เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.นาปะขอ


ที่นี่ผมไม่ค่อยได้เจอ จนท.เลยในแต่ละวัน ไปไหนกันก็ไม่ทราบ เงียบเหงา ชาวบ้านก็เฉย ๆ กับ สอ.

     ขอเล่าต่อจาก เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง ก็มาเป็น สอ.ต.นาปะขอ ตอนนั้น เมื่อส่งเรื่องย้าย ครั้งที่ 3 และทางกำนันตำบลหนองธง (กำนันเบบ) ไม่ได้ยับยั้ง ก่อนหน้า 2 ครั้ง ไม่ได้บอกท่านก่อน เมื่อสาธารณสุขอำเภอป่าบอน (พี่ไพบูลย์) เจอกำนันก็บอกกำนัน ท่านเลยขอเรื่องกลับหมด (อ้างว่าชาวบ้านไม่ให้ย้าย) เมื่อผมทราบเรื่องจึงได้ไปชี้แจงต่อท่านถึงความจำเป็น ก็ผ่านครับ ท่านเข้าใจ ท่านเข้าใจผิดว่าน้องชายเรียนจบกลับมาอยู่กับพ่อแล้ว แต่ตอนนั้นน้องเพิ่งสอบบรรจุเป็นอาจารย์สอนที่ จว.ตรัง ซึ่งย้ายยากกว่าผมอีก

     ในระหว่างที่รอผลการพิจารณาอยู่นั้น ผมก็ลาบวช 1 พรรษา ก็ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโตนด (ตามที่เคยบันทึกถึงแล้ว) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ ในระหว่างที่บวชอยู่ทั้งหมด 118 วัน กุฏิผมเป็นที่ชุมนุมของนักประวัติศาตร์ โบราณคดี และตำนานเรื่องเล่าต่าง ๆ มีทั้ง ญาติ ๆ วัยรุ่น คนเฒ่าคนแก่ พระบวชใหม่ อีก 4 รูป ที่นี่ผมให้เอาเงินเดือนระหว่างบวช (4,750 บาท/เดือน) มาทำบุญที่วัดให้หมดในต่ละเดือน เช่นซื้อยาให้คนป่วยที่มาหาที่วัด บูรณะวัดตามที่ตาหลวงขาดเหลือ ค่ากาแฟ + น้ำตาล นี่เยอะมาก นี่ขนาด ๆ เพื่อน ๆ นำมาถวายไว้เยอะแล้ว ก็ยังไม่พอ และค่าหนังสือพิมพ์มติชนรายเดือน (ที่นี่เขาอ่านไทยรัฐ แต่ผมอ่านมติชน) ตอนที่บวชอยู่ผมมี 2 เรื่องที่ประทับใจมากที่สุด คือ

          1. การเทศน์แทนตาหลวงในวันแม่ วันที่ 12 สิงหาคม ขณะเทศน์อยู่ผมนั่งบนธรรมมาศ ที่หันหน้าไปทางที่บัว (เจดีย์ใส่กระดูก) ของแม่ พอดี (โยมเขาจัดไว้ ไม่ได้ตั้งใจ) ก็ยังนึกเลยว่าเป็นการพูดกับแม่เพื่อไม่ให้ประหม่า การเทศน์ครั้งนั้นทำให้โยมที่มาฟังร้องให้ สะอื้นกันเป็นระยะ ๆ หลายคน บรรยากาศเงียบหมด นิ่งกันไปหมด มีแต่ผมเทศน์ส่งเสียงอยู่คนเดียว ผมลงจากธรรมมาศแล้ว โยมก็ทยอยกันกลับโดยไม่มีใครพูดกับใคร แต่ไม่มีใครสนใจอะไรตอนนั้น ตอนเช้ามีคนมาทำบุญที่วัด เป็นคนที่ไม่ได้มาเมื่อคืน ก็ถามและพูดว่าเมื่อคืนเสียงเทศน์ดังไปถึงบ้าน เงียบฟังกันหมด และอีกหลาย ๆ ปาก ที่พูดกับตาหลวง จนตาหลวงบอกว่าถ้าจะบวชต่อก็ไปรอดนะ ผมรีบตอบว่าไม่ละครับ! ด้วยใจเริ่มคิดถึงที่ทำงานบ้างแล้ว จริง ๆ แล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเลยว่าเกิดอะไรขึ้น มานึกเอาตอนหลัง ๆ มากกว่า หัวข้อธรรมวันนั้นที่เทศน์คือ “น้ำใจแม่” ซึ่งผมได้สอดแทรกความเจ็บปวดของแม่ตอนคลอด และรอยยิ้มแรกที่ได้กอดลูกหลังจากตัดสายสะดือให้แล้ว โดยการนำประสบการณ์ที่เห็นผู้เป็นแม่คลอด เมื่อได้การออกไปทำคลอดร่วมกับหมอตำแยที่ สอ.ต.หนองธง ซึ่งมีหลายรายมาก เพราะคนหนองธงไม่นิยมไปคลอดที่ รพ.ป่าบอน หลังจากนั้นผมก็ได้รับมอบหมายให้เทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา

          2. ผมเป็นพระบวชใหม่ (นวกะ) เพียง 3 รูป จากทั้งหมด เกือบ 100 กว่ารูป ของจังหวัดพัทลุง ที่สอบ “นวกะ” ผ่าน เป็นการสอบที่ยาก เหมือนพระเรียนนักธรรม ประมาณนั้น แต่ข้าราชการที่ลาบวชจะอยู่สอบไม่ได้ต้องสึกออกมาก่อน เขาจึงจัดให้พระทุกรูปได้สอบ “นวกะ” พระที่รอสอบนักธรรมก็เหมือนได้สอบซ้อมไปในตัวด้วย เมื่อมีการประกาศผลสอบ ตาหลวงเลยจัดการ “หลอง” เหมือนฉลองกันทางฆราวาส แต่เป็นการสวดมนต์ให้พร และทำบุญเลี้ยงพระกันในหมู่สงฆ์ และฆราวาสที่มาร่วมทำบุญครับ ที่ประทับใจเพราะรู้สึกได้ถึงความสุขของตาหลวงมากกว่า การที่ผมสอบผ่าน และที่ผมสอบได้ก็เพราะอาจารย์ และตาหลวงนั่นแหละคอยอบรมสั่งสอน

     เล่าเรื่องการบวชเสียยาว ในระหว่างที่บวชอยู่เรื่องการย้ายของผมก็ผ่านการพิจารณา ตกลงเมื่อสึกผมก็ไปอยู่ที่ สอ.ต.นาปะขอ ในตำแหน่ง เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ระดับ 3 ประจำสถานีอนามัยตำบลนาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ซึ่งก็ไม่ไกลจากวัดที่บวชมากนัก ที่นี่ผมไม่ค่อยได้เจอ จนท.เลยในแต่ละวัน ไปไหนกันก็ไม่ทราบ เงียบเหงา ชาวบ้านก็เฉย ๆ กับ สอ. (จริง ๆ เป็นญาติ ๆ ฝ่ายพ่อที่อยู่ใกล้ ๆ สอ.) ผมเหมือนมาจากน้ำร้อน และอยู่ ๆ ก็โดนน้ำเย็น สภาพ สอ.ก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะให้บริการชาวบ้านเลย ทั้ง ๆ ที่ใหม่กว่า สอ.ต.หนองธง ผมเริ่มไปชักชวนชาวหมู่บ้านที่ห่างออกไปแต่เป็นเขตรับผิดชอบ โดยเริ่มจากคนที่รู้จักในวัดตอนที่บวช ก็ได้มาช่วยกันพัฒนา แต่เจ้าถิ่นไม่ค่อยให้ความร่วมมือ จนท.อีกก็เหมือน ๆ จะไม่เล่นด้วย

     จนมาถึงเหตุการณ์ที่มีการร้องเรียนท่านสาธารณสุขอำเภอ โดยมีการนัดเดินขบวนไปพบ นพ.สสจ. วันนั้นเป็นวันที่ผมไปทำสัญญากู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่หมายมั่นปั้นมือพอดี (DX4-100 ram 8 M  จอสี + UPS ประมาณ 45,000 บาท สมัยนั้น) โดยผมไม่รู้เรื่องเลย เพราะไม่สนิทกับ จนท.คนไหนที ตอนไปก็ขออนุญาตไปเรียบร้อย แต่ไหงตกกระไดพลอยโจน ตอนท้ายก็ถูกเรียกไปเคลียร์ ยิ่งปฏิเสธ ก็ยิ่งเหมือนถูกยัดเยียดว่าใช่ ร่วมกับเขาด้วย เมื่อ นพ.สสจ.มาเคลียร์เรื่องให้จนจบ และผมกับหัวหน้า สอ. สาธารณสุขอำเภอ และจนท.บางคน ไม่พูดกัน 3 ปีกว่า เกือบ 4 ปี ไม่มีธุระกันก็ไม่คุยกัน หากเป็นเรื่องานก็คุยบ้างเล็กน้อย เพราะเมื่อความจริงปรากฏ หลายท่านคงเสียใจ และไม่มีใครนึกที่จะเริ่มต้น

     ในระหว่างที่อึมครึมอยู่นั้น ผมเริ่มมีชื่อเสียงในการรักษาคนไข้ (เพราะมักจะอยู่ สอ.ตลอด เขาไม่ออกคำสั่งให้ไปช่วยพื้นที่อื่น ๆ ที่ไหนเลย) และในระหว่างนั้นที่ต้องอยู่โยง สอ. ก็ซุ่มฝึกวิทยายุทธ์เกี่ยวกับการบริหาร การจัดการคุณภาพบริการ อีกหลาย ๆ เรื่อง ทั้งจากตำรา จากคนเฒ่าคนแก่ ชมรมผู้สูงอายุ และการได้พูดคุยกับข้าราชการบำนาญ นี่แหละเป็นขุมความรู้ผม ช่วงนี้ผมมีงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาคุณภาพบริการในชุมชนของสถานีอนามัยในตำบลนาปะขอ" เมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นเรื่องแรกของชีวิต และเผอิญจังหวะดี จังหวัดไม่มีงานวิจัยหรือโครงการเด่นไปเข้าร่วมประชันที่ จว.สตูล เนื่องในการประชุมวิชาการประจำปี “ทศวรรษพัฒนาสถานีอนามัย” ถึงได้ (แอบ) มาหาถึงที่ โดยไม่ผ่านสาธารณสุขอำเภอ และให้ผมเตรียมไปนำเสนอ ผมก็ดีใจสิครับ ตกปากรับคำ และไปนำเสนอผลงานตามนัดหมาย ได้รองชนะเลิศมากครับ แถมด้วยคำชี้แนะเรื่องการนำเสนอผลงานที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะเขาให้เวลา 15 นาที ผมนำเสนอทั้งหมด 45 นาที ขนาดกรรมการตาเขียวใส่กันเอง ด้วยคนนึงกดอ๊อดหมดเวลาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ท่านประธานกรรมการโบกมือว่าให้ผมนำเสนอไปจนจบ ผมเลือกทำตามท่านประธานเพราะกำลังมันอยู่เชียว นั่นแหละถึงได้ตาเขียวใส่กัน สำหรับผมเวทีนี้ผมได้ประสบการณ์เพื่อนำมาปรับปรุงตัวเอง จนลืมรางวัลที่ได้รับไปเลย น้อยกว่ามาก

     ถัดมาจากการกลับจากนำเสนอผลงานครั้งนั้น ประมาณ 1 เดือน ท่านสาธารณสุขอำเภอคนเดิมก็ไปรับผมที่ สอ.เพื่อเคลียร์ใจกัน 2 ต่อ 2 ครับ แล้วให้ผมไปช่วยงานที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพราะไม่มีนักวิชาการที่สำนักงาน ผมขอผัดท่านไว้ 6 เดือน โดยให้เหตุผลง่าย ๆ ว่าขอดูใจกันก่อน ถัดมาอีกประมาณ 1 เดือน ผมก็ไปสอบนักวิชาการสาธารณสุขได้ เมื่อครบกำหนดที่ผัดไว้ก็ได้เดินทางไปช่วยราชการที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางแก้ว พร้อม ๆ กับการตัดโอนตำแหน่งมาเป็น นักวิชาการสาธารณสุข ระดับ 4 ประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางแก้ว จ.พัทลุง

     ที่ สอ.ต.นาปะขอ สิ่งที่ได้ทำไว้ และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มผู้สูงอายุเอง คือ ชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งเราเริ่มกันกับพ่อหลวงทุ่ม ผู้อาวุโสที่ชุมชนแถบนั้นรู้จักหมด (ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเขาชัยสน) อายุท่านตอนนั้น 70 ปี แล้ว เราเริ่มต้นโดยการเดินสายพบปะกลุ่มผู้สูงอายุหลังผมเลิกงาน (ไม่งั้นไม่มีคนอยู่ สอ.) จนก่อตั้งขึ้นได้ ตั้งแต่สมัยที่หน่วยเหนือไม่ได้สั่งการ สมาชิกตอนนั้น 80 กว่าคน และทุกคนก็เป็นสมาชิกกองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งลูกหลานจะเป็นคนแย่งกันจ่ายให้ เพียงปีละ 100 บาท และเพิ่มค่าทำศพอีก ศพละ 10 บาท เก็บปีละครั้ง แจ้งล่วงหน้า 2 เดือน ที่ลูกหลานได้แย่งกันจ่ายให้เพราะพ่อหลวงทุ่มบอกว่า "ทดแทนบุญคุณกันบ้าง ปีละไม่เกิน 200 บาท" พ่อหลวงมักจะพูดเจ็บ ๆ แต่ไม่มีใครโกรธ เพราะท่านเป็นคนที่สังคมให้การยอมรับ ท่านมีเครดิสทางสังคมสูงมาก

     เมื่อเขาพยายามที่จะไม่ให้ผมออกข้างนอก (พื้นที่) กัน ตามความคิดผม คนอยู่ไม่นิ่งอย่างผมก็เลยหาเรื่องทำข้างใน ก็ได้เรื่อง หรือแม้แต่การตั้งกองทุนสวัสดิการ อสม. ก็กำลังไปได้สวย เสียดายเมื่อผมออกมาแล้ว มีการลาออกของ อสม.เกินกว่าครึ่ง และรับคนใหม่แทน กองทุนนี้ก็ไม่มีใครสานต่อ เป็นอันล้ม ครับชีวิตการทำงานมีทั้งได้ผล และไม่ได้ผลบ้าง (ล้ม) แต่ทั้งหมดล้วนเป็นตำราเล่มใหญ่ ที่เปิดอ่านไม่จบ ยิ่งได้เอามาพลิกแพลงด้วยแล้ว จะยิ่งเกิดสิ่งใหม่ได้มากมาย

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 7061เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท