ชีวิตที่พอเพียง  4310. เตรียมพร้อมรับกรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ


 

เราได้รับคำสอนมาแต่เด็ก ว่าชีวิตคนเราเป็นไปตามกรรม   โดยกรรมในที่นี้คือการกระทำของตนเอง   ไม่ใช่กรรมที่ฟ้าดินบันดาล  หากเราต้องการมีชีวิตที่ดี ต้องหมั่นทำกรรมดี   

ผมเชื่อในคำสอนนี้อย่างสุดใจ  และหมั่นปฏิบัติกรรมดีมาตลอดชีวิต    และเห็นได้ชัดว่า ได้รับการตอบแทนจากการกระทำของตนเป็นอย่างดียิ่ง    ยามชรา ผมและครอบครัวมีชีวิตที่ดีอย่างน่าพอใจ   

แต่ก็ตงิดใจเรื่อยมา    ว่าชีวิตของเราต้องเผชิญเหตุการณ์ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของตัวเรา   แต่มีคนอื่นเป็นตัวการ   

อย่างกรณีน้ำมันแพง ข้าวของแพง ในขณะนี้ มันเกิดจากอเมริการบกับรัสเซีย โดยใช้ยูเครนเป็นสนามรบ   คนยูเครนจึงประสบเคราะห์กรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ    เกิดการล้มตายบ้านแตกสาแหรกขาด    ต้องอพยพหนีตาย   พวกเราอยู่ไกลจุดสงครามก็พลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วย    เพราะโลกมันเชื่อมโยงถึงกันหมด   

ความจริงคือ โลก และจักรวาลเชื่อมถึงกันหมด   

ที่เป็นจริงอย่างยิ่งคือ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์    ที่ใช้พลังงานฟอสซิลมากมาย เพื่อปรนเปรอความสะดวกสบายของตน   คนในประเทศรวยเป็นตัวการใหญ่    แต่ผู้รับเคราะห์หนักอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา   

อารัมภบทมาเสียยาว    ขอเข้าเรื่องว่า ผมอ่านบทความ Stealth Migrations : Trillioins of tiny animals may be coordinating their daily movements in ways that affect every organism on the planet  ใน Scientific American ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕    ตื่นตาตื่นใจกับรูป zooplankton หลากชนิดในมหาสมุทร   ที่เขาบอกว่ามันพากันเดินทางจากน้ำลึกสู่น้ำตื้นยามพลบ    และเดินทางกลับยามอรุณรุ่ง    เป็นวงจรเช่นนี้เป็นธรรมชาติ   

เขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า diel vertical migration ที่สัตว์เล็กๆ เหล่านี้ปริมาณ ๑ หมื่นล้านตัน เดินทางไปกลับในความลึกของมหาสมุทรใน ๑ วัน   เป็นชีวิตของนักเดินทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อการดำรงชีวิต .. เพื่อหากิน  และเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกิน         

อาหารของเขาคือ phytoplankton ที่ต้องอยู่ในน้ำตื้น เพื่อได้รับแสงอาทิตย์สำหรับใช้สังคราะห์แสง     ศัตรูหรือผู้ล่าของเขาคือฝูงปลา  โปรดดูรูปใน diel vertical migration จะเห็นชัด   

นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมีเครื่องมือสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ามาก    สำหรับใช้ศึกษา diurnal vertical migration นี้    และพบว่า สัตว์ตัวจิ๋วเหล่านี้มีการจัดระบบการเดินทางที่ซับซ้อน    ไม่ใช่ต่างตัวต่างเดินทางแบบตัวใครตัวมัน    นี่คือการเดินทางระหว่างความลึก ๓,๐๐๐ ฟุต กับผิวน้ำ

ยังมีอีกกลุ่มการเดินทาง เป็นของ phytoplankton … พืชขนาดจิ๋ว    ที่เดินทาง ๑๐๐ ฟุต ลงไปใต้ผิวน้ำ ไปหาสารอาหาร และกลับมาที่ผิวน้ำเพื่อรับแสงแดด   

การเดินทางของสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในมหาสมุทรนี้มีความซับซ้อนมาก    เกี่ยวข้องกับกระแสน้ำ  แสงแดด อุณหภูมิ    และวงจรการเดินทางใช้เวลาแตกต่างกัน  อาจเพียงไม่กี่ชั่วโมง  ไปถึงหลายวัน และหลายสัปดาห์    

เป็นเรื่องราวของระบบนิเวศในมหาสมุทร ที่เราเพิ่งเริ่มเข้าใจ   ยังจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากมาย   เพื่อทำความเข้าใจว่า ระบบนิเวศในมหาสมุทรมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอย่างไร     

เพราะทุกสิ่ง ทุกเรื่องราวในโลก ในจักรวาล เชื่อมโยงถึงกัน   กรรมในมหาสมุทรอันลี้ลับ   ย่อมมีส่วนส่งผลต่อชีวิตของคนเราด้วย    เป็นกรรมที่เราไม่ได้ก่อ       

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ส.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 707853เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2022 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2022 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Doesn’t this put a spotlight on “atta” (and its complement “anatta”)?

People often think of “kamma” in their own “world”. Few people can see kamma in the webs of relations - wider, multi world.

We have a lot to learn about what and when and how one’s kamma ripples out (and causes change in the world) before it (in another “kāya”,”kāla” and “phala”) returns to the “actor”. Science of kamma is awaiting establishment ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท