ช่างปั้นหม้อโบราณคนสุดท้ายของตำบลห้วยทราย


 

“แม่จันทร์นวล  วงค์คำแดง : ช่างปั้นหม้อโบราณคนสุดท้ายของตำบลห้วยทราย”
..........................................................

 

"แม่ยะมาตั้งแต่เมื่อสมัยแม่เป็นละอ่อนหน้อยอายุเจ็ดแปดขวบแล้วนะเจ้า หันเปิ้นยะก็ยะโตยเปิ้น ค่อยๆ เฮียนฮู้ทีละเล็กละน้อย แล้วก็มายะเป็นอาชีพแต้ๆ  ตอนอายุสิบแปดสิบเก้าปี๋จนเท่าปะเดี๋ยวนี่"

แม่จันทร์นวล  วงค์คำแดง  ปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้านแห่งบ้านหม้อ หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นช่างปั้นหม้อแบบโบราณคนสุดท้ายของตำบลห้วยทราย เริ่มต้นเล่าเรื่องราวให้ฟัง ในขณะที่กำลังทำการนวดดินให้เหนียวสำหรับนำไปปั้นเป็นภาชนะต่างๆ ต่อไป

แม่จันทร์นวลเล่าว่า เมื่อก่อนที่หมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำสวนเป็นหลัก และมีการปั้นหม้อโบราณและภาชนะอื่นๆ ขายเป็นอาชีพเสริม เช่น หม้อแกง หม้อขนมจีน กาต้มน้ำ หม้อยา น้ำต้น ไห กระถางขนาดเล็ก จาน ถ้วย ชาม เป็นต้น ซึ่งทำกันแทบจะทุกหลังคาเรือน จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านการปั้นหม้อ และมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหม้อ" ตามอัตลักษณ์อันโดดเด่นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ครั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จำนวนชาวบ้านที่เป็นช่างปั้นหม้อก็ล้มหายตายจากกันไป บางส่วนก็หันไปทำอาชีพอื่น ทำให้ช่างปั้นหม้อเหลือน้อยลง และสุดท้ายก็เหลือเพียงแม่จันทร์นวลอยู่เพียงแค่คนเดียวและเป็นคนสุดท้ายของหมู่บ้านที่ยังยืนหยัดทำอาชีพนี้อยู่

แม่จันทร์นวลเล่าว่า ช่างปั้นหม้อของที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงหรือแม่บ้าน เพราะผู้หญิงจะใจเย็นและละเอียดกว่า ส่วนผู้ชายจะไปทำนาหรือทำสวนมากกว่า

"ปีนี้แม่อายุ 68 ปีแล้ว  อายุนักแล้ว แต่ก็ยังยะอยู่และจะยะไปเรื่อยๆ จนบ่มีแฮงยะแล้วถึงจะเลิก เพราะว่าเฮาฮักอาชีพนี้ มีความสุขที่ได้ยะอาชีพนี้ ผูกพันกับมันมาตั้งแต่หน้อยจ๋นเฒ่า เฮามีอยู่มีกิ๋นก็เพราะอาชีพนี้"  แม่จันทร์นวลบอกเล่าด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจที่สุด

เมื่อถามถึงกระบวนการหรือขั้นตอนการปั้นหม้อ แม่จันทร์นวลบอกว่า อย่างแรกเลยคือต้องหาซื้อดินเหนียวมาไว้ ซึ่งแหล่งดินเหนียวที่ดีที่สุดในย่านนี้คือดินเหนียวที่บ้านน้ำจำ ตำบลร้องวัวแดง เมื่อได้ดินมาแล้วก็เอาไปแช่น้ำไว้เพื่อให้ดินเปื่อย จากนั้นก็เอาหินหรือกรวดที่ผสมอยู่ออกไป แล้วก็นวดด้วยมือและเท้าให้ดินเหนียวและจับตัวเป็นก้อน แล้วเอาไปปั้นเป็นภาชนะต่างๆ  ก่อนจะเอาไปตากแดดให้แห้งประมาณ 5-7 วัน จากนั้นก็เอาเข้าเตาเผาที่ความร้อน 800-1000 องศาเซลเซียส เและขั้นตอนสุดท้ายคือการลงสีให้ดูสวยงาม

หม้อโบราณและภาชนะต่างๆ ที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีชาวบ้านมาซื้อไปใช้และบางส่วนก็จะมีคนมาเหมาซื้อเพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งทำให้แม่จันทร์นวลมีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพได้

ที่บ้านของแม่จันทร์นวลนอกจากจะเป็นที่พักและที่ทำงานแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการปั้นหม้อแบบโบราณอีกด้วย ซึ่งจะมีองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เดินทางมาศึกษาดูงานและจัดกิจกรรมการปั้นหม้อแบบโบราณอยู่บ่อยครั้ง โดยมีแม่จันทร์นวลซึ่งเป็นปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการปั้นหม้อทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนด้วยความยินดีและสนุกสนานมาก

หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากจะไปเรียนรู้การปั้นหม้อโบราณหรืออยากจะซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้แม่จันทร์นวลมีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ ก็ขอเชิญแวะไปเยี่ยมชมหรือซื้อได้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 705246เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2022 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2022 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท