ชีวิตที่พอเพียง  4267. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๔๘. โจทย์วิจัยเพื่อ Transform ระบบการศึกษา


 

          ระบบบริหารการศึกษาไทยส่วนกลางล้าหลังอย่างยิ่ง    ใหญ่เกินความจำเป็น    และมีวิธีการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล    รวมทั้งไร้ความรับผิดรับชอบ (accountability)     จะเห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำมาไม่ต่ำกว่าสามสิบปี   โดยมีผู้บริหารผลัดเปลี่ยนเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยไม่มีการรับผิดรับชอบ   

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการตำหนิใคร   แต่ต้องการให้มีการ transform ระบบการบริหารการศึกษาที่ส่วนกลาง    ที่ใช้เงินมาก ใช้คนมาก แต่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา    แต่กลับมีส่วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา    แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา   

จึงขอเสนอโจทย์วิจัยเชิงระบบ   ที่น่าจะดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) ว่าด้วยการขับเคลื่อนระบบราชการแห่งอนาคต ที่มี ดร. สุวิทย์ เมษิณทรีย์ เป็นประธาน    

โจทย์วิจัยแรก คือกำลังคน และค่าใช้จ่าย ของส่วนบริหารกลางของระบบการศึกษาของประเทศเปรียบเทียบ ระหว่างของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่คุณภาพการศึกษาสูง เช่น สิงคโปร์  ฟินแลนด์  จีน  แคนาดา ออสเตรเลีย   

โจทย์วิจัยที่สอง คือเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐบาล    ที่ กสศ. เคยจัดให้มีการศึกษาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว    ในเรื่อง National Education Account   น่าจะมีการดำเนินการต่อ   เพื่อทำความเข้าใจว่า มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น   เพราะไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น   และมีค่าใช้จ่ายด้านใดบ้างที่หากมีการปรับปรุงหลักการและวิธีการใช้จ่าย    จะช่วยให้คุณภาพและความเสมอภาคของการศึกษาดีขึ้น   

โจทย์วิจัยที่สาม คือระบบการผลิตครูใหม่  บริหารวิชาชีพครู  และพัฒนาครูประจำการ     ที่เป็นระบบใหญ่และซับซ้อนมาก  ผสมผสานกันทั้งการบริหารกำลังคนของกระทรวงศึกษาธิการ    และการจัดการเชิงวิชาชีพของครู (คุรุสภา)   รวมทั้งระบบการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา   ละยังมีระบบซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ และทางการเมือง    หากไม่ทำวิจัย นำเอาสิ่งที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหล่านี้มาทำความเข้าใจเพื่อหาทางแก้ปัญหาผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยบดบังผลประโยชน์ของประเทศชาติ   ระบบการศึกษาไทยก็จะย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือย่ำเท้าถอยหลัง   เพราะโลกเขาเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไป  เราอยู่กับที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเดิม   

ที่จริง ตั้งแต่ ดร. ประวิต เอราวัณ เข้าไปเป็นเลขาธิการ กคศ. มีการริเริ่มดีๆ มากอย่างน่าชื่นชม   และทางการเมืองก็สนับสนุน  แต่ยังไม่พอ   น่าจะต้องทำความเข้าใจระบบในภาพใหญ่และซับซ้อน    เอาสิ่งที่หาผลประโยชน์ลับๆ ออกสู่ที่แจ้ง   เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด    เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งชาติ     

  โจทย์วิจัยที่สี่ คือเรื่องหนี้ครู   ที่มองจากมุมด้านปัจจัยด้านสังคมของครู   ว่าที่มาของหนี้ครูที่แท้จริงคืออะไร   เป็นการวิจัยหา root cause ของหนี้ครู    เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา     ที่ผ่านมามีแต่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

เอาแค่นี้ก่อน    เพราะแค่นี้ก็คงจะก่อศัตรูมากแล้ว     ขอชี้แจงว่า ที่เสนอนี้ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศในภาพรวม   ไม่ได้จงใจกล่าวโทษใคร       

วิจารณ์ พานิช

๒ มิ.ย. ๖๕

       

หมายเลขบันทึก: 704443เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2022 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2022 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จำได้ค่ะอาจารย์ ของประถมเคยยุบ แต่ไปเพิ่มระดับให้ส่วนหัว…ตอนนี้ในมหาวิทยาลัยก็ควรทบทวนค่ะ เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ในการทำงาน และภาระงานที่ชัดเจน เรียกว่า รื้อทั้งระบบจะสามารถทำให้ประหยัดงบประมาณค่ะ…เขียนเพื่อต้องการเห็นถึงการพัฒนาประเทศไทยจริง ๆ ค่ะ ปัญหามีมากมายค่ะ อย่าคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมค่ะ ยิ่งเป็นระบบสัญญาจ้าง ยิ่งไม่ค่อยคิดถึงส่วนรวมกันค่ะ และจะเป็นปัญหาไปเรื่อย ๆ ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท