เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (2)


เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (2)

         โปรดอ่าน เรียนรู้จากการเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล (1) click ก่อนครับ

         รางวัลนานาชาติในฐานะเครื่องมือผดุงเกียรติศักดิ์ของชาติ

         รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นรางวัลนานาชาติ   มีเป้าหมายหลักเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนก   และเพื่อยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ทำงานวิจัยสร้างผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และด้านสาธารณสุข   เกิดคุณประโยชน์แก่ผู้คนในวงกว้างหรือแก่มนุษยชาติ   โดยจุดเน้นของรางวัลนี้ที่แตกต่างจากรางวัลอื่น   คือเน้นที่ผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน   ไม่ใช่แค่เพียงผลงานที่มีนวภาพทางวิทยาศาสตร์

         เมื่อได้เข้ามาทำงานให้แก่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ  นาน ๆ เข้า   ผมก็สังเกตเห็นว่ากิจกรรมของมูลนิธิฯ มีผลอีกหลายอย่าง   ได้แก่

     (1) เป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของราชวงศ์จักรี   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   สมเด็จองค์ประธานฯ   ในหมู่นักวิชาการระดับสูงของโลกที่มาร่วมเป็นกรรมการรางวัลนานาชาติ   และที่มารับรางวัลหรือร่วมในพิธีพระราชทานรางวัล   คนเหล่านี้ต่างก็แสดงความประทับใจที่ได้รับทราบและเห็นพระอุตสาหวิริยะและพระจริยาวัตรที่งดงาม
     (2) เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทย   ผ่านทางการประกาศเชิญชวนให้มีการเสนอชื่อบุคคลหรือสถาบันผู้มีผลงานเด่นตามเกณฑ์ของรางวัล   และผ่านทางการประกาศชื่อและผลงานผู้ได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัล
     (3) เป็นการเพิ่มพูนขีดความสามารถในกิจกรรม "การตัดสินรางวัล" (Award - Making) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เรายังต้องเรียนรู้อีกมาก   การมีมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนจากกรรมการรางวัลนานาชาติที่เป็นคนระดับได้รับรางวัลโนเบลหรือระดับใกล้เคียง   และผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดี   บูญ (และกรรม) บันดาลให้ได้เข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้นี้
     (4) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการ/วิจัยระดับยอดของโลกกับประเทศไทย/แวดวงวิชาการไทย

         ผมได้เรียนรู้ว่าการแข่งขันไม่ได้มีเฉพาะในโลกธุรกิจ   การแข่งขันระหว่างประเทศหรือการแข่งขันด้านการวิจัยในโลกของรางวัลนานาชาติก็มีการแข่งขันกันด้วย

         กรรมการรางวัลนานาชาติได้ให้คำแนะนำว่า   เวลานี้มีรางวัลนานาชาติใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย   และเป็นรางวัลที่เป็นเงินก้อนใหญ่ด้วย   เช่น Chinese Prize,  Japanese Prize,  Norwegian Prize ซึ่งให้รางวัลก้อนโตถึง 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ   ในขณะที่รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นเงิน 50,000 ดอลล่าร์   แต่พิธีพระราชทานรางวัลและการต้อนรับต่อผู้ได้รับรางวัลจะสร้างความประทับใจสูงมาก


         รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ จึงต้องสร้าง visibility ของรางวัลด้วยวิธีต่าง ๆ โดยตระหนักถึงสภาพ ecology ของการให้รางวัลในโลกนี้ (คือไม่ใช่มองเฉพาะรางวัลของเรา)   เขาได้แนะนำหลายวิธี   ซึ่งมูลนิธิฯ จะต้องมีการจัดการและมีเจ้าหน้าที่เข้ามารับผิดชอบเป็นงานที่จะต้องมีการปรับปรุง

         อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับคำแนะนำจากกรรมการรางวัลนานาชาติ   เกี่ยวข้องกับข้อ (4) ข้างบน คือการใช้รางวัลนี้เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้รับทุนกับประเทศไทย   กรรมการแนะนำว่า  ถ้าเราให้รางวัลแก่ผู้สูงอายุ   ช่วงเวลาที่เขาจะมีชีวิตทำงานวิชาการจะสั้น   ความสัมพันธ์กับประเทศไทยก็สั้น   แต่ถ้าเราให้รางวัลแก่คนที่อายุไม่มากนัก   เช่น 50 - 60 ปี คนเหล่านี้ก็จะยังมีช่วงเวลาที่ทำงานวิจัย/วิชาการอีกนาน   ช่วงเวลาของความสัมพันธ์กับประเทศไทยก็นานด้วย   เรื่องนี้เป็นประเด็นเชิงนโยบาย   ซึ่งคงจะต้องนำเข้าปรึกษาหารือในคณะกรรมการมูลนิธิฯ ต่อไป

                     

           คณะกรรมการรางวัลนานาชาติและคณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ

                         

        บรรยากาศในห้องประชุม                    รับประทานอาหารเที่ยง

วิจารณ์  พานิช
 10 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7078เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท