ศิษย์เก่านักกิจกรรม (11) ครูหน่อย วงแคน เจ้าของแบรนด์ "อีสานแซบนัวร์


ครูหน่อยอาจจะไม่ใช่บุคคลที่โดดเด่นในเรื่องของการเป็น “ผู้นำองค์กร” เหมือนพี่ๆ เพื่อนๆ หรือแม้แต่น้องๆ ในองค์กร  แต่ผมก็กล้าที่จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เจ้าตัวได้อุทิศตนให้กับองค์กร (ชมรม) ไม่แพ้คนอื่นๆ  แถมยังเป็นคนประเภทใจกว้าง มีความเป็นนักเลงพอตัว รวมถึงรักองค์กรและมหาวิทยาลัยอย่างเต็มล้น

“ว่างๆ มานั่งเล่นริมโขงนำกันเด้ออ้าย...”

บ่อยครั้งที่ผมได้รับข้อความทำนองนี้จาก “หน่อย”  หรือ “คุณครูหน่อย”  -

เป็นข้อความที่ “ดีดตัวขึ้น” ในช่วงเย็นย่ำที่พระอาทิตย์จวนเจียนจะลับฟ้า ทุกครั้งที่ข้อความลอยเด่นมาทักทายก็มักจะมีภาพบรรยากาศริมโขง พร้อม “เสบียงชีวิต” อีกจำนวนหนึ่งลอยเด่นขึ้นมายั่วเย้าให้อยาก “ติดปีกบินลัดฟ้า”  หรือไม่ก็ “มุดดิน” ไปหาในบัดดล

 





คุณครูหน่อย มีชื่อจริงว่า นางสาวยุวดี เรณู  เป็นศิษย์เก่ารุ่นมฤคมาศ 9  เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเนื่องในโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม (เป่าแคน)  สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป  คณะศึกษาศาสตร์  เมื่อปีการศึกษา 2552 และสำเร็จการศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2557 เกรดเฉลี่ย 2.72

 

ตลอดระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย “คุณครูหน่อย” เป็นหนึ่งในทรัพยากรอันสำคัญของ “ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง” (วงแคน)  เท่าที่ผมรับรู้และพบเจอด้วยตนเองก็คือเจ้าตัวมักจะเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ ไม่เกี่ยงงอนว่ากิจกรรมนั้นจะ “เล็ก” หรือ “ใหญ่”  - 

จะว่าไปแล้ว มีไม่บ่อยนักที่ “วงแคน” จะมีคนเป่าแคนเป็น “ผู้หญิง”  ซึ่งครูหน่อยก็เป็นหนึ่งในนั้น




ผมมีภาพจำโดยส่วนตัวเกี่ยวกับครูหน่อยที่แจ่มชัดมากๆ นั่นคือ นิสิตที่มีบุคลิกเรียบง่าย พูดจาน้อย สงบเสงี่ยม และไม่เกี่ยงงาน หรือพูดให้ชัดก็คือเป็นคนทีมีความรับผิดชอบสูงต่อหน้าที่ในการเรียนและการทำกิจกรรมในนามของ “วงแคน”

ขณะที่ในแวดวงเพื่อนฝูงจะรับรู้ในอีกมุม นั่นคือ เป็นคนสนุกสนาน ห้าวหาญ เป็นกันเองกับเพื่อนพ้องน้องพี่ 

บุคลิกที่ว่านั้น จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มองว่าเป็นคนซับซ้อนอะไรมากมายนักหรอกนะครับ  หากแต่มองว่าเป็นคนที่รู้จักกาลเทศะต่อการเข้าสังคมเสียมากกว่า 




เช่นเดียวกับอีกแง่มุมที่ผมรับรู้ด้วยตนเองว่าครูหน่อยเมื่อครั้งเป็นนิสิตนั้นเป็นนักสังเกตการณ์ตัวยงอีกคนเลยทีเดียว  กล่าวคือเป็นคนที่ใส่ใจต่อการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัวอย่างมาก หลายครั้งที่ผมสังเกตเห็นเจ้าตัวเพ่งมองกิจกรรมนั้นอย่างเงียบๆ ในแบบใจจดใจจ่อ เมื่อประจวบเหมาะก็กระโจนลงมือทำอย่างจริงจัง 


ครั้งหนึ่งซึ่งนานมาแล้ว ครูหน่อยเคยไปออก “ค่ายอาสาพัฒนา”  ในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ”  ซึ่งในค่ายก็มีระบบ “พ่อฮัก-แม่ฮัก” เชื่อมั๊ยว่าตลอดระยะเวลาของการเรียนมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่จบไปแล้ก็เถอะ ครูหน่อยยังคงติดต่อสื่อสารกับพ่อฮักและแม่ฮักอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดต่อนิสิตในช่วงนั้นว่า “ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”




ถึงแม้ในช่วงที่มีสถานการณ์เป็นนิสิต  ครูหน่อยอาจจะไม่ใช่บุคคลที่โดดเด่นในเรื่องของการเป็น “ผู้นำองค์กร” เหมือนพี่ๆ เพื่อนๆ หรือแม้แต่น้องๆ ในองค์กร  แต่ผมก็กล้าที่จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เจ้าตัวได้อุทิศตนให้กับองค์กร (ชมรม) ไม่แพ้คนอื่นๆ  แถมยังเป็นคนประเภทใจกว้าง มีความเป็นนักเลงพอตัว  รวมถึงรักองค์กรและมหาวิทยาลัยอย่างเต็มล้น

หลายต่อหลายครั้งที่ผมและทีมงานมีการขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ไกลแค่ไหนครูหน่อยก็จะหอบหิ้วข้าวของเครื่องใช้มาสมทบอย่างต่อเนื่อง  บ้างเป็นชุดกีฬาใหม่มาด บ้างเป็นของกินของใช้  รวมถึงการนำ “ของฝาก” มาฝากบุคลากรในหน่วยงานก็บ่อย




หรือแม้แต่มีเวทีกิจกรรมร่วมระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน  ถ้าว่าง ครูหน่อยก็จะไม่อิดออดที่จะมาร่วมกิจกรรมที่ว่านี้  ซึ่งล่าสุดในเวทีบอกเล่าเก้าสิบ (คืนเหย้าชาวนักกิจกรรม)  เมื่อหลายปีก่อน ครูหน่อยก็ให้เกียรติขึ้นเป่าแคนบนเวทีประกอบดนตรีสากล คลุกเคล้าเสียงเพลงและบทกวีอย่างน่าชื่นชม



ทุกวันนี้ผมยังเฝ้ามองวิถีชีวิตของครูหน่อยอย่างต่อเนื่อง

ภาพของเด็กที่กตัญญูต่อบุพการีและเครือญาติยังคงฉายชัดอย่างไม่ตกหล่น

ภาพของการเป็นคุณครูที่อุทิศตนให้กับการเรียนการสอน  การจัดกิจกรรมเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการใส่ใจนักเรียนในแบบ “ถึงลูกถึงคน” ก็เป็นอีกภาพที่ผมประทับใจและถึงแม้จะเป็นคุณครูที่ยังไม่ได้รับรางวัลใดๆ มากมายเหมือนท่านอื่นๆ แต่ผมกลับรู้สึกชื่นชมเจ้าตัวไม่แพ้คนอื่นๆ ที่ผมรู้จัก

มีบางครั้งที่ผมแซวครูหน่อยว่าเป็น “ครูเป็ด” เพราะเป็นครูที่ทำหลายอย่างหลายสถานะ บางทีโผล่ในเวทีศิลปะ  บ้างก็กีฬา  บ้างครูวิทยาศาสตร์  บ้างก็ครูกิจกรรม และครูฝ่ายปกครอง เรียกได้ว่าหลายหน้าที่-เบ็ดเตล็ด เหมือนเป็ดที่ทำอะไรๆ ได้อย่างหลากหลายนั่นเอง 






แต่ที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัวมากๆ ก็คือ ครูหน่อยเป็นคนตื่นตัวต่อการเรียนรู้ ใช้ชีวิตแบบติดดิน รักและกตัญญูต่อคนในครอบครัวอย่างที่สุด  ดังจะเห็นได้จากการมีภาพในแบบฉบับ “คนคลั่งรักครอบครัว” ทยอยออกมาให้ชวนอิจฉาอยู่เนืองๆ  

พอๆ กับภาพการเข้าวัดทำบุญทำทานในรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา 




ในทำนองเดียวกัน ที่ผมชื่นชมมากๆ อีกเรื่องก็คือ ครูหน่อย เป็นคนไม่ยอมจำนนต่อความยากลำบากใดๆ โดยเฉพาะในวิถีของการจัดหารายได้เสริมมาหนุนเสริมชีวิตตัวเองและครอบครัว  ผมถือว่าครูหน่อยทำได้ดี ขยันขันแข็ง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและไม่ดูถูกคุณค่าของเม็ดเงิน

จึงไม่แปลกที่จะพบว่าครูหน่อยใช้เวลาส่วนหนึ่งไปเป็น “พ่อค้าแม่ค้า” อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ  ทำในแบบไม่หยุดไม่หย่อน ทำในแบบไม่อายทำกิน  ไม่ว่าจะเป็นเพาะต้นไม้ขาย  จำหน่ายน้ำปลาร้า – ปลาร้าบอง - แหนมหมู  - ผลไม้นานาชนิด  จำหน่ายกล้าข้าว ฯลฯ 

และผมก็กำลังลุ้นอยู่ว่าจะถึงขั้นจำหน่ายสากกะเบือและเรือรบด้วยหรือไม่ 555




ผลพวงของการไม่จำนนต่อกระแสธารของการใช้ชีวิต ส่งผลให้วันนี้ครูหน่อยมีแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง คือ “อีสานแซบนัวร์” อาทิเช่น ปลาร้าปรุงสุกอีสานแซบนัวร์  แจ่วบองลาวอีสานแซบนัวร์  ปลาร้าต่อนอีสานแซบนัวร์  ต้มจั้บเส้นสดอีสานแซบนัวร์  

ปัจจุบันครูหน่อย ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านหลุมข้าว สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาอุดรธานี เขต 4 และพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ศูนย์เสมารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัดอุดรธานี  พ่วงตำแหน่งทางลูกเสือ A.L.T (สามท่อน) อีกตำแหน่ง 

 



 

เขียน พุธที่ 20 กรกฎาคม 2565
ภาพ :  ยุวดี  เรณู / พนัส ปรีวาสนา

 

หมายเลขบันทึก: 704176เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2022 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2022 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท