ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด : ง่าย-งามในนิยามของชาวนิติศาสตร์ มมส.


กิจกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งนิสิตและชาวบ้านในชุมชนเทศบาลขามเรียง-เทศบาลท่าขอนยาง ที่ประสบภัยโควิด-19 ย่อมได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งทางจิตใจและการอุปโภคบริโภคไปในตัว  ถึงจะไม่มากมายนัก แต่นั่นคือการบรรเทาทุกข์บำรุงสุข เพื่อให้แต่ละคนมีแรงกายและแรงใจในการสู้ต่อ ถึงแม้จะเป็นการสู้ต่อในชนิด “วันต่อวัน” ก็เถอะ

โครงการ “ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด” ที่ดำเนินการโดย สโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์ ปีการศึกษา  2564 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมมองว่า  “ง่าย-งาม” เพราะเป็นการขับเคลื่อนเรื่องจิตอาสาที่ไม่ได้พะรุงพะรังกับระบบขั้นตอนอะไรให้มากความ เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของประชากรในคณะ และเป็นการทำงานในแบบ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ขนานแท้

 

 

เป็นที่รู้กันดีว่าปีการศึกษา 2564 เป็นอีกปีที่กิจกรรมนอกหลักสูตรดูจะเงียบเหงาเป็นพิเศษ  เพราะจะขยับอะไรก็ลำบาก เนื่องจากพะว้าพะวงอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนที่พอจะทำได้ก็เป็นกิจกรรมในลักษณะ “ออนไลน์” เสียมากกว่า แม้จะมีบางกิจกรรมที่จัดในแบบ “ออนไซด์” ได้  แต่ก็ถูกมัดแน่นด้วยจำนวนคนและรูปแบบตามมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” 

 

และนั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรมในมิติของการออกไปสู่ชุมชนในแบบเรียนรู้คู่บริการก็ชะงักงัน และออกอาการประหนึ่งเลื่อนลอย-ไร้ฝั่ง

 



ถึงแม้องค์กรนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคามหลายองค์กร จะชะลอการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน แต่สำหรับสโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์ กลับมองในมุมตรงกันข้าม ฉกฉวยเอาวิกฤตมาแปรเป็นโอกาส บนฐานคิดของการจัดกิจกรรมจิตอาสาอันง่าย-งาม ภายใต้ชื่อ “ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด”

ผมเรียกกิจกรรมนี้ในลักษณะ “ง่าย-งาม” เพราะจัดขึ้นง่ายๆ ไม่พะรุงพะรังกับระบบหลักการ -โครงสร้างให้เสียเวลา กล่าวคือ  แกนนำนิสิตตัดสินใจหารือเจ้าหน้าที่และผู้บริหารภายในคณะเรื่องการ “แจกจ่ายข้าวของช่วยผู้ประสบภัย” ในลักษณะของ “ตู้ปันสุขเคลื่อนที่”

 

การหารือที่ว่านั้นเป็นไปอย่างเรียบง่ายและกระชับ นำมาซึ่งบทสรุปสั้นๆ คือ ระดมทุนภายในคณะเท่าที่พึงกระทำได้ แล้วนำงบประมาณดังกล่าวไปจัดซื้อวัตถุดิบต่างๆ มาประกอบเป็นอาหารส่งมอบให้กับ “นิสิต” และ “ชาวบ้าน” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564  โดยปักหมุดฐานที่มั่นอยู่บริเวณสวนสุขภาพหน้ามหาวิทยาลัยฯ

 

หรือที่ชาว “มมส.” เรียกในแบบกันเองว่า “สวนสัตว์” 

 





ความง่ายที่ว่านั้น  ไม่ใช่ความมักง่าย ผมยืนยันว่าเป็นความง่ายที่งดงาม  เพราะคิดและทำบนฐานใจล้วนๆ  เป็นการคิดและทำบนบริบทของตนเอง ประหนึ่งการทำงานบนหน้าตัก หรือทำงานในระยะสุดสายตาของตนเอง เป็นการทำงานบนต้นทุนของตนเองและเป็นการทำงานที่แข่งกับเวลา

 

ในความง่ายที่ว่านั้น ผมเห็นความร่วมมือร่วมใจของนิสิตกับนิสิต หรือกระทั่งนิสิตกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของคณะอย่างเด่นชัด เป็นการทำงานในแบบไร้ศักดินา ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารลงมาฝังตัวทำงานกับนิสิต ถึงขั้นเข้าครัวเป็นผู้ประกอบอาหารด้วยตนเองเลยทีเดียว

 

ส่วนกรณีคำว่า “งาม” นั้น  คงไม่ต้องอธิบายใดๆ อีกก็ได้ เพราะกิจกรรมที่ว่าด้วยการ “ให้” ย่อมงดงามและมีคุณค่าในตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัย  ความงามของกิจกรรมนี้ ฉายถึงความคิดและการกระทำของนิสิตและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ลุกขึ้นมาโอบกอดสังคมร่วมกัน โดยไม่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องเผชิญชะตากรรมอย่างลำพัง

แม้จะเป็นการงานเล็กๆ ในระยะสั้นๆ แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า เป็นกิจกรรมที่ “งดงาม” – หรือ “ง่ายงาม”

 


เมื่อมานั่งถกคิดกึ่งถอดบทเรียนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง  จึงไม่แปลกที่โครงการนี้ถูกขับเคลื่อนจากฐานคิดหลักในเชิงทฤษฎีอันเป็นกรอบแนวคิดการเรียนรู้ว่าด้วยกิจกรรมนอกหลักสูตร คือ   

 

  • อัตลักษณ์นิสิต “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”
     
  • ค่านิยมการเป็นนิสิต MSU FOR ALL : นิสิตพึ่งได้
     
  • หรือแม้แต่การทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับทางคณะ

 

และกรอบแนวคิดทั้งปวงนั้นก็คือ เรื่องจิตอาสา – จิตสาธารณะ หรือการบ่มเพาะความเป็นพลเมืองของสังคมดีๆ นั่นเอง




ด้วยวิธีคิดเช่นนั้น ผนวกกับสถานการณ์ของสังคม กิจกรรมจึงถูกออกแบบในมิติ “ง่ายงาม” และ “ไม่ซับซ้อนซ่อนปม” นั่นคือ แจกข้าวห่อไก่ทอด-หมูทอดต่อนิสิตและประชาชน จำนวน 400-500 ชุด รวมถึงส่งมอบสิ่งของอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม นมกล่อง มาม่า ขนมกล้วยไข่

 

ผมเชื่อเหลือเกินว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งนิสิตและชาวบ้านในชุมชนเทศบาลขามเรียง-เทศบาลท่าขอนยาง ที่ประสบภัยโควิด-19 ย่อมได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งทางจิตใจและการอุปโภคบริโภคไปในตัว  ถึงจะไม่มากมายนัก แต่นั่นคือการบรรเทาทุกข์บำรุงสุข เพื่อให้แต่ละคนมีแรงกายและแรงใจในการสู้ต่อ ถึงแม้จะเป็นการสู้ต่อในชนิด “วันต่อวัน” ก็เถอะ

 

 

ส่วนแกนนำนิสิตที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้แบบไม่ลังเลนั้น  ผมก็เชื่อว่า พวกเขาทั้งหลายย่อมได้เรียนรู้เรื่องภาวะความเป็นผู้นำผ่านการลงมือทำจริงร่วมกันอย่างเป็นทีม โดยใช้สถานการณ์โควิด-19 เป็นโจทย์การเรียนรู้ 

ตลอดจนการได้เรียนรู้แนวคิดการเป็นผู้ให้ที่สัมพันธ์กับค่านิยมการเป็นนิสิต (MSU FOR ALL : นิสิตพึ่งได้) อัตลักษณ์การเป็นนิสิต (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ไปโดยปริยายด้วยเหมือนกัน

 

และถึงแม้ว่า ในช่วงของการดำเนินการจะมีฝนตกบ้างในบางช่วง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาหลักที่จะทำให้กิจกรรมอันง่ายงามนี้ปิดตัวลง  ทุกอย่างยังคงเดินหน้าและไปถึงซึ่งจุดหมายที่ปักธงไว้

 



ในทำนองเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งความสำเร็จ (ปัจจัยความสำเร็จ) ของกิจกรรม จึงร้อยรัดอยู่กับประเด็นเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ

  • ความร่วมมืออันเป็นหนึ่งเดียวของคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์
     
  • พลังจิตอาสาของแกนนำนิสิตที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เช่น งบประมาณ การแพร่ระบาดของโควิด-19 
     
  • ทักษะการทำงานแข่งกับเวลาของแกนนำนิสิต 
     
  • ทักษะการทำงานบนสถานการณ์จริง ทั้งภายในองค์กรและชุมชน รวมถึงการปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นตามข้อเท็จจริง 

 

และเท่าที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  สิ่งที่ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันก็คือ  เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ควรจัดกิจกรรมในลักษณะของจิตอาสาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ  โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดแต่เฉพาะเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้นิสิตได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมและมีทักษะในการดำเนินงานด้านจิตอาสา  หรืออาสาสมัครเพื่อสังคม 

รวมถึงการจัดกิจกรรมลงสู่ชุมชน เพื่อให้ได้เรียนรู้สถานการณ์จริงในชุมชน

 

นี่คือกิจกรรมอันง่ายงามอีกกิจกรรมที่ผมอดที่จะนำมาบอกเล่าไม่ได้




เรื่อง : พนัส  ปรีวาสนา
ภาพ : สโมสรนิสิตคณะนิสิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 706073เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2022 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2022 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท