“ตำนานการสร้าง..เมืองด่านซ้าย”


“ตำนานการสร้าง..เมืองด่านซ้าย”

   -ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเลย เพิ่งจะมีปรากฏแน่ชัดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองเลยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ 

  -ส่วนประวัติความเป็นมาของจังหวัดก่อนหน้านี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านและการสร้างบ้านแปลงเมืองซึ่งเป็นเมืองโบราณในท้องที่จังหวัดเลยปัจจุบัน 

  -อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านและเมืองเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานที่ได้จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยอาจได้รับการบันทึกไว้ในรูปของสมุดข่อยคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งพงศาวดาร ซึ่งย่อมจะมีสาระรายละเอียดที่ไม่ตรงกันนัก เพราะเป็นการบันทึกจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ตลอดทั้งหลักฐานประเภทจารึก เช่น ศิลาจารึก จารึกที่ฐานพระเจดีย์พระธาตุศรีสองรัก เป็นต้น ก็มักเป็นจารึกที่จัดทำขึ้นใหม่แทนของเก่าที่สูญหายไปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

   -ดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม มี ละว้า มอญ ขอม เป็นต้น  ต่อมาจึงมีหลักฐานเกี่ยวกับการอพยพของชนเผ่าไทยเข้ามายังดินแดนนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองและชนเผ่าไทยได้ตั้งถิ่นฐานจนก่อตั้งเป็นอาณาจักรใหญ่กระจายอยู่ทั่วทุกทิศ เชน

 - อาณาจักรโยนก - อาณาจักรทวาราวดี  - อาณาจักรอีสานปุระ 

    -กลุ่มชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ที่เป็นจังหวัดเลยจนสร้างบ้านแปลงเมืองได้เป็นกลุ่มแรกนั้นเชื่อกันว่า 

  “เป็นชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก”          “อาณาจักรโยนก”..เป็นอาณาจักรใหญ่ครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงดินแดน แคว้นตังเกี๋ยของประเทศจีนและรัฐฉานของพม่า มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๘ 

   -ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า "ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรนี้ทรงพระนามว่า พญาสิงหนวัติ เป็นเจ้าชายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพผู้คนลงมาสร้างอาณาจักรโยนก กษัตริย์ในราชวงศ์พระเจ้าสิงหนวัติปกครองโยนกนครสืบมาจนถึงสมัยพระองค์พังค-ราช  

   -พวกขอมดำซึ่งมีอำนาจอยู่ทางใต้ของอาณาจักรโยนกตีได้โยนกนคร  พระองค์พังคราชต้องอพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ที่ “เวียงสีทวง” ๑๙ ปี          “พรหมกุมารราชโอรส” จึงปราบปรามขอมดำ ขับไล่ออกไปจากอาณาจักรแล้วอัญเชิญพระองค์พังคราชกลับมาปกครอง.."โยนกนครใหม่" (โยนกเชียงแสน)

   -ส่วนพรหมกุมารหรือ"พระเจ้าพรหม" (ตามที่ขนานนามในภายหลัง)

  ได้สร้าง"เมืองชัยปราการ"ที่ริมแม่น้ำฝาง ทำให้อาณาจักรโยนกเชียงแสนมีอำนาจยิ่งขึ้น 

    -พระเจ้าพรหมครองเมืองชัยปราการจนสวรรคตแล้ว"พระองค์ชัยศิริราช"โอรสครองราชย์สืบต่อมา

  - ในสมัยนี้พระเจ้าอนุรุทมหาราช กษัตริย์พม่ามีอำนาจยิ่งใหญ่ตีได้อาณาจักรโยนกฯและเมืองชัยปราการไว้ในอำนาจ 

  -พระองค์ชัยศิริ ก็อพยพผู้คนลงใต้อันเป็นดินแดนของพวกมอญและขอม เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๗

 *"การตั้งเมืองด่านซ้าย"

 

     เมื่ออาณาจักรโยนกล่มสลายแล้ว  ชาวโยนกเชียงแสนที่รักอิสระต่างพากันอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ บางพวกอพยพไปรวมกำลังกับพระองค์ชัยศิริ บางพวกก็อพยพไปหาที่อยู่อาศัยทางแคว้นพางคำ 

   -พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้นำผู้คนอพยพมุ่งลงไปทางทิศตะวันออก เมื่อเข้าสู่ดินแดนลานช้างแล้วจึงบ่ายหน้าลงไปทางทิศใต้ (สันนิษฐานว่าจะนำผู้คนอพยพผ่านไปตามหมู่บ้านห้วยไฮ ห้วยลึก นากอก บ้านเมืองฮำและเมืองบ่อแตน ปัจจุบันอยู่ในแขวงไชยบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)     -แล้วนำไพร่พลข้ามลำน้ำเหือง ขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมัน จนถึงบริเวณที่ราบจึงได้พากันหยุดพัก 

    “พ่อขุนผาเมือง..ได้ตั้ง"บ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวาซึ่งยังมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) 

   -ส่วน“พ่อขุนบางกลางหาว” ได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย ได้ตั้ง"บ้านด่านซ้าย" (สันนิษฐานว่าจะอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยในปัจจุบัน) 

  -แล้วต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้าง"บ้านหนองคู" (ซึ่งอยู่ทางทิศใต้)  เมื่อมีกำลังคนมากขึ้นจึงคิดที่จะขยับขยายไปหาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ ครั้นได้นำเอานามหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามให้หมู่บ้านหนองคูเสียใหม่เป็น “เมืองด่านซ้าย” 

   -แล้วจึงนำไพร่พลอพยพไป “เมืองบางยาง” (เชื่อว่าอยู่ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก) 

    -ส่วนพ่อขุนผาเมืองขณะที่พ่อขุนบางกลางหาวเลื่อนขึ้นไปตั้งหมู่บ้านหนองคู พ่อขุนผาเมืองก็ได้นำผู้คนอพยพออกจากบ้านด่านขวาข้ามภูน้ำรินไปตั้ง"เมืองโปงถ้ำ"และอพยพต่อไปตั้ง"เมืองภูครั่ง" (โปงถ้ำสันนิษฐานว่าเป็นถ้ำเขียะในปัจจุบัน เป็นถ้ำเล็ก ๆ อยู่ข้างถนนสายเลย-ด่านซ้าย ห่างจากหมู่บ้านโคกงามไปทางด่านซ้ายประมาณ ๑ กิโลเมตร  และบริเวณที่หยุดพักไพร่พลตั้งเมืองเป็นการชั่วคราวคงจะเป็นที่เนินด้านขวาของทางหลวงสายโคกงาม-ด่านซ้าย  อยู่ในความควบคุมของแขวงการทางด่านซ้าย) 

  -ต่อมาได้อพยพไปสร้างเมืองบนภูครั่งซึ่งเป็นที่ราบอยู่บนยอดเขาภูครั่ง (ภูครั่งเป็นภูเขาลูกใหญ่มีพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่อยู่บนยอดเขา อยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอภูเรือ และอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านหนองบัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย.. อนึ่งคำว่า “เขียะ” นั้นหมายถึงจั๊กจั่นชนิดหนึ่งแต่ตัวเป็นสีเขียว

    -ครั้นพ่อขุนบางกลางหาวได้พาผู้คนอพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางแล้ว พ่อขุนผาเมืองจึงได้อพยพผู้คนติดตามไปจนไปตั้งหลักแหล่งได้ที่"เมืองราด" (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) 

   -โดยมีพ่อขุนบางกลางหาวเป็นผู้ปกครองเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เป็นผู้ปกครองเมืองราด ขณะเมื่อพ่อขุนบางกลางหาวปกครองเมืองบางยาง ก็ได้ตั้งเมืองด่านซ้าย" เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกตามราชธานีสมัยโบราณด้วย

   ประวัติของจังหวัดเลยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามมากเท่าใด คงมีเหตุการณ์ที่น่าจะกล่าวถึงอยู่เรื่องหนึ่ง คือ

    - เมื่อพ.ศ.๒๐๙๑  ปีแรกที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าผู้ครองกรุงหงสาวดี ได้ยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ยกกองทัพออกรบกับพม่า เพื่อป้องกันพระนครและได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร แม่ทัพหน้าของพม่า จนต้องเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสีเพราะถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์ซบกับคอช้าง 

   -การรบครั้งนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ และเมื่อกลับไปถึงกรุงหงสาวดีแล้วไม่นานก็สวรรคต พระเจ้าบุเรงนองขึ้นครองราชสมบัติที่กรุงหงสาวดีแทน บุเรงนองเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงคราม จึงได้หาสาเหตุมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยแต่งพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกของไทย ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุยกกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาและตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยได้หลายหัวเมือง รวมทั้งเมืองพิษณุโลกด้วยนอกจากยกกองทัพมารุกรานไทยแล้ว พม่ายังได้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต 

   -ฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุตสู้พม่าไม่ได้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องพากองทัพหนีไปอยู่ในป่า ทัพพม่าเข้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้จึงเก็บทรัพย์สินและกวาดต้อนประชาชน รวมทั้งมเหสีและสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปเมืองพม่า เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้พาทหารกลับเข้ามาอยู่กรุงศรีสัตนาคนหุต และได้แต่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทูลขอพระเทพกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยผู้เป็นวีรกษัตริย์ไปเป็นมเหสี เพื่อเห็นแก่ความเป็นไมตรีของสองพระนครที่จะให้มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน และจะได้เป็นกำลังในการต่อสู้ข้าศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ตกลงรับยินดีเป็นไมตรีกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตามที่ทูลขอมา แต่เป็นที่น่าเสียดายขณะที่พระเทพกษัตริย์เดินทางไปกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้ถูกกองทัพพม่าเข้าแย่งชิงและกวาดต้อนไปกรุงหงสาวดีเสียก่อนที่จะไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต
     -เพื่อเป็นสักขีพยานและแสดงออกซึ่งไมตรีจิตมิตรภาพ ระหว่างกษัตริย์ทั้งสองพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓ ในบริเวณที่ลำน้ำอู้ไหลมาบรรจบกับลำน้ำหมัน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งเมืองด่านซ้าย ไว้เป็นอนุสรณ์โดยได้โปรดให้อำมาตย์ราชครู และพระราชาคณะเป็นตัวแทนของสองพระนครมาดำเนินการสร้าง แต่ก่อนที่จะสร้างพระธาตุศรีสองรัก ผู้แทนทั้งสองพระนครได้มีการทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐานว่า ทั้งสองพระนครจะรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดุจเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตลอดไปชั่วกัปกัลป์ (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในประวัติพระธาตุศรีสองรัก)

*สุดทางด่านซ้าย - สายัณห์ สัญญา

“วันนั้นที่ด่านซ้าย”  -  ศิริพร


 

คำสำคัญ (Tags): #"เมืองด่านซ้าย"
หมายเลขบันทึก: 710285เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2022 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท