ท้องถิ่นวิกฤตซ้อนวิกฤต


ท้องถิ่นวิกฤตซ้อนวิกฤต

19 สิงหาคม 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ในการคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking)[2] ที่มองภาพรวมทุกอย่างเป็นระบบ เปรียบว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็น “ระบบ” (System) มีปัจจัยนำเข้า ปัจจัยนำออก และมีกระบวนการภายใน ที่แวดล้อมหรืออยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทั้งมวล ด้วยปัจจัยธรรมชาติ กับปัจจัยเงื่อนไขที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัจจัยระเบียบกฎหมาย และสิ่งแวดล้อมอื่นที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพราะในภาพรวมทั้งระบบจะมองเห็นภาพรวม (Big Picture) เป็นการมององค์รวม (Holistic view)[3]เป็นการมองให้ครบทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม การพัฒนา การแก้ไขปัญหาต่างๆ

          กำลังจะพูดถึงปัญหาโลกแตก ที่ไม่รู้ว่าจะเอ่ยคำหรือขึ้นต้นคำว่าอย่างไรจึงจะเหมาะเจาะกับสถานการณ์วิกฤตที่ “ซ้ำซาก” ที่ไม่รู้จบของ อปท. เกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้อีกกี่จบ “เป็นวิกฤต” ซ้ำๆ เป็นวิกฤตซ้ำซ้อน “วิกฤตที่ซ้อนวิกฤต” [4] ตามแต่ใครจะเรียกคำไหนกัน แต่ในบริบทของคนท้องถิ่นนั้นต้องสู้ไม่ถอย เพราะ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เห็นอยู่เต็มตา

มิใช่การบ่น แต่เป็นเสียงจริงๆ จากเจ้าหน้าที่งบประมาณ องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือปลัด อปท. (ผู้ถือระเบียบฯและผู้ปฏิบัติตามนโยบายฯ) พร้อมๆ กับเสียงผู้บริหารท้องถิ่น (ผู้ที่นำนโยบายที่หาเสียงมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ฯ) เพราะ “ในวิกฤตยังมีวิกฤตซ่อนอยู่” ซ่อนยังไงพูดไม่ออก ต้องสาธยายร่ายยาวที่มาที่ไป ขอยกกรณีศึกษา โดยเฉพาะ “ในเขตพื้นที่ อปท.แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ถือว่าที่วิกฤตมาก” มาฟังเสียงกัน

 

ตัวอย่างการใช้งบประมาณ อปท.แก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั่วไป

          ก่อนอื่นมาดูการแก้ไขปัญหาทั่วไปของน้ำท่วม ปัญหาเบื้องแรกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ปกติ จะไม่ซับซ้อน การใช้งบประมาณจะไม่มาก มีการใช้งบกลางสำรองจ่ายในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย (น้ำท่วม) ก่อน เมื่อเงินหมด จึงให้งบปกติตามข้อบัญญัติงบประมาณ หรือการขอรับความช่วยเหลือจากส่วนกลาง หรือการใช้เงินสะสม และทุนสำรองเงินสะสมของ อปท.

ในการช่วยเหลือประชาชนกรณีน้ำท่วมทั่วไปนี้ อาจไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้กับกรณีพื้นที่ลุ่มน้ำแถบอยุธยาได้หมด เพราะเงินงบประมาณหมดไปแล้ว และ สภาพพื้นที่เป็นปัญหาวิกฤตซ้ำซากที่ใหญ่หลวงเกินศักยภาพของ อปท.มากๆ ต้องใช้แผนการจัดการน้ำแห่งชาติ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)[5]ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561[6]

ขอยกตัวอย่างแนวทางสังเขปในการประสานการปฏิบัติ/แบ่งงานกันทำของ อปท.ทั่วไป

(1) ผู้ประสานงานคือ ปลัดเทศบาลในฐานะเจ้าหน้าที่งบประมาณของ อปท.[7] ตรวจสอบงบประมาณ ด้านการช่วยเหลือประชาชน โดย ผอ. กองคลังศึกษาแนวทางปฏิบัติจัดซื้อ-จ้าง “กรณีเกิดสาธารณภัย” ตามระเบียบ มท.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560[8] พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560[9] หรือ ระเบียบ กค.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 79 วรรคสอง[10] ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อนและไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน

(2) มีการใช้งบกลาง เงินสำรองจ่ายต่างๆ เป็นลำดับแรก หากจำเป็นต้องใช้เงินสะสม กรณีเกิดภัยพิบัติ ตามระเบียบ มท.ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 91[11] 

(3) ในระหว่างที่เกิดสาธารณะ หากยังต่อเนื่องไม่หยุด ต้องคอยตรวจสอบข่าวจากส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นต้น โดยบูรณาการร่วมส่วนราชการอื่นๆ เช่น สำนักปลัด กองช่าง ออกตรวจสอบสำรวจตรวจสอบพื้นที่ เร่งช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบเหตุทันที โดยการระดม เครื่องมือ เครื่องจักรกล รถยนต์ เรือท้องแบน และเจ้าหน้าที่ พร้อมรายงานเหตุต่างๆ ไปอำเภอ จังหวัด ตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย พ.ศ.2550[12] กรณีเกิดเหตุ หรือประสบเหตุในพื้นที่ ซึ่งนายกเทศมนตรี/นาย อบต. ในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น มีอำนาจสั่งการ ประสานหน่วยงานอื่นๆ นำเครื่องจักร อุปกรณ์ ต่างๆ มาช่วยเหลือ และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามระเบียบ

(4) การประชาสัมพันธ์รายงานเป็นสิ่งจำเป็น ในการช่วยเหลือ การดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องของ อปท. ประสานช่างภาพ งานประชาสัมพันธ์ บันทึกภาพเก็บข้อมูลไว้ เพื่อใช้ประกอบข้อมูล หรือการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรืออื่นๆ

(5) เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายประจำลงพื้นที่เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ สร้างภาพพจน์แก่ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ อย่างพร้อมเพรียง สามารถให้ข่าวแก่สื่อมวลชนได้ในทิศทางเดียวกัน

(6) เมื่อน้ำลดแล้ว เป็นระยะการฟื้นฟูให้เร่งสำรวจความเสียต่างๆ เช่น กรณีใดช่วยเหลือเฉพาะหน้า ฉุกเฉินทันที กรณีใดช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู กรณีใดเกินขีดความสามารถ เกินศักยภาพของ อปท. ซึ่งในกรณี เยียวยา ฟื้นฟู หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น อปท. ต้องมีการออกประกาศ มาตรการช่วยเหลือด้วย

 

การแก้ไขปัญหาวิกฤตในพื้นที่ อปท.แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ซ้ำๆหลายวิกฤต

พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่รับมวลน้ำมหาศาลจากภาคเหนือ แต่ก็ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้น้ำท่วมไปได้นานๆ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจการทำมาหากิน และการประกอบการธุรกิจในพื้นที่ได้

ในรอบปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีวิกฤตน้ำท่วม จังหวัดทางภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ห้วงเวลาตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคมเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน มีการใช้งบประมาณในการช่วยเหลือประชาชน การปรับปรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การฟื้นฟู เยียวยา เศรษฐกิจ ซึ่งช่วงวิกฤตดังกล่าวมิใช่วิกฤตแรกของท้องถิ่น ที่จริงวิกฤตเริ่มเมื่อครั้งรัฐบาลมีนโยบายให้องค์กรปกครองท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการนำงบประมาณของท้องถิ่นออกมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ไม่ต้องรอเงินงบประมาณจากส่วนกลางที่รัฐบาลไม่มีเม็ดเงินงบประมาณในการอุดหนุนท้องถิ่นมากนัก โดยมีการตราระเบียบ แก้ไขระเบียบต่างๆ พร้อมมีหนังสือ มท.ซักซ้อมแจ้งเวียน ผ่อนปรนด้านสาธารณภัยให้ อปท.สามารถใช้จ่ายเงินสะสม จ่ายขาดเงินสะสมตาม อำนาจหน้าที่ให้ใช้งบประมาณจ่ายขาดง่ายขึ้นเพื่อให้ อปท.สามารถทำตาม “หน้าที่และอำนาจ” ตามที่กฎหมายจัดตั้งได้บัญญัติไว้ เป็นเทคนิคโปรยยาหอมให้ผู้บริหารท้องถิ่น (นายก อปท.) ได้ดีใจที่มีการคลายล็อกระเบียบฯ โดยเฉพาะระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่าย และการใช้จ่ายเงินงบประมาณ รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนา การแก้ไขข้อบัญญัติงบประมาณต่างๆ ของท้องถิ่น ที่แต่เดิมนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ยาวนาน หรือ ไม่อยู่ในอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น 

จากนโยบายโปรยยาหอมให้นายก อปท.ดังกล่าว ได้ผลเกินคาด ทำให้บรรดานายก อปท. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ทำงานง่ายขึ้น สบายใจมากขึ้น ที่จะไม่ถูกกดดันจากหน่วยตรวจสอบ เช่น สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท เพราะแต่เดิมนั้น อปท.มีบทบัญญัติและข้อกำหนดที่เข้มงวดมากในการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น ต้องเป็นไปตาม “หน้าที่และอำนาจ” เท่านั้น และ “ไปตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ หรือเงื่อนไข” กล่าวคือ ตามระเบียบกฎหมาย รูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้เท่านั้น ที่สร้างภาระความยุ่งยากแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เช่น อำนาจในการแก้ไขงบประมาณ อำนาจในการเบิกจ่าย อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง (การพัสดุ) การกำหนดราคากลาง รวมถึงอำนาจในการจัดทำแผนพัฒนา การปรับปรุงแผนพัฒนาท้องถิ่น การใช้จ่ายเงินอุดหนุน การใช้จ่ายเงินสะสม ฯลฯ เป็นต้น

ด้วยข้อผ่อนปรนต่างๆ ที่ได้ปลดล็อกให้แก่ท้องถิ่น ได้ผลเกินคาด การใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นจึงเริ่มมีมากขึ้น เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ว่ากันว่า อปท.หลายๆ แห่ง โดยเฉพาะ อปท.ขยาดเล็ก “เงินหมดคลัง” ไปจนถึงการใช้ “ทุนสำรองเงินสะสม”[13] ซึ่งเป็นเงินก่อนสุดท้ายของท้องถิ่นก็ร่อยหรอลง จะว่าไปก็เป็นผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลลบก็มีมากเช่นกัน เช่น การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชน (สุรุ่ยสุร่าย ซ้ำซ้อน เกินจำเป็น ตั้งงบราคากลางไว้สูงเกินจริงมากฯ) มีการรั่วไหลของงบประมาณ รวมไปถึงการทุจริตคอรัปชัน เป็นต้น นี่คือวิกฤตที่ 2 ที่ตามมา

เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2564 เกิดน้ำท่วมภาคกลาง ซึ่งพื้นที่รับน้ำจมอยู่นานตลอด 3 เดือน โดยเฉพาะ เช่น อำเภอบางบาล บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมก่อนและแห้งช้ากว่าทุกๆ พื้นที่ อปท.ต่างๆ ในพื้นที่จึงใช้เงินสำรองจ่ายเพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ทั้งการซ่อมแซมถนน สิ่งของ การบรรเทาทุกข์ 

หลังหมดน้ำท่วมต่อมาก็เจอวิกฤตซ้ำหนักเข้าไปอีกวิกฤตหนึ่งคือการระบาดซ้ำของ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ โควิด-19 ที่ท้องถิ่นจะต้องจัดทำแผนการปีองกัน และควบคุม รองรับผู้ป่วย ที่ทุก อปท.ต้องทำศูนย์พักคอย CI : Community Isolation อำเภอละอย่างน้อย 1 แห่ง[14]หรือจัด HI : Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ อปท.ในการป้องกัน ควบคุมและระงับโรคติดต่อ เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วนจากส่วนกลาง อำเภอ และจังหวัด รวมทั้งมีมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19[15] หากมีผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสียงต้องมีมาตรการแผนงานดำเนินการ มีการใช้อาคารต่างๆ ของ อปท. เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เป็นศูนย์พักคอย รวมทั้งให้พนักงานส่วนท้องถิ่นได้ทำงานที่บ้าน (WFH : Work From Home) พนักงานฯ มีมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ[16] ตรวจโควิด-19 ทุกๆ สัปดาห์ ในวันแรกของการทำงาน การตรวจ ATK สัปดาห์แรก 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน งดรวมกลุ่มและสังเกตอาการ 14 วัน กลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีน เป็นต้น

ตลอดจนมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ตามบ้านผู้ป่วยที่พบเจอ มีผู้ติดเชื้อจริงมากราย ติดกันทุกหลังคาเรือน ภาระต่างๆ ตกอยู่ท้องถิ่น ระยะแรกของโรคที่มีการเข้มงวดมากๆ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ถูกกักตัวทั้งผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยที่ถูกกักตัวอยู่บ้านตลอดเวลาก็ต้องมีการแจกจ่ายถุงยังชีพ อปท.ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก เมื่อหมดเงินสะสมก็จะให้ไปใช้ทุนสำรองเงินสะสม (เกิน 25%) ตามอำนาจของสภาท้องถิ่น ตอนนี้เชื่อเลยว่าทุกอย่าง อปท.ใช้ทุนสำรองเงินสะสมกันจนหมดเกลี้ยง นี่คือวิกฤตที่ 3 

พอโควิด-19 ค่อยผ่อนปรนได้ไม่นานก็มาเจอกับน้ำเหนือบ่าไหลมาอีก ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกๆ ปี ที่คนแถบนี้เข้าใจดี ฝนเริ่มตกตั้งแต่เดือนเมษายน ปกติภาคกลางจังหวัดอยุธยา อ่างทอง น้ำจะท่วมประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี แต่ปีนี้ปริมาณน้ำเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมีฝนตกมาตลอดประกอบพายุหลายลูกเข้ามา การปล่อยน้ำ ในเขื่อน เจ้าพระยาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำที่ปล่อยคือ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที[17] ยิ่งทำให้ อปท. ภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เจอวิกฤตหนักรอบ 3 

ประกอบกับช่วงโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.) ภาษีทรัพย์สินต่างๆ แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ให้เก็บเพียงอัตรา 10% งดเว้น 90%[18] จึงทำให้สถานะทางการคลังของ อปท.หลายๆ แห่งเกิดวิกฤตมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ข่าวล่าสุดในเดือนสิงหาคมนี้ส่วนกลางได้ชดเชยรายได้ถึง 1,970 ล้านบาท แก่ กรุงเทพมหานคร (1,245 ล้าน)[19] เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง จากเหตุได้รับผลกระทบลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อปี 2563

ท้องถิ่นต้องรับภาระความทุกข์ของประชาชนแต่การกระจายเม็ดเงินงบประมาณยังน้อยเหลือเกิน คนท้องถิ่นยังคงรับภาระหนักในทุกสถานการณ์ไม่รู้ว่า อปท.จะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ได้หรือไม่ อย่างไร หาก ผู้บริหารประเทศไม่เหลียวแล การจัดทำงบประมาณ 2566 ของ อปท. จึงทำให้เจ้าหน้าที่งบประมาณท้องถิ่น(ปลัด อปท.) ต้องกระอักกระอ่วนใจ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้ามีมากมาย แต่การจัดสรรงบประมาณแก่ อปท.เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีวีแวว น้ำก็ใกล้ถึงบันไดสำนักงาน อปท. ทุกแห่งแล้ว วิกฤตดังกล่าวจึงเป็นวิกฤตในวิกฤต หรือ วิกฤตซ้อนที่หนักมาก วิกฤติซ้อนวิกฤตประดังประเดทับถมเข้ามา ทั้งน้ำท่วม ทั้งโควิด ทั้งรายได้ไม่เข้า ทั้งเงินสะสมหมด ทั้งเงินหมด ท้องถิ่นตายแน่

ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นพื้นที่รับมวลน้ำจากเหนือมาทุกปี แต่ก็ผ่านมาทุกๆ ปี ด้วยแผนการบริหารการจัดการน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงภัย ลดความเสียหายแก่ชาวบ้านและเอกชนผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด เพราะที่อยุธยาต้องมีการเฝ้าระวังโบราณสถานเสี่ยงน้ำท่วมด้วย[20] ที่ลุ่มน้ำอำเภอบางบาลมีบ่อทรายหลายแห่ง[21] แม้ว่าการจัดทำพนังกั้นแม่น้ำที่อยุธยาจะมีข้อจำกัด ไม่อาจทำได้ เหมือนดังเช่น แถบ อำเภออินทร์บุรี สิงห์บุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กัน ที่ทำเป็นแนวป้องกันน้ำที่ค่อนข้างแน่นหนาได้

เพราะว่า ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบนั้น ต้องบูรณาการในหลายๆ ส่วนราชการ ที่มีอำนาจ 

 

นี่คือโจทย์ปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรับทราบ และมีมาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอันใหญ่หลวงนี้ เสียดายที่ “แผนแม่บทจัดการน้ำของรัฐบาลก่อนหน้า” ได้ถูกยกเลิกไป และเอกชนพร้อมชาวบ้านแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน ด้วยเหตุอ้างว่าไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองสูงสุด (2557)[22] พิพากษากลับยกฟ้อง เพราะว่า แผนแม่บท ฯ เป็นเพียงการวางกรอบแนวคิด วิธีปฏิบัติฯ เท่านั้น แต่อย่างว่า หากสังคมไทยยอมรับความเห็นต่าง และร่วมมือร่วมใจการแก้ไขปัญหา ลดความขัดแย้งกันได้ คงไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เราคนไทยต้องปกป้องรักษา “ผลประโยชน์ส่วนรวม” (Public Interest) ให้มากที่สุด ไม่ควรมีทิฏฐิ ละได้ละ วางได้วาง ยอมได้ยอม ร่วมได้ร่วม มันไม่ใช่วิสัยคนไทยที่จะต้องมาชนะคะคานกันให้เมื่อย ลองมาช่วยกันคิดแก้ปัญหานี้ดูก็ได้ “วิกฤติซ้อนวิกฤต” ตามที่สาธยายข้างต้นจะแก้กันอย่างไรดี 

 

 


 

[1]Ong-art Saibutra & Phachern Thammasarangkoon, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 19  สิงหาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/375172 

[2]การคิดเชิงระบบ หน่วยระบบเป็นหน่วยของการทำงาน (A system is a working unit) มีปัจจัยนำเข้า ปัจจัยการผลิต ผลผลิต ซึ่ง ทั้งหมดมีขอบเขตเฉพาะหน่วยที่สร้างขึ้น หน่วยระบบ คือ การรวมตัวกันขององค์ประกอบ โดยมีแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่าง องค์ประกอบเหล่านั้น

การคิดเป็นระบบ (Systematic Thinking) หมายถึง การกำหนด องค์ประกอบและการจัดองค์ประกอบของระบบให้มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย ที่กำหนด ระบบในลักษณะนี้จะมีลักษณะเป็นผังการดำเนินงาน หรือ การทำงานใดงานหนึ่งอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เป็นการคิดในภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบที่สัมพันธ์เชื่อมโยงจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ เป็นการคิดอย่างมีเหตุมีผล ที่มุ่งเน้นในการมองภาพรวม มองให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ แทนที่จะมองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเฉพาะจุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถมองเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ที่ดูเหมือนลำดับความคิดจะเป็นแบบเส้นตรง (Linear Thinking) แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่

ดู การคิดเชิงระบบ Systems Thinking โดยทีมงานเอ็นเทรนนิ่ง, 7 มิถุนายน 2562, https://www.entraining.net/article/การคิดเชิงระบบ-Systems-Thinking/ 

[3]การคิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking)เป็นวิธีการมองเชิงภาพรวม (Big Picture) ของเป้าหมายปัญหาหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยตระหนักถึงองค์ประกอบ (Element) ย่อยที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทั้งในแง่องค์ประกอบที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จ หรือในแง่สาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหา ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ บางอย่าง เป็นการมองรอบด้านให้ได้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ให้ครบถ้วนมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา หรือทำให้เป้าหมายสำเร็จโดยใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่

ดู การคิดแบบองค์รวมและเทคนิคการบูรณาการ (Holistic Thinking and Integration Techniques), course outline โดย ธนายุทธ สิรินุตานนท์, 28 มิถุนายน 2560, https://bananatraining.com/sites/10292/files/u/In-House%20Training/2)%20TH%20-%20Thinking/TH%201.13%20Course%20outline%20การคิดแบบองค์รวมและเทคนิคการบูรณาการ.pdf 

& มุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) ช่วยส่งเสริมการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ให้ได้ผลและยั่งยืนได้อย่างไร, โดย Kamol Limprasert, 29 มิถุนายน 2561, https://th.linkedin.com/pulse/มมมองแบบองครวม-holistic-view-change-management-kamol-limprasert 

[4]วิกฤตก็คือการยอมรับสภาวะวิกฤตว่าไม่เป็นวิกฤต ดู “ภาษา” วิกฤตซ้อนวิกฤต, โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, มติชนสุดสัปดาห์, 3 กรกฎาคม 2564, https://www.matichonweekly.com/column/article_439858& วิกฤตซ้อนวิกฤต, ผู้จัดการออนไลน์, 11 มีนาคม 2565, 13:25 น., https://www.matichon.co.th/politics/news_3224393

[5]แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีกรอบการดำเนินงาน 20 ปี (พ.ศ.2561–2580) และจัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) (แผนระดับ 1) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (แผนระดับ 2) ภายใต้ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ, http://pmpd.onwr.go.th/wp-content/uploads/2019/12/แผนแม่บทฯน้ำ20-ปี.pdf 

[6]พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 112 ก วันที่ 28 ธันวาคม 2561bหน้า 44-83, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/112/T_0044.PDF 

[7]ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “เจ้าหน้าที่งบประมาณ” หมายความว่า ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดเทศบาลและปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล

ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 276 ง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 หน้า 1-8, http://www.thakhonyang.go.th/userfile/info/info_34_1316974968.pdf

[8]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 แก้ไขถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 242 ง วันที่ 29 กันยายน 2560 หน้า 3-9, http://www.dla.go.th/upload/templateWebMenu/attachFile/2018/3/1521442553101.PDF & http://www.dla.go.th/upload/regulation/type2/2019/2/1713_1.pdf

[9]พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 24 ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 13-54, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/024/13.PDF

[10]ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 120 ง วันที่  13 พฤษภาคม 2562 หน้า 36-48, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/120/T_0036.PDF

[11]ข้อ 91 ภายใต้บังคับข้อ 89 ในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น โดยให้คำนึงถึงฐานะการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น 

ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.2547 แก้ไข ถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561, http://audit.obec.go.th/images/docs/runch/6.pdf

[12]พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 52 ก วันที่ 7 กันยายน 2550 หน้า 1-23, https://www.ubu.ac.th/web/files_up/00045f2021030310303371.pdf

[13]ข้อ 87 ทุกวันสิ้นปีงบประมาณ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ปิดบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วให้กันยอดเงินสะสมประจำปีไว้ร้อยละสิบห้าของทุกปี เพื่อเป็นทุนสำรองเงินสะสมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจใช้จ่ายเงินทุนสำรองเงินสะสมได้ กรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่ยอดเงินสะสมคงเหลือไม่ถึงร้อยละสิบห้าของเงินสะสม ณ วันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณนั้น ให้ขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น และขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัด

(2) กรณีที่ปีใด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมียอดเงินทุนสำรองเงินสะสมเกินร้อยละสิบห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น หากมีความจำเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจนำเงินทุนสำรองเงินสะสมเฉพาะในส่วนที่เกินไปใช้จ่ายได้ภายใต้เงื่อนไขข้อ 89 (1) โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่น

ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.2547 แก้ไข ถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561, อ้างแล้ว

[14]คู่มือการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน Community Isolation (ฉบับปฏิบัติการ), โดย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), 2564, http://www.stopcorruption.moph.go.th/application/editors/userfiles/files/คู่มือการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน%20Community%20Isolation%20(ฉบับปฏิบัติการ).pdf 

[15]ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27), ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 & “หมออุดม” ยัน ศบค.ยังไม่เคาะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รอถก ศบค.ชุดใหญ่ครั้งหน้า, สยามรัฐออนไลน์, 19 สิงหาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/375131

ดูเพิ่มเติม

1.ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 47),  ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

รายละเอียดเพิ่มเติม https://drive.google.com/file/d/1qPSe-Kcmhg-Ow-8Q_aV_tFjeZDN0iI2g/view?usp=sharing 

2.คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่ 14/2565 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

รายละเอียดเพิ่มเติม https://drive.google.com/file/d/1cFbPytQz2uq0v2snGErokVMTEDUgvmmk/view?usp=sharing 

3. ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง

รายละเอียดเพิ่มเติม https://drive.google.com/file/d/19Gttd7vTbbA7bZ7F_Y6KKzIz-wP0VJAR/view?usp=sharing 

[16]แจ้ง กทม. และจังหวัด เรื่อง ข้อกำหนด ฉบับที่ 47 ตามโทรสารกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0230/ว 5412 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565, https://www.moicovid.com/wp-content/uploads/2022/07/มท0230-ว5412-ลว.27ก.ค.65-แจ้ง-กทม-และจังหวัด-เรื่อง-ข้อกำหนดฉบับที่-47.pdf

& แนวทางปฏิบัติของ นขต.สป.ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) ที่เกี่ยวข้อง, 4 พฤศจิกายน 2564, http://opsd.mod.go.th/info/pdf/covid-19-641108.aspx

[17]"กอนช." เฝ้าระวังระดับน้ำ 2 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา 23-25 ส.ค.นี้, สยามรัฐออนไลน์, 19 สิงหาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/375269 & ข่าวเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่ม กระทบ อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา, ข่าวช่อง 7, 16 สิงหาคม 2565, https://news.ch7.com/detail/588665 & กรมพระศรีสวางควัฒนฯ พระราชทานถุงยังชีพแก่ชาวอยุธยาประสบอุทกภัย, ไทยโพสต์, 16 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/royal-court/201638/ & GISTDA พบ4จังหวัด พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-สุโขทัย ถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 69,900 ไร่, มติชน, 15 สิงหาคม 2565, https://www.matichon.co.th/local/news_3508886 & น้ำท่วม : กทม.เตือน 7 เขต เตรียมขนย้ายสิ่งของ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อไม่ซ้ำรอยปี 2554, BBC Thai, 29 กันยายน 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-58741324

เฟซบุ๊กของมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนรวมถึง ดร.ณัฐ มาแจ้ง แห่งภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งระบุว่า ขณะนี้น้ำที่ไหลลงมามีอัตราเกือบ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนใหญ่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำ

“ทุกคนรู้ว่าคอขวดการไหลอยู่ที่อยุธยาซึ่งรับน้ำได้ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลายคนจะบอกว่าน้ำลงมา 2,500 อยุธยารับได้ 1,200 อย่างนี้ท่วมแน่ๆ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนชัยนาท จะมีคลองลพบุรีและคลองบางแก้วรับน้ำออกทางฝั่งซ้าย และมีคลองโผงเผงและคลองบางบาลรับน้ำออกทางฝั่งขวา รวมความสามารถ 818 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำแถวๆ บางบาล ทำให้มีน้ำท่วมขังเปรียบเสมือนแก้มลิงธรรมชาติก่อนที่จะไหลลงมาที่อยุธยา และน้ำจากคลองต่างๆ เหล่านี้รวมกับแม่น้ำป่าสักจะไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านใต้ของอยุธยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บางไทรลงมา จะสามารถรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที”

[18]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 207 ง วันที่ 20 สิงหาคม 2562 หน้า 1-10, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/207/T_0001.PDF 

[19]ครม.อนุมัติงบกลาง 1,245 ล้านบาทชดเชยให้ กทม. เหตุลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 63, ไทยโพสต์, 16 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/general-news/201621/ & คลังถกมหาดไทยลดผลกระทบ 'ภาษีที่ดิน', กรุงเทพธุรกิจ, 30 พฤษภาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1007162 

[20]เฝ้าระวังโบราณสถานเสี่ยงน้ำท่วม, ไทยโพสต์, 16 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/tac/201386/

[21]การปล่อยระบายมวลน้ำลงพื้นที่รับน้ำอำเภอบางบาล ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะ อำเภอบางบาลมีธุรกิจบ่อทรายใหญ่หลายบ่อ เมื่อต้นปี 2565 นี้ก็มีเรื่องพิพาทกับชาวนาที่บ่อทรายปล่อยน้ำเสียลงนาข้าว ทำให้ข้าวยืนต้นตาย จนชาวบ้านออกมากล่าวหาร้องเรียน ดู อยุธยา - บ่อทรายปล่อยลงนาข้าวพบยืนต้นตายจำนวนมาก, หนังสือพิมพ์อินทรีสยาม, 1 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.siameagle.com/09529-2/ 

[22]ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับยกฟ้อง “สมาคมต้านโลกร้อน-ชาวบ้าน45ราย” ฟ้องล้มแผนแม่บทจัดการน้ำยุครัฐบาล”ยิ่งลักษณ์ ดู ศาลยกฟ้อง'ยิ่งลักษณ์'โครงการน้ำ, กรุงเทพธุรกิจ, 31 ตุลาคม 2557, 16:25 น., https://www.bangkokbiznews.com/politics/614641

หมายเลขบันทึก: 705656เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2022 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2022 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท