เหล้าพื้นบ้าน Soft Power ไทย


เหล้าพื้นบ้าน Soft Power ไทย

11 พฤศจิกายน 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ของดีเมืองไทยว่าด้วย “เหล้า” เป็นภาษาเรียกของชาวบ้าน แต่ในภาษาราชการเรียกว่า “สุรา” ความหมายที่แท้จริงตามกฎหมายคือ เครื่องดื่มที่ใช้ดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic Beverages) ที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) เป็นองค์ประกอบ ตามมาตรฐาน มอก.(2544) คือ เครื่องดื่มที่มีแรงแอลกอฮอล์เกิน 0.5 ดีกรี แต่ไม่เกิน 80 ดีกรี [2] สุราแบ่งเป็น 2 ประเภท[3] คือ (1) สุรากลั่น ได้แก่ สุราขาว สุราผสม สุราผสมพิเศษ สุราปรุงพิเศษ (2) สุราไม่กลั่น เช่น เบียร์ ไวน์ กะแช่ น้ำขาว น้ำตาลเมา

แม้จะเป็นที่กังขาสงสัยในคำนิยามก็ต้องยอมรับในคำนิยามที่เขียนไว้ในกฎหมายหลักและกฎหมายรองในที่ต่างๆ กัน เพราะปัจจุบันกฎหมายเฉพาะว่าด้วยสุราไม่มี เพราะได้ถูกยกเลิกไปแล้วตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560[4](กฎหมายรวมสุรา ยาสูบ ไพ่) ที่ให้ยกเลิก กฎหมายเกี่ยวข้องรวม 46 ฉบับ[5] ที่สำคัญคือ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 (แก้ไขถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2534) พ.ร.ก.สุรา พ.ศ.2501 (แก้ไขถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2513) และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 (แก้ไขถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2556) ซึ่งดูแล้วเป็นกฎหมายหลักที่เก่ามาก ปัจจุบันมีกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์มากมาย ได้แก่ พ.ร.บ., กฎกระทรวง, ประกาศกระทรวง (กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม), ประกาศกรมสรรพสามิต, ระเบียบกรมสรรพสามิต และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นี้ ปัจจุบันมีกฎหมายหลักเกี่ยวข้องควบคุมหลักอยู่ 3 ฉบับ[6] คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

เรื่อง กัญชาเสรี กระท่อมเสรี สุราก้าวหน้า (สุราเสรี) ตามมาเป็นพรวน แต่การเตรียมการของรัฐบาลไม่มีสิ่งใดคืบหน้า และล่าสุดสภามีการคว่ำกฎหมายร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า สกัดความหวังของชาวบ้าน ด้วยการเอื้อนายทุนใหญ่ ผูกขาดการผลิตอยู่กับทุนรายใหญ่ ลองมาเปิดประเด็นเรื่องเหล้าพื้นบ้านหรือที่เรียกว่า “สุราก้าวหน้า” ที่อีกฝ่ายเรียกว่า “สุราเสรี” ซึ่งโดยนัยยะแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน

 

สภาคว่ำร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า

ความหวังในการฟื้นฟูการผลิตสุราพื้นบ้านไทยที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานจบลงทันที ด้วยข้ออ้างที่เกรงว่าเหล้าเถื่อนจะเกลื่อนเมืองซ้ำรอย “กัญชาเสรี” ที่มีปัญหาอยู่[7] แต่ฝ่ายค้านเห็นว่า นี้เป็นร่างกฎหมายแรกที่จะทลายระบบทุนผูกขาดเหล้า[8] เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565 “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ตามภาษาชาวบ้านหรือ “ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ....” สภาได้ลงมติคว่ำร่างกฎหมายวาระ 2-3 ด้วยคะแนนเสียง 196 ต่อ 194 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง แพ้ไปเพียง 2 คะแนน[9] นอกจากนี้ยังมีประกาศตัดหน้า (ปาดหน้า) ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฉบับนี้ไปเพียงวันเดียว ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเห็นว่า ไม่ใช่ “ปลดล็อกการผลิตสุรา” อย่างแท้จริง[10] คือการประกาศ “กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565” ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565[11] ด้วยเหตุผลว่า เป็นการปรับปรุงการอนุญาตผลิตสุรา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรารวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรา เป็นกฎหมายลำดับรอง กฎหมายลูกหรือกฎหมายของฝ่ายบริหาร ที่มีศักดิ์กฎหมายตำกว่า พ.ร.บ. ซึ่งฝ่ายบริหารจะตราเมื่อใดก็ได้ แต่การเร่งรีบตราในช่วงนี้ จึงเป็นข้อสงสัยในความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

การตัดตอนล้มกฎหมายสุราก้าวหน้า (บางคนยังเรียกเหล้าเสรี) ด้วยการออกกฎกระทรวงใหม่ มีข้อกังขาว่าเอื้อนายทุนหรือไม่อย่างไร เพราะทำให้ธุรกิจของชาวบ้านธรรมดาๆ เกิดยาก หวังว่ามันคงไม่ใช่อคติ หรือการไม่รับรู้ของ ส.ส.ที่คัดค้าน ส.ส.ทำเพื่อใคร เอาตนเองรอดหรือไม่ มันเป็นเรื่องทุน (กลุ่มทุน) ที่มาหนุนพรรคการเมืองหรือไม่ หรือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ถูกรัฐร่วมนายทุนฮุบไป

 

ตำนานเหล้าเถื่อน ส.ร.ถ.หรือ “สุราเถื่อน”

ปัญหาเหล้าเถื่อน สุราเหล้าขาวกลั่นเองพื้นบ้านที่หมักจากข้าวเหนียว ในชนบทบ้านนอกมีมานาน คนบ้านนอกรู้จักกันในชื่อ ส.ร.ถ.หรือ “สุราเถื่อนเหล้าขาวที่ไม่เสียภาษี” (Illegal liquor) [12]เป็นคำกินใจของคนบ้านนอกมาช้านาน เพราะวิถีพื้นบ้าน เช่น คนเหนือจะมียาดอง มีพิธีกรรมสำคัญเช่น “การเลี้ยงผี” ผีปู่ย่า เป็นต้น จะมี ลูกแป้ง (ส่าเหล้า) [13] ข้าวหมาก สาโท และเหล้าขาวต้มเอง เอาไว้กินกันในเทศกาล ในช่วงเทศกาล ในงานพิธีต่างๆ ของคนบ้านนอก และในช่วงการลงแขกตีข้าว[14] นวดข้าวในตอนกลางคืน สมัยก่อน คือ ช่วงเกี่ยวข้าว ตีข้าว นวดข้าว ในฤดูหนาว ชาวบ้านจะทำสาโท และเหล้าขาวเอาไว้ให้คนที่มาช่วยลงแขก แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมเปลี่ยนไปมาก มีรถเกี่ยวข้าว บ้านใครบ้านมันชาวบ้านก็จ้างรถเกี่ยวข้าวใส่ถุงปุ๋ย แล้วไปตากเลย ทำให้ไม่มีประเพณีช่วยกันลงแขกตีข้าว เด็กๆ อีสานสมัยนี้จะไม่เห็นการลงแขกตีข้าวช่วยกันในตอนกลางคืน ในภาคอีสานการลงแขกตีข้าวหายไปหมดสิ้นแล้ว เพราะ ชาวบ้านต้มกินเองไม่คุ้ม สู้เหล้าขาวสรรพสามิต เหล้าแดงและเบียร์ในพื้นที่ไม่ได้ สมัยก่อนเด็กๆ ในภาคเหนือชอบไปร่วมการตีข้าว ที่มีหมักสาโทไว้ดื่มกินคลายเครียด หรือมีแอบใส่ยาม้าในน้ำดื่ม (สมัยก่อนยังไม่มียาบ้า) การตีข้าวหากเดือนมืดก็จะจุดตะเกียงจ้าวพายุ เป็นที่รื่นรมย์ของเด็กๆ ที่ชอบไปเล่นกองฟาง ช่วงปิดเทอม เป็นเพื่อนผู้ใหญ่ในการตีข้าว จนกระทั่งการตีข้าวแล้วเสร็จในตอนดึกๆ เป็นต้น ปัจจุบันในภาคเหนือพื้นที่สูง ข้าวไร่ อาจพอมีให้เห็น สำหรับภาคใต้เหล้าเถื่อนจะทำจากตาลโตนด[15] วัฒนธรรมจึงแตกต่างจากทางเหนือและอีสาน

 

ตำนานการไล่ล่าปราบปรามเหล้าเถื่อนชาวบ้าน

สมัยก่อนย้อนไปราว 40-50 ปีก่อน เด็กบ้านนอก ชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน จะพบเห็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิตออกตรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลูกจ้าง พร้อมอุปกรณ์ครบชุด เช่นเหล็กแหลม และอาวุธ มาเป็นคันรถ ไปตามพื้นที่ที่สายรายงาน เพื่อตรวจยึด ทำลาย วัสดุอุปกรณ์การผลิต และไหหมักสาโท หมักเหล้า (ก่อนการต้มกลั่น) ที่ชาวบ้านมักซ่อนไว้ในป่า หรือฝังดินไว้ และการจับกุมเจ้าของผู้ครอบครองวัสดุอุปกรณ์นั้น และชาวบ้านผู้ลักลอบต้มเหล้าเถื่อน ที่ส่วนใหญ่จะลักลอบทำกันในป่า หรือ ทำกันตอนกลางคืน การตรวจจับชาวบ้านจึงยาก ทำได้เพียงการยึดทำลายอุปกรณ์ (หากพบ) เท่านั้น สมัยนั้นเด็กๆ เมื่อเห็นตำรวจมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่สรรพสามิตก็จะพูดว่า “ตำรวจตรวจขี้แห้ง” เป็นความหมายเชิงล้อเลียนครื้นเครงว่า มาตรวจก็จะพบแต่ขี้แห้งๆ ที่ชาวบ้านถ่ายไว้ตามป่า ในสวน ในไร่ ในนา หรือในที่ที่เข้าถึงยาก ก็จะไม่เจอไหเหล้า เพราะชาวบ้านซ่อนไว้ดีมาก หรือ พบไหเปล่าที่ไม่มีไหหมัก เป็นต้น

สถานการณ์การระดมกำลังออกปราบปรามชาวบ้านบางครั้งเป็นสงครามไปเลย เช่นในพื้นที่จังหวัดแพร่ ด้วยทุนหนุนจากโรงต้มกลั่น (เหล้าสรรพสามิต) ในพื้นที่ เพราะเหล้าขาว เหล้าแดง (เหล้าสี) ในพื้นที่ยอดขายลด ไม่มียอดขาย เช่น ในช่วงเทศกาลต่างๆ จะมีการระดมส่งสายตรวจเจ้าหน้าที่สรรพสามิตออกตรวจจับล้างบางครั้งใหญ่ เกิดการปะทะกับชาวบ้าน หรือถูกตัดตอนโดยชาวบ้าน เช่น การวางตะปูเรือใบรถเจ้าหน้าที่ การล้อมกรอบแย่งตัวผู้ต้องหา แย่งอุปกรณ์ ฯลฯ การจับปรับ จับเคลียร์ ในสถานการณ์ปกติก็มีทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผลิตเหล้าเถื่อนกันมากๆ เมื่อชาวบ้านถูกกดดัน ทำให้ชาวบ้านสูญเสีย เพราะวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการเสียค่าปรับมันคือแรงงานของชาวบ้าน เป็นต้นทุนของชาวบ้านในการดำรงชีวิต ส่งลูกหลานเรียน หากถูกจับครั้งหนึ่งก็เรียกได้ว่าล้มละลายไปเลยทีเดียว ต้องมาลงทุนใหม่ เสียค่าใช้จ่ายอีกมาก 

ในสมัยนั้นค่าปรับผู้ผลิตแพงมาก รวมถึงค่าปรับการขายเหล้าเถื่อน ส.ร.ถ.ด้วย เพราะ ค่าปรับไม่ได้วัดกันที่ปริมาณจำนวนเหล้าที่ครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ขวดเปล่าที่ใส่เหล้า มีเหล้าติดที่ก้นขวดก็จับไปปรับ เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความจน และความคุ้มค่า เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีมาช้านานแล้วในสายตาของชาวบ้าน จึงยังคงมีการลักลอบผลิตกันเรื่อยมา บางหมู่บ้านมีการรวมกันผลิตทั้งหมู่บ้าน และรวมตัวกันต่อต้านเจ้าหน้าที่สรรพสามิตทุกรูปแบบ เช่น การขัดขวางการจับกุม การจัดเวรยามเฝ้าระวัง การวางตะปูเรือใบรถเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เช่นที่หมู่บ้านห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ แม้ปัจจุบันนี้ชาวบ้านตำบลห้วยหม้าย ก็ยังผลิตเหล้าขาวกันอยู่ มีทั้งเถื่อน และที่ติดแสตมป์(อากร)เสียภาษีสรรพสามิตแล้ว (บางส่วน) เพราะคนบ้านนอกยังนิยมดื่มเหล้าขาวกลั่นพื้นบ้าน โดยเฉพาะในงานศพ งานบวชนาค เป็นต้น 

 

เปิดข้อมูลเหล้าขาวชาวบ้านภาคเหนือ

นอกจากเหล้าขาว(ข้าวเหนียว) ก็มีเหล้าข้าวโพดชาวม้ง(ใสเป็นตาตั๊กแตน เหล้าแรงมาก) [16] เหล้ากะเหรี่ยงพื้นบ้าน(รสเปรี้ยว) [17] สาโท เหล้ายาดอง หรือยาดองเหล้าขาวพื้นบ้าน เหล้าป่าเหล้าพื้นบ้านเฉพาะถิ่นต่างๆ เช่น เหล้าดาวลอย[18] ในท้องที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อีกมากมาย เป็นต้น นี่ยังไม่รวมเหล้า เบียร์หมัก ไวน์ผลไม้ต่างๆ เช่น ไวน์มะเม่า (อีสาน) หรือหมักเบียร์สด หรือข้าวหมากไทย ที่เห็นมีขายตามร้านสะดวกซื้อ และหรืออื่นๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ ว่ากันว่า ชาวบ้านนอกนิยมกินเหล้า ส.ร.ถ. ก็เพราะว่า ชาวบ้านเชื่อในฝีมือการต้มกลั่นว่าไม่มีสารพิษผสม เขารู้เห็นกระบวนการผลิตมาดีแล้ว (มีการปล่อยข่าวว่าการผลิตไม่มาตรฐาน หรือมีสารพิษ) รสชาติดีกว่าเหล้าขาวสรรพสามิตที่รสไม่ดีมีกลิ่นแรงขึ้นจมูก เมื่อส่างเมาก็จะปวดหัว แต่ ส.ร.ถ. เหล้าต้มทำเองดื่มแล้วอร่อย จะไม่ปวดหัว (ไม่แฮงค์) เพราะเป็นวิถีชาวบ้านดังกล่าวข้างต้น ในภาคอีสานก็มีสาโท เหล้าขาว อุพื้นบ้าน ภาคกลางภาคใต้ก็มีกะแช่น้ำตาลเมา

มีงานวิจัยเรื่องสุราเถื่อนในสังคมไทย[19] โดยการสนับสนุนทุนของ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ทำให้สาธารณชนได้ทราบความเป็นมาของเหล้าเถื่อน หรือ ส.ร.ถ. ในมิติต่างๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชาวบ้าน สถานการณ์การค้า ระบบการผลิต การตลาด การจำหน่าย การเข้าถึง พฤติกรรมการซื้อ-ดื่ม และประเมินปัญหาการดื่มสุราเถื่อน เป็นต้น ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวิถีพื้นบ้านของคนบ้านนอกที่มีมาช้านานตั้งแต่อดีตสมัยการทำป่าไม้ในภาคเหนือ (เปิดป่า) และยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน ที่ชาวบ้านได้พัฒนามาเป็นโรงกลั่นสุรา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตามกฎหมายได้ และโรงกลั่นสุราเถื่อน มีขายแบบทั้งตามระบบภาษีและขายเถื่อน (โรงกลั่นสุราเถื่อน) ข้อมูลกรมสรรพสามิตปี 2562 จังหวัดที่มีสุรากลั่นชุมชน สุราแช่ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตมากที่สุด คือ จังหวัดแพร่ มีผู้ประกอบการสุรากลั่น ชุมชน จำนวน 203 แห่ง รองมาคือ จังหวัดลำปาง 187 แห่ง สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ประกอบการสุราแช่มากที่สุดใน ประเทศ จำนวน 13 แห่ง รองมาคือ จังหวัดเชียงราย จำนวน 11 แห่ง พื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีการ ผลิตแบบเถื่อน หรือลักลอบจำหน่าย ด้วยการบรรจุในถุงพลาสติกทั้งขนาดเล็กและใหญ่ที่ขายเป็นปริมาณมาก การบรรจุขวดพลาสติก ถังแกลลอน ถังน้ำดื่ม เป็นต้น การผลิตสุรากลั่นชุมชน สุราแช่เหล่านี้ยังพบปัญหาสำคัญคือ มีผู้ผลิตบางแห่งลักลอบจำหน่าย หรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้ติดอากรแสตมป์ การควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตยังไม่ดีพอ

 

อันดับหนึ่งคอเหล้าเป็นคนเหนือ 

จากสถิติโรงกลั่นเหล้ามากที่สุด แน่นอนว่าสัดส่วนนักดื่มอายุ 15 ปีขึ้นไปสูงที่สุดก็คือ ภาคเหนือ มีคนติดเหล้าสูงติดอันดับฉายา “ขี้เหล้าหลวงแห่งล้านนา” สถิติปี 2564[20] คนไทยเป็น “สุดยอดนักดื่มประจำเอเชีย” ดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี รองมาเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และจีน 127 ขวด/คน/ปี ค่าดื่มเบียร์คนไทยคนละ 686 ดอลลาร์ต่อปี หรือราวๆ 21,093 บาทต่อปี พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีตัวเลขนักดื่มมากที่สุด

ข้อมูล ศวส.ใน 5 อันดับแรก ปี 2564[21]คือ (1)จังหวัดเชียงราย (45.3%) (2)จังหวัดลำพูน (44.1%) (3)จังหวัดพะเยา (44.0%) (4)จังหวัดน่าน (42.4%) (5)จังหวัดสุรินทร์ (40.6%) 5 อันดับแรก ปี 2565[22]คือ (1)จังหวัดน่าน (43.3%) (2)จังหวัดแพร่ (42.9%) (3)จังหวัดเชียงราย (41.4%) (4)จังหวัดสระแก้ว (41.0%) (5)จังหวัดพะเยา (40.7%) มีจังหวัดภาคเหนือตอนบนถึง 6 อันดับ แยกเป็นคนดื่มหนัก 15.96 ล้านคน ดื่มประจำ 6.99 ล้านคน ดื่มเป็นครั้งคราว 8.97 ล้านคน รวม 31.92 ล้านคน ประมาณ 48.23% คิดจากฐานประชากรไทยทั้งประเทศ, 66.17 ล้านคน (ปี 2564) คนน่านติดแชมป์ขี้เหล้าหลวงรวม 5 ปีซ้อนติดต่อกัน

ปี 2544 รัฐบาลทักษิณ มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน[23] หนึ่งในนั้น คือการส่งเสริมการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง ผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี ให้ชาวบ้าน ที่เรียกว่า ผู้ผลิตรายย่อย สามารถผลิตและจำหน่ายสุราพื้นเมือง ส่งผลให้มีโรงงานสุรา เกิดขึ้นจำนวนมากในชุมชนต่างๆ ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์สุราทั้งสุราแช่ สุราหมัก ไวน์ฯ ในช่วงเวลานั้น มีไวน์ผลไม้ ติดป้าย “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ถูกผลิตออกมา วางขายกันเกลื่อนกลาด นัยยะว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าราคา ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักและมีราคาถูก ให้มีราคาสูงขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้มีการออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 4) เห็นชอบ นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนของรัฐบาล ตามมาด้วย ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตให้ทำสุรากลั่นชุมชน พ.ศ.2546

 

ข้อห่วงใยกังวลข้อเสียในสุราพื้นบ้าน

ไม่ว่า สุรา หรือกัญชา หากทำเป็นยา ยาดอง เอาเหล้ามาสร้างประโยชน์ให้พอดีได้ก็จะเป็นคุณทั้งต่อเศรษฐกิจและสุขภาพ ตามหลักการสิ่งใดดี ก็ควรทำ อะไรไม่ดีก็ควรละเว้นเสีย หากใช้ในทางสันทนาการมาก ก็จะเกิดโทษ ของทุกอย่างมีคุณมีโทษ ความวิตกกังวลในปัญหามากเกิน จนลืมไปในส่วนที่ดี การไม่เข้าไปช่วยส่งเสริม เป็นการทำร้ายชาวบ้าน จนอ่อนแอลง เพียงนั่งรอสวัสดิการจากรัฐ จนชาวบ้านไม่อยากจะช่วยเหลือตนเอง หรือในต่างมุมการเรียกร้องประโยชน์เพื่อสาธารณะมากเกิน จนไม่คิดจะช่วยชาวบ้าน ด้วยเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้สังคม แต่ในท่ามกลางผลประโยชน์ทุนที่ขัดกัน ความไม่ลงตัวกัน ความทุกข์มันกลับไปลงเต็มๆ ที่ชาวบ้านผู้เสียเปรียบทุนอยู่แล้ว มันไม่เป็นธรรม

ด้วยความเป็นห่วงเยาวชน จึงมีคนต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ เช่น สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้[24] ที่เปิดให้เสรีในการผลิต การขาย ไม่ว่าทั้ง กัญชา สุรา ในด้านสุขภาพ การดึ่มสุรามากเกินย่อมส่งผลต่อสุขภาพ ตับอักเสบ มะเร็งตับ ตายด้วยอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ฯลฯ สุราเหล้าขาว (ขวดแดง)ที่หมักจากกากน้ำตาล[25] เต็มไปด้วยยูเรียและสารตกค้าง เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภค เหล้าจากลาว มีปัญหาปลอมปนสารเคมี แต่งสี แต่งกลิ่น อันตราย หรือเหล้าปลอมจาก Duty Free ตามด่านชายแดนปลอดภาษี[26] ทำให้เกิดมะเร็งง่าย เป็น มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะได้

 

ท้ายนี้ขอฝากข้อคิดเล็กๆ แต่ใหญ่ยิ่งแก่ผู้มีอำนาจว่า สิ่งใดดีทำไป สิ่งไม่ดีก็อย่าทำ โดยเฉพาะการปลดล็อก “สุราพื้นบ้าน” อย่างไรให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ด้วยการ “ปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน ไม่มีกีดกัน” [27] ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560[28] คือสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมเพียงพอแก่ประชาชน นี่ต่างหากคือเป้าหมาย ให้คนรากหญ้าก้าวพ้นจากสังคมที่ด้อยพัฒนา และเหลื่อมล้ำเสียที จากวาทกรรมอมตะ “โง่ จน เจ็บ” [29] หากทำดีๆ นี่มันคือ Soft Power[30]ไทยชัดเจน


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 18 พฤศจิกายน 2565, https://siamrath.co.th/n/400451 

[2]ความหมายของสุรา, โดยกรมสรรพสามิต, ที่มา : มัทนา พฤกษะริตานนท์ นักวิทยาศาสตร์ 8 กลุ่มงานวิเคราะห์สินค้าและของกลาง “ทิศทางการพัฒนาคุณภาพสุราชุมชน”, https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/mjaw/mdm3/~edisp/webportal16200037530.pdf

[3]การแบ่งประเภทของสุราตามวิธีการผลิต แบ่งได้หลายแบบ ดังนี้

หนังสือ Economic Microbiology Volume 1 Alcoholic Beverages ได้แบ่งสุราออกเป็น 2 ประเภท (1) สุราแช่ ซึ่งแบ่งออกเป็นชนิด Malt beverages (เช่น เบียร์ สาเก) และไวน์ (2) สุรากลั่น ซึ่งแบ่งออกเป็นชนิด วิสกี้ บรั่นดี รัม เตกิลา ยิน วอดก้า ลิเคียว

หนังสือ Grossman’s Guide to Wines , Beers and Spirits ได้แบ่ง สุราออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) สุราแช่ (Fermented beverages) ที่ได้จากการหมักผลิตผลทาง การเกษตร เช่น ธัญพืช หรือผลไม้ต่างๆ (2) สุรากลั่น (Distilled หรือ Spirit beverages) ที่ได้จากการนำสุราแช่ที่ผลิตจากธัญพืช รากพืช ผลผลิตจากน้ำตาล หรือผลไม้แล้วนำมากลั่น เช่น วิสกี้ (Whisky) , วอดก้า (Vodka) , รัม (Rum) , บรั่นดี (Brandy), เตกิลา (Tequila)(3) สุราผสม (Compounded beverages) ที่ได้จากการนำสุรากลั่นมาผสมกับสารปรุงแต่งกลิ่นรส เช่น ยิน (Gin) ลิเคียว (Liqueur) ดู ประเภทและชนิดของสุรา, โดยกรมสรรพสามิต, https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/mjaw/mdm3/~edisp/webportal16200037531.pdf

[4]พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 32 ก วันที่ 20 มีนาคม 2560 หน้า 1, http://web.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0

[5]ดู มาตรา 3 ให้ยกเลิกกฎหมาย 46 รายการ ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560, อ้างแล้ว

[6]ส่องกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ปลดล็อคตรงไหน ใครจะได้ประโยชน์, หาก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถึงฝัน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร พูดคุยกับอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 6 กันยายน 2565, https://tu.ac.th/thammasat-060965-draft-progressive-liquor-act

[7]คว่ำ”พรบ.สุราก้าวหน้า” “ครม.”หวั่นเหล้าเถื่อนเกลื่อนเมือง ซ้ำรอย”กัญชาเสรี”, สยามรัฐออนไลน์, 25 ตุลาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/393862 

[8]ส่องกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ปลดล็อคตรงไหน ใครจะได้ประโยชน์, หาก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถึงฝัน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร พูดคุยกับอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 6 กันยายน 2565, อ้างแล้ว

& เกณฑ์ขั้นต่ำ-เครื่องมือนายทุนผูกขาดสุรา, โดย Sura Thai, 4 พฤษภาคม 2563, 

https://surathai.wordpress.com/2020/05/04/minimum-rule/ 

[9]สุราก้าวหน้า : สภาผู้แทนราษฎรโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ด้วยคะแนน 196 ต่อ 194 เสียง, BBC Thai, 2 พฤศจิกายน 2565, https://www.bbc.com/thai/articles/c97j3pd38y7o 

[10]“อนุทิน” ปัด แลกโหวตกก. “สุราก้าวหน้า - กัญชา กัญชง” บอกไม่ต้องห่วงภท. ไปกังวลมารยาทคนร่วมรบ.ดีกว่า, สยามรัฐออนไลน์, 1 พฤศจิกายน 2565, https://siamrath.co.th/n/395581 

[11]กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 (กระทรวงการคลัง) มีใจความสำคัญคือ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560ดู กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 68 ก วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 หน้า 1-10, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/068/T_0001.PDF

[12]“เหล้าเถื่อน” ใช้คู่กับ “เหล้าโรง” หรือเหล้าที่เสียภาษี เพราะต้มกลั่นจากโรงงานกรมสรรพสามิต ดู สุราเถื่อนในสังคมไทย (Illegal liquor in Thai society), การดื่มสุรานอกระบบภาษีของต่างประเทศ (สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, 2559), โดย กนิษฐา ไทยกล้า และธีมา หมึกทอง, สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, 2563, 

https://www.rihes.cmu.ac.th/research/wp-content/uploads/2020/07/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99-for-download.pdf

[13]ลูกแป้ง คือ กล้าเชื้อจุลินทรีย์ (starter) ที่มีเชื้อผสม (mixed culture) ทั้งเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรียเก็บในรูปเชื้อแห้ง เช่นเดียวกับโคจิ แต่ลูกแป้งจะปั้นเป็นลูกกลม หรือกลมแบน ลูกแป้งใช้เป็นกล้าเชื้อสำหรับการหมัก (fermentation) ลูกแป้งที่หมักอาหารหมักพื้นบ้านของไทย ลูกแป้งข้าวหมากใช้เพื่อหมักข้าวหมาก ลูกแป้งสุราซึ่งใช้หมักสุราพื้นบ้าน เช่น น้ำตาลเมาสาโท อุ และลูกแป้งที่ใช้เพื่อหมักน้ำส้มสายชู เรียกว่า ส่าน้ำส้ม เครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้ในการทำลูกแป้ง ได้แก่ ข่า กระเทียม กานพลู พริกไทย ขิง ดีปลี โป๊ยกั๊ก ดอกจันทร์ อบเชย มะตูม เป็นต้น (Food Wiki)

ส่าเหล้า (ยีสต์ : Yeast) ที่เป็นลูกแป้งในการหมักเป็นภูมิปัญญาของคนไทยมาแต่โบราณ ที่ปัจจุบันจะสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะ มีการสงวนสูตร ไม่บอกใคร บางสูตรประกอบด้วยสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ ถึง 22 ชนิด บางชนิดเป็นสมุนไพรในพื้นถิ่น ชื่อเรียกอาจแปลกไปบ้าง เพราะเป็นชื่อเรียกเฉพาะตามพื้นถิ่น โดยสมุนไพรเหล่านี้มีหน้าที่เดียวคือยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนที่เราไม่ต้องการ โดยเฉพาะเชื้อราชนิดที่สร้างสารพิษ

สูตรลูกแป้งมีหลายสูตร ในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน ยกตัวอย่างลูกแป้งเหล้าขาว (อยุธยา) ใช้สมุนไพร 16 ชนิด ได้แก่ 1.รากหญ้านาง 2.เถาพลูกินหมาก 3.รากก้นครก(ก้นเต่า) 4.กกต้องเล่อ 5.รากสมัครสองฟ้า(สมัครน้อย) 6.ขิงไฟนกคุ่ม(โด่ไม่รู้ล้ม) 7.รากหมาน้อย 8.รากนมสาว(นมน้อย) 9.หัวก่อมก้อยลอดปอด 10.หัวข่า 11.หัวกระเทียม 12.หัวทองสมุทร(ดอกไม้บูชา) 13.เปลือกนางหวานหรือแก่น(ใช้แทนกันได้) 14.เปลือกปีแดง(เจตมูลเพลิงแดง) 15.ต้นปีกไก่ดำหรือขาไก่ดำ 16.เมล็ดพริกไทย 

ลูกแป้งสูตรกะเหรี่ยง(โปว์) ในท้องที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนประกอบ (สมุนไพร 10 ชนิดไม่รวมข้าวเหนียวที่เป็นตัวประสาน) ได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง 1 กำมือ รากมะละกอ 1 ราก สะค้าน 1 ท่อน พริกไทยดำ 1 กำมือ ใบยี่หร่า 1 กำมือ รากมะเขือแจ้ 2 ราก รากมะแว้งต้น ครึ่งกำมือ ข่าซอย 3 กำมือ กระเทียมไทยหรือกระเทียมโทน 1 กำมือ พริกแห้ง 1 กำมือ (ป่นให้ละเอียด) แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม หัวเชื้อ (ลูกแป้ง) แบ่งเป็น ลูกแป้งตัวผู้ 2 ก้อน และลูกแป้งตัวเมีย 4 ก้อน และน้ำสะอาด

ส่วนประกอบลูกแป้งหลักๆ คือสมุนไพรสูตรร้อน ขาดไม่ได้คือ หัวข่าแก่ กระเทียม อื่นๆ เช่น ชะเอม ดีปลี พริก พริกไทย ขิง หอมขาว ผักย่านางแดง จักข่าน(เถาวัลย์มีในภาคเหนือใช้ใส่แกงขนุน) ใบมะค่าง เป็นต้น โดยใช้ข้าวจ้าว เป็นอาหารเชื้อส่าและตัวกลางประสาน 

ดู ลูกแป้ง … ความลับที่ไม่ลับ, ในเวบสุราไทย, 15 พฤษภาคม 2554, https://surathai.wordpress.com/2011/05/15/lukpang-secret/& สูตรทำลูกแป้งเหล้าขาว(อยุธยา), โดย กนก อุไรสกุล, ใน Gotoknow, 3 สิงหาคม 2550, https://www.gotoknow.org/posts/116498 & พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน...ภูมิปัญญาท้องถิ่น :  ลูกแป้งหมักสุราพื้นบ้านตำรับกะเหรี่ยง (อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน) โดย ปาจรีย์ อินทะชุบ, ใน หนังสือพิมพ์กสิกร กรมวิชาการเกษตร, https://www.doa.go.th/ksp/attachment.php?aid=3174   

[14]การเอามื้อสามัคคี หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า “ลงแขก” คนภาคเหนือเรียกว่า “เอามื้อ” คนอีสานเรียกว่า “เอาแฮง” คนภาคใต้เรียกว่า “ออกปาก” เป็นการช่วยเหลือกันในชุมชนด้วยการไปช่วยงานในแปลงของเพื่อนบ้านหรือเครือข่าย เป็นการทำงานแบบคนจนเพราะใช้งบประมาณน้อย โดยอาศัยแรงงานไปช่วยกันทำงานในแปลงที่ต้องการขุดปรับพื้นที่ ก่อสร้าง ปลูกต้นไม้ หรือเก็บเกี่ยว เป็นต้น โดยจะหมุนเวียนไปช่วยกันทำงานในแปลงต่างๆ ที่ต้องการแรงงาน ทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดู การเอามื้อสามัคคี โดย รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน, https://ajourneyinspiredbytheking.org/th/knowledge/agri-nature-handbook-detail.php?id=107 

[15]สุราแช่แถวภาคกลาง ที่ อ.บ้านลาด จ. เพชรบุรี, อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ยังมีน้ำตาลเมาแท้แบบดั้งเดิมอยู่ เพราะมีต้นตาลเยอะ น้ำตาลเมาแถวอีสานก็มี เช่น โคราช บุรีรัมย์ ที่มีต้นตาล น้ำตาลเมา (ทำหมักจากน้ำตาลโตนด) เป็นสุราแช่ หากจะเทียบกับภาคอื่นก็คือ “สาโท” (ทำหมักจากข้าวเหนียว) สำหรับชุมชนภาคใต้มีการผลิตสุราจากตาลโตนด ได้แก่ สุราแช่น้ำตาลเมา (เรียกหวาก) หรือสุรากลั่นโอทอป(2018) ยี่ห้อ “ตาลไทย” สุรากลั่นจากน้ำตาลโตนด จ. นครศรีธรรมราช หรือสุราที่ทำจากน้ำตาลเคี่ยวจนเป็นน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลผง หรือ ทำน้ำตาลจาก เช่น ที่อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช, ดู สุราน้ำตาลจากแห่งปากพนัง, สุราไทย, 18 สิงหาคม 2563, https://surathai.wordpress.com/2020/08/18/pak-panang/

& สุราเถื่อนในสังคมไทย, โดย กนิษฐา ไทยกล้า และธีมา หมึกทอง, 2563, อ้างแล้ว

& เดินชิมสุราไทยในงานโอทอป 2018, ใน Sura Thai, 16 ธันวาคม 2561, https://surathai.wordpress.com/2018/12/16/thai-alcohol-otop/

& น้ำตาลเมา ภูมิปัญญาชาวบ้านจากคาบสมุทรสทิงพระ, (น้ำตาลเมา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หวาก”), หาดใหญ่โฟกัส, 20 กุมภาพันธ์ 2561, https://www.hatyaifocus.com/บทความ/720-เรื่องราวหาดใหญ่-น้ำตาลเมา%2Bภูมิปัญญาชาวบ้านจากคาบสมุทรสทิงพระ/

[16]คนม้งเรียกว่า จือเปาะกื่อ คนไทยเรียกเหล้าข้าวโพด มีดีกรีแรง ในประเพณีชาวเขามีมีเหล้าข้าวโพดหลายเผ่า เช่น เผ่าลีซู (ลีซอ) เรียก “ยี่เพอะ” (เหล้าป่า) “คื่อซายี่เพอะ” หรือ เหล้าข้าวโพด

[17]เหล้ากะเหรี่ยงจะมีรสออกเปรี้ยวๆ ดีกรีไม่แรง เรียกว่า “สิวา” เป็นเหล้าขาว(กลั่น) ในพิธีกรรม คือ เหล้าต้มหรือเหล้าขาว ของคนกะเหรี่ยงที่ต้มเอง ต้มตามวาระและโอกาส ต่างๆ เป็นของสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ในการประกอบพิธี

[18]เหล้าดาวลอย เป็นชื่อเรียกขานสุราขาวพื้นบ้านของชุมชนแม่ตื่น(ชาวบ้านออกเสียงว่า แม่ตื๋น) ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นท้องถิ่นห่างไกลสุดของอำเภอ สมัยก่อนเมื่อครั้งก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพล (สร้างในปี พ.ศ.2500 – 2507) ซึ่งเปิดเป็นทางการเมื่อ 17 พฤษภาคม 2507 ชาวบ้านแถบนี้จะติดต่อคมนาคมกับพื้นที่อื่นเช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก ซึ่งด้วยเหตุนี้ จึงมีคนเมือง (คนเหนือพูดภาษาคำเมือง) ล่องเรือตามลำน้ำปิงมาแต่โบราณ ไปจนถึงจังหวัดตาก และข้ามไปที่อำเภอแม่สอด อำเภออุ้มผาง อำเภอพบพระ และบางส่วนข้ามไปปักหลักปักฐานฝั่งประเทศพม่า และกลายเป็นคนไทยพลัดถิ่นไป เมื่อมีการแบ่งเส้นเขตแดนใหม่ระหว่างไทยกับอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จเกิดน้ำท่วมลำน้ำปิงมาจนถึงอำเภอดอยเต่า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนแม่ตื่น ทำให้พื้นที่ตำบลแม่ตื่นถูกตัดขาดการคมนาคม การติดต่อเข้าถึงพื้นที่ได้ยาก เพราะเส้นทางรถยนต์จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอฮอด (ระยะทาง 118 กม.) เลี้ยวไปต่อเส้นทางอำเภอฮอด-แม่สะเรียง เลี้ยวแยกเข้าอำเภออมก๋อย ไปอีก 61 กม. ถึงตัวอำเภออมก๋อย รวมระยะทาง 179 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางรถยนต์วิ่งผ่านไปตามภูเขาสูงตลอด แล้วต่อจากอำเภออมก๋อยไปตำบลแม่ตื่นระยะทาง 126 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางรถยนต์ตามภูเขาสูงตลอดอีกเช่นกัน รวมระยะทางจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ทั้งสิ้นประมาณ 305 กม. ซึ่งถือว่าไกลมาก ด้วยเอกลักษณ์ของคนเหนือ (คนเมือง) ที่อยู่ในท้องที่ห่างไกลเช่นนี้ ทำให้ชุมชนแม่ตื่นมีของดี ในที่นี้ก็คือ เหล้าดาวลอย ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีดีกรีแรง แต่ดื่มง่ายไม่ฉุนไม่บาดคอ ส่างเมาแล้วไม่ปวดหัว 

[19]ผู้หญิงกับสุราพื้นบ้านชุมชนสะเอียบ, โดย เยาวลักษณ์ ยานุช และ ศิริพร ยอดกมลศาสตร์, สนับสนุนโดย ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มช., ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และ สสส., กุมภาพันธ์ 2559, https://cas.or.th/wp-content/uploads/2019/06/ผู้หญิงกับสุราพื้นบ้าน-ชุมชนสะเอียบ.pdf

[20]คนไทยเปย์ค่าเบียร์สูงสุดในเอเชีย ปี 2021 เฉลี่ยอยู่ที่ 686 ดอลลาร์/คน/ปี By Thamonton Jang, ใน BLT BANGKOK : BEST LIVING TASTE, 9 มีนาคม 2564, https://www.bltbangkok.com/news/33715/?fbclid=IwAR2Rq0udRLInDz4arrcmxfe961c3-PiGxp5kOwlj0Qtv_UiJQmbd-UCTUHA

[21]ใน BLT, 9 มีนาคม 2564, อ้างแล้ว

[22]ขี้เหล้าหลวงแห่งล้านนา ที่ 1-2-3 แห่งประเทศไทย จ.น่าน-แพร่-เชียงราย, fb น่านนะจ๊ะ, 23 มิถุนายน 2565, https://fb.watch/gGa4NTx1w1/

[23]รัฐบาลเปิดเสรีสุราในช่วงแรกๆ ปี 2544-2545 ทำให้มีการผลิตสู่ชุมชน แต่สุราชุมชนไม่สามารถทำเหล้าสีได้ทำได้แต่เหล้าขาว

ดู สุราไทย แพ้ทางสุราเถื่อน ทำขายถูกกฎหมาย ทำไมไปไม่รอด, ไทยรัฐออนไลน์, 1 ธันวาคม 2563, https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1983471 & สุราชุมชน สถานการณ์ปัญหาในสังคมไทย” โดย สาวิตรี อัษณางค์กรชัย วรานิษฐ์ ลำไย, ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, 2562, https://cas.or.th/wp-content/uploads/2019/06/https://cas.or.th/wp-content/uploads/2019/06/สุราชุมชนสถานการณ์ปัญหาในสังคมไทย.pdf

[24]สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนใต้ค้าน “กม.กัญชาเสรี-สุราก้าวหน้า-สมรสเท่าเทียม”, ไทยโพสต์, 1 กันยายน 2565, https://www.thaipost.net/all-news/212278/ 

[25]สุราขาว คือสุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี การผลิตสุราเหล้าขาวไทยส่วนใหญ่ที่นิยมคือขวดแดง (ขวดสีน้ำตาล) ขนาด 35 ดีกรี หรือ 40 ดีกรี หมักจากวัตถุดิบประเภทน้ำตาล ได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล (โมลาส : Molasses) หรือ วัตถุดิบประเภทแป้ง ธัญพืช ได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวเหนียว 

ดู ความหมายของสุรา, โดยกรมสรรพสามิต, อ้างแล้ว & การผลิตแอลกอฮอล์, โดยองค์การสุรา กรมสรรพสามิต, 25 พฤศจิกายน 2560, https://www.liquor.or.th/aic/detail/การผลิตแอลกอฮอล์

[26]ข้อสังเกตในมาตรฐานความปลดภัย ไม่มีอะไรปลอดภัยในสุราเหล้า โดยเฉพาะสุราราคาถูก แม้แต่สุราแบรนด์เนมแบล็ก ชีวาส ในร้านปลอดภาษีด่านจังโหลน รัฐเคด้า มาเลเซีย หรือคาสิโนฝั่งพม่าริมเมยตรงข้ามแม่สอด คนทัวร์ไทยแห่ไปซื้อ ราคาถูก ลดแลก แถม ถูกใจช็อปปิ้งไทย เมาแล้วเวียนหัว ตาแดง ตาแฉะ อยู่หลายวัน อันตรายทั้งนั้น 

[27]เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย หรือ คลท. พยายามที่จะแก้ไขกฎระเบียบ ที่ถูกนายทุนผูกขาดการผลิตไว้แต่เพียงผู้เดียวมายาวนานกว่าห้าสิบปีแล้ว ดู เหล้าของล้านนา-ล้านช้าง ความเป็นมาของเหล้าในตำนาน-พิธีกรรม ถึงยุคนายทุน, โดยไพฑูรย์ พรหมวิจิตร,  ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2547, เผยแพร่ 18 กันยายน 2565, https://www.silpa-mag.com/culture/article_9228

เนื่องจากกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 (ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560) ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นการปลดล็อกการผลิตสุรานั้น ยังมิใช่การปลดล็อก ดู สุราก้าวหน้า : สภาผู้แทนราษฎรโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ด้วยคะแนน 196 ต่อ 194 เสียง, BBC Thai, 2 พฤศจิกายน 2565, อ้างแล้ว 

& เมื่อ 1 พฤษภาคม 2563 ตัวแทน 7 องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสุรา ได้เข้าพบท่านอธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อการแก้ไขคุณสมบัติผู้ขออนุญาตผลิตสุรา รวม 6 ประเด็น และเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563 ได้ยื่นหนังสือขอให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับนี้ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดู เกณฑ์ขั้นต่ำ-เครื่องมือนายทุนผูกขาดสุรา, โดย Sura Thai, 4 พฤษภาคม 2563, อ้างแล้ว 

& ตัวอย่างดู คู่มือการปฏิบัติงานเรื่อง การอนุญาตผลิตสุรากลั่น/แช่ชุมชน, สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ลพบุรี, (ตามกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ลงวันที่ 12 กันยายน 2560 ที่ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565), https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/dwnt/mzm5/~edisp/uatucm339006.pdf & เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย หรือ คลท. พยายามที่จะแก้ไขกฎระเบียบ ที่ถูกนายทุนผูกขาดการผลิตไว้แต่เพียงผู้เดียวมายาวนานกว่าห้าสิบปีแล้ว ดู เหล้าของล้านนา-ล้านช้าง ความเป็นมาของเหล้าในตำนาน-พิธีกรรม ถึงยุคนายทุน, โดยไพฑูรย์ พรหมวิจิตร,  ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2547, เผยแพร่ 18 กันยายน 2565, https://www.silpa-mag.com/culture/article_9228

[28]มาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบ การประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา

[29]สังคมโง่ จน เจ็บ โดย เสรี พงศ์พิศ, สยามรัฐออนไลน์, 8 พฤศจิกายน 2565, https://siamrath.co.th/n/397656

[30]สุราเสรี Soft Power ใหม่ โดย กันต์ เอี่ยมอินทรา, กรุงเทพธุรกิจ, 25 มิถุนายน 2565, 4:00 น., https://www.bangkokbiznews.com/blogs/lifestyle/1011951



ความเห็น (1)

There are a lot of “local recipes” that should be “preserved” as cultural heritage.

We should allow practices (under conditions) to preserve culture, in the same way we preserve “cottage seeds” in agriculture.

Should we have ‘life museums’ for Thai beverages? They could be ‘tourist attractions’ – another big plus for Thailand economy.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท