มหาวิทยาลัยในฝัน


มหาวิทยาลัยในฝัน

Hiker

บริษัท นาโนบิ จำกัด สำรวจความใฝ่ฝันของวัยรุ่นในเรื่องการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยในฝัน” (กันยายน 47) พบลักษณะของมหาวิทยาลัยในฝันหลายอย่าง

วัยรุ่นไทยฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการ มีอิสระในการทำงาน รายได้สูง และรวยด้วยตนเอง จึงมองปริญญาตรีเป็นใบเบิกทางสำหรับการทำงาน เป็นการยกฐานะทางสังคม และทำให้พ่อแม่สบายใจหมดห่วง

วัยรุ่นไทยมองปริญญาโทว่า เป็นการต่อยอดแบบ global (ทันโลก)หรือ international (ทันกระแสข้ามชาติ) มากขึ้น ทำให้เงินเดือนสูงขึ้น และมีโอกาสสร้าง connection (เครือข่ายจากคนรู้จักกัน)ทางธุรกิจ

ส่วนปริญญาเอกนั้น...วัยรุ่นมองว่า เป็นความสำเร็จทางการศึกษาขั้นสูงสุด ได้ยกฐานะทางสังคม ภาพพจน์ดีขึ้น และเป็นที่น่าเคารพนับถือในฐานะอาจารย์

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะชื่นชอบ หรือชิงชังสถาบันต่อไปนี้ ขออย่าไปจริงจังมากเกินนะครับ เพราะเรื่องนี้เขาสำรวจวัยรุ่น...ไม่ใช่ผู้ใหญ่ และเขาสำรวจความฝัน...ไม่ใช่ความจริง

1.      จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
จุฬาฯ ได้เป็นแหล่งความฝันอันดับหนึ่ง เนื่องจากคุณภาพเนื้อหา อาจารย์ และนักศึกษาเต็มเปี่ยม อย่างไรก็ตาม, กลุ่มตัวอย่างบอกว่า การแก่งแย่งแข่งขันที่นี่เข้มข้นไปหน่อย...

2.      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่นี่มีชื่อเสียงทางนิติศาสตร์ ภาพพจน์ของนักศึกษาที่นี่ดูจะติดดิน ไม่หยิ่ง เข้ากับคนง่าย ไม่เห็นแก่ตัว และชอบช่วยเหลือเพื่อนฝูง โดนใจวัยรุ่นที่เขาอยากจะเป็นผู้จัดการ หรือเป็นเจ้านายในอนาคต

3.      มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) โดดเด่นด้านภาษาอังกฤษ นักศึกษาที่นี่ไฮโซ รวย มีความมั่นใจในตัวเองสูง ส่วนใหญ่จะมีกิจการส่วนตัว

4.      มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ที่นี่มีชื่อเสียงในด้านเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนทันสมัย มีตำรามาก

5.      มหาวิทยาลัยหอการค้า
มหาวิทยาลัยหอการค้ามีภาพพจน์นักการบัญชี แต่บุคลิกค่อนข้างนิ่ง ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ๆ

6.      มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่นี่มีภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเปิด เข้าง่าย จบยาก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดที่นี่คือสาขากฎหมาย

หลายปีมาแล้วผู้เขียนเองเคยเข้าไปในม.รามฯ เห็นห้องติดแอร์สำหรับอ่านหนังสือ นักศึกษาที่นั่นคนหนึ่งเล่าว่า คนที่นั่นชอบห้องอ่านหนังสือมาก เพราะเปิดให้อ่าน 24 ชั่วโมง บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดก็อ่านหนังสือโต้รุ่งรอสอบตอนเช้าเลย ฟังแล้วชื่นชมมาก อยากให้มหาวิทยาลัยอื่นมีบริการอย่างนี้บ้าง และนิสิตนักศึกษาที่อื่นขยันแบบนี้บ้าง

สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีนิสิตนักศึกษาดีๆ ก็มี เช่น นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า อยากให้ทางวิทยาลัยยอมให้อ่านหนังสือดึกกว่านี้อีกหน่อย ตอนนั้นทางวิทยาลัยปิดไฟเร็ว ทำให้เสียโอกาสอ่านตำรับตำรา ฯลฯ

มหาวิทยาลัยในฝันของผู้เขียนเป็นที่ที่ทั้งอาจารย์และนิสิตนักศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน (interactive learning) อาจารย์ค้นคว้ามาสอน นิสิตนักศึกษาค้นคว้ามาเรียน ไม่ใช่ให้อาจารย์ป้อนให้ฝ่ายเดียว (spoon feeding) มีลักษณะเป็นสถาบันการเรียน (learning center) มากกว่าสถาบันการสอน (teaching center)

ปรัชญาการศึกษาพื้นฐานประการหนึ่งคือ คนที่มีการศึกษาควรรู้ว่าจะเรียนด้วยตนเองได้อย่างไร (An educated one should know how to learn by self.)

โครงสร้างพื้นฐานประการหนึ่งของม.ในฝันของผู้เขียนคือ น่าจะมีห้องสมุดที่ดีทั้งห้องสมุดที่จับต้องได้ (tangible library) หรือมีหนังสือ ตำรา วารสารต่างๆ ให้ครบทั้งสาระและบันเทิง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และมีห้องสมุดเสมือน (virtual / intanbible library) ทางอินเตอร์เน็ต ให้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ค้นคว้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ม.ในฝันของผู้เขียนน่าจะขยายขอบเขตออกไปจากภายในสู่ภายนอก เช่น มีการศึกษาร่วมกันกับชุมชน มีหลักสูตรสำหรับคนภายนอก ฯลฯ แน่นอนว่า น่าจะมีห้องสมุดสำหรับประชาชนด้วยทั้งห้องสมุดจับต้องได้และห้องสมุดเสมือน

ม.ในฝันของผู้เขียนมีหลักสูตรหลายระดับชั้น(ไม่จำเป็นต้องเป็นปริญญา) โดยเฉพาะมีการส่งเสริมภูมิปัญญาแบบองค์รวม เช่น มีหลักสูตรการทำกับข้าวไทย การอบรมไกด์ภาษาต่างๆ การทำสวนครัว การรักษาสุขภาพ การนำเสนอสื่อในที่สาธารณะ มีเวทีให้แสดงความคิดเห็น (เช่น หนังสือพิมพ์ online ฯลฯ) ฯลฯ

มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นที่ที่คนส่วนใหญ่มีความสุขกับการเรียน จะให้ทุกคนมีความสุขกับการเรียนไม่ได้ เพราะธรรมชาติของความดีงาม เช่น ฉันทะในการเล่าเรียน ฯลฯ เป็นของคนหมู่มากได้ แต่เป็นของทุกคนไม่ได้ (Any good was born for many, not for all.)

ท่านผู้อ่านที่เป็นครูบาอาจารย์ บุคลากร หรือนิสิตนักศึกษาอ่านแล้วช่วยกันหาทางปรับปรุงสถาบันของท่าน(ไม่ว่าจะเป็นระดับใด)ให้ดีขึ้นนะครับ

ตัวอย่างเช่น จัดกิจกรรมบริจาคเลือดทุกเดือน ฯลฯ

สถาบันการศึกษาจะดีได้ไม่ใช่เพราะใครที่ไหนเลย...เพราะท่านผู้อ่านทุกท่านนี่เอง ถึงตอนนี้ใครที่คิดเรื่องดีๆ อยู่ก็ขอได้รับความชื่นชมจากผู้เขียนนะครับ...

    แหล่งที่มา:     

  • ขอขอบพระคุณ > มหาวิทยาลัยในฝัน. ใน: กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ปี 1 ฉบับ 74 (11-14 พฤศจิกายน 2548).
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘.
  • เชิญอ่าน "บ้านสุขภาพ" > [ Click - Click ]
หมายเลขบันทึก: 7074เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มหาวิทยาลัยรามคำแหงให้นักเรียนที่จบมัธยมต้นลงทะเบียนเป็นนักศึกษารามคำแหงคณะอะไรก็ไร

เรียนเก็บหน่วยกิตไปเรื่อยๆ  เข้าใจว่าน่าจะดี เพราะว่าอ่านแล้วไปสอบได้เลยไม่ต้องรอจบมัธยมปลาย

เคยเห็นเด็กโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัยเขาทำกันเขาบอกว่าไม่ต้องเสียเงินค่ากวดวิชาอีก

 

ขอขอบคุณ... อาจารย์จิราภา

  • แนวคิดของมหาวิทยาลัยรามคำแหงดีเยี่ยมไปเลย...

เชื่อมั่นว่า วิธีนี้คงจะทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่มีโอกาสทางการศึกษาดีขึ้น

  • นอกจากนั้นคนที่เก่ง หรือขยันมากๆ อาจจะเรียนหลายสาขาวิชา เพื่อให้เป็นคนมีวิสัยทัศน์ (vision) กว้างไกล

ขอแสดงความชื่นชมแนวคิดของ ม.รามคำแหง... สาธุ สาธุ สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท