ชีวิตที่พอเพียง  4291. ประสบการณ์ชีวิตด้านใน ช่วงเสี่ยงติดและแพร่โควิด


 

ค่ำวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ผมออกไปร่วมประชุมปรึกษาหารือกิจการของ สอวช. (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ที่ห้องอาหารเรือนต้น โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์   ฝ่ายจัดประชุมบอกว่าต้องส่งผลตรวจ เอทีเค ล่วงหน้าหรือไปตรวจหน้างานก็ได้    เย็นวันนั้นผมก็ส่งภาพผลตรวจขีดเดียวไปให้   

รุ่งขึ้น สายวันที่ ๑๒ ก็ได้รับข่าวว่า มีผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งตรวจ เอทีเค ตอนเช้าได้ผลบวก    โดยที่ก่อนการประชุมตรวจได้ผลลบ   

วันที่ ๑๒ ทั้งวันผมเลี่ยงใกล้ชิดภรรยา   ตอนบ่ายจึงปรึกษาลูกสาวว่า ผมน่าจะกึ่งกักตัว     โดยแยกไปนอนในห้องนอนชั้นบน    ให้ลูกสาวมานอนเป็นเพื่อนแม่   ที่แม้ผมสวมหน้ากากอนามัยก็ไม่รู้สึกผิดสังเกต    ไม่ถามว่าทำไมจึงสวม    เพราะเธอเป็นโรคสมองเสื่อม     

ผมยังอาบน้ำแต่งตัวก่อนนอนให้เธอตามปกติ โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใกล้ชิดเธอ    สังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่สั่นไหว    เป็นห่วงว่าหากผมติด จะเอาโรคไปติดเธอด้วย     จะทำให้เธอเดือดร้อน    เพราะร่างกายของเธอไม่แข็งแรง อ้วนมาก    และขาดการออกกำลังกาย                

 การเปลี่ยนที่นอน กลับไปนอนที่เดิมที่นอนมา ๒๒ ปี ก่อนจะย้ายลงมานอนชั้นล่าง   (เพื่อให้ภรรยาปลอดภัยจากการตกบันได)   ไม่ให้ความรู้สึกแปลกที่แต่อย่างใด   

เช้าวันที่ ๑๓ ผมส่งข่าวการเป็นบุคคลเสี่ยงติดโควิดไปยัง ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว    ที่เชิญผมไปรับประทานอาหารเที่ยงวันที่ ๑๗ ร่วมกับ Dr. Barbara Stoll, President, CMB (China Medical Board) กับสามีคือ Dr. Roger Glass, Director, Forgarty International Center & Associate Director for Global Health, NIH ที่ผมรู้จักคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน   เพื่อปรึกษาว่าผมควรงดไปร่วมหรือไม่   ได้รับคำตอบว่า เช้าวันนั้นให้ตรวจ เอทีเค หากได้ผลลบก็ไปได้   

พร้อมกันนั้น ก็เข้า อินเทอร์เน็ต ค้นเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อพบว่าไปใกล้ชิดกับคนติดเชื้อโควิด    และค้นเรื่องยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรคโควิด   

วันที่ ๑๓ – ๑๗ กรกฎาคม เป็นช่วงวันหยุดยาวจากวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา บวกกับที่รัฐบาลให้หยุดเพิ่มเพื่อให้ยาว ๕ วัน   ให้คนไปเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ   งานของผม (ประชุม ออนไลน์) จึงลดลงมาก แต่ก็ไม่หมด    ยังมีประชุมวันที่ ๑๕ ทั้งวัน และ ๑๖ ครึ่งวัน   แต่ก็ให้โอกาสผมทำการบ้านอ่านต้นฉบับหนังสือและเขียนคำนิยม   

ผมเลือกหนังสือ ความรัก การแพทย์ และปาฏิหาริย์ ที่แปลจาก Love, Medicine and Miracles :  Lessons Learned about Self-Healing from a Surgeon's Experience with Exceptional Patients (1986)    เขียนโดยศัลยแพทย์ Bernie S. Siegel    อ่านแล้วเห็นคุณค่าของจิตวิทยาเชิงบวก  และเตือนสติให้ผมใช้จิตวิทยาเชิงบวกต่อการเผชิญความเสี่ยงติดโควิดครั้งนี้    โดยตระหนักว่า หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นพลังของจิตวิทยาเชิงบวกในการช่วยการเยียวยาโรคร้ายที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย    แต่ผมและภรรยา กำลังเผชิญการติดโรคติดต่อไม่ร้ายแรงเท่านั้น 

ตอนไปกินอาหารเที่ยงและประชุมหารือความร่วมมือกับ CMB ผมได้รับคำแนะนำว่าให้เลิกกักตัวเอง      

 สรุปว่า ยังไม่ติดครับ

วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 706246เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2022 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2022 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท