ชีวิตที่พอเพียง  4292. ป้องกันตนเองจากการถูกกล่าวหาว่าทุจริต


 

ข่าว มติ ปปช. กล่าวหาอดีตรองเลขาธิการ ปปช. ประหยัด พวงจำปา รวยผิดปกติ ๖๕๘ ล้าน   น่าจะสั่นสะเทือนระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการอย่างแรง    ว่ามีวิธีเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในสำนักงาน ปปช. อย่างไร    เพื่อช่วยกันทำความเข้าใจ root cause ของความเน่าหนอนใน ปปช.   

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ   ต้องติดตามต่อไป   ว่าผู้ถูกกล่าวหาทำผิดจริงหรือไม่ 

สถาบันคลังสมองของชาติ เผยแพร่เอกสาร เรียนรู้อย่างเข้าใจมาตรา ๑๕๗ กับการบริหารงานมหาวิทยาลัย     เพื่อช่วยให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ว่ากระทำการทุจริต โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์   คนหน่อมแน้มด้านกฎหมายอย่างผมอ่านไม่รู้เรื่อง   

จึงค้นว่า มาตรา ๑๕๗ คืออะไร   ระบุไว้อย่างไร    ได้ความว่า “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”      

ทำให้ระลึกย้อนกลับไป ๔๗ ปี ก่อน สมัยที่ผมทำหน้าที่รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ผมถามเจ้าหน้าที่บ่อยๆ ว่าหากผมสั่งการตามที่คุยกัน ผมจะติดตะรางไหม   โดยไม่เคยรู้เรื่องมาตรา ๑๕๗ นี้เลย    นอกจากนั้น ผมยังเชิญผู้รับเหมาก่อสร้างมาคุย    ว่าที่ผมดำเนินการปรับปรุงระบบการบริหารงานก่อสร้างนั้น    ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง    และที่สำคัญ ไม่ได้ต้องการสร้างความปั่นป่วนเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้รับเหมาเอา “ส่วย” มาให้ผม

ผมบอกผู้รับเหมาว่า สถานที่ท่านมาทำมาหากินอยู่นี้เป็นมหาวิทยาลัย   เป็นแหล่งผลิตบุคลากรระดับสูงของประเทศ   ซึ่งต้องไม่แค่มีความรู้ ต้องมีคุณธรรม โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ด้วย    เรื่องความซื่อสัตย์สอนกันไม่ได้    แต่ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างได้    ผมต้องการให้การบริหารงานก่อสร้างและการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นไปแบบซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา    เพื่อเป็นตัวอย่างแก่นักศึกษา และสังคมวงกว้าง   

ผู้รับเหมาหลายคนมองตาผมอย่างุนงง     เดาว่าเขาต้องการค้นหาว่า หมอหนุ่ม (อายุ ๓๓) คนนี้บ้าหรือเปล่า   หรือพูดแบบปากว่าตาขยิบ   ผมบอกเขาต่อว่า ผมจะบริหารงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการ และของผู้รับเหมา    จะเอื้อความสะดวกแก่ผู้รับเหมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเบิกจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว    จะไม่มีการโอ้เอ้เพื่อให้ผู้รับเหมาเอาสิ่งตอบแทนมาเป็นน้ำมันหล่อลื่น    หากโดนกลั่นแกล้งที่ขั้นตอนใดให้มาบอกผม ผมจะแก้ไขให้       

เข้าใจว่าตอนนั้น (พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๑) คงเป็นเรื่องเล่าลือกันในมหาวิทยาลัย    ในหาดใหญ่ และในวงการงบประมาณ   เพราะผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเดินทางมาในชุดไปรเวท มาคุยกับอธิการบดีว่าจะหาเงินเข้ามูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    เป็นสัญญาณทางอ้อมว่า ขออย่าเข้มงวดกับผู้รับเหมานัก   และเป็นสัญญาณให้ผมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี    เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกกล่าวหาว่าทุจริต   

สังหรณ์ของผมเป็นจริง   เพราะต่อมาท่านอธิการบดีก็โดนกล่าวหา และโดนลงโทษทางวินัย    แต่อุทธรณ์ได้ พ้นโทษ ในภายหลัง              

   “ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” เป็นทั้งเรื่องกฎหมาย    และเรื่องทางสังคม     เรื่องทางกฎหมาย เรียนรู้ได้จากเอกสาร เรียนรู้อย่างเข้าใจมาตรา ๑๕๗ กับการบริหารงานมหาวิทยาลัย     แต่ผมมองว่า ประเด็นทางจิตวิทยาสังคมและความสัมพันธ์สำคัญกว่า    ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีทักษะด้านนี้   คือต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ตนทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม    ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว        

 คำกล่าวในย่อหน้าบน เป็นคำของคนหน่อมแน้ม ไม่เข้าใจความซับซ้อนของระบบผลประโยชน์   ที่สามารถคบคิดกัน “ป้าย” โทษให้แก่ผู้อื่นได้    ดังที่ท่านอดีตอธิการบดีที่ผมรับใช้โดน   

หลักการของผมคือ ให้ทำงานด้วยความระมัดระวัง    ปรึกษาผู้รู้ด้านกฎหมาย    และที่สำคัญที่สุดคือให้ถือตามสุภาษิตโลกนิติ   “สุจริตคือเกราะบัง   ศาสตร์พ้อง”    โดยต้องตามด้วยวรรคต่อไป   “กุมสติต่างโล่ป้อง    อาจแกล้วกลางสนาม”    การรู้กฎหมาย และปฏิบัติตามกฎหมาย เป็น “สติ” อย่างหนึ่ง      

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 706314เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2022 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2022 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท