ปรัชญาคืออะไร


ปรัชญาคืออะไร 

 

ความหมายของคำว่า “ปรัชญา” มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ให้ความหมายว่านิยามจากบริบทใด เช่น

              ๑) การนิยามความหมายตามตัวอักษรภาษาไทย คำว่า “ปรัชญา” มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต โดยแจกแจงได้ว่า (สวามี สัตยานันทปุรี, ๒๕๑๔)

              “ปฺร” แปลว่า ประเสริฐ และ “ชญา” แปลว่า ความรู้

              เพราะฉะนั้น คำว่า “ปรัชญา” ในความหมายนี้จึงหมายถึง ความรู้อันประเสริฐ

              มีนักปราชญ์หลายท่านได้ตีความคำว่า “ความรู้อันประเสริฐ” ได้แก่ ความรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากสิ้นความสงสัยแล้ว หรือเป็นความรู้ ปัญญาของพระอริยเจ้าผู้ตรัสรู้เป็นสัพพัญญูล่วงรู้ทุกอย่างจนสิ้นสงสัย (สุเมธ เมธาวิทยกุล, ๒๕๔๐)

              ๒) การนิยามความหมายตามตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า philosophy คำนี้จะมาจากรากศัพท์ภาษากรีก ๒ คำ คือคำว่า philo กับ sophia

              philo แปลว่า ความรัก ความสนใจ ความเลื่อมใส

              sophia แปลว่า ความรู้ ปัญญา วิชาหรือวิทยา

              เพราะฉะนั้น คำว่า “ปรัชญา” ในความหมายนี้จึงหมายถึง ความรักในความรู้ ความรัก ในปัญญา ความสนใจหรือเลื่อมใสในความรู้หรือปัญญา

              การตั้งข้อสังเกตจะพบว่า นิยาม “ปรัชญา” ในภาษาไทย กับ “philosophy” ในภาษาอังกฤษ แตกต่างกันมาก ความหมายปรัชญาในภาษาไทยได้ถูกยกย่องเชิดชูให้อยู่สูงถึงระดับนักปราชญ์ ซึ่งต่างจากภาษาอังกฤษที่สื่อความหมายว่า เป็นความรัก ความปรารถนาที่อยากเป็นนักปราชญ์ เพราะเห็นว่าตนยังไม่ฉลาดรอบรู้ถึงระดับปราชญ์ 

              จากเงื่อนไขของการนิยามความหมายทั้ง ๒ ข้อข้างต้น ได้มีผู้ให้ความคิดเห็นต่อความหมายดังกล่าวไว้ดังนี้

              คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (๒๕๕๑) วิจารณ์ไว้ว่า “คำว่า ปรัชญา เป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เพื่อแปลคำว่า philosophy ในภาษาอังกฤษ แต่ความหมายตามรากศัพท์ผิดกันมาก”

              สุเมธ เมธาวิทยกูล (๒๕๔๐) ให้ข้อสังเกตไว้ว่า“จะเห็นได้ว่าความหมายตามรูปศัพท์ของ “philosophy” นั้นยังไม่รู้เลย กำลังเริ่มกระบวนการของการแสวงหาความรู้เท่านั้น ส่วนความหมายของ “ปรัชญา” นั้น เป็นการเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว จบสิ้นกระบวนการแสวงหาความรู้แล้วโดยสิ้นเชิงนับว่าอยู่ห่างกันลิบลับเลยทีเดียว”

              กีรติ บุญเจือ (๒๕๔๖) ให้ข้อคิดเห็นว่า “เปรียบเทียบดูแล้วจะเห็นว่าคำภาษาไทย มีความหมายตามตัวอักษรเชิงยกย่องมากกว่าคำฝรั่ง แต่ทว่าคำจะสำคัญกระไรเล่า ขอให้นักปรัชญาของเรามีความรู้จริงและเจียมตัวไปด้วย จะเรียกว่าอย่างไรนั้นแล้วแต่สะดวก ขอให้มีคำสำหรับสื่อความเข้าใจกันได้ก็นับว่าดีแล้ว”

              ๓) การนิยามความหมายในบริบทของสาขาวิชา คำว่า ปรัชญา หมายถึง วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๖) 

              ในส่วนปัญหาที่ว่า “ปรัชญาคืออะไร” นั้น เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก แม้จะสามารถตอบได้ แต่คำตอบดังกล่าวนั้นก็ใช้ได้เฉพาะในยุคสมัยที่นิยามเท่านั้น หมายความว่า ปรัชญาคืออะไรนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องที่มนุษย์ให้ความสนใจ และความสนใจในการค้นหาคำตอบในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีความแตกต่างกันไป ปรัชญาจะถูกนำไปใช้ในบริบทที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละยุคสมัย แต่ผู้ศึกษาปรัชญาไม่ต้องตกใจ เพราะความไม่แน่นอนของเนื้อหาทางปรัชญานั้นคือธรรมชาติหรือ เนื้อแท้ของวิชาปรัชญา เพราะวิชาปรัชญาไม่ใช่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งที่ติดอยู่ในกรอบตายตัว                    แต่มีลักษณะเป็น “พลวัต” ขับเคลื่อนสติปัญญาหรือวิจารณญาณของมนุษย์ให้ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป 

               ปรัชญาไม่ใช่ทฤษฎี (theory) อันตายตัว และไม่ใช่องค์ความรู้ที่จะสามารถศึกษาแบบศาสตร์ทั่ว ๆ ไปได้ ดังที่โสเครตีส (Socrates) เคยกล่าวกับเพลโต (Plato) ไว้ว่า “ปรัชญาเป็นเรื่องของทรรศนะหรือมุมมอง ไม่ใช่องค์ความรู้ ปรัชญาจึงสอนกันไม่ได้” ใครมีทรรศนะอย่างไร ก็เป็นปรัชญาของคน ๆ นั้น หรือสมัยนั้นคนส่วนใหญ่สนใจในเรื่องอะไร ก็เป็นปรัชญาของคนสมัยนั้น ที่จะช่วยกันถกปัญหา หรือสนทนาด้วยวิภาษวิธี คือ มีการตั้งคำถามที่สามารถตอบได้ตั้งแต่ ๒ คำตอบขึ้นไป จากนั้นก็ช่วยกันหาคำตอบมาสนทนาถกปัญหากัน คำตอบของใครมีความสมเหตุสมผลกว่า คำตอบของผู้นั้นก็จะได้รับการยอมรับมากที่สุด จนกว่าจะมีคนเสนอคำตอบใหม่ที่มีความสมเหตุสมผลกว่าคำตอบเดิม จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดความเชื่อไปเรื่อย ๆ 

              กล่าวโดยสรุป คำว่า ปรัชญา ตามตัวอักษรภาษาไทยที่มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต หมายถึง ความรู้อันประเสริฐ ในขณะที่คำว่า Philosophy ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ มาจากรากศัพท์ภาษากรีก หมายถึง ความรักในความรู้ ดังนั้น ปรัชญาจึงไม่ใช่ทฤษฎีอันตายตัวเหมือนกับศาสตร์ทั่ว ๆ ไป แต่เป็นเรื่องของ “ปัญญา” (wisdom) ที่นักปรัชญาแต่ละคนได้เสนอเป็นความจริง (truth) เอาไว้ เพื่อการเข้าถึงความเป็นจริง (reality) ของโลกและชีวิต

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๙-๑๑.

หมายเลขบันทึก: 710617เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท