ชีวิตที่พอเพียง  4269. ผลร้ายของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม


 

หนังสือ The Broken Ladder : How Inequality Affect the Way We Think, Live and Die (2017)    เขียนโดย Keith Payne ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย นอร์ธ แคโรไลนา  ผู้เชี่ยวชาญด้านความเหลื่อมล้ำ    บอกเราว่าความเหลื่อมล้ำก่อผลร้ายต่อบุคคล และต่อสังคม มากกว่าที่เราคิด

สิ่งที่เราไม่คาดคิดคือ ผลร้ายมีสองชั้น   คือชั้นมาจากความยากจนขัดสนจริงๆ   กับชั้นที่เกิดจากความรู้สึกเปรียบเทียบ   ประเด็นหลังเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจริง มีผลร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ   โดยที่สาเหตุไม่ได้มีจริง แต่ตัวเราเองสร้างขึ้นจากความรู้สึก    เป็นความรู้สึกที่ตัวเราเองก็ไม่รู้ตัว     มีเรื่องราวผลงานวิจัยมากมายที่ช่วยเผยผลร้ายแบบหลังนี้   

ความรู้สึกว่ายากจน ที่เกิดจากความยากจนจริงๆ มีน้อยกว่าที่เกิดจากความรู้สึกเปรียบเทียบอย่างเทียบกันไม่ติด    และที่ร้ายคือ คนไม่ยากจน     แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ฐานะดีกว่า จะเกิดความทุกข์    อย่างนี้น่าจะเรียกว่า ผลร้ายจากความยากจนเปรียบเทียบ   

ความรู้สึกว่ายากจนส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเรามากอย่างไม่น่าเชื่อ   เช่นทำให้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น  ตัวอย่างคือการขับรถฝ่าไฟแดง  เล่นการพนัน    หลายพฤติกรรมมีผลร้ายต่อตนเอง

ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ก่อความแตกแยกทางสังคมและการเมือง    เราจะเห็นว่า ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความไม่เท่าเทียมเพิ่มสูงขึ้นในประเทศต่างๆ    นำไปสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองแปลกๆ ในประเทศมหาอำนาจ   

ที่น่ากังวลขึ้นไปอีกคือ ความไม่เท่าเทียมส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งต่อคนจนจริง  คนจนเชิงเปรียบเทียบ และคนรวย    (เขียนถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึงเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา)     ที่มีหลักฐานชัดเจนคือเรื่องความเครียด    เขามีเรื่องราวการวิจัยในลิงที่น่าสนใจมาก

หนักขึ้นไปอีก ความไม่เท่าเทียมกันด้านอำนาจ ความร่ำรวย  และฐานะ มีผลต่อการมองโลกของคนเรา    ทำให้เรามองโลกบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง    นี่ก็มีเรื่องราวผลงานวิจัยยืนยันมากมาย

ในองค์กรหรือหน่วยงาน ความไม่เท่าเทียมนำสู่ผลประกอบการต่ำ  และความไม่พึงพอใจ   

เราจึงต้องมีวิธีเอาชนะผลร้ายของความไม่เท่าเทียม    ซึ่งโดยหลักการมี ๒ แนวทาง คือ  (๑) ลดความไม่เท่าเทียม  (๒) ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น    ประเด็นหลังเป็นเรื่องทางจิตใจที่ซับซ้อน   ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า                      

วิจารณ์ พานิช 

๑๓ มิ.ย. ๖๕  ลานรอขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ 

 

หมายเลขบันทึก: 704554เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2022 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2022 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท