ดุริยางค์รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม


ผมให้เครดิตวิธีคิดหลายประการ กล่าวคือ การใช้วิชาชีพมาสู่การรับใช้สังคม เสมือนการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมนั่นเอง  รวมถึงภาพลักษณ์ของการมีเครือข่ายของทางคณะที่สามารถเชื่อมโยงบรรดาศิลปิน ทั้งที่เป็นนิสิต ศิษย์เก่า และศิลปินอีสานท่านอื่นๆ มาร่วมด้วยช่วยกันอย่างไร้เงื่อนไข

ยอมรับว่าตอนแรกที่รับรู้เรื่องโครงการ “ดุริยางค์รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม” ของสโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ผมเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมธรรมดาๆ ที่หมายถึงเล่นดนตรีระดมทุน แล้วนำไปซื้อของเพื่อบริจาคให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม

 

ครั้นพอมานั่ง “โสเหล่” กับนิสิตที่เป็นแกนนำผู้รับผิดชอบโครงการ (นายศราวุฒิ พิกุลศรี)  และรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (ผศ.เฉลิมพล โลหะมาตย์) ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ กลับมีประเด็นน่าสนใจและอดที่จะนำมาบันทึกไว้ไม่ได้ 

 

 

ปีการศึกษา 2564  โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2564 ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่เพียงเผชิญหน้ากับภาวะอุทกภัยอันแสนสาหัส แต่ยังต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยเฉพาะประเด็นหลังนั้น ส่งผลให้กิจกรรมหลายๆ โครงการของนิสิตต้องหยุดชะงัก ตามนโยบาย “ระยะห่างทางสังคม” 

 

ด้วยเหตุดังกล่าว หลายๆ กิจกรรม จึงมีสถานะไม่ต่างจากเรือที่ถูกจองจำไว้กับฝั่ง  โดยไม่รู้เลยว่าจะได้ออกแล่นลิ่วในเวิ้งน้ำตอนไหน  

 

ครั้นพอไม่ได้จัดกิจกรรม  นิสิต หรือผู้นำองค์กรนิสิต ก็ขาดโอกาสในการที่จะเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมไปโดยปริยาย

 

 

 

แต่สำหรับสโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์กลับไม่คิดเช่นนั้น  พวกเขาไม่ยอมจำนนต่ออุทกภัยและโควิด พวกเขาลุกขึ้นมาขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างไม่ย่อท้อ เพียงเพราะไม่อยากทนดูดายความเดือดร้อนของชาวบ้านได้  ซึ่งก็สอดคล้องกับอัตลักาณ์นิสิตที่ปักธงไว้ว่า “นิสิตกับการช่วยหรือสังคมและชุมชน” หรือแม้แต่ค่านิยมนิสิตที่ว่า  MSU FOR ALLL (นิสิต มมส พึ่งได้) 

หรือแม้แต่วาทกรรมที่ผมพูดไว้เมื่อสิบปีก่อนว่า “น้ำท่วมชาวบ้านจะให้ผมสุขสำราญได้อย่างไร”

ศราวุฒิ พิกุลศรี ในฐานะแกนนำกิจกรรมดังกล่าว  ลุกมาชูวาทกรรมจิตอาสาเด่นหราอย่างหนักแน่น คือ “ให้ดุริยางค์เป็นสื่อกลางและสะพานน้ำใจ”  อันหมายถึงการอุทิศตนเป็น “สะพานบุญ”  เพื่อการช่วยเหลือสังคมและชุมชน โดยใช้วิชาชีพในคณะ นั่นคือ “ดนตรี”  หรือ “การแสดงดนตรี” เป็นเครื่องนำพา

 


 

ไลฟ์สด : รวมพลังศิลปินสู่การเป็นสะพานน้ำใจ (สะพานบุญ)

 

สโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์  ร่วมกับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ของคณะ  ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมแสดงดนตรีโดยการไลฟ์สดผ่านเว็บเพจขององค์กร เพื่อระดมทุนไปช่วยชุมชน โดยไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะนิสิต หรือศิษย์เก่า หากแต่หมายรวมถึงศิลปินอีสานท่านอื่นๆ เช่น  วัชระ เสียงดาดฟ้า หมอลำธนา ฟ้าขาด หมอลำทองแปนน้อย ดาวคะนอง หมอลำบัวผัน ดาวคะนอง หมอลำสงวน ดาวคะนอง หมอลำลำดวน ดาวดวงใหม่

 

สิ่งนี้ ผมให้เครดิตวิธีคิดหลายประการ เช่น  การใช้วิชาชีพมาสู่การรับใช้สังคม เสมือนการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมนั่นเอง  รวมถึงภาพลักษณ์ของการมีเครือข่ายของทางคณะที่สามารถเชื่อมโยงบรรดาศิลปิน ทั้งที่เป็นนิสิต ศิษย์เก่า และศิลปินอีสานท่านอื่นๆ มาร่วมด้วยช่วยกันอย่างไร้เงื่อนไข

หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยี (สังตมออนไลน์)  อย่างสร้างสรรค์ ทั้งในเชิงคุณค่า และมูลค่า

 

 

  • นี่คือความงามในทางวิชาชีพตามหลัก “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม”  
  • นี่คือความงามของการลับคมทางวิชาชีพ เพื่อก่อให้เกิดความชำนาญทางความรู้และทักษะ  โดยใช้สถานการณ์ หรือกระแสหลักของสังคมเป็นโจทย์การเรียนรู้  
  • นี่คือความงามในทางโครงสร้างเครือข่ายในวิถี “ใจนำพาศรัทธานำทาง”  ที่ต้องยอมรับว่าเป็นเครดิตของนิสิตและทางคณะอย่างไม่ต้องสงสัย
  • นี่คือความงามในมิติของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ  และเป็นการลงมือทำแบบมีส่วนร่วม  มิใช่ลงมือทำแบบคนเดียว หรือศิลปินเดี่ยว
  • ฯลฯ 

 

ทั้งนี้งบประมาณที่ได้ แกนนำนิสิตและผู้บริหารคณะ นำเงินจำนวนดังกล่าวไปจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อเตรียมส่งมอบต่อชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านระบบและกลไกของผู้นำนิสิตเป็นหัวใจหลัก  เรียกได้ว่า สะพานน้ำใจที่เกิดขึ้นนั้น คือสะพานน้ำใจในรูปของเครือข่ายของศิลปิน หรือจะมองว่าเป็น “ศิลปะเพื่อชีวิต” ก็ไม่ผิด

และการที่นิสิตสามารถบริหารจัดการอะไรๆ ด้วยตนเอง  ผมมองว่า สิ่งนั้นก็คือกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ผู้เรียน (นิสิต) เป็นศูนย์กลางด้วยเช่นกัน

 

 

ลงชุมชน : เดินตามรอยเท้าพ่อ (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา)

 

ความน่าสนใจในประเด็นถัดมาก็คือรูปแบบการเป็น “สะพานน้ำใจ” หรือ “สะพานบุญ” ที่เน้นการ “ลงพื้นที่จริง” ของนิสิต กล่าวคือ แกนนำนิสิตฝ่าสายน้ำเข้าไปยังชุมขนต่างๆ ด้วยตนเอง  เพื่อไปเก็บข้อมูลในสถานที่จริง เสมือน “ไปให้รู้ ไปดูให้เห็นกับตา”  มิใช่ “นั่งจินตนาการอยู่บนหอคอย”

 

นิสิตลงชุมชนด้วยตนเอง เพื่อสำรวจความต้องการและสถานการณ์จริงของชาวบ้านว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นการลงไปสัมผัสจริง  เพื่อนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ประหนึ่งการพยายามที่จะ “เกาให้ถูกที่คัน” 

 

กระบวนการเช่นนี้จึงอาจหมายถึงเครื่องมือของการลงสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การสังเกต  การสอบถาม  การสำรวจ  ฯลฯ 

 


 

ด้วยเหตุดังกล่าว  ข้อมูลทั้งปวงที่ได้มา จึงไม่ใช่แค่การแบกรับไว้ทั้งหมด แต่หมายถึงการมานั่งทบทวนว่าในฐานะของนิสิต หรือต้นทุนของ “สะพานน้ำใจ” ที่มีอยู่ นิสิตพอที่จะทำอะไรได้บ้าง  

 

สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าเป็นการทำงานเชิงลึก  ประหนึ่งการนำศาสตร์การทรงงานของพระราชามาใช้ขับเคลื่อน นั่นคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

 

ข้อมูลที่ได้มา จึงนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมและกำหนดพื้นที่ เช่นการ ส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคต่อชุมนในเขตเทศบาลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (บ้านมะกอก บ้านหนองแข้) และชุมชนในเขตตำบลโพนงาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม (บ้านโพนงาม บ้านดอนน้อย บ้านม่วงใหญ่)

 

 

บางชุมชนส่งมอบในภาพรวมผ่าน “โรงทาน” หรือ “โรงครัว” หรือแม้แต่ที่เรียกอีกชื่อว่า “ศูนย์พักพิง”  เพื่อให้ชุมชนได้บริหารจัดการกันเอง  เพราะเชื่อว่าชุมชนจะรู้ดีว่าควรต้องบรรเทาทุกข์บำรุงสุขกันอย่างไร  

ขณะที่บางส่วนก็เจาะลึกรายครัวเรือน เช่น มอบน้ำดื่มให้กับแต่ละครัวเรือน  ซึ่งก็ผ่านการหารือร่วมกับแกนนำชุมชนว่า “ต้องมอบให้ครัวเรือนใดบ้าง”

 

เช่นเดียวกับการส่งมอบข้าวของเครื่องใช้และงบประมาณบางส่วนเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแก่มูลนิธิที่ปักหมุดฝังตัวช่วยลำเลียงชาวบ้านเข้าๆ ออกๆ ระหว่างหมู่บ้านกับชุมชนภายนอก  อาทิเช่น  กู้ภัยเมตตาธรรม กู้ภัยอโศกมหาสารคาม ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่านิสิตมองเห็น “องคาพยพ” หรือ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาในวิกฤตที่ว่านี้

 

กระบวนการเช่นนี้ ผมมองว่า เป็นการทำงานบนฐานข้อมูลจริง เป็นการทำงานที่เข้าไปฝังตัวกับสถานการณ์จริง เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม  และย้ำอีกครั้งว่าเป็นการทำงานในแบบ ““เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”  ทีป่ระกอบด้วยการเข้าถึงความพร้อมตัวเองและเข้าถึงซึ่งความจำเป็นของชุมชน

 

 

 

น้ำลด : หวนกลับไปเสริมพลังชุมชน

 

ประเด็นถัดมาที่ละข้ามไม่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมชื่นชมเอามากๆ ก็คือ เมื่อน้ำลด ชุมชนเริ่มเข้าสู่โหมดของการฟื้นฟู  แกนนำนิสิตชุดดังกล่าวก็หวนกลับไปสู่ชุมชนอีกครั้ง  มิใช่ทำงานในแบบ “ไฟไหม้ฟาง”  หรือ “ผักชีโรยหน้า”  หรือกระทั่ง “ขายผ้าเอาหน้ารอด”  เพื่อสร้างภาพ – หรือปักป้ายถ่ายรูปไปวันๆ 

 

พวกเขามุ่งหน้ากลับไปสู่ชุมชนอีกครั้ง  กลับไปเพื่อเติมพลังชีวิตให้กับชาวบ้าน  เป็นต้นว่า กิจกรรมช่วยทำความสะอาดชุมชน  การนำวิชาชีพตนเองไปบริการสังคม ด้วยการแสดงดนตรีปลุกขวัญกำลังใจ พร้อมๆ กับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านในประเด็นของการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา 

 

 

แน่นอนครับ ที่ผมเล่าแบบกว้างๆ ตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้ายนั้น  เพื่อยืนยันว่า  “ดุริยางค์รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม”  เป็นกิจกรรมที่มีอะไรพิเศษมากกว่าเล่นดนตรีขอรับบริจาคเงินเพื่อเป็นสะพานน้ำใจไปช่วยชาวบ้าน  หากแต่มีกระบวนการต่างๆ อย่างเป็นระบบ

 

  • เป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับทางคณะ  
  • เป็นกระบวนการขับเคลื่อนระหว่างทางคณะกับเครือข่ายศิลปิน  
  • เป็นกิจกรรมที่นำเอาวิชาชีพไปสู่การบริการสังคม
  • เป็นการขับเคลื่อนบนฐานข้อมูลจริงของชุมชน 
  • เป็นการขับเคลื่อนทั้งในระยะกลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อหวนกลับไปสู่ต้นน้ำ อันหมายถึงการทบทวนเพื่อป้องกันมิให้เกิดซ้ำอีก หรือถ้าต้องเกิดซ้ำ จะผ่อนเบาอย่างไร – ใช้ชีวิตอย่างไรในวิกฤตนั้นๆ 
  • ฯลฯ

     



นี่คือ วิถีกิจกรรมนิสิตที่สอดรับกับการนำวิชาชีพไปบริการสังคมอย่างน่ายกย่อง 

 

และเป็นกิจกรรมนิสิต ที่มีกลิ่นอายความเป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่ชวนค่าต่อการเรียนรู้ไม่แพ้กิจกรรมของหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ผมเคยประสบพบเจอมา






เรื่อง  : พนัส  ปรีวาสนา
กิจกรรม : วันที่ 17 ตุลาคม - 3 ธันวาคม 2564
เขียน : พฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2565
ภาพ : สโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (มมส.)

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท