท์บ้านทั้งหมดในประเทศบรูไนใช้พัฒนาเป็นระบบโทรศัพท์แบบดิจิทัลทั้งหมด ในด้านสาธารณสุข รัฐได้มีการให้บริการแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งชาติ ภาษา ศาสนา ด้วยนโยบาย “สุขภาพดีเพื่อทุกคน” (health for all) ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิการที่สำคัญแก่ประชาชน ชาวบรูไนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งยังมีบริการแพทย์เคลื่อนที่เพื่อรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลพื้นที่เมืองเช่น บนพื้นที่ภูเขาหรือในพื้นที่ป่า เป็นต้น และที่สำคัญคือการให้ความช่วยเหลือผ่านกองทัพบรูไน อันได้แก่ ศูนย์พยาบาลที่เป็นหน่วยงานหนึ่งในกองทัพ และหากผู้ป่วยอยู่ถิ่นที่เข้าถึงได้ยากจากทางภาคพื้นก็มีหน่วยแพทย์อากาศ กล่าวคือ ใช้เฮลิคอปเตอร์นำแพทย์ไปรักษาพยาบาลถึงที่ รัฐบาลบรูไนให้ความเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างดียิ่ง ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเมื่อมีสุขภาพดีก็ย่อมทำงานได้ผลดี มีประสิทธิภาพ มีรายได้ดี และทำให้เศรษฐกิจของบรูไนดีขึ้นตามไปด้วย

          ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศบรูไนยังให้สวัสดิการด้านการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนถึงระดับปริญญาตรี คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับสากล โดยไม่มีการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาแบ่งออกเป็นระดับก่อนประถมศึกษา ๑ ปี ระดับประถมศึกษา ๖ ปี ระดับมัธยมศึกษา ๗ - ๘ ปี ซึ่งแบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๒ - ๓ ปี หรือในสายอาชีวะอีก ๒ ปี และระดับเตรียมอุดมศึกษา ๒ ปี และระดับมหาวิทยาลัย ๓ - ๔ ปี นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้ระบบ World Class Education System โดยให้การศึกษาเป็นหนึ่งใน ๘ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ได้มีการใช้เงินกองทุนพัฒนาเพื่อลงทุนด้านการศึกษาในอัตราร้อยละ ๘.๗ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ควบคู่กันไป ส่วนในการจัดพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย จะอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ โดยกษัตริย์หรือสุลต่านจะเสด็จเป็นประธานในพิธีและพระราชทานปริญญาบัตรหรืออาจโปรดให้ผู้แทนพระองค์ เช่น มกุฎราชกุมาร เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร เป็นต้น

          ดังนั้น บรูไนจึงถือได้ว่าเป็นรัฐราชูปถัมภ์ที่จัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนอย่างดี โดยรัฐเก็บภาษีเฉพาะนิติบุคคคล ประชาชนทำงานหรือประกอบอาชีพได้รายได้เท่าใดก็ไม่ต้องเสียภาษี และได้รับบริการสาธารณะที่ดีอย่างพอเพียงต่อการดำรงชีวิต ระบบราชการมีการจัดสายบังคับบัญชาจากบนลงล่าง ประเทศบรูไนให้ความสำคัญกับประชาชนบนหลักปรัชญาของอิสลามที่ทุกคนเท่าเทียมกัน รักกันฉันท์พี่น้อง แม้กระทั่งสุลต่านเองเมื่อเข้ามัสยิดก็ต้องนั่งพื้นเช่นเดียวกับประชาชน (กิ่งดาว อินกอง และคณะ, มปป.)

           กล่าวโดยสรุปได้ว่า สังคมแบบแบ่งปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์มีลักษณะเน้น “การปัน” เป็นสำคัญ นั่นคือ มีการอุปถัมภ์จากบนลงล่างแบบแนวดิ่ง มีผู้ให้และผู้รับอย่างชัดเจนตามระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยกษัตริย์หรือสุลต่านจะอยู่ในฐานะผู้ให้ โดยเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร ในประเทศในฐานะกษัตริย์และเป็นนายกรัฐมนตรีควบคู่กันไป เป็นผู้วางนโยบายเพื่อให้เกิดการแบ่งสันปันส่วนในประเทศโดยยึดคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนประชาชนจะอยู่ในฐานะผู้รับแต่ฝ่ายเดียว นั่นคือ ไม่มีส่วนในการตัดสินใจ เนื่องจากระบบราชูปถัมภ์ได้มอบสิทธิการตัดสินใจสูงสุดให้แก่กษัตริย์ผู้เป็นประมุขแต่เพียงผู้เดียวตามหลักปรัชญาที่ใช้ในการปกครอง ฉะนั้น การแบ่งปันจึงถูกแสดงออกในลักษณะของการสงเคราะห์หรือการอุปถัมภ์ เช่น การมอบให้ จัดให้ ซึ่งสวัสดิการแก่ประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องเสียภาษี การให้เงินสนับสนุนด้านการศาสนา การกีฬา การพัฒนาหมู่บ้าน การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง การพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ ทั้งนี้ รัฐต้องการเพียงให้ประชาชนซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับต้องปฏิบัติตนตามกฎหมาย จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และหลักปรัชญาในการปกครองประเทศอย่างเคร่งครัดเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง 

ข. วิเคราะห์เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและแตกต่างของ “สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

          จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับสังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์มาแล้ว รูปแบบสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีความแตกต่างกันกับสังคมภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ แต่ช่วยปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งของแต่ละสังคมเพื่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนมากขึ้นภายใต้ระบบสังคมของประเทศนั้น ๆ

          แม้ว่าในประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจอธิปไตยผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวเฉกเช่นกับกษัตริย์ของประเทศบรูไนที่ปกครองประเทศด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย แต่ก็เป็นไปเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรโดยเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่วนในพิธีประทานปริญญาบัตรโดยพระมหากษัตริย์นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ก็เป็นไปเพื่อการสร้างขวัญกำลังใจ เป็นเกียรติให้กับสถานศึกษา ตลอดถึงเป็นเกียรติให้แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต และถือเป็นโอกาสที่พระมหากษัตริย์จะได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับอนาคตของชาติด้วยพระราชดำรัสที่ให้ข้อคิด ข้อปฏิบัติ และกำลังใจในการนำวิชาความรู้ไปสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป ซึ่งผู้เข้ารับปริญญานั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ เช่น ค่าศึกษาเล่าเรียนจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น แม้จะได้รับทุนการศึกษาจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือใช้ทุนส่วนตัวก็สามารถเข้ารับปริญญาบัตรในพิธีประทานปริญญาบัตรได้ หรือหากใครไม่สะดวกเข้ารับก็สามารถแจ้งความจำนงกับทางมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องผูกติดกับวัฒนธรรมหรือประเพณีการรับปริญญาอย่างเหนียวแน่น คือ ให้เสรีภาพในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม คือ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่สถาบันต่าง ๆ นี้ เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนคนไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการที่ทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรเสมอมา เป็นผู้สร้างโอกาสให้กับประชาชนชาวไทยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เห็นชัดและที่มองไม่เห็น (ปิดทองหลังพระ) เช่น ทรงสร้างแหล่งน้ำ พัฒนาคุณภาพน้ำ คุณภาพดิน ทรงแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการประกอบอาชีพอย่างเต็มที่ ทรงส่งเสริมด้านอาชีพ ด้านการศึกษาเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยหรือการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทรงอุทิศพระวรกาย พระสติปัญญา พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการทรงงาน ปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำโครงการต่าง ๆ เพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร โดยเฉพาะในส่วนรัฐบาลดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง หรือในยามที่เกิดวิกฤตที่ไม่สามารถรอการช่วยเหลือที่ล่าช้าจากทางราชการได้ นอกจากนี้ การทรงงานของพระมหากษัตริย์ไทยยังมีความเกี่ยวโยงกับการสร้างบารมีธรรมตามแนวทางของพุทธศาสนา เช่น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองตน ครองคน ครองงาน ด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทรงน้อมนำหลักธรรมในพุทธศาสนามาสอนประชาชนผ่านพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัสในที่ต่าง ๆ เช่น ฆราวาสธรรม ๔ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำหลักการตระหนักรู้ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) และหลักคุณธรรมเข้ามาเป็นรากฐานให้กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำเนินชีวิตบนทางสายกลางอีกด้วย

          ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของสังคมที่เน้นการปันแต่ไม่เน้นการแบ่งภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ เช่น ประเทศบรูไน กับการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีความแตกต่างกันตรงที่ สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์มีทิศทางการให้จากบนลงล่างในลักษณะการอุปถัมภ์สงเคราะห์คนทั้งประเทศในรูปแบบรัฐสวัสดิการ การที่ประเทศบรูไนทำเช่นนี้ได้ก็เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศบรูไนมีความมั่งคั่งจากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงเป็นประเทศที่ร่ำรวย ประกอบกับมีประชากรในประเทศไม่เกิน ๕ แสนคน จึงสามารถสงเคราะห์คน                ทั้งประเทศได้โดยไม่ต้องให้ประชาชนจ่ายภาษีใด ๆ ประชาชนเป็นผู้รอรับสวัสดิการจากรัฐอย่างเต็มที่ มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มพิกัด ในขณะที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระราชดำรัสตรัสสอนว่า “ต้องทำแบบคนจน” เนื่องจากประเทศไทย มีทรัพยากรจำกัด แต่พออยู่ได้ ทำให้พออยู่พอกินได้ แม้ว่าใครจะมองว่าเมืองไทยล้าหลังเพราะไม่วิ่งตามโลกจนเกินไป แต่เราก็พออยู่พอกิน มีความสงบ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด ๒๐๑๙ จะพบว่า หลายประเทศประสบปัญหา โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนอาหาร ในขณะที่ประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางด้านอาหารเพียงพอต่อคนทั้งประเทศ มีความสงบมากกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมให้ประเทศล้าหลัง ตรงกันข้าม กลับส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นจะต้องไม่ก้าวหน้าหรือล้าหลังจนเกินไป การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป เพราะการช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้เป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหากบุคคลที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว จะเห็นได้ว่า การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นล้วนมุ่งไปสู่การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นลักษณะของการสนับสนุน เกื้อกูล ผลักดันในทิศทางจากล่างขึ้นข้างบนไปตามลำดับขั้น คือเริ่มตั้งแต่พอกินพอใช้ จนเหลือสำรอง พร้อมที่จะแบ่งปันต่อไป 

          ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้สอนประชาชนอยู่ในฐานะเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าคิดอย่างนั้น ประชาชนจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เลย ดังนั้น พระองค์จึงส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักรับด้วยความตระหนัก ใส่ใจ เพื่อที่จะแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเคยได้รับนั้นสู่สังคมต่อไปด้วยความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างแท้จริง ดังที่ทรงตรัสว่า 

          “...คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่า ต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้แก่หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและในชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วยด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้...”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

๒๐ เมษายน ๒๕๒๑

 

          การส่งต่อในเรื่องการแบ่งปันเมื่อพร้อมนั้น ไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว แต่สามารถร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันในลักษณะของเครือข่ายสังคมแห่งการแบ่งปันได้ ขับเคลื่อนในภาคประชาสังคมก็ได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นต้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนทั่วประเทศ

          ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบการแบ่งปันของ“สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พบว่า มีทั้งส่วนของความคล้ายคลึง และความแตกต่างดังต่อไปนี้

ตาราง : เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและแตกต่างในเรื่องการแบ่งปันของ “สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ความคล้ายคลึง ความแตกต่าง
มีการแบ่งปันเพื่อการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่คนในประเทศ โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมายสำคัญของการแบ่งปัน ประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ  สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ ให้การแบ่งปันผ่านระบบรัฐสวัสดิการ โดยกษัตริย์หรือสุลต่านจะอยู่ในฐานะผู้ให้ที่ตัดสินใจเด็ดขาดแต่เพียง ผู้เดียวว่า ประชาชนในประเทศควรได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไร พระองค์จะอยู่ในฐานะผู้นำรัฐบาลในการวางนโยบายรัฐสวัสดิการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น ส่วนประชาชนอยู่ในฐานะผู้รับ ในขณะที่สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต้องคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นเสียก่อน การแบ่งปันที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามลำดับขั้น เช่น เริ่มจากการพออยู่พอกินในปัจจัย ๔ มีระบบสาธารณสุขที่ดี มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นและมีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีอาชีพ มีเครือข่ายคนในชุมชนที่เกื้อกูลกันและกัน เช่น เครือข่ายเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อสำรอง เพื่อแบ่งปัน เป็นต้น 
ลักษณะของการแบ่งปันแบบบนลงล่างนั้นเป็นไปเพื่อการสงเคราะห์หรือช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข หรือลดความทุกข์ในชีวิตให้เบาบางลง เช่น การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย ผู้ประสบภัยในถิ่นทุรกันดาร หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น คนพิการ เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง  เป็นต้น     สังคมเน้นการปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ เน้นการปันเพื่อการสงเคราะห์หรือช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยระบบรัฐสวัสดิการ เนื่องจากประเทศมีความมั่งคั่ง ประชาชนในประเทศมีไม่มาก จึงแบ่งปันได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นการเข้าไปสงเคราะห์ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น เร่งด่วน เช่น การสร้างที่พักชั่วคราวให้ผู้ประสบภัย การแจกอาหารให้กับผู้ขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤติโควิด-๑๙ การมอบรถวีลแชร์ให้กับคนพิการที่ขาดแคลน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องส่งเสริมในทิศทางจากล่างขึ้นบนต่อไป คือ เป็นลักษณะการให้การสนับสนุน ผลักดัน เกื้อกูลเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ ประชาชนสามารถดูแลกันเองได้ด้วยน้ำใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อมีกิน มีใช้ มีพอสำรองและพร้อมที่จะแบ่งปันแล้ว ก็ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลและส่งต่อพลังแห่งการให้นี้เพื่อผู้อื่นต่อไป ด้วยความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน 

 

          แม้ว่า สังคมแบบแบ่งปันภายใต้ระบบราชูปถัมภ์ จะมีจุดแข็งในเรื่องรัฐสวัสดิการ  อันเนื่องมาจากการมีผู้นำ (สุลต่าน) ที่มีใจแบ่งปันและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูงจากการขายทรัพยากรทางพลังงานของประเทศ แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ระบบดังกล่าวนี้ไม่อาจใช้ได้ในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมในระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ สังคมของประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ตลอดถึงสังคมที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก แต่หากนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปช่วยปิดจุดอ่อนเหล่านี้ด้วยการส่งเสริมให้ชนชั้นนำหรือกลุ่มคนที่มีทุนทางสังคมสูงของแต่ละประเทศได้แสดงออกซึ่งความช่วยเหลือเกื้อกูลชนชั้นล่าง หรือกลุ่มคนเปราะบาง ตลอดถึงผู้ด้อยโอกาส โดยคำนึงถึงการส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ และทำให้เกิดความยั่งยืน ก็จะสามารถนำระบบนี้ไปใช้ได้ในทุกระบบสังคม ซึ่งจะส่งผลดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดความสุขในสังคมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนประเทศใดที่คนในประเทศมีความพอเพียง มีสำรอง พร้อมที่จะแบ่งปันแล้ว ก็ควรมีนโยบายให้คนในประเทศได้ช่วยแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มให้กับประเทศที่ยังมีความขาดแคลน ก็จะเป็นการสร้างความสมดุลในเกิดขึ้นระหว่างประเทศหรือในระดับโลกได้

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๑๑๗ - ๑๒๒.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท