ข้อควรระวังในการนำอัตราการกระทำผิดซ้ำไปใช้ในการวัดความสำเร็จของงานราชทัณฑ์


ข้อควรระวังในการนำอัตราการกระทำผิดซ้ำไปใช้ในการวัดความสำเร็จของงานราชทัณฑ์

                                                                                                                                                    นัทธี จิตสว่าง

บทนำ

อัตราการกระทำผิดซ้ำ (Recidivism) ของผู้ต้องขัง (Stinchcomb, 2005, P.373) โดยปกติจะหมายถึง การกลับมากระทำผิดซ้ำอีกครั้งของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวออกไปจากเรือนจำหรือสถานควบคุม โดยคิดเป็นร้อยละของจำนวนทั้งหมดที่ปล่อยตัวออกไป ดังนั้นฐานในการคำนวณร้อยละ จึงมีความสำคัญที่จะทำให้การแปลผลผิดเพี้ยนไปได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความระมัดระวังในการแปลผลดังกล่าว ทั้งในเรื่องของวิธีการจัดเก็บ วันที่จัดเก็บ การเริ่มต้นจัดเก็บ และขั้นตอนในการจัดเก็บ นอกจากนี้ในเรื่องการตีความและนำผลไปใช้ในการประเมินความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความระมัดระวังเช่นกัน

การนำอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในภาพรวมมาใช้กับการประเมินโครงการอบรมแก้ไขย่อย

อัตราการกระทำผิดซ้ำมักถูกนำมาใช้ในการประเมินความสำเร็จของการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังหรือแม้แต่เด็กเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำในศูนย์ฝึกอบรมฯ โดยวัดจากการที่ผู้ผ่านการอบรมแก้ไขจากเรือนจำหรือศูนย์ฝึกอบรมกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก เป็นจำนวนร้อยละเท่าไหร่ หากมีการกลับไปกระทำผิดซ้ำในอัตราร้อยละที่สูง ก็จะถูกทึกทักว่าการอบรมแก้ไขไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีปัญหาด้านประสิทธิภาพการประเมิน ในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความสำเร็จของกระบวนการอบรมแก้ไขในสถานควบคุมได้ทั้งหมด เพราะการประเมินในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการใช้ตัวเลขจากการประเมินในภาพรวม ทำให้อาจมีปัญหาบางประการเกี่ยวกับคุณลักษณะของกลุ่มบุคคลที่จะทำการประเมินการกระทำผิดซ้ำ กล่าวคือในกรณีของเรือนจำ ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีผู้ต้องขังกลุ่มที่แก้ไขยาก มีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดซ้ำสูงเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพ้นโทษออกมาอัตราการกระทำผิดซ้ำของเรือนจำนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะสูงตามไปด้วย

ในทางตรงกันข้ามในเรือนจำที่มีผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำต่ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น                             ทัณฑสถานเปิด เมื่อปล่อยผู้ต้องขังออกมา อัตราการกระทำผิดซ้ำของเรือนจำแห่งนี้ก็อาจจะต่ำตามไปด้วย แต่ก็อาจมีกรณีที่แม้ในเรือนจำนั้นมีสัดส่วนของผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำสูง แต่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วปรากฏว่า ผู้ต้องขังที่พ้นโทษจากเรือนจำแห่งนี้มีอัตราการกระทำผิดซ้ำในระดับต่ำ กรณีเช่นนี้น่าจะถือได้ว่า โปรแกรมหรือการปฏิบัติในเรือนจำนั้นๆ มีผลทำให้ผู้ต้องขังเปลี่ยนแปลงและไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ แต่ในกรณีของเรือนจำ หรือโปรแกรม หรือกิจกรรมใดที่กลุ่มผู้ต้องขังที่เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำต่ำอยู่แล้ว เมื่อผ่านการอบรมและพ้นโทษออกมาปรากฏว่ามีอัตราการกระทำผิดซ้ำต่ำ เช่นนี้ ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าโปรแกรมหรือกิจกรรมนั้นประสบความสำเร็จเสียทีเดียว ดังปรากฏตามตารางที่ 1

ตัวเลขที่ใช้ในการวัดอัตราการกระทำผิดซ้ำอาจเกิดความคาดเคลื่อนได้ หากกลุ่มผู้ต้องขังที่จะถูกประเมินมีทั้งกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดสูงและต่ำปะปนกัน โดยมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสัดส่วนที่สูง ก็จะทำให้ผลการประเมินออกมาในทางนั้น แล้วถูกนำมาตีความในภาพรวม ตัวอย่างเช่น ในการเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย หรือประเทศในยุโรป กับประเทศไทย ซึ่งจะปรากฏว่า อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่กลับมากระทำผิดซ้ำอีกในรอบ 3 ปี คือ ประมาณร้อยละ 33 (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, กรมราชทัณฑ์ (2022) ในขณะที่ในออสเตรเลีย ร้อยละ 45 หรือประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ร้อยละ 48 หรืออังกฤษ ร้อยละ 66 (World Populace,2022) ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า ระบบในการแก้ไขผู้ต้องขังของไทยจะประสบความสำเร็จมากกว่าในออสเตรเลียหรือประเทศในยุโรป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าระบบราชทัณฑ์ของประเทศใด คุมขังผู้ต้องขังประเภทใดไว้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ในประเทศไทย ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดรายย่อยและผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดจำนวนมาก ในขณะที่ผู้กระทำผิดที่จะถูกส่งเข้าเรือนจำในประเทศในยุโรป หรือออสเตรเลียจะเป็นผู้กระทำผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริง หรือเป็นผู้ร้ายที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำสูงดังนั้นเมื่อพ้นโทษออกมาอัตราการกระทำผิดซ้ำจึงสูงกว่าของไทย

ดังนั้นจึงกลับไปสู่ประเด็นที่ว่าเรือนจำในประเทศนั้นๆ ขังคนประเภทใดไว้เป็นส่วนใหญ่ หากเรือนจำในประเทศใดคุมขังผู้ต้องขังในคดีเล็กน้อยที่ผู้กระทำผิดมิใช่อาชญากรไว้จำนวนมาก อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศนั้นก็จะต่ำตามไปด้วย

ในทำนองเดียวกัน การนำอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวโดยผ่านการพักการลงโทษ ไปเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวตามกำหนดโทษ (ตามป้าย) ตามปกติแล้วปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว โดยผ่านกระบวนการการพักการลงโทษ จะมีอัตราการกระทำผิดซ้ำต่ำกว่าการปล่อยในกรณีปกติ ซึ่งหากไปดูถึงคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว โดยผ่านการพักการลงโทษ จะเห็นได้ว่ามีความพร้อมในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับรองจากคนในครอบครัว หรือชุมชน การผ่านการประเมินความประพฤติจากหลายฝ่าย และการคุมความประพฤติว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำ ย่อมมีโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติโดยพักโทษ เพราะคุณสมบัติไม่ผ่าน เช่น ไม่มีคนรับรอง มีปัญหาวินัย และคดี และสภาพแวดล้อม ที่จะออกไปไม่เหมาะสม

ถ้าจะนำอัตราการกระทำผิดซ้ำมาใช้ในการประเมินผลสำเร็จของโปรแกรมการแก้ไขผู้ต้องขังใดๆอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบ โดยนำผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งเข้าอบรมตามโปรแกรม และจัดให้มีผู้ต้องขังอีกกลุ่มหนึ่งจำนวนเท่าๆกัน มีคุณสมบัติเทียบเคียงกัน เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ โดยไม่ได้เข้ารับการอบรมตามโปรแกรม จากนั้นจึงมาเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำของทั้งสองกลุ่ม หากอัตราการกระทำผิดซ้ำของกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้เข้ารับการอบรมต่ำกว่ากลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจสรุปได้ว่า โปรแกรมการอบรมแก้ไขดังกล่าว มีผลกระทบในทางบวกต่อการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่เข้ารับการอบรมตามโปรแกรม อีกนัยหนึ่งโปรแกรมอบรมดังกล่าวประสบผลสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพในการลดการกระทำผิดซ้ำ แต่การดำเนินการดังกล่าวนี้อาจมีปัญหาด้านจริยธรรมได้

การละเลยอบรมแก้ไขผู้ควรได้รับการอบรมแก้ไข แต่เน้นการอบรมแก้ไขผู้ไม่จำต้องอบรมแก้ไข (Type I error and Type II error) 

ปัญหาดังกล่าวนี้ มักเกิดขึ้นในเรือนจำโดยทั่วไป เพราะโปรแกรมหรือโครงการต่างๆที่เรือนจำดำเนินการก็ย่อมหวังผลสำเร็จในการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังไม่ให้ออกไปกระทำผิดซ้ำหรือออกไปก่อเหตุ ก่อเรื่องเสียหายขึ้น ทำให้โครงการและเรือนจำเสียหาย หรือเจ้าหน้าที่ ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการคัดผู้ต้องขังส่งออกไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำ ซึ่งได้รับความรู้และค่าจ้าง รวมทั้งโอกาสทำงานหลังพ้นโทษ โดยทำแบบไปเช้าเย็นกลับ ก็ต้องมีการคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การหลบหนี การไปยุ่งกับยาเสพติด หรือมีปัญหาในการทำงานในโรงงาน อีกนัยหนึ่งคือ คัดคนที่มีความประพฤติดี มีความรู้ มีทักษะ ในขณะที่พวกที่ไม่ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการก็คือผู้ต้องขังที่มีปัญหา ซึ่งมักจะถูกปฏิเสธในโปรแกรมแก้ไขอื่นๆด้วย ดังนั้นเมื่อพ้นโทษก็มีโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำสูง

นอกจากนี้ยังมีโครงการหรือโปรแกรมอบรมแก้ไขผู้ต้องขังอื่นๆอีกหลายโครงการที่เรือนจำจัดทำให้ผู้ต้องขังแล้วคัดเลือกผู้ต้องขังชั้นดี มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ เพื่อหวังความสำเร็จของโครงการ ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ส่วนใหญ่ เรือนจำไม่ต้องทำอะไรหรือให้อะไรกับผู้ต้องขังกลุ่มนี้เลยก็ได้ ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ก็ไม่กระทำผิดซ้ำอยู่แล้ว (มีครอบครัว มีงาน มีสภาพแวดล้อมรองรับ) จึงจัดเป็น Type I error.  ในทางตรงกันข้าม ผู้ต้องขังที่มีปัญหาและยากต่อการแก้ไข เพราะไม่มีผู้รองรับ ไม่ยอมเข้ารับการอบรม ทำผิดวินัย ฯลฯ  หากไม่ทำอะไรกับผู้ต้องขังกลุ่มนี้ เมื่อพ้นโทษก็มีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำสูง แต่เรือนจำส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่ทำอะไรกับผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ทำให้ทรัพยากรของเรือนจำ ทั้งเวลา คน และงบประมาณ มุ่งไปสู่ผู้ต้องขังกลุ่มแรกจนเกือบหมด ในขณะที่ผู้ต้องขังกลุ่มที่จะออกไปสร้างปัญหา กลับถูกละเลย Type II error นับเป็นการลงทุนไปกับกลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากกับคนกลุ่มนี้ และละเลยที่จะทุ่มเทแก้ไขผู้ต้องขังกลุ่มหลัง ทั้งนี้เนื่องจากเรือนจำเน้นที่ outputมากกว่า outcome 

อย่างไรก็ตาม ในสถิติแต่ละปี จะมีผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำเป็นครั้งแรกจำนวนมากกว่าผู้กระทำผิดซ้ำสองหรือหลายครั้ง ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่าผู้ที่กระทำผิดครั้งแรกจะไม่กระทำผิดซ้ำ ดังนั้นผู้ต้องขังเหล่านี้จะต้องผ่านการจำแนกหรือคัดกรองถึงความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ และนำเข้าสู่โปรแกรมป้องกันเช่นกัน

การดำเนินการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินการเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง เพื่อให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องจำแนกลักษณะของกลุ่มผู้ต้องขังที่จะกระทำผิดซ้ำออกมาก่อน เพื่อแยกปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำ โดยพิจารณาแยกประเภทได้เบื้องต้น คือผู้ต้องขังที่แก้ไขได้ง่าย มีความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำต่ำ กลุ่มนี้อาจไม่ต้องทำอะไรมากกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงปานกลาง คือขาดโอกาสในสังคม หากได้รับการช่วยเหลือกลุ่มนี้ ก็ต้องให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มผู้ต้องขังที่แก้ไขยาก กลุ่มนี้อาจต้องใช้มาตรการทางทัณฑวิทยาไปก่อน และหากจะดำเนินการแก้ไขก็ต้องใช้โปรแกรมเข็ม อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำแล้วเข้ามาเป็นรอบที่ 2 เป็นต้นไป อาจ สามารถจำแนกได้ 6 ประเภท คือ

1. ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดรายย่อยครั้งแรก เพราะเพื่อน ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และไม่มีงาน ทางเลือก

2. ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำคดียาเสพติดรายย่อยหรือคดีลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ที่ทำผิดซ้ำซากหลายครั้ง เพราะไม่มีงานและคนรอบข้างไม่เอาแล้ว

3. ผู้ต้องขังที่ถามผิดซ้ำคดีรุนแรงเช่น ฆ่า ทำร้ายทางเพศ เพราะหลอนยา เมายา หรือเมาเหล้า โดยก่อนหน้าทำผิดในคดีเล็กน้อยมาก่อน

4. ผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำ เพราะความผิดปกติทางจิต เป็นอาชญากรต่อเนื่องแต่ไม่แสดงออกให้ปรากฏอย่างแน่ชัด

5. ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำ เพราะก้าวร้าว หัวร้อน นักเลง หรือติดเซ็กส์

6. ผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำ เพราะวังวนเดิมๆ กับเครือข่ายค้ายารายใหญ่

ใน 6 ประเภท ของผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำนี้ต้องยอมรับว่า ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำประเภทที่ 4 , 5 และ 6 แก้ไขได้ยาก หรือยังไม่พร้อมและสุกงอมพอที่จะได้รับการแก้ไข กรณีเช่นนี้ก็ควรใช้มาตรการทางทัณฑวิทยาควบคู่ไปกับการแก้ไข โดยการควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไว้ โดยกันออกจากสังคมให้นานระยะหนึ่ง จนศักยภาพในการประกอบอาชญากรรมลดน้อยลง และพร้อมที่จะกลับสู่สังคม จึงดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังก่อนปล่อยกลับสู่สังคม

สำหรับผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในประเภทที่ 1 ถึง 3 จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังประเภทที่ 2 ที่เป็นผู้กระทำผิดซ้ำส่วนใหญ่ ต้องดำเนินการแก้ไขตาม “โปรแกรมป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมิให้ก่อคดีอาชญากรรมรุนแรง” (ชาญ วชิรเดช, 2565) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ได้มีการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ

สำหรับการแก้ไขผู้ต้องขังในคดียาเสพติดรายย่อย คดีลักทรัพย์รายย่อย หรือคดีชิงทรัพย์ ที่กระทำผิดครั้งแรก ที่ผ่านการจำแนกแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะกระทำผิดซ้ำ ก็อาจนำเข้าสู่การอบรมตามโปรแกรมนี้ได้เช่นกัน

สรุป

อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในภาพรวมของประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นสถิติอัตราการกระทำผิดซ้ำในภาพรวม ซึ่งขึ้นอยู่กับสัดส่วนประชากรของระบบราชทัณฑ์ในประเทศนั้นนั้น ที่นำมาใช้ในการคำนวณ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพของระบบราชทัณฑ์ของประเทศหนึ่งประเทศใดได้ แต่สถิติการกระทำผิดซ้ำในภาพรวมนี้ มักถูกอ้างอิงนำไปใช้ในการประเมินผลสำเร็จของงานราชทัณฑ์ในส่วนย่อยอยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องของสัดส่วนประชากรที่จะต้องศึกษาเพื่อมิให้เกิดการตีความที่ผิดพลาดได้

การตีความที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการคัดเลือกคุณสมบัติของคนที่เข้าร่วมโครงการ โดยมุ่งผลสำเร็จของโครงการ ทำให้มีการทุ่มทรัพยากรลงไปใช้ในการอบรมแก้ไขกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงที่จะกระทำผิดซ้ำต่ำ แต่ละเลยที่จะอบรมแก้ไขผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำสูง เพราะโครงการอบรมแก้ไขมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จสูง จึงทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำในภาพรวมไม่ลดลง การดำเนินการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังเพื่อมิให้กระทำผิดซ้ำ จึงต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองกลุ่มผู้ต้องขังที่จะเข้าโครงการอบรมแก้ไขทั้ง กลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำต่ำ กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำปานกลาง และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำสูง โดยมีมาตรการในการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม

 

อ้างอิง

ชาญ วชิรเดช และคณะ (2022) “โปรแกรมการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมิให้ก่อคดี

อาชญากรรมรุนแรง” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, กรมราชทัณฑ์ (2022)

Stinchcomb, Jeanne  (2005)Corrections: Past, Present, And Future.

American Correctional Association. Versa Press, East Peoria, IL

 

หมายเลขบันทึก: 706997เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2022 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2022 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท