๑,๒๙๔ บัวหลวง..โคกหนองนา


จึงเป็นงานชิ้นใหญ่ ในอนาคตอันใกล้ ที่จะต้องสะสาง เรื่องราวของบัวหลวง ให้กลับคืนสภาพที่สง่างามดังเดิม เหมือนกับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์บัวหลวงที่โคกหนองนาโรงเรียนทุกวันนี้

          ณ เวลานี้ โคกหนองนาเข้ามาในชีวิตทุกวี่วัน หายใจเข้าหายใจออกเป็นโคกหนองนาไปหมด ตลอดจนสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด เพราะมีด้วยกันสองแห่ง ทั้งที่โรงเรียนและที่ดินส่วนตัว

          ต้นไม้ที่ปลูกและเติบโตอย่างหลากหลายบนโคกที่กล่าวถึง ล้วนมีความสำคัญทุกต้น แต่ที่จดจำเป็นพิเศษและอยากพูดถึงเสียเหลือเกิน คือ..บัวหลวง

          บัวไม่ได้อยู่บนโคก แต่อยู่ในนาหรือสระน้ำ มีความโดดเด่นตระการตา และมีที่มาที่ไป ควรค่าแก่การพูดถึงเสียนี่กระไร

          เริ่มจากบัวหลวงของโรงเรียน แต่เดิมไม่มีเลย และไม่ได้ปลูกด้วยแม้แต่ต้นเดียว เป็นสระใหญ่ของโรงเรียน ที่อนุญาตให้ชุมชนนำน้ำไปใช้และพักผ่อนหย่อนใจด้วยการตกปลา

          ต่อมา....ผักตบชวาเข้ามาอาศัย ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนแน่นสระ คณะจิตอาสาจากเทศบาลมาช่วยการลอกออกจนหมดเกลี้ยง เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา

          จากนั้น น้ำเริ่มลดลง จึงเกิดพงหญ้าขึ้นเป็นหย่อมๆ มองดูเหมือนเกาะย่อมๆที่มีต้นหญ้าขึ้นกระจัดกระจาย มองดูไม่สวยงามเลย

           ปี ๒๕๖๔ ฝนตกหนักหลายครั้งหลายครา น้ำที่ท่วมท้นจากนาบัวหลวงของคุณครูชญาดา พิกุลแก้ว (ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมแล้ว) ก็ไหลลอดท่อใต้ถนน จุดหมายปลายทางของน้ำคือไหลมาลงสระใหญ่ของโรงเรียน

          น้ำมิได้ไหลมาตัวเปล่า แต่นำไหลบัวหรือเมล็ดบัวมาด้วย เกิดเป็นลูกบัวหลวงต้นเล็กๆขึ้นกระจัดกระจาย ตอนแรกก็มองคล้ายๆกับว่า...จะไม่มากสักเท่าไหร่

          แต่พออยู่ไปน้ำเริ่มลดลง เจ้าบัวทั้งหลายไม่มีทีท่าว่าจะไหลกลับคืน ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาฝนจะตกจนท่วมหนัก แต่บัวก็ไม่เปลี่ยนใจ ยังคงปักหลัก ออกลูกหลานเต็มไปหมด ในช่วงเวลาเพียง ๑ ปีเท่านั้น

          ความน่ารักของบัวหลวง มิได้อยู่ที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความอดทนและแข็งแกร่ง น้ำจะมากหรือน้อยก็อยู่ได้ ต้นหญ้าที่ขึ้นรกสู้บัวหลวงไม่ได้ ต้องล่าถอยไปจนหมดสิ้น

          นี่คือความแตกต่างของบัวหลวง ณ โคกหนองนาที่โรงเรียนกับในที่ดินของผม จนเป็นความเหมือนที่แตกต่างกัน ผมกำลังหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไข เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับบัวหลวงซีซั่น ๒

          ในพื้นที่ของสระน้อย ประมาณ ๒ งาน ผมสูบน้ำเข้าไปประมาณครึ่งหน้าแข้ง จากนั้นก็นำลูกบัวหลวงจากโรงเรียนไปเปลี่ยนบรรยากาศ โดยใช้วิธีการโยนลงไป ไม่ต้องปลูกลงดินแต่อย่างใด

          ไม่ช้าไม่นาน ใบบัวก็เบิกบาน ออกดอกเริงร่ามากมายอัดแน่นจนเต็มสระ แต่เมื่อเดือนมีนาคม - เมษายนที่ผ่านมา น้ำลดฮวบ นาบัวของผมกลายเป็นนาต้นหญ้า จนมองแทบไม่เห็นบัว

          ช่วงนี้ ฝนตกลงมาแล้ว ในนาบัวของผม จึงมีปริมาณน้ำที่พอเพียง แต่บัวหลวงก็ยังอยู่เคียงข้างกับกอหญ้าต่อไป ไม่ยอมขับไล่ไสส่ง อยู่กันแบบสนิทสนมเป็นเพื่อนกันไปเสียแล้ว

          จึงเป็นงานชิ้นใหญ่ ในอนาคตอันใกล้ ที่จะต้องสะสาง เรื่องราวของบัวหลวง ให้กลับคืนสภาพที่สง่างามดังเดิม เหมือนกับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์บัวหลวงที่โคกหนองนาโรงเรียนทุกวันนี้

          บัวหลวง..โคกหนองนาโรงเรียน นับวันจะมีทีท่ามั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ไม่มีใครกล้าแตะต้อง ได้แต่มองและชื่นชมความงามอยู่ห่างๆ สมเป็นบัวหลวงจริงๆ ถ้าเป็นบัวราษฎร์สงสัยจะถูกเด็ดดมชมเล่นและทิ้งขว้างกันไปนานแล้ว

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  สิงหาคม  ๒๕๖๕    

      

  

       

หมายเลขบันทึก: 704745เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2022 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2022 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท