พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปัน


พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปัน

 

          เมื่อมองในเชิงปรัชญาประยุกต์ มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพลังอำนาจของชาติ โครงสร้างดังกล่าวได้แก่ มิติของมนุษย์ศาสตร์ มิติของเศรษฐศาสตร์ มิติของสังคมศาสตร์ มิติของภูมิศาสตร์ และมิติของคณิตศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมแห่งการแบ่งปันบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาพระราชดำรัสต่าง ๆ ตามบริบทของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพลังอำนาจของชาติ สามารถจัดเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาได้ ดังนี้

          ๑. การแบ่งปันบนฐานมนุษย์ศาสตร์ การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในบริบทนี้ หมายถึง การแบ่งปันบนพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ โดยมีเรื่องของสถานที่และช่วงเวลา (space and time) เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากความต้องการของแต่ละคนในแต่ละสถานการณ์หรือแต่ละช่วงเวลานั้นมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีส่วนของอัตวิสัย (subjective) ที่เกี่ยวข้องกับมิติภายใน เช่น ความเมตตา การให้อภัย ความมีน้ำใจ มิตรไมตรี เป็นต้น เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

“...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖

 

“...เมื่อมีวิชาความรู้ศึกษาสะสมไว้เป็นอย่างดี มีความไม่เคร่งเครียดในหลักวิชาจนเกินไป และมีความเข้าใจในสภาพที่เป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะเกิดความคิดเห็นอันปลอดโปร่ง สว่างไสว จะมีเหตุผลอันถูกต้องถ่องแท้ และจะมีปัญญาอันแยบคาย ที่จะนำมาใช้ปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

 

          “...การทำความดีนั้น โดยมากมักเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว...”

พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานกระบี่และใบปริญญาบัตร

แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ

๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙

 

          “...การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

          “...ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นชาวไทยมีความสุขทั่วหน้ากัน ด้วยการให้ คือ ให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษ โกรธเคืองกัน ให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน ด้วยมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์ จริงใจ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

 

“...จะทำอะไรก็ขอให้แต่ละคนมีความสำเร็จพอสมควร เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียง สามารถนำพาประเทศไปได้ดีก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จพอเพียง เพื่อให้บ้านเมืองบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘

 

          ๒. การแบ่งปันบนฐานเศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น ๒ มิติ คือ ๑) เศรษฐศาสตร์บนพื้นฐานมนุษยศาสตร์ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจภายในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับรายรับรายจ่าย ความอยู่ดีมีสุขหรือคุณภาพชีวิตของครอบครัวบนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ๒) เศรษฐศาสตร์บนพื้นฐานสังคมศาสตร์ เป็นระบบเศรษฐกิจระดับประเทศที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นลำดับขั้น โดยมีความพออยู่พอกินของประชาชนเป็นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมอาชีพและหลักการพึ่งพาตนเองได้ มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ จากนั้นจึงส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าด้วยความรอบคอบระมัดระวัง คือ การพัฒนาจะต้องไม่ก้าวหน้าหรือล้าหลังจนเกินไป เป็นไปตามลำดับขั้นอย่างมั่นคง อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาท

ซึ่งมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

๒.๑ เศรษฐศาสตร์บนพื้นฐานมนุษยศาสตร์

“...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”

พระราชดำรัส เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 

๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒

 

“...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง   อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...” 

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐

 

“...ในการดำรงตนในภายหน้านั้น ท่านจะต้องประพฤติให้ดีให้เหมาะสมแก่ฐานะรู้จักผิดและชอบ ประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ ไม่เสเพล และไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสแห่งอบายมุขต่าง ๆ ดังนี้แล้ว ท่านก็จะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและครอบครัวของท่าน และจะเป็นที่นับถือของบุคคลอื่น...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๖

 

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้อง ตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗

 

“...แต่ว่าเมื่อตะกี้ เมื่อเข้ามานี้ มีคนพูดแทน ก็หวังว่าเป็นการพูดแทน ของประชาชนจริง ๆ เพราะเค้าบอกว่าเค้า พูดในนามของประชาชนคนไทย ว่าจะทำตามเศรษฐกิจพอเพียง ของพระเจ้าอยู่หัว อันนี้ไม่ทราบว่าเค้ารู้เรื่องดีอย่างไร ถึงว่าเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวคืออะไร แต่ก็ควรจะรู้ หรืออย่างน้อยที่สุด ท่านผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ ข้างในนี้ ก็น่าจะรู้ น่าจะเข้าใจ เพราะว่าจำนวนมากส่วนใหญ่ ได้ฟังพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง และ ทฤษฎีใหม่ มาหลายต่อหลายครั้ง แล้วไม่ได้คัดค้านว่าใช้ไม่ได้ ทำไม่ได้ มีบางคนพูดบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ดี ได้ยินคนเค้าพูด แต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้ เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่า เป็นการทั้งเศรษฐกิจ หรือ ความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือเกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่า มีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข...” 

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓

 

๒.๒ เศรษฐศาสตร์บนพื้นฐานสังคมศาสตร์

“...ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัด ระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อคืนฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว... การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

 

“...วิธีปลูกข้าวไม่เหมือนของเรา แต่ของเราเพิ่งพบ วิธีปลูกข้าวใหม่ในพรุ และทำให้นราธิวาสมีกินแล้วก็ขายได้ อันนี้ที่แล้วก็ว่าจะต้องสอนให้เด็ก ๆ มีจินตนาการ ซึ่งตอนนั้นฝ่ายมาเลเซีย สายมาลายู เขาก็มีเทคโนโลยีสูง เราก็ชื่นชม ชื่นชมรัฐบาลมาเลเซียว่าเขาเก่ง เขามีความสามารถ เขาฉลาด ก็จริง เขาฉลาด แต่ตอนนี้เขาปลูกข้าวไม่เป็น เขาต้องเอาคนไทยไปสอน แต่ที่เราสอนได้ ได้จากคนที่มีความรู้แล้วเรียนเกี่ยวกับการเกษตร และมาพลิกแพลงให้สามารถทำให้ดินมีผลิตผลได้ เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ จะต้องสามารถเลี้ยงตัวได้ ถึงว่ามาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ก้าวหน้าไปอีก ว่าไม่ใช่เพียงแต่ปลูกให้มีพอกิน ไม่ใช่ปลูกพอกินอย่างนั้น มันต้องมีพอที่จะตั้งโรงเรียน มีพอที่จะมีแม้แต่ศิลปะ ทำให้ศิลปะเกิดขึ้นแล้ว ประเทศชาติก็จะถือว่า ประเทศไทยเจริญเป็นประเทศที่เจริญในทุกทาง เจริญในทางไม่หิว มีกิน คือไม่จน แล้วก็มีกิน แล้วก็มีอาหารใจ อาหารที่จะศิลปะ หรืออะไรอื่น ๆ ให้มาก ๆ ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖

 

“...คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า เป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐

 

“...ทั้งนี้ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทย ไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้... ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้ผู้อื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๔ ธันวาคม ๒๕๑๗

 

          ๓. การแบ่งปันบนฐานสังคมศาสตร์ การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในบริบทนี้ หมายถึง การแบ่งปันเพื่อให้เกิดความพอเพียงแก่คนทั้งชาติ มองส่วนรวมหรือองค์รวมเป็นหลัก โดยคำนึงถึงความต้องการของคนในชุมชนที่สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เน้นการสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการแบ่งปัน สร้างพื้นที่แห่งการเกื้อกูลในหลากหลายมิติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองเป็นพื้นฐานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไปซึ่งมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          “...ความเจริญของประเทศชาติ เป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓

 

“...ต้องหาวิธีที่จะทำการสอน การเรียนการสอนให้ได้ประโยชน์และสามารถที่จะเข้าใจความจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะให้เข้าใจภาษา เข้าใจวิชาการ และไม่ใช่วิชาการเท่านั้นเอง แต่ต้องเข้าใจวิธีปฏิบัติตน คือ หมายถึง จริยธรรมต่าง ๆ หรืออะไรต่าง ๆ พวกนี้ ต้องเรียนต้องรู้ ให้มีความรู้กว้างขวาง อันนี้ที่เป็น   ข้อสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ถ้าหากว่าไม่พัฒนาศึกษา ถ้าหากว่าไม่พัฒนาศึกษา ประเทศชาติจะก้าวหน้าไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่พัฒนาการศึกษา ความเข้าใจของบุคคลจะไม่มี...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

 

“...ต้องทำแบบ “คนจน” เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มมีการบริหารแบบเรียกว่าแบบ “คนจน” แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือ เมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป คนที่ทำงาน   ตามวิชาการ จะต้องดูตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่ม คือปิดตำรา ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบ “คนจน” ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า “เรื่อย ๆ ”...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

 

พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง. ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี... ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ. อันนี้ก็หมายความอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง... แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอเพียง เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง. คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

“...ถ้าเราฟังคนที่มีความรู้ เราก็ได้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้ที่จะมาสอนคนนู้นคนนี้ได้ แต่ได้ความรู้ที่จะปฏิบัติได้... ถ้าเราฟังคนแล้วก็ฟังจริง ๆ แต่ต้องพิจารณา อันนี้เป็นข้อสำคัญ... ต้องพิจารณาว่าที่ท่านพูดนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าพูดถูกต้องปฏิบัติได้ เราก็ดี เราก็ได้ประโยชน์ ส่วนรวมก็ได้ประโยชน์ เพราะว่าเราเอาความรู้ที่ท่านพูดไปปฏิบัติต่อ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๔ ธันวาคม ๒๕๔๗

 

          ๔. การแบ่งปันบนฐานภูมิศาสตร์ การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในบริบทนี้ หมายถึง การแบ่งปันโดยคำนึงถึงภูมิประเทศ ประการหนึ่ง และคำนึงถึงภูมิสังคม ประการหนึ่ง (๑) ภูมิประเทศ คือ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ได้แก่ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ ทรัพยากรธรรมชาติ อุณหภูมิ ลักษณะทางภูมิประเทศ เช่น ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทางใต้เป็นพื้นที่พรุ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือศักยภาพของพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ (๒) ภูมิสังคม คือ สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเชื่อ แนวคิดทัศนคติ นิสัยใจคอ วิถีการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิประเทศนั้น ๆ (๒๕ ลุ่มน้ำทั่วประเทศ) ของคนในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถเรียกรวมกันว่า “ภูมิสังคม” (ตามชื่อหลักการทรงงานข้อที่ ๑๐) ซึ่งมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          “...สำหรับนักเรียนที่ได้รับปริญญาก็ขอแสดงความยินดีด้วย ที่ได้อุตสาหะเล่าเรียนจนประสบความสำเร็จดังที่เห็นกันอยู่นี้ อันประเทศของเรานั้น เป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า รวยด้วยทรัพย์ในดิน  สินในน้ำเพียงไร ฉะนั้นถ้าได้ร่วมมือร่วมใจช่วยกันนำทรัพย์เหล่านั้นขึ้นมาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็จะเป็นผลส่งเสริมทวีความมั่นคงของบ้านเมืองได้อีกเป็นอันมาก...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

 

“...ในการที่จะเอาหลักวิชาการที่ได้เล่าเรียนไปใช้เพื่อประกอบกิจการงานต่อไปนั้น ควรจะคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่น แลถึงผลสะท้อนที่อาจมีขึ้น...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐

 

“...ทำให้หาดใหญ่ ท่วมในตัวเมือง ทีแรกไม่เชื่อ แต่ว่า ก็เห็นในรายงานท่วมถึง ๓ เมตรก็มี เป็นความจริง ทำไมท่วมอย่างนั้น ก็เพราะว่าจากแรงคน แทนที่จะไปทำเขื่อน ที่อื่น เพื่อที่จะเก็บน้ำเอาไว้ หรือป้องกันน้ำท่วม หรือเก็บน้ำสำหรับ มาทำการเพาะปลูก ในหน้าแล้ง ไปทำเขื่อนกันน้ำ ทำให้เมืองหาดใหญ่ จมลงไปในน้ำ เวลาสร้างเขื่อนที่ไหนเค้าก็ร้องโวยวายว่า ทำให้ท่วม ทำให้เสียหาย ขอชดเชยต่าง ๆ ตอนนี้ เอาแล้ว เป็นความจริงแล้ว ก็ชดเชย ต้องชดใช้เป็นพันล้าน เพราะว่าไปสร้างถนน ให้น้ำลงไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อ น้ำลงมาแล้ว น้ำก็เอ่อขึ้นมา นอกจากนี้ควรจะได้ทำพนังก็ใช้ถนนเหมือนกัน แต่อีกสายนึง ก็ไม่ได้ทำถนนที่ควรจะ เป็นพนังนั้น ก็ทำเตี้ย ถนนที่เป็นเขื่อนนั้นทำสูง และไม่ทำช่องให้น้ำผ่าน ก็แสดงให้เห็นว่า หลักวิชาไม่ได้อยู่ในสมองของผู้ปฏิบัติ ก็เลยทำให้ นึกว่า  ถ้าคนจะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้จะไม่ใช่ ผู้เชี่ยวชาญ ทุกคนควรจะมีความรู้ ความคิดที่จะป้องกันได้ และสามารถที่จะแจ้งให้ผู้ที่มีความคิดควรจะ มีความคิด...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๔ ธันวาคม ๒๕๔๓

 

          ๕. การแบ่งปันบนฐานคณิตศาสตร์ การแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทนี้ หมายถึง การแบ่งปันโดยการคำนวณหรือกำหนดเกณฑ์เชิงปริมาณอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้เพื่อให้เหมาะสมในแต่ละบริบทด้วย ซึ่งมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

“...ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การผลิต การขาย และการบริโภคนี้ ก็นึกว่า ท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์. ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมากล้วนเดือดร้อน. แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด  แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้. การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ . โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้. ที่จริงในที่นี้ ก็มีนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ควรจะเข้าใจที่พูดไปดังนี้...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐

“...เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. ...หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

“...เมืองไทยรอดเพราะโครงสร้างของประเทศ หรือนิสัยของประชากรชาวไทย. ประชากรนี่ หมายถึงประชาชนที่อยู่ในกรุง ประชาชนที่อยู่ในชนบท ประชาชนที่อยู่ชายทะเล ประชาชนที่อยู่บนภูเขา ยังดีคนยังมีจิตใจที่กล้าคิด กล้าทำ. กล้าทำตามคุณสมบัติของคน คือ คุณธรรมของคนหรือความดี ของคน เมืองไทยสบาย ไม่ต้องให้ต่างชาตติมาขุด แม้จะมีต่างชาติมาขุด เขาก็ขุดให้เรา. เขาก็แบ่งให้เราด้วย เราก็แบ่งให้เขา. นี่ก็เลยกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบเศษ ๑ ส่วน ๔ หรือมากกว่าเศษ ๑ ส่วน ๔ ด้วยความพอเพียงที่แปลว่า พอประมาณ และมีเหตุมีผล. อันนี้ก็กลับมาถึงที่เศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยนึกว่าเป็นสิ่งที่น่าจะนำไปคิด...” 

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

“…หลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นส่วนที่ปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ ดำเนินการไปแล้ว ทำอย่างธรรมดาอย่างชาวบ้าน ในที่สุดก็ได้ข้าวได้ผักขาย..”

พระราชดำรัสพระราชทาน

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๗๙ - ๘๘.

หมายเลขบันทึก: 710683เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท