ภูมิรัฐศาสตร์ของจีน  


ภูมิรัฐศาสตร์ของจีน           

ต่อไปนี้เป็นข้อความที่มีคนส่งต่อๆ กันมา    อ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงนำมาบอกต่อ   

เมื่อคืนนี้ผมนั่งอ่านหนังสือ Prisoners of Geography ในตอนที่เขาพูดถึงภูมิรัฐศาสตร์ของจีนครับ  ความยาวประมาณ 30 หน้า  ผลก็คือ  ..อ่านรวดเดียวจบ.. เพราะสนุกดี

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจจีนขึ้นเยอะว่า  ธิเบตสำคัญยังไง  ซินเจียงสำคัญยังไง  และญี่ปุ่นเป็นหอกข้างแคร่ของจีนเพราะอะไร

ขอนำมาเรียบเรียงเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ  ยาวหน่อยนะครับ  สู้ๆครับ
.
.
.
เปิดเรื่องขึ้นมา  ผู้เขียนคือนายทิม มาร์แชล เขาเล่าว่าในเดือนตุลาคม 2006 (16 ปีที่แล้ว) กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐกำลังแล่นเรืออยู่แถวๆเกาะโอกินาวา  ไม่ไกลจากทะเลจีนตะวันออกเท่าไร

ขณะที่กองเรืออเมริกันกำลังแล่นสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของชาติอื่นๆอยู่   จู่ๆเรือดำน้ำของกองทัพเรือจีนก็โผล่พรวดขึ้นมาลอยลำอยู่กลางกองเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ย

งานนี้ทำเอากองทัพอเมริกันเกิดความรู้สึกขึ้นมาสองประการคือ คือ “ทึ่ง” และ “โมโห”

ที่ว่า “ทึ่ง” ก็คือ อเมริกันไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าสมรรถนะของเรือดำน้ำพลังดีเซลของจีนจะสามารถแล่นได้เงียบกริบและแอบสะกดรอยกองเรืออเมริกันมาได้ตั้งนาน  โดยไม่มีใครรู้ตัว

ที่ว่า “โมโห” ก็คือ ระยะห่างระหว่างของเรือดำน้ำจีนกับเรือบรรทุกเครื่องบินคิตตี้ฮอว์ก (Kitty Hawk) นั้น   อยู่ในระยะยิงตอร์ปิโดของเรือดำน้ำจีนพอดี

เรียกว่าจีนลบเหลี่ยมอเมริกันน่าดู  เพราะอย่าลืมว่าในกองเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกันนั้น  นอกจากจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นไข่แดงแล้ว  ยังมีฝูงเรือพิฆาต และเรือรบต่างๆคุ้มกันรายล้อม  รวมแล้ว 12 ลำ  บนฟ้าก็มีทั้งเครื่องบินคุ้มกัน ใต้น้ำก็มีเรือดำน้ำลาดตระเวนอีก

เรือดำน้ำจีนลำนี้โผล่ขึ้นมาแสดงตัวให้ทหารเรืออเมริกันแตกตื่นอยู่สักพักก็ดำน้ำหายไป  ทิ้งไว้แต่ความอับอายและตื่นตะลึงของกองทัพเรืออเมริกัน

ผู้เขียนเขาบอกว่า  เรื่องนี้เปรียบเสมือนว่า  ในขณะที่บอร์ดผู้บริหารบริษัทโค้กกำลังประชุมลับกันอยู่พักใหญ่  จู่ๆก็มีผู้บริหารเป๊ปซี่โผล่หัวขึ้นมาจากใต้โต๊ะกลางที่ประชุมหลังจากนั่งแอบฟังอยู่เงียบๆตั้งนาน

ไม่ว่าอเมริกาจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม  จีนในทุกวันนี้คือมหาอำนาจเต็มตัวแล้ว
.
.
.
จีนนั้นเป็นแหล่งอารยธรรมมายาวนานกว่า 5 พันปี  และการรวมชาติจีนจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงนั้น  เกิดจากความสามารถของชาวฮั่น (Han) ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นเชื้อชาติของคน 90% ในแผ่นดินจีน

จีนนั้นมีภาษาหลักคือ แมนดาริน (จีนกลาง) รองลงมาคือ กวางตุ้ง  ซึ่งภาษาจีนทั้งสองแบบนี้ มีภาษาเขียนเหมือนกัน  เพียงแต่อ่านต่างกันเท่านั้นเอง

เมื่อเรากางแผนที่ประเทศจีนออกมาดู  เราจะเห็นว่าจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลมาก  หากเรามองไปทางขวา (ตะวันออก) ของแผ่นดินจีนจะเห็นที่ราบสีเขียวๆกว้างใหญ่  เรียกว่า “ที่ราบจีนตอนเหนือ” (North China Plain)

ที่ราบจีนตอนเหนือนี้คือแหล่งกำเนิดอารยธรรมของจีน  ชาวฮั่นสร้างอาณาจักรก็สร้างตรงนี้  กำแพงเมืองจีนก็อยู่ตรงนี้  เพราะแผ่นดินตรงนี้อุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำใหญ่ 2 สาย คือ แม่น้ำเหลืองกับแม่น้ำแยงซี 

แม่น้ำสองสายนี้คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนจีน  เสมือนกับแม่น้ำไนล์ในอิยิปต์

เมืองสำคัญๆ เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ รวมถึงมณฑลที่สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งหลายที่เราคุ้นชื่อ  ก็ล้วนแต่อยู่ทางฝั่งตะวันออกทั้งสิ้น
.
.
.
หากเราติดตามข่าวสารโลกมาเรื่อยๆ  คงจะจำได้ว่า  โลกตะวันตกพยายามบ่อนแซะจีนอยู่ 2 เรื่อง คือ “ปลดปล่อยธิเบต” และ “การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง”

เรื่องธิเบตนั้นออกจะโด่งดังสักนิด  เพราะมีองค์ดาไลลามะที่เอามาชูเป็นตัวละครได้  แถมดาราหนุ่มใหญ่อย่างริชาร์ด เกียร์ ก็เคยออกมาช่วยหนุนให้จีนให้เอกราชกับธิเบต

ถ้าเรากลับไปดูแผนที่จีนอีกสักนิด  จะเห็นว่าธิเบตคือพื้นที่สีน้ำตาลเข้มอยู่ทางซ้ายล่าง (ตะวันตก) 

สีน้ำตาลเข้มในแผนที่นั้นหมายถึง  แผ่นดินตรงนี้คือที่ราบสูงที่ใหญ่โตโอฬาร  ทำให้ธิเบตมีชื่อเล่นว่า “หลังคาโลก”  พื้นที่จำนวนมากปกคลุมด้วยน้ำแข็งเพราะสูงเสียเหลือเกิน  เทือกเขาหิมาลัย  เทือกเขาเอเวอเรสท์ก็อยู่ที่นี่

ความที่ที่ราบสูงธิเบตนี้สูงและหนาวเย็นมาก  จึงเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำใหญ่หลายสายที่หล่อเลี้ยงผู้คนในภูมิภาคนี้ คือ แม่น้ำเหลือง  แม่น้ำแยงซี  แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำพรหมบุตร  รวมทั้งแม่น้ำโขงที่ไหลมาถึงบ้านเราด้วย

ดังนั้น  ต่อให้อีกกี่สิบดาไลลามะ  จีนก็ไม่มีวันปล่อยให้ธิเบตไป  เพราะต้นน้ำของแม่น้ำใหญ่ที่เลี้ยงคนจีนอยู่นั้น  กำเนิดจากที่นี่ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ธิเบตยังมีชายแดนติดกับอินเดียซึ่งเป็นคู่กรณีของจีนมายาวนานด้วย   การที่ธิเบตจะเป็นเอกราชนั้นเป็นสิ่งที่จะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอน

เพราะนี่คือ “ภูมิรัฐศาสตร์” ครับ

วิศวกรรถไฟยุโรปนั้นเคยกล่าวไว้ว่า  จีนไม่มีวันที่จะนำความเจริญจากฝั่งตะวันออกเข้ามาสู่ธิเบตได้  เพราะการสร้างทางรถไฟขึ้นมาบนที่ราบสูงธิเบตที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอดปีตลอดชาตินั้น  “เป็นไปไม่ได้”

….แต่จีนทำได้และทำเสร็จแล้วด้วย

จีนสร้างทางรถไฟความยาวมหาศาลขึ้นไปถึงเมือง Lhasa ในธิเบตได้สำเร็จในปี 2006 ซึ่งการมีรถไฟย่อมหมายถึงสินค้านานาชนิด ทั้งอาหาร, ทีวีสี, เครื่องใช้ไฟฟ้า และความทันสมัยทั้งปวง

ที่สำคัญคือ  ทางรถไฟนั้นนำ”ชาวฮั่น”จำนวนมหาศาลเข้ามาถึงธิเบตได้โดยง่าย  เพื่อมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ธิเบต  จนกระทั่งทุกวันนี้ชาวฮั่นคือชนส่วนใหญ่ของธิเบตไปเรียบร้อยแล้ว

ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนนั้นแยบยลและบอกให้เรารู้ว่า  “จีนไม่เคยรีบร้อน”
.
.
.
เมื่อเรากวาดตาขึ้นจากธิเบตไปทางเหนือ  จะพบกับแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของชาวมุสลิมอุยกูร์ คือ มณฑลซินเจียง (Xinjiang)

ซินเจียงนี้ก็เช่นเดียวกับธิเบต คือ ต้องการเป็นเอกราชจากจีน  และคนอุยกูร์เขาเคยทำกันถึงขนาดที่ตั้งชื่อประเทศตัวเองว่า “เติร์กกิสถาน - Turkestan” เรียบร้อยแล้ว

แต่ด้วยความสำคัญทางภูมิศาสตร์ของซินเจียงแล้ว  ความหวังที่จะเป็นเอกราชนั้นดูจะริบหรี่เหลือเกิน  แถมยังว่าชาวซินเจียงไม่มีไอดอลหรือสัญลักษณ์อย่างดาไล ลามะ ให้คนทั้งโลกได้รู้จักและเห็นอกเห็นใจ 

ขบวนการเอกราชของชาวอุยกูร์ก็เลยไม่เป็นที่รู้จักเท่าไร

ที่ตั้งของซินเจียงนั้น  เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนด้วยเหตุผล 4 ข้อใหญ่ๆ

หนึ่ง… ซินเจียงเป็นมณฑลที่มีชายแดนติดกับ 8 ประเทศ  คือ รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน อาฟกานิสถาน มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอกิสสถาน ทาจิกิสสถาน

กองทัพจีนให้ความสำคัญกับซินเจียงมากๆ  จนถึงกับสร้างทางรถไฟกว้างพิเศษที่สามารถบรรทุกรถถังและยุทโธปกรณ์หนักมาถึงได้โดยง่าย

สอง… ซินเจียงเป็นพื้นที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของจีน

สาม… ซินเจียงมีแร่ธาตุ  มีน้ำมันดิบ  ซึ่งจีนนั้นเป็นชาติที่ต้องการพลังงานมหาศาล  การพบแหล่งน้ำมันที่ซินเจียงจึงเป็นข่าวดีของรัฐบาลจีน

สี่…  ประการสุดท้ายซึ่งเป็นประการสำคัญที่สุด

ซินเจียงคือ สี่แยกของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์และนโยบายหลักของจีน

ถนนและทางรถไฟจีนจากปักกิ่งที่มาถึงซินเจียงนั้นจะวิ่งไปทางตะวันตกทะลุต่อออกไปยังเอเชียกลางและยุโรป  เป็นเส้นทางที่เรารู้จักกันในนาม “เส้นทางสายไหม”

เพียงแต่เส้นทางสายไหมปัจจุบันนี้  กลายสภาพเป็นทางรถไฟความเร็วสูงสายไชน่า-ยุโรปไปแล้ว

ที่ซินเจียงนี้ยังมีถนนใหญ่อีกเส้นหนึ่งที่วิ่งวกลงไปทางใต้  ถนนเส้นนี้จะมุ่งใต้ตรงดิ่งไปยังท่าเรือน้ำลึกในเมืองกวาดาร์ (Gwadar) ประเทศปากีสถาน

จีนเป็นผู้สร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดยักษ์แห่งนี้ไว้  พร้อมเซ็นสัญญาเช่า 50 ปีจากปากีสถาน  ท่าเรือแห่งนี้คือหนึ่งในท่าเรือสำคัญของ One Belt, One Road

ซินเจียงจึงสำคัญมากต่อยุทธศาสตร์จีน  ไม่ว่าอเมริกาหรือชาติยุโรปจะมาตอแยอะไรอย่างไร  ก็คงได้แค่ทำให้จีนรำคาญเท่านั้น

และเช่นกันกับธิเบต  จีนใช้ถนนและรถไฟนำชาวฮั่นเข้ามาถึงซินเจียง  และค่อยๆกลมกลืนผสมปนเปไปกับชาวอุยกูร์  จนคาดว่าทุกวันนี้ในซินเจียงมีชาวฮั่นอาศัยอยู่มากกว่า 40% และทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
.
.
.

จีนน้ันตั้งใจจะเป็นมหาอำนาจที่มีทางออกทะเลไปยัง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย ….เช่นเดียวกับอเมริกา ที่มีทางออกไป 2 มหาสมุทร คือ แปซิฟิกกับแอตแลนติก

การที่จีนสร้างท่าเรือน้ำลึกไว้ตามประเทศต่างๆหลายแห่ง เช่น ปากีสถาน บังคลาเทศ เมียนมาร์ ศรีลังกา เรื่อยไปจนถึงประเทศเคนยา ในทวีปแอฟริกานั้น  คือ การเปิดทางออกยังมหาสมุทรอินเดีย

เพราะเมื่อจีนมีท่าเรือน้ำลึกแล้ว  การที่จีนจะมีกองทัพเรือออกไปคุ้มครองท่าเรือและเส้นทางการเดินเรือ  ย่อมจะเกิดขึ้นได้

ส่วนทางฝั่งแปซิฟิกนั้น  จีนมีทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เป็นทางออกขนาดมหึมาอยู่แล้ว  คงยังมีแต่ญี่ปุ่นที่เป็นก้างขวางคออยู่

สิ่งเดียวที่จีนรอคอยอยู่ก็คือ “เรือบรรทุกเครื่องบิน”   เพราะการมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินจะทำให้กองทัพเรือจีนออกไปโลดแล่นได้ไกลเท่าที่ต้องการ

ปี 2017 จีนซื้อเรือบรรทุกเครื่องบินมือสองมาจากยูเครน  และใช้เป็นเรือฝึกกำลังพลนายทหารรุ่นใหม่ๆให้คุ้นเคยกับการทำงานบนเรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนกำลังเร่งผลิตอยู่ในเวลานี้

จีนตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2035  จีนจะมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมปฏิบัติงานทั้งหมด 6 กองเรือ
.
.
.
ขอจบบทความยาวเหยียดในตอนนี้ด้วยเรื่องเล่าดังนี้ครับ

วาทะอันโด่งดังของนายกรัฐมนตรีจีนโจว เอิน ไหล เกิดขึ้นเมื่อปธน.ริชาร์ด นิกสัน ตั้งคำถามแหย่ท่านว่า

“ผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศสคืออะไร? - What is the impact of the French revolution?”

ท่านโจว เอิน ไหล ตอบว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะพูด - It’s too soon to tell”

….คำตอบของท่านโจว  บอกให้เรารู้ว่า “จีนไม่เคยรีบ  แต่จีนมีวิธีที่แนบเนียนแยบยลในการทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเสมอ”….
.
.
.
ราตรีสวัสดิ์ครับ  ว่างๆก็ไปซื้อเล่มนี้มาอ่านกันนะครับ  ผมเอามาสรุปบ่อยๆ  ประเดี๋ยวนายทิม มาร์แชลคนเขียนเขาจะน้อยใจเอา  มีขายที่คิโนะคุนิยะ เล่มละ 460 บาทครับ
Cr Nat Tharapong Rungroj  

คำสำคัญ (Tags): #650802#china#geopolitics#จีน
หมายเลขบันทึก: 704798เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2022 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2022 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท