งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

          งานวิจัยที่เกี่ยวข้องในที่นี้ ได้แก่ รายงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          กีรติ บุญเจือ และคณะ (๒๕๕๘) ศึกษาวิจัยเรื่อง “ลักษณะหลังนวยุคในทฤษฎีความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ” ผลการวิจัยพบว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายสอดคล้องกับแนวคิดด้านอภิปรัชญาเรื่องกายและจิตที่มีแนวคิดเรื่องเป้าหมายชีวิตที่ดีมีคุณภาพ คือ การมีอยู่ มีกิน ไม่เดือดร้อนเพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพในแต่ละสถานภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งมีความเป็นหลังนวยุค ข้อค้นพบด้านญาณปรัชญา พบว่า แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายสอดคล้องกับแนวคิดด้านญาณปรัชญาที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการค้นคว้าและพัฒนาไปตามสถานการณ์ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นหลักการของความเป็นหลังนวยุค ข้อค้นพบในส่วนที่เกี่ยวกับปรัชญาประยุกต์ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาจริยะ ซึ่งเป็นแนวคิดและมาตรการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ที่ใช้หลักการเอื้อเฟื้อ และแบ่งปัน เพื่อการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายของความเป็นหลัง   นวยุค ส่วนการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะปรัชญาจริยะ พบว่า ปรับประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับรัฐ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กล่าวโดยสรุป การทำความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงปรัชญาสามารถทำเข้าใจได้ในหลายแง่มุมซึ่งมีความเป็นหลังนวยุค

          อภิชัย พันธเสน และคณะ (๒๕๖๐) ศึกษาวิจัยเรื่อง “ยั่งยืน มีความสุขจากประโยชน์สุขด้วยเศรษฐกิจพอเพียง : หนึ่งศตวรรษครึ่งแห่งการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง (๒๕๔๗ - ๒๕๕๙)” ผลการวิจัยพบว่า การเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง อาจไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากการ “ระเบิดจากภายใน” ซึ่งความหมายตามปกติที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ส่งสื่อกับคนทั่วไป คือ ทำจากเล็กไปหาใหญ่ แต่ในที่นี้จะอธิบายถึงความหมายที่เกิดจากการเปลี่ยนวิธีคิดภายในแต่ละบุคคล คือ แต่ละคนเกิดมามีปัญญาที่ถูกกำกับด้วยสติ แล้วนำไปสู่การมีชีวิตที่มีคุณธรรม ดำรงชีวิตอย่างมีเหตุผล ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทุกชนิด แต่อาจจะเป็นการ “ระเบิดจากภายนอก” คือ เห็นอันตรายจากความประมาทหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แล้วคิดหาทางสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิธีคิดที่เข้าใจเรื่องความพอประมาณ เมื่อปฏิบัติตัวด้วยความพอประมาณหรือความพอเพียงจนเป็นวิถีชีวิตแล้ว ก็จะเข้าใจความหมายและมีชีวิตที่มีคุณธรรมเป็นเหตุ โดยมีผลเป็นความสุข สำหรับคนโดยทั่วไปการ “ระเบิดจากภายนอก” ที่เริ่มจากพื้นฐานความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเพื่อที่จะอยู่รอดด้วยการมีภูมิคุ้มกันให้หลังจากความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันด้วยรูปแบบต่าง ๆ จะเข้าใจว่า การมีภูมิคุ้มกันที่ดีซึ่งเป็นวิธีการ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความคิดในเรื่องความพอเพียง หรือความพอประมาณ และเมื่อปฏิบัติจนกลายเป็นวิถีชีวิตแล้วก็จะเข้าใจความหมายของการมีเหตุผลเป็นอย่างดี นั้นก็คือขั้นตอนที่สูงที่สุด คือ การเข้าถึงความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเริ่มต้นจากการมีภูมิคุ้มกันถือได้ว่าเป็นการ “เข้าข่าย” ของการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะในขั้นตอนนี้ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและความโลภยังมีอยู่ แต่ที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพราะเกรงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น เมื่อใดที่นำเอาความคิดเรื่องความพอเพียงหรือความพอประมาณมาใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันถือได้ว่าเริ่ม “เข้าใจ” ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ความโลภหรือความอยากมีอยากได้โดยไม่มีความจำเป็นจะลดลงด้วย หลังจากได้ปฏิบัติเป็นประจำจนกลายเป็นวิถีชีวิต และสามารถเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นเรียนรู้ได้ ระดับนี้อาจกล่าวได้ว่าสามารถ “เข้าถึง” ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง 

          ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า การเข้าใจจะต้องรวมเงื่อนไขของการเข้าข่าย เข้าใจด้วย ส่วนการเข้าถึงจะต้องรวมการเข้าใจที่ได้รวมเอาเข้าข่าย เข้าใจด้วย 

          สิริกร อมฤตวาริน (๒๕๕๘) ศึกษาวิจัยเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับความสุขแท้ตามความเป็นจริง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์  วิจักษ์ และวิธาน” ผลการวิจัยพบว่า เมื่อมนุษย์ประพฤติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะแสดงออกมาเป็นการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา ซึ่งจะทำให้มนุษย์ได้คิดได้อย่างหลากหลาย และความพอเพียงยังส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปัน ทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตด้วยความเมตตา มุ่งสู่การมีความสุขบนความสุขของผู้อื่น ดังนั้น มนุษย์ย่อมมีความสุขแท้ตามความเป็นจริงได้

          สุดารัตน์ น้อยแรม (๒๕๖๑) ศึกษาวิจัยเรื่อง “หลักพอเพียงเชิงปรัชญาหลังนวยุคสายกลางในภาคปฏิบัติ : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน” ผลการวิจัยพบว่า เกณฑ์พอเพียงกระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางเน้นไปที่ความสมดุล (balance) ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณ เช่น ถ้าต้องการซื้อเครื่องบินล่องหน (stealth) ต้องไปดูว่ามีงบประมาณพอไหม ซื้อแล้วจะไปเบียดงบประมาณอื่นในการพัฒนาประเทศหรือไม่ ซื้อมาแล้วจะมีนักบินที่สามารถขับได้กี่คน มีสถานที่และอุปกรณ์ในการจัดเก็บ และบำรุงรักษาที่เหมาะสมหรือไม่ ซื้อมาแล้วจะเหมาะสมกับภาวะสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันหรือไม่ ประโยชน์ในการใช้สอย (function) คืออะไร ซื้อมาแล้วสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในประเทศได้หรือไม่ เมื่อได้คำตอบว่าผ่านเกณฑ์แล้วในส่วนที่เปิดเผยได้ก็ควรทำประชามติกับผู้อื่นด้วยการสร้างสรรค์ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา ทำให้เรารู้ว่าได้ใช้วิจารณญาณด้วยความถูกต้องชอบธรรมและเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตจริงหรือไม่

          ปราโมทย์ หม่อมศิลา (๒๕๖๑) ศึกษาวิจัยเรื่อง “คุณภาพชีวิตของทหารไทยตามหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน” ผลการวิจัยพบว่า การส่งเสริมให้ทหารมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น จำเป็นต้องนำหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลางและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ร่วมกัน ซึ่งการปฏิบัติในขั้นต้นนั้น ทหารแต่ละคนจะต้องกลับมาดูตนเองก่อนว่า ความพอเพียงในปัจจัย ๔ และเงินเลี้ยงชีพของตนเองนั้นที่ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป คือเท่าไร โดยพิจารณาจากความจำเป็นที่เกิดขึ้น จุดนี้เป็นการเริ่มต้นในการสร้างจิตสำนึกให้คนทั้งกองทัพเพื่อให้กลับมาพึ่งตนเองและสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวโดยไม่สร้างหนี้สินอันเกิดจากความต้องการที่เกินตัว เกินพอดี ก็จะทำให้เกิดความพออยู่ พอกิน พอใช้ เกิดความร่มเย็น รู้จักใช้พลังงานและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรอบข้างในเรื่องการพัฒนาตนเองให้เกิดความพอเพียงและมีความสุข จากนั้นจึงมาพิจารณาถึงความพอเพียงของคนรอบข้างที่ตนเองต้องมีความสัมพันธ์ด้วย โดยเริ่มจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ สามีภรรยา ลูก หลาน เป็นต้น โดยคำนึงถึงบุคคลที่เราต้องดูแล ต้องพิจารณา ความพอเพียงในการดำรงชีวิตเป็นพื้นฐานเสียก่อน เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตขั้นต้น จากนั้นจึงพัฒนาให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในด้านจิตใจและสติปัญญา

ในส่วนกองทัพนั้น ควรมีการจัดสรรเงินเดือนและสวัสดิการให้กับทหารอย่างพอเพียง และอาจจัดอาชีพเสริมสำหรับทหารที่ต้องการรายได้เสริมเนื่องจากมีภาระที่ต้องแบกหนักกว่าทหารคนอื่น ๆ ก็จะเป็นการสร้างงาน สร้างโอกาสให้เกิดขึ้นกับชีวิตของทหาร

ในส่วนการพัฒนาความสามารถเชิงความคิดนั้น นอกจากจะสอนให้ทหารได้มีวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ในรูปแบบต่าง ๆ วิธีการคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยผู้เชี่ยวชาญทางปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่เน้นวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นพื้นฐาน ได้แก่ การวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน การวิเคราะห์  จะช่วยให้ทหารสามารถจำแนกแจกแจง คิดเป็นระบบ เป็นเหตุผล แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม การวิจักษ์จะทำให้ทหารรู้จักประเมินสถานการณ์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง หรือตามบริบท สามารถประเมินค่าออกมาได้ว่าอะไรดีไม่ดี ควรไม่ควร คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ส่วนการวิธานจะทำให้ทหารมีความสามารถในการประมวลส่วนดีจากทุกทางไปสู่การปฏิบัติด้วยความกล้าเผชิญต่อปัญหา กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ และกล้าลงมือทำด้วยความรับผิดชอบ

ในส่วนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ควรเน้นให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรมดูแลเป็นหลัก จริยธรรมดูแลต้องการพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์ในทุก ๆ ทาง ควรให้ความสำคัญในส่วนตรงนี้ให้กว้างพอสมควร ในการที่จะแสวงหาการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังปัญหาของทุกฝ่ายและหาข้อยุติด้วยเหตุผลและมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งใดที่เห็นว่าส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ปรับตัวเข้าหากัน แสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง มีพัฒนาการก้าวไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาสิ่งที่ขาดหายมีเติมเต็มให้สมดุลอยู่เสมอ

นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ทหารได้มีโอกาสเข้าไปให้บริการและแบ่งปันความสุขให้กับประชาชนด้วยการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เช่น กิจกรรมขุดบ่อ สร้างและปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร กิจกรรมลอกคลองที่เน่าเหม็นทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล กิจกรรมกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา กิจกรรมช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ หรืออาจทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ คืนสู่ธรรมชาติ เช่น การปลูกป่าเพื่อให้เกิดความร่มเย็น ปรับสมดุลให้กับธรรมชาติ กลายเป็นป่าไม้ลำเนาไพรที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารให้กับมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน สร้างแหล่งน้ำ ธารน้ำให้เป็นที่อยู่ของปู ปลา สัตว์น้ำ หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น นอกจากประโยชน์จะเกิดกับประชาชนแล้ว ป่าชุมชนที่ทางกองทัพได้ไปเข้าร่วมสร้างสรรค์และฟื้นฟูจะกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศและมีประโยชน์กับคนในกองทัพซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างทหารกับประชาชนอย่างมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ในยามที่ว่างจากศึกสงคราม ทหารยังมีกองกำลังพอที่จะช่วยเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนให้เป็นนาข้าว ปลูกพืช ทำปุ๋ย ผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นขึ้นมาเอง เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า พืชผัก อาหารการกิน เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ จากป่าที่ปลูกขึ้น แล้วนำสิ่งเหล่านี้มาปฏิบัติในค่ายทหารด้วย ก็จะเกิดประโยชน์ต่อกองทัพ เกิดผลดีต่อตัวทหารเองและยังจะช่วยประหยัดงบประมาณมหาศาลให้กับกองทัพด้วย รวมทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เยี่ยมยอดที่สุดแห่งหนึ่ง ในการสร้างงาน สร้างคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังทักษะและคุณธรรมแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ดำรงชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล ควบคู่กับความรู้ และคุณธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ทหารรู้จักพึ่งตนเอง กิจกรรมต่าง ๆ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ มีส่วนช่วยให้ทหารและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน เข้าใจกันและกัน และมีมิตรภาพต่อกันในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป

เมื่ออบรมบ่มนิสัยให้ทหารเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบหลังนวยุคสายกลางแล้ว ทหารจะรู้ได้ว่าความสุขแท้ตามความเป็นจริงจากสัญชาตญาณปัญญานั้นเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความสุขจากสัญชาตญาณระดับล่าง ๓ ประการ คือ ก้อนหิน พืช และสัตว์ เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่จะต้องไม่ให้ขาดและเกินซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านร่างกายให้มีความสมดุล เช่น รักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์แต่พอดี พักผ่อนให้เพียงพอ ฯลฯ ถ้ามีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดโทษ เช่น เป็นโรคต่าง ๆ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ครอบครัวแตกแยก ความสุขจากสัญชาตญาณระดับล่างจึงต้องควบคุมให้สมดุล ส่วนความสุขจากสัญชาตญาณปัญญาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านจิตใจ ให้รู้จักสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา เมื่อพัฒนาจนต่อมคุณธรรมแตกแล้วมีอะไรที่ดี ๆ ก็จะทำด้วยความเต็มใจโดยไม่ต้องบังคับ เมื่อทหารอาชีพและทหารเกณฑ์มีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพกายที่ดี มีสุขภาพใจที่ดี และรู้จักหัวใจของการพัฒนาคุณภาพชีวิตติดตัวไป เขาก็จะนำความสุขนั้นไปเผยแผ่แก่สังคมภายนอกที่เขาอยู่ด้วย การเป็นทหารจึงเป็นการฝึกบุคคลให้เป็นคนที่มีคุณภาพทั้งทางด้านร่างกายและทางจิตใจ พร้อมที่จะพัฒนาประเทศต่อไป และทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการเป็นทหารมากยิ่งขึ้น

วิเศษ แสงกาญจนวนิช และ เอนก สุวรรณบัณฑิต (๒๕๖๐) ศึกษาวิจัยเรื่อง “ความชอบธรรมของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะปรัชญาเพื่อการพัฒนาชาติ”ผลการวิจัยพบว่า ความชอบธรรมในระดับปรัชญาด้วยปรัชญาหลังนวยุคสายกลางนั้น เน้นการแสดงเหตุผลทางปรัชญาเพื่อจะชี้แจงทุกกลุ่มทุกฝ่ายให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นฐานสำคัญในการกำหนดนโยบายเพื่อความสุขแก่ตนเอง สังคมและประเทศชาติได้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงปรัชญาและการพูดคุยในวงเสวนาเพื่อหาข้อคิดเห็น ความรู้มาขยายข้อมูลในเชิงกรอบความคิดปรัชญา แล้วนำมาจัดหมวดหมู่ความคิดเชิงปรัชญาให้เหมาะสม ผลการวิจัยพบว่า ความชอบธรรมของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องพิจารณาจากหลายด้าน ได้แก่ 

          ๑. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะนโยบายของพระมหากษัตริย์เป็นความชอบธรรมทางศาสนาตามแนวคิดเทวสิทธิ์ และเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะทรงไว้ซึ่งเมตตาธรรม ยุติธรรมและบันดาลความสุข ความรุ่งเรืองแก่ประชาชน และมีลำดับความสัมพันธ์กับประชาชนในฐานะศูนย์กลางแห่งอำนาจ ประชาชนต้องเคารพเชื่อฟังและมีศรัทธาตามจารีตประเพณีโบราณ

          ๒. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะนโยบายของรัฐบาลเป็นความชอบธรรมทางรัฐศาสตร์    มีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม เป็นอำนาจนำที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อเนื่องยาวนาน และยังปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) การเชื่อมโยงศาสตร์พระราชากับการพัฒนาประเทศเพื่อให้การพัฒนาในทุกมิติมีการบูรณาการบนทางสายกลาง 

          ๓. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะบทบัญญัติทางกฎหมายเป็นความชอบธรรมทางนิติศาสตร์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มีบทบัญญัติอันเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบัญญัติไว้คือ หมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ทำให้เกิดบทบาทของความชอบธรรม กลไกต่าง ๆ ของสังคมทำงานไปได้ตามบทบัญญัตินั้น ความเป็นธรรมที่ส่งเสริมผ่านการทำให้ระบบกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเป็นธรรมทางสังคมเป็นกระแสหลักของหลายประเทศ 

          ๔. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะปรัชญาเป็นความชอบธรรมตามหลักปรัชญาได้แก่ 

               ๑) อภิปรัชญาตามลัทธิทวินิยมและแนวคิดของปรัชญาหลังนวยุคสายกลางด้วย เน้นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ในสภาวะปัจจุบันท่ามกลางความรู้ต่าง ๆ ที่แตกต่างหลากหลาย 

              ๒) ญานปรัชญาตามปรัชญาหลังนวยุคเสนอคำตอบที่สอดคล้องกับวิถีคิดของสังคมไทยว่าควรศึกษาย้อนอ่านให้หมด ไม่ควรละเว้น และควรคัดสรรเฉพาะส่วนที่ดีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบันเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

              ๓) ปรัชญาจริยะมีความสอดคล้องในระดับเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ มุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

กีรติ บุญเจือและสิริกร อมฤตวาริน (๒๕๖๑) ศึกษาวิจัยเรื่อง “ปรัชญาธรรมาภิบาลที่พบได้ในอารยธรรมอียิปต์โบราณ” ผลการวิจัยพบว่า หลังจากได้วิจัยเรื่อง ปรัชญาธรรมาภิบาลที่สนับสนุนพระปฐมบรมราชโองการสำเร็จไปแล้ว รู้สึกอยากจะหาตัวอย่างธรรมาภิบาลจากชาติในประวัติศาสตร์มาเป็นตัวอย่างทั้งด้านบวกและลบ เพื่อเสนอเป็นแนวทางวินิจฉัยแก่มหาชนชาวสยาม อย่างมีข้อมูล ทั้งด้านจูงใจและด้านระวังภัยจากการไม่มีธรรมาภิบาลหรือใช้ธรรมาภิบาลไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข  ได้ตัดสินใจสุ่มศึกษาที่อารยะธรรมอียิปต์ ก็เชื่อว่าได้พบทุกประเด็นที่พึงประสงค์โดยได้เห็นตัวอย่างความร่วมมือจากสถาบันหลัก คือ สถาบันศาสนา สถาบันฟาโรห์ สถาบันข้าราชการ สถาบันธุรกิจและประชาชน ซึ่งร่วมมือกันสร้างต้นแบบธรรมาภิบาลได้อย่างดี ยกเว้นบางช่วงที่ขาดความร่วมมือ และกลายเป็นตัวอย่างเชิงลบให้ระวังได้เป็นอย่างดี เอกลักษณ์ที่ค้ำประกันธรรมาภิบาลของอียิปต์คือ Maat ซึ่งเทียบได้กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรได้ประทานไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของธรรมาภิบาลของชาวไทย

พลตรีธรรมนูญ วิถี (๒๕๕๙) ศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผลการวิจัยพบว่า ระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ระบบ คือ ๑) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalist Economic system) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าของและการลงทุนในการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและยอมให้ผู้ประกอบการมีโอกาสแข่งขันทางเศรษฐกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรหรือผลประโยชน์อื่นตามความสามารถและความต้องการของบุคคล ๒) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือ ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการผลิตโดยเน้นในด้านสวัสดิการของประชาชนในประเทศและรัฐบาลกลางยังเป็นผู้กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการทั้งหมดซึ่งการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจหน่วยครัวเรือนและสถาบันทางเศรษฐกิจจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกลางกำหนดซึ่งเอกชนไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ๓) ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ คือ ระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่รัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทุกชนิดโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในการตัดสินใจทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมดและ และ ๔) ระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ การนำเอาลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและแบบสังคมนิยมมาไว้ด้วยกัน 

          เมื่อนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในแต่ละระดับย่อมต้องให้ความสำคัญกับแนวทางที่สอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคล สถาบันครอบครัว การดำเนินธุรกิจเอกชน และการบริหารประเทศ ดังนี้ 

          ๑) ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งทางกายและทางใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด

          ๒) ความพอเพียงระดับชุมชน มุ่งให้คนมีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม  เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  มีความเป็นอยู่ที่พอเพียง 

          ๓) ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์หรือกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้นและพนักงาน ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่ง และเรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้ ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม 

          ๔) ความพอเพียงระดับประเทศ เป็นการบริหารจัดการประเทศ โดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้ มีความรู้ มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลาย ๆ แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ  พลังอำนาจของชาติ  โดยเฉพาะพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องรักษาสถานภาพไม่ให้ล้ำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจของชาติในด้านอื่น ๆ หรือเรียกว่าการรักษาสมดุลของพลังอำนาจของชาติโดยใช้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจเป็นแกนนำและใช้พลังอำนาจด้านอื่นสนับสนุน ซึ่งนอกเหนือจากต้องพิจารณาพลังอำนาจของชาติแล้วยังจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้วย เนื่องจากปัจจัยพลังอำนาจของชาติเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากหรือเป็นนามธรรม หากต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมแล้วยังต้องพิจารณาแนวทางด้านเศรษฐกิจในรูปของปัจจัยพลังอำนาจของชาติอีกด้วย ซึ่งปัจจัยพลังอำนาจของชาติที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจและถือเป็นปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยพลังอำนาจด้านภูมิศาสตร์ ปัจจัยพลังอำนาจด้านภาวะประชากร ปัจจัยพลังอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยพลังอำนาจด้านลักษณะประจำชาติ ปัจจัยพลังอำนาจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ปัจจัยพลังอำนาจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต และปัจจัยพลังอำนาจด้านการศึกษา ทั้งนี้ยังต้องใช้พลังอำนาจด้านอื่น ๆ สนับสนุน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันมีความสมบูรณ์โดยใช้ปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้านอื่น ๆ (ปัจจัยสนับสนุน) ในเรื่อง ปัจจัยพลังอำนาจด้านความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดี ปัจจัยพลังอำนาจด้านกำลังทหาร ปัจจัยพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยพลังอำนาจด้านอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ 

          พลังอำนาจของชาติ หรือ National Power ที่กล่าวถึงในที่นี้ หมายถึง “กำลังหรือขีดความสามารถทั้งปวงของชาติ ในการทำให้ผลประโยชน์ของชาติบรรลุผล” พลังอำนาจของชาติ เริ่มมีการใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ มาตั้งแต่อดีต ที่เด่นชัดคือ Niccolo Machiavelli ได้เสนอความคิดที่เกี่ยวกับพลังอำนาจของรัฐ ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนามาเป็น องค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติ ๓ ประการ คือ การเมือง สังคม และการทหาร ต่อมาแนวความคิดในเรื่องของพลังอำนาจของชาติได้ถูกพัฒนาเพิ่มเติม โดย Carl von Clausewitz ได้เพิ่มเติมองค์ประกอบที่ ๔ คือ เศรษฐกิจ ทำให้องค์ประกอบพลังอำนาจของชาติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือประกอบด้วย การเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และสังคมจิตวิทยา ช่วงต่อมา นักยุทธศาสตร์หลายท่านและสถาบันต่าง ๆ ได้ศึกษาและพัฒนาองค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติให้กว้างขวาง และครอบคลุมพลังอำนาจด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นภายหลังตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกยุคปัจจุบันที่มีวิวัฒนาการไปตามเวลา องค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติในยุคปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

          ๑. การเมือง : เป็นพลังอำนาจที่ได้จากความนิยม และการสนับสนุนจากพลังประชาชนต่อระบอบการปกครอง ต่อรัฐบาลและต่อนโยบายของประเทศ นโยบายทางการเมืองการปกครองที่ดี การแก้ไขปัญหาภายในประเทศให้ลุล่วง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและเป็นหลัก ประกันถึงเสถียรภาพของรัฐบาล หากการดำเนินนโยบายที่ล้มเหลวก็จะส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคง ส่งผลให้พลังอำนาจของชาติทางด้านการเมือง มีความอ่อนแอตามไปด้วย 

          ๒. เศรษฐกิจ : ถือว่ามีความสำคัญต่อพลังอำนาจของชาติ เพราะความเป็นอยู่ของคนในชาติ ถ้ามีความมั่งคั่งแล้ว จะสามารถเปลี่ยนความมั่งคั่งเหล่านี้กลายไปเป็นเสริมกำลังอำนาจด้านอื่น ๆ และมีอิทธิพลต่าง ๆ ต่อประเทศอื่นได้ สำหรับพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยพิจารณาได้จากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น มูลค่าการส่งออก GDP ของประเทศ ความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน เป็นต้น 

          ๓. สังคมจิตวิทยา : มีผลต่อพลังอำนาจของชาติ และเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ชาติมีทิศทางไปตาม ค่านิยมและความคิดของคนในชาติ เช่น แนวความคิดที่เห็นได้ชัดในประเทศเราก็คือ อิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่อง สมเด็จพระนเรศวร บางระจัน ที่ทำให้คนในชาติรักชาติมากขึ้น ถือเป็นพลังอำนาจของชาติที่ไม่มีตัวตนที่สามารถผลักดันชาติไปในทิศทางที่คนในชาติเชื่อมั่นและยึดถือได้

          ๔. การทหาร : เป็นเรื่องที่มีผลต่อพลังอำนาจของชาติมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าประเทศใดมีกำลังทหารที่แข็งแรงแล้วก็จะมีอำนาจต่อรอง และสร้างอิทธิพลต่อประเทศที่มีกำลังทหารอ่อนแอกว่าได้ และบางครั้ง ก็จะใช้ความเหนือกว่าทางการทหารเข้ารุกรานประเทศอื่น ๆ 

          ๕. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ดี สามารถดำเนินการในด้านวิทยาการขั้นสูงต่าง ๆ ได้ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บุคลากรสนับสนุน ย่อมจะมีพลังอำนาจของชาติที่แข็งแกร่งตามไปด้วย 

          ๖. ภูมิศาสตร์ : ภูมิศาสตร์มีความสำคัญต่อพลังอำนาจเป็นอย่างยิ่ง เช่น ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลอาจจะเสียเปรียบต่อประเทศที่ทางออกสู่ทะเล เพราะเส้นทางการคมนาคม และ เส้นทางการขนส่งทางทะเล จะมีความสำคัญยิ่งต่อการทำการค้าระหว่างประเทศ หรือประเทศที่มีแต่ภูเขาจะเสียเปรียบต่อประเทศที่มีพื้นที่ราบ เพราะประเทศที่มีพื้นที่ราบจะสามารถทำการเกษตรกรรมได้ดีกว่า 

          ๗. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ของชาตินั้น ๆ ถือเป็นพลังอำนาจของชาติด้านหนึ่งที่มีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศที่อุดมไปด้วยพลังงานน้ำมัน จะสามารถต่อรอง และกำหนดราคาน้ำมัน ที่จะขายให้กับประเทศที่ต้องการซื้อ อย่างเช่น กลุ่มประเทศ OPEC 

          ๘. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : การพิจารณาขีดความสามารถทางด้านข้อมูลข่าวสาร ทั้งในการรับข้อมูลข่าวสาร การให้ข้อมูลข่าวสาร การนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ประโยชน์ หรือแม้แต่การต่อสู้กันทางด้านข้อมูลข่าวสารก็ตาม จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้รัฐหรือประเทศนั้น มีความได้เปรียบในการตกลงใจต่าง ๆ การดำเนินการทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (พลตรีธรรมนูญ วิถี, ๒๕๕๙)

          จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติแต่ละด้านข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน การกำหนดพลังอำนาจของชาติต่าง ๆ มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกัน เสมือนเป็นพลังอำนาจมูลฐานที่ทุกชาติต้องมี ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และสังคมจิตวิทยา ส่วนด้านอื่นที่เพิ่มขึ้นมาย่อมขึ้นอยู่กับกลไกและศักยภาพของชาตินั้น ๆ ที่จะดำเนินการพัฒนาให้เกิดขึ้น ทุกพลังอำนาจที่แต่ละชาติมียิ่งมากเท่าใดย่อมเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับประเทศนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิผล ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติเช่นเดียวกัน ต้องอาศัย “พลังอำนาจของชาติ” ที่มีอยู่เป็นเสมือนเครื่องมือ (Means) ในการสนับสนุนนโยบายแห่งชาติ (National Policies), (Ways) เพื่อผลแห่งชัยชนะหรือดำรงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์แห่งชาติ (National Objectives) และผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interests) อันเป็นจุดหมายปลายทางของชาติ (Ends) ที่ได้วางไว้นั่นเอง

          แต่เมื่อกล่าวถึง “ปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ” หรือ “ปัจจัยพลังอำนาจของชาติ” โดยสรุปแล้วหมายถึง กำลังขีดความสามารถของชาติที่จะนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งชาติ และให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติของตน ดังนั้นการที่ประเทศใดจะมีกำลังอำนาจเหนือกว่าหรือด้อยกว่าอีกประเทศหนึ่งนั้นอาจพิจารณาได้จากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในประเทศนั้น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ นักวิชาการสำนักต่าง ๆ กำหนดปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบของกำลังอำนาจแห่งชาติไว้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแนวทางในการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามโดยที่นิยมแล้วสามารถกำหนดปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบของกำลังอำนาจแห่งชาติไว้จำนวน ๑๑ ปัจจัย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้

          ๑. สภาพทางภูมิศาสตร์ในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : สภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของกำลังอำนาจแห่งชาติ สภาพหรือลักษณะทางภูมิศาสตร์มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดอิทธิพลหรืออาจก่อให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในระหว่างประเทศ สภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติที่จะต้องนำมาศึกษาพิจารณา ได้แก่ ที่ตั้ง (Location) ขนาด (Size) รูปร่าง (Shape) ลักษณะภูมิประเทศ (Topography) ลักษณะภูมิอากาศ (Climate) และพรมแดน (Boundary)

          ๒. ประชากรในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : ดังเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันแล้วว่า ทรัพยากรมนุษย์ หรือ ประชากร หรือ พลเมืองของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรที่มีคุณภาพ (Knowledge Citizen) จะเป็นกำลังสำคัญที่สุดที่จะเสริมสร้างกำลังอำนาจให้กับประเทศชาติให้มีศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นภาวะการดำรงอยู่ของชาติหรือของประเทศเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ต้องยอมรับในกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมที่อยู่ร่วมกัน หากเมื่อใดที่กลุ่มประชาชนเหล่านี้ไม่ยอมรับในกติกาที่เป็นอยู่ และแยกตัวออกเป็นกลุ่มพรรคพวกเป็นกลุ่ม ๆ แล้ว ความเป็นชาติจะได้รับความกระทบกระเทือน และไม่อาจจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไป

          ๓. ทรัพยากรธรรมชาติในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและให้คุณประโยชน์ต่อมนุษย์ตามความสามารถทางวิทยาการ โดยรวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งธรรมชาติเป็นผู้สร้าง เราแบ่งทรัพยากรธรรมชาติตามลักษณะการคงอยู่ ออกได้เป็น ๓ ชนิด คือ ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่รู้จักหมดสิ้น (Non - Exhausting Natural Resources) เช่น อากาศ น้ำ แสงแดด เป็นต้น ทรัพยากรที่ใช้แล้วจะทดแทนได้ (Renewable Natural Resources) คือ สิ่งที่ใช้ไปแล้วสามารถทดแทนได้ในระยะสั้นหรือระยะยาว เช่น ป่าไม้ สัตว์ ดิน เป็นต้น และ ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Exhausting Natural Resources) คือ สิ่งที่ใช้แล้วจะหมดไป โดยไม่สามารถเกิดทดแทนได้ บางชนิดอาจเกิดทดแทนได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นล้าน ๆ ปี ซึ่งถือว่านานเกินไป ยากที่จะให้เกิดประโยชน์ในชั่วอายุเรา จึงถือว่าไม่สามารถทดแทนได้ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น แต่ถ้าแบ่งประเภทของทรัพยากรธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ที่อยู่ในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติในปัจจุบันที่สำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท คือ ทรัพยากรน้ำและแหล่งน้ำ ทรัพยากรดินและที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรธรณีและพลังงาน และ ทรัพยากรทางทะเล

          ๔. ความเชื่อ ศาสนา จริยธรรม และความจงรักภักดีในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : ความเชื่อ ศาสนา จริยธรรม และความจงรักภักดี เป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติที่ผสมผสานอยู่ในปัจจัยภาวะประชากร เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของมนุษย์มีผลต่อคุณภาพของประชากร และอุดมการณ์ของชาติ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาสภาวะของสังคม การแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนการกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้เป็นอย่างดี

          ๕. ลักษณะประจำชาติในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : ลักษณะประจำชาติ หรือลักษณะนิสัยประจำชาติ (National Character) หมายถึง ลักษณะในการคิด การแสดงความรู้สึกและการกระทำของประชาชนในชาติโดยรวม เป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาทางสายโลหิต ตามเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ มักเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ การฝึกอบรม วัฒนธรรม การเลียนแบบ ประสบการณ์ ฯลฯ การมีชีวิตอยู่และเติบโตในสังคมเดียวกันทำให้ประชากรมีความรู้สึกนึกคิดและการประพฤติปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ลักษณะประจำชาติ จึงอาจดูได้จากการประพฤติปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ในชาติซึ่งถือกำเนิดอยู่ในประเทศนั้น เป็นการประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและสืบทอดกันมา จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นลักษณะประจำชาตินั้น ๆ 

          ๖. กำลังทหารในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติ หรือการป้องกันประเทศจากการรุกรานทั้งจากภายในและภายนอกประเทศนั้น สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงก็คือกำลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหาร จึงนับได้ว่ากำลังอำนาจแห่งชาติทางด้านการทหารเป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐในการปกป้องคุ้มครองชาติให้อยู่รอดปลอดภัย รวมทั้งการที่ประชาชนจะสามารถประกอบอาชีพและพัฒนาประเทศ โดยไม่กังวลภัยอันตรายใด ๆ

          ๗. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : ปัจจุบันเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ นับว่าเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวัน และต่อความเจริญก้าวหน้า และต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็ได้นำเอาวิทยาการสมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาเป็นปัจจัยเพื่อเสริมสร้างความทันสมัย ความรู้ความสามารถ และสร้างความได้เปรียบของประเทศในเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า ในทศวรรษที่ผ่านมานั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมีอิทธิพลอย่างสูงในการปรับเปลี่ยนวงจรชีวิตของคนในประเทศและในสังคมโลกโดยรวม ทั้งในด้านของสังคม เศรษฐกิจการเมือง และแม้แต่การทหารหรือการป้องกันประเทศ

          ๘. การเศรษฐกิจในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : การเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศจากบางช่วงเวลาที่มีความแข็งแกร่งมีความเจริญรุ่งเรือง มาสู่ความชะงักงัน ความถดถอย จนในที่สุดเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจก่อนที่จะฟื้นตัว ซึ่งเรียกว่า เป็นวัฏจักรทางธุรกิจนั้น ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังอำนาจแห่งชาติและความมั่นคงของประเทศในทุกด้านรวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาโดยตลอด เช่น ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ได้ส่งผลให้กำลังอำนาจแห่งชาติในทุก ๆ ด้านอ่อนแอลง

          ๙. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : คำว่า “การทูต” หรือ “Diplomacy” ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายอย่าง แต่คำนิยามที่เห็นว่าง่ายและน่าจะเหมาะสม ได้แก่ คำนิยาม Sir Ernest Satow ซึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือ A Guide to Diplomatic Practice ว่า “การทูต” คือ การใช้สติปัญญาและไหวพริบปฏิภาณในการดำเนินความสัมพันธ์ทางราชการระหว่างรัฐบาลของประเทศเอกราช หรือหากจะกล่าวโดยย่อก็คือการดำเนินกิจการระหว่างรัฐโดยสันติวิธี เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ การดำเนินกิจการระหว่างรัฐจะเป็นไปตามนโยบายต่างประเทศ ตามวัตถุประสงค์ของชาติ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ผลประโยชน์ของประเทศกล่าวโดยทั่วไปจะได้แก่ ความปลอดภัยของชาติ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การขยายกำลังอำนาจและเกียรติภูมิของชาติ ทั้งนี้โดยใช้การทูตซึ่งเป็นเครื่องมือประการหนึ่งในบรรดาเครื่องมืออื่น ๆ ที่มีอยู่ในการดำเนินการระหว่างรัฐหรือในการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศ

          ๑๐. การศึกษาในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : การที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง มีอำนาจ มีความมั่นคงปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และการทหารได้นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณภาพของประชากรในชาติ ความสามารถและคุณภาพของประชากรก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา การศึกษาจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม เป็นการสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม เป็นส่วนที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และทัศนคติให้มนุษย์รู้จักตนเอง ตลอดจนสังคมสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับตน สามารถนำความรู้ความเข้าใจมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และพัฒนาสังคมประเทศชาติไปในทิศทางที่พึงประสงค์ การศึกษาจึงเป็นรากฐานและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ

          ๑๑. อุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ : อุดมการณ์ คือ ความคิดหรือทัศนะที่แสดงออกมาในรูปบ่งชี้ถึงลักษณะค่านิยมของบุคคลในเรื่องที่เกี่ยวกับคนและสภาพแวดล้อมในสังคม โดยความคิดหรือทัศนะนั้น ๆ จะต้องประกอบด้วยความรู้สึกตระหนักในการแสดงออกของคนต่อความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยที่สิ่งนั้นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงและก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงเสมอไป แต่ในสายตาของผู้มองถือว่าเป็นความจริงหรือเชื่อว่าควรจะเป็นความจริง ดังนั้น อุดมการณ์ของชาติก็คือเรื่องสัจจะ ทั้งยังมีทัศนคติ ค่านิยม และมองเห็นประโยชน์ร่วมกันในสัจจะอันนั้น มีความรู้สึกตระหนักดีว่าจะต้องยึดถือสัจจะนั้น ๆ ไว้เป็นสรณะ เช่น ยึดมั่นว่า “ชาติย่อมเหนือกว่าสิ่งอื่นใด” ก็จะกระทำไปเพื่อชาติทั้งสิ้น ดังนี้เป็นต้น

          ภาวะผู้นำทางการเมืองของประเทศ เป็นเรื่องการยอมรับนับถือของประชาชนภายในชาติ ในความเหนือกว่าของบุคคลโดยตรง ผู้นำบางคนไม่เฉพาะแต่ประชาชนภายในประเทศเท่านั้นที่จะยอมรับนับถือ แม้ชาวต่างประเทศ ประเทศอื่น หรือชาติอื่นก็ยังยอมรับนับถือยกย่องด้วย ทั้งนี้เนื่องจากคนเหล่านั้นมองเห็นความดีเด่น หรือความอัจฉริยะในความเหนือกว่าตนนั้นเอง จึงเกิดความนิยมเลื่อมใสยกย่องนับถือ เมื่อเป็นเช่นนั้นความเป็นผู้นำในลักษณะดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลที่จะโน้มน้าวจิตใจประชาชนจากความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีอยู่ให้กระทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความประสงค์ สามารถรวบรวมจิตใจประชาชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถเรียกร้องความเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อชาติบ้านเมืองสามารถจะชี้นำประชาชนไปในทิศทางใดได้ตามความปรารถนา ฉะนั้น ภาวะผู้นำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาวะผู้นำทางการเมืองของประเทศ ซึ่งต่างกับผู้นำทางการบริหารงานทั่วไป ผู้นำการบริหารงานทั่วไปเป็นเพียงผู้บริหารงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เท่านั้น

          อุดมการณ์กับภาวะผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ อุดมการณ์ต้องเหมาะสมและผู้นำต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องเข้ากันได้กับสถานการณ์ การบรรลุเป้าหมายแห่งการมีกำลังอำนาจที่เข้มแข็งทั้งอุดมการณ์และภาวะผู้นำจะต้องสอดคล้องกัน อุดมการณ์ที่เหมาะสมจะต้องปรากฏอยู่ในทั้งตัวของผู้นำระดับสูง ระดับรอง และประชาชนโดยทั่วไป

          ชัยโรจน์ นพเฉลิมโรจน์ (๒๕๕๘) ศึกษาวิจัยเรื่อง “หลักคุณภาพในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับปรัชญาหลังนวยุค : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน” พบว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ดังนั้น จึงเป็นปรัชญาจริยะที่ต้องนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยมีหลักการคือการให้ดำเนินไปในทางสายกลาง นั่นคือไม่สุดโต่งไปด้านหนึ่งด้านใด แต่ดำเนินไปบนความเหมาะสม โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่บีบกรอบโลกเอาไว้ให้ได้รับผลสะท้อนร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ โลกก็จะได้ร่วมใช้พร้อม ๆ กัน หากเกิดปัญหาในประเทศใด ประเทศอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมด้วยเหมือนกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเน้นกับการพัฒนาให้เหมาะสม โดยยึดหลักความพอเพียง อันได้แก่ มีความพอประมาณ คือ ทำเท่าที่จำเป็น ความมีเหตุผล คือ การแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมี หากไม่มีจะเกิดความเสี่ยงใด และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน นั่นคือ พร้อมตั้งรับต่อปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ โดยจะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ คือ ไม่เอามาใช้อย่างตรง ๆ แต่ต้องรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอย่างเป็นสหวิทยาการ หรืออย่างน้อยก็บูรณาการร่วมในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันด้วยความเป็นปรัชญาจริยะจึงเน้นที่จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ เพราะถือเป็นแนวหน้าในการพัฒนาประเทศ ให้เขาได้มีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเข้ามากระทำการดำเนินชีวิต ดังนั้น ต้องใช้ความอดทน ความเพียร การมีสติปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้ตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ โดยเน้นสมดุล และเตรียมพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกอยู่เสมอ

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๒๖ - ๓๑.

หมายเลขบันทึก: 710658เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท