กู้ภัยราชพฤกษ์อาสาพัฒนาโรงเรียน


มองในมิติของโรงเรียนและชุมชน ก็พอจะมองออกว่า ผลของการขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนี้ โรงเรียนและชุมชนมีห้องพยาบาลไว้ใช้บริการอย่างไม่ต้องสงสัย - เป็นการใช้บริการในแบบฉุกเฉิน หรือจำเป็นจริงๆ มิใช่สร้างขึ้นมา เพราะอยากให้ใครๆ ล้มป่วยแล้วทะลักไหลเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นว่าเล่น

ผลพวงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019  ส่งผลให้ในปีการศึกษา 2564 เป็นปีที่กิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามดูจะซบเซาไม่แพ้ปีการศึกษาที่ผ่านมา แต่ก็ยังพบว่ามีองค์กรนิสิตจำนวนหนึ่ง ถึงจะไม่มากนักยังคงมุ่งมั่นที่จะออกไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่  (กิจกรรมนอกหลักสูตร)  เพื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง คู่ไปกับการช่วยเหลือสังคม  ตามกรอบ “เรียนรู้คู่บริการ”  

หนึ่งในองค์กรที่ว่านั้นก็คือ  ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์  โดยจัดโครงการ “กู้ภัยราชพฤกษ์อาสาพัฒนาโรงเรียน”  ขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงเรียนบ้านโคกลิ่น ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม  ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ประเด็น  คือ 

  • เพื่อให้นิสิตและผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ความเข้าใจด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น  
  • เพื่อให้นิสิตเรียนรู้กระบวนการทำงานด้านจิตอาสาผ่านการปรับปรุงและซ่อมแซมห้องพยาบาล  
  • เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับโรงเรียน และชุมชน

 



เหตุผลหลักๆ ที่นิสิตเลือกไปจัดกิจกรรม ณ ที่ตรงนี้ก็คือ  เป็นโรงเรียนขนาดเล็กและเคยสุ่มเสี่ยงจะถูกยุบ  จึงไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไปจัดกิจกรรมสักเท่าไหร่  กอปรกับเมื่อลงพื้นที่สำรวจค่ายแล้วพบว่า สิ่งที่โรงเรียนและชุมชนต้องการ (โจทย์) ก็คือการซ่อมแซมห้องปฐมพยาบาล  

และนั่นก็ตรงกับแนวทางการทำงานของชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์พอดี



 

กิจกรรมครั้งนี้  ไม่ได้จัดขึ้นเฉพาะแค่การปรับปรุงและซ่อมแซมห้องพยาบาลเท่านั้น  หากแต่บูรณาการกิจกรรมต่างๆ เข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า  

  • การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น” 
  • การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การช่วยชีวิตเบื้องต้น (CPR)” และ “การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” 
  • การมอบเวชภัณฑ์และกระเป๋ายา  
  • การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน  เช่น  ทาสีลานเสาธงชาติ
     

กรอบแนวคิด/ทฤษฎีการจัดกิจกรรม

โครงการนี้ ขับเคลื่อนภายใต้กรอบแนวคิด หรือทฤษฎีการจัดกิจกรรมที่สำคัญๆ เช่น  ระบบคุณภาพ PDCA  การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning)  การเรียนรู้เชิงรุก / การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) เพื่อก่อให้เกิดสมดุลระหว่างความรู้กับทักษะ  และขับเคลื่อนด้วยสไตล์บันเทิงเริงปัญญา  

หรือแม้แต่การยึดโยงอยู่กับนโยบายการพัฒนานิสิต ที่ว่าอัตลักษณ์นิสิต คือ “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”
 



จากกิจกรรมข้างต้นนั้น  เป็นที่น่าสังเกตว่า  กิจกรรมดังกล่าวยึดโยงอยู่กับแนวทางอันเป็นอัตลักษณ์ หรือตัวตนของชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์อย่างไม่ผิดเพี้ยน  เพราะปรากฏชัดว่ากิจกรรมทั้งหมด ล้วนถูกออกแบบในลักษณะของการบริการสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเอง ดังจะเห็นได้จากกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น-ช่วยชีวิตเบื้องต้น  และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  นอกจากโรงเรียนและชุมชนจะได้รับความรู้แล้ว  นิสิตที่เข้าร่วมโครงการก็ได้เรียนรู้ไปด้วย -

 

หรือจะเรียกว่านิสิตต่างเดินทางมาฝึกอบรมนอกสถานที่ก็ว่าได้ ….แถมยังเป็นการฝึกอบรมในแบบ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” หรือการเรียนรู้เชิงลึกที่เน้น “เรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม”  ยิ่งตอกย้ำให้เห็นมิติการเรียนรู้คู่บริการที่ฉายชัดถึงความรู้ที่คลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกับความสุข-ความสนุกสนาน  

ซึ่งผมมักเรียกกระบวนการ หรือแนวคิดนี้ว่า “บันเทิงเริงปัญญา”

 

  
ผลลัพธ์การเรียนรู้

มองในมิติของโรงเรียนและชุมชน ก็พอจะมองออกว่า  ผลของการขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนี้  โรงเรียนและชุมชนมีห้องพยาบาลไว้ใช้บริการอย่างไม่ต้องสงสัย  -  

แน่นอนครับ  เป็นการใช้บริการในแบบฉุกเฉิน หรือจำเป็นจริงๆ  มิใช่สร้างขึ้นมา เพราะอยากให้ใครๆ ล้มป่วยแล้วทะลักไหลเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นว่าเล่น ตรงกันข้ามคือสร้างขึ้นมาเพื่อ “ป้องกัน-สร้างภูมิต้านทาน"  หรือ "การตัดไฟแต่ต้นลม"  นั่นแหล่ะ 

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมองในมุมที่นิสิตได้รับจากกระบวนการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้  ก็มีหลายประเด็น  เป็นต้นว่า 

  • นิสิตได้เรียนรู้หลักการและแนวทางการทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นสถานการณ์ของสังคมและการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019   
     
  • นิสิตเกิดทักษะ (Soft skills) เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม การสื่อสารในองค์กร การสื่อสารกับชุมชน  
     
  • นิสิตที่ได้เรียนรู้หลักการทำงานด้านจิตอาสาตามอัตลักษณ์นิสิต (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ค่านิยมการเป็นนิสิต MSU FOR ALL 
     
  • นิสิตได้เรียนรู้แนวปฏิบัติเรื่องการบริหารโครงการ ทั้งการขออนุมัติโครงการ การดำเนินงาน การประเมินผล การบริหารงบและเบิกจ่ายงบประมาณ  
     
  • นิสิตมีความรู้และทักษะเบื้องต้นในการช่วยผู้ประสบภัย
     
  • ฯลฯ

 

 

ปัญหาและอุปสรรค

ทุกครั้งที่ลงมือทำ  ย่อมได้เรียนรู้ในหลักธรรมที่ว่า “ไม่เคยมีการงานใดที่ปราศจากปัญหาและอุปสรรค”  ซึ่งภายหลังการพูดร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง  ก็พบว่ากิจกรรมครั้งนี้  นิสิตได้ทำการสู้รบปรบมืออยู่หลายประเด็น  เป็นต้นว่า ….

     1.ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโร่น่า 2019  : จนต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมและนิสิตบางคนตรวจ ATK ไม่ผ่าน ทำผู้เข้าร่วมต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ต้องเข้มงวดตามมาตรการทางสังคม ทำให้เกิดความวิตกกังวลในระหว่างการจัดกิจกรรม

      2.ปัญหาแกนนำนิสิตและนิสิต :  ยกตัวอย่างเช่น  แกนนำนิสิตขาดความรู้ที่ชัดเจนเรื่องการบริหารโครงการและงบประมาณโครงการ  รวมถึงแกนนำนิสิตขาดประสบการณ์เชิงลึกเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดการเรียนรู้คู่บริการ 

      3.ปัญหาในระบบมหาวิทยาลัย  :  ผู้บริหารสั่งให้ชะลอการจัดกิจกรรม ขณะที่โรงเรียนได้เตรียมการรองรับทุกอย่างแล้วในราว 80% ซึ่งต้องมีการชี้แจงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษเรื่องมาตรการทางสังคม

      4.ปัญหาในระบบโรงเรียนและชุมชน : ไม่มีน้ำใช้ในวันเตรียมค่าย เพราะน้ำไม่ไหล ยังผลให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องเร่งประสานขอความช่วยเหลือจากเทศบาลฯ เป็นการเร่งด่วน 

           

 

ปัจจัยความสำเร็จ

ภายใต้ปัญหาและอุปสรรคข้างต้น  มองมุมกลับ พบว่าทุกอย่างถูกคลี่คลายและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งนิสิตได้สะท้อนถึงปัจจัยที่ช่วยให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์  นั่นคือ  

  • ความมุ่งมั่นตั้งใจของแกนนำนิสิตและสมาชิกค่ายที่ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคในทุกๆ เรื่อง  
     
  • รวมถึงการได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากโรงพยาบาลกันทรวิชัย (นายพงศ์เพชร พลลา ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ) ที่มาช่วยอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง  
     
  • และที่สำคัญมากๆ ก็คือ  การได้รับความร่วมมืออันดีจากผู้บริหารโรงเรียน คณะครู นักเรียน รวมถึงชุมชน
  • ฯลฯ

  

 




เขียน : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ : ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์
 

หมายเลขบันทึก: 706055เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2022 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2022 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท