เก็บตกวิทยากร (73) ชวนครูรัก(ษ์)ถิ่น "โอบกอดกัน" และ "เขียนความรู้สึก" ลงในสมุดบันทึก


การที่นักศึกษาพร้อมใจนำสมุดไปวางไว้เช่นนั้น ผมมองว่า นั่นคือสัญญาณที่ดี อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่านักศึกษาเริ่มเปิดใจที่จะรับรู้รับฟังความเป็นไปของเพื่อน รวมถึงการเปิดใจให้เพื่อนๆ เข้ามารับรู้รับฟังเรื่องราวอันเป็นตัวตนของตัวเอง

ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปเป็นวิทยากรจัดการเรียนรู้  (กระบวนกร) ผมเป็นคนประเภทที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้เข้าร่วมเวทีมากเป็นพิเศษ  จนบางครั้งเผลอลืมให้เวลากับเรื่องนี้มากกว่าเวลาที่ต้องเคี่ยวกรำเอาผลลัพธ์เชิงวิชาการอันเป็นเป้าหมายหลักที่ถูกออกแบบไว้–

 

 

ความรักคู่ความรู้ : ความรู้คู่ความรัก
 

ใช่ครับ – ผมมักให้ความสำคัญกับเรื่องราวระหว่างทางไม่แพ้เรื่องราวของปลายทาง   ยิ่งในเวทีการจัดการความรู้  ผมยิ่งให้ค่ากับการจัดการความรู้สึก หรือความรักมากพอๆ กับการจัดการความรู้ ซึ่งผมจะเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าในเวทีนั้นๆ ต้องได้ทั้งความรักและความรู้ หรือที่เรียกว่า “จัดการความรักก่อนความรู้”  (ความรู้คู่ความรัก) นั่นแหล่ะ
 

ในเวทีกระบวนการเรียนรู้ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จัดขึ้น ณ “ศูนย์แม่ริม” เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  พอผ่านพ้นวันแรกไปแล้ว ผมกลับมาประเมินปฏิกิริยาการเรียนรู้ของนักศึกษา “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” (ครูรักษ์ถิ่น) อีกรอบ เป็นการประเมินร่วมกับผู้ช่วยวิทยากรและคณาจารย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีโต๊ะอาหารเย็นเป็นพื้นที่ของการประเมินผล - 





ผมบอกเล่าเรื่องราวของเวทีในเช้าและบ่ายของวันแรกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ จากนั้นจึงนำเสนอประเด็นที่จะจัดการเรียนรู้ในพรุ่งนี้อันเป็นวันสุดท้าย นั่นคือเรื่องทักษะของคุณครูในศตวรรษที่ 21 ครูกับการพัฒนาผู้เรียนผ่านกิจกรรมทางสังคม ครูกับสถานะของการเป็นผู้นำ ฯลฯ

กระนั้น ผมไม่วายบอกเล่าข้อสังเกตบางอย่างในเชิงพฤติกรรมกลุ่มให้คณาจารย์ได้ร่วมรับรู้ในทำนองว่า “คลับคล้ายผมสัมผัสได้ว่ามีช่องว่างบางเกิดขึ้นระหว่างเด็กกับเด็ก” 

ครับ – ผมเรียกนักศึกษาครูรักษ์ถิ่นว่า “เด็ก”

ด้วยเหตุเช่นนั้น  ผมจึงขออนุญาตนำกระบวนการละลายพฤติกรรมเล็กๆ เข้าไปหนุนเสริมในช่วงเช้า โดยมอบหมายให้ผู้ช่วยวิทยากร (คุณธัญวรัตม์  มีชาติ) ได้ลองขับเคลื่อนด้วยตนเอง 




 


บันเทิงเริงปัญญา : คำถาม คำตอบ และอ้อมกอดของคำว่าเพื่อน
 

เช้าวันที่ 2 ภายหลังกระบวนการเรียนรู้อันเรียบง่ายของ “คุณอิฟ” (ผู้ช่วยวิทยากร) เสร็จสิ้นลง ผมตัดสินใจถอดสไลด์บรรยายทางวิชาการออกแล้วเปลี่ยนมาใช้กระบวนการ “ตารางชีวิต” แทน 

ผมให้นักศึกษาแบ่งกระดาษ A4 เป็น 9 ช่อง และกำหนดคำถามขึ้นมา 8 ประเด็นหลัก มีบางหัวข้อที่ผมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็น จากนั้นก็เริ่มให้สัญญาณ เพื่อให้แต่ละคนวิ่งเข้าไปสอบถามเพื่อนร่วมรุ่นในประเด็นที่กำหนดขึ้น 




จริงๆ กระบวนการนี้ก็ประหนึ่งละลายพฤติกรรมในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” นั่นแหล่ะครับ  บางประเด็นเป็นคำถามเกี่ยวกับส่วนตัว บางประเด็นเป็นคำถามเกี่ยวกับการงาน –ความคิดฝัน แต่ทั้งปวงนั้นก็เพื่อกระตุ้นให้แต่ละคนเปิดใจรับรู้ข้อมูลกันและกัน 

รวมถึงการฝึกทักษะของ “การถาม  การตอบ การฟัง การจดบันทึก” ไปในตัว  หรือแม้แต่ฝึกทักษะของ “การทำงานแข่งกับเวลา” ไปในตัว –

 





ในส่วนประเด็นสุดท้ายอันหมายถึงช่องที่ 9 นั้น แทนที่จะเป็นประเด็นคำถาม แต่ผมกำหนดให้เป็นกระบวนการ”กอด” (กอดกันและกัน)  ซึ่งผมมีเจตนาในแบบ “ที่กล้าได้กล้าเสีย” เพื่อหยั่งให้รู้ว่านักศึกษามีความรู้สึกต่อกันเช่นใดบ้าง มีม่านมายาใดๆ กั้นขวางพวกเขาอยู่ 

ซึ่งพอให้สัญญาณเริ่มต้นเท่านั้นแหล่ะ ทุกอย่างเหนือความคาดหมายมากๆ  พวกเขาโผเข้ากอดกันอย่างรวดเร็ว-กอดในแบบจริงจัง จริงใจ กอดกันนานๆ มีหลายต่อหลายคนถึงขั้น “ร่ำไห้”  และ “ระบายความในใจ” ออกมา-

ผมไม่รู้หรอกว่าเขาร้องไห้เพราะอะไร  หรือแม้แต่เขาบอกเล่าเรื่องราวใดต่อกันบ้าง  เช่นเดียวกับการไม่รู้ว่า คำขอโทษและคำขอบคุณที่พวกเขาเอ่ยต่อกันนั้นเป็นเช่นใด  ผมรู้แต่เพียงว่าบรรยากาศเริ่มผ่อนคลาย สิ่งที่ผมมองในเชิงม่านมายาจากวันก่อน ดูเหมือนเริ่มพังทลายลงทีละเล็กทีละน้อยแล้วอย่างชัดเจน

 



 

กลับเข้าสู่ตัวเอง : เขียนความรู้สึกตัวเองและเปิดเปลือยตัวเองผ่านตัวหนังสือ
 

ภาพของนักศึกษาที่กำลังโอบกอดและปรับทุกข์-ปรับใจ-ปรับความเข้าใจต่อกัน เป็นภาพอันงดงามที่ผมไม่อาจละข้ามไปได้  ผมไม่กล้าหักดิบสั่งยุติกระบวนการลงตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ ได้แต่พยายามสื่อสารแบบนุ่มนวลเป็นระยะๆ เพื่อสะกิดเตือนให้นักศึกษาได้รับรู้ว่า “หมดเวลาแล้ว”



เมื่อทุกคนผ่อนคลายออกจากอ้อมกอดกันและกัน และกลับไปนั่งยังเก้าอี้ตัวเดิม สังเกตชัดว่าหลายต่อหลายคนยังอยู่ในภวังค์ดังกล่าว  นั่นเป็นอีกครั้งที่ผมตัดสินใจไม่รีบด่วนดิบมุ่งไปยังปลายทางหลักของการเรียนรู้ที่ว่าด้วยการบรรยายเชิงวิชาการในหัวข้อที่ตระเตรียมไว้

ผมตัดสินใจแบบไม่ลังเลด้วยการชวนแต่ละคนให้กลับเข้าสู่ตัวเอง เพื่อทบทวนและชำระความรู้สึกบางอย่างของตนเองอีกครั้ง ผ่านการ “เขียนบันทึก” ลงใน “สมุดบันทึก” ของแต่ละคน  โดยมีกติกาง่ายๆ ก็คือเขียนไปเรื่อยๆ เขียนเรื่องอะไรก็ได้ เขียนไปเรื่อยๆ คิดไม่ออกก็หยุดเขียน แต่การหยุดเขียนต้องไม่ยกปากกาออกจากหน้ากระดาษ ทว่าหากรู้สึกไม่อยากเขียนแล้วก็ให้วางปากกาลง และพับสมุดบันทึกไว้ –




 

ใช่ครับ – ขณะที่แต่ละคนกำลังเขียนความรู้สึกนึกคิดลงในสมุดบันทึก  ผมได้เปิดเพลงคลอเบาๆ ไปด้วย พร้อมๆ กับการสังเกตพฤติกรรมของแต่ละคนว่าเป็นไปในทำนองใด 

สิ่งที่พบก็คือทุกคนดูเงียบสงบ มีสติที่กับการอยู่กับตัวเอง-อยู่กับการเขียน และมีจำนวนหนึ่ง “เขียนไป-ร้องไห้ไป”

เวลาผ่านไปในราวเกือบ 30 นาที ทุกๆ คนจึงยุติการเขียน –

ผมเอ่ยถามว่าสมุดบันทึกที่ว่านั้น มีใครได้อ่านเรื่องราวในสมุดบันทึกของเพื่อน หรือไม่ได้อะไรลงในสมุดบันทึกของเพื่อนบ้างแล้วหรือยัง 

คำตอบที่ได้มา คือ “ยัง”





จากนั้น ผมเอ่ยปากเชื้อเชิญว่า ใครอยากให้เพื่อนเข้าไปรับรู้เรื่องราวเหล่านั้น ให้นำสมุดบันทึกของตนเองไปวางไว้หน้าห้องเรียน เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ไปอ่าน หรือแม้แต่เขียนบางอย่างถึงกันและกัน  ซึ่งที่สุดแล้ว “ทุกคนก็นำสมุดของตนเองไปวางไว้”

การที่นักศึกษาพร้อมใจนำสมุดไปวางไว้เช่นนั้น  ผมมองว่า นั่นคือสัญญาณที่ดี อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่านักศึกษาเริ่มเปิดใจที่จะรับรู้รับฟังความเป็นไปของเพื่อน รวมถึงการเปิดใจให้เพื่อนๆ เข้ามารับรู้รับฟังเรื่องราวอันเป็นตัวตนของตัวเอง



ในช่วงพักสั้นๆ ผมใช้เวลานั่งอ่านสมุดบันทึกของแต่ละคน – ผมอ่านทุกเล่มที่วางอยู่ตรงนั้น  อ่านเสร็จก็เขียนกำลังใจให้กับทุกๆ คน

เชื่อไหมครับ ร้อยทั้งร้อย นักศึกษาเขียนบันทึกไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ

  • คิดถึงพ่อกับแม่ / คิดถึงบ้านเกิด / อยากกลับบ้าน
  • ปรับตัวเข้ากับเพื่อนและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ยังไม่ได้เท่าที่ควร
  • เหงา / น้อยใจเพื่อน 
  • กังวล/กดดันตัวเองในเรื่องการเรียน และอนาคต




นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ที่ผมไม่อาจละข้ามไปได้  จนต้องปรับกระบวนการเพื่อให้ได้ทั้งความรักและความรู้คู่กันไป

โดยเชื่อว่ากระบวนการเช่นนี้  คงช่วยให้พวกเขารักและเข้าใจกันมากขึ้น รวมถึงการเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ปรัชญา หรือทักษะของการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม

หรือแม้แต่การใช้ชีวิตร่วมกันเฉกเช่นวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดเสมอมาว่า “ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”

…..

เขียน : พฤหัสบดีที่  11 สิงหาคม 2565
มหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 705282เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2022 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2022 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท