ชีวิตที่พอเพียง  4263. ส่วนเกี่ยวข้องเล็กๆ ต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย


 

          ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เริ่มปี ๒๕๔๕    ครบ ๒๐ ปีในปีนี้    หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สปสช. จัดให้มีการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เพื่อบันทึกไว้ก่อนที่ผู้เกี่ยวข้องจะล้มหายตายจากกันไปหมด    ผมเกี่ยวข้องอยู่ปลายแถว เขามาสัมภาษณ์เก็บข้อมูลด้วย   

คนที่มีบทบาทสูงสุด คือ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ด่วนจากไปสวรรค์นานแล้ว   ตอนที่ยังทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช. อยู่   คนถัดมาน่าจะเป็น ศ. นพ. ประเวศ วะสี ตอนนี้อายุ ๙๑ ปี    สมองยังแจ๋ว แม้ร่างกายจะชราไปตามวัย   ท่านน่าจะให้ข้อมูลได้ดี ลึก และกว้างขวางที่สุด

ด้วยความจำที่ไม่ดี (ขี้ลืม) ผมมีความเห็นว่า จุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้ง สวรส. ในปี ๒๕๓๕  และ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการคนแรกอยู่สองสมัย ๖ ปี    คุณหมอสมศักดิ์ชวนคุณหมอวิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่เรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มาอยู่ที่ สวรส. และทำงานวิจัย in-house เรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจะต้องแบกรับ หากจัดให้มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า    โดยมี ศ. ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ร่วมด้วย      

จำได้แม่นยำว่า คุณหมอสมศักดิ์เคยเชิญนักวิชาการเยอรมันมาเล่าเรื่องระบบประกันสุขภาพของเยอรมัน    และได้เรียนรู้ว่าเขาเริ่มตั้งแต่สมัย Otto von Bismarck เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว   รวมทั้งรู้ประเด็นสำคัญที่ต้องตีให้แตกถ้าเราจะมีระบบนี้ของไทย    ที่ผมจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว    จำได้แต่ว่าความรู้สึกตอนนั้นของผมคือ เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม   

ที่จริงแนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพของคนยากคนจน และคนในชนบท เป็นเรื่องที่มีผู้นำของประเทศดำเนินการโครงการทดลองมาก่อนหน้านานมาก และมีหลายโครงการ   ที่จำได้ก็โครงการสารภี  โครงการอยุธยา     มาทำท่าจะเป็นจริงได้เมื่อทีมงานของ สวรส. นฎโดย นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และ ศ. นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย ดำเนินการวิจัยหาโมเดลทางการเงิน และโมเดลดำเนินการ ของระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า    เอาไปเสนอรัฐบาล แต่รัฐบาลในขณะนั้นไม่ซื้อ    รัฐบาลที่ซื้ออย่างกล้าเสี่ยงทางการเงิน คือรัฐบาลทักษิณ

ส่วนที่ผมภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์คือ เขาเห็นว่าผมมีประสบการณ์ทำงานในหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ คือ สกว.  ซึ่งเป็นสภาพที่หน่วยบริหารระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าอยากมี พรบ. จัดตั้งในลักษณะเดียวกัน (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า สปสช.)    จึงแต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง พรบ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   มีคุณหมอจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. คนปัจจุบัน เป็นกรรมการและเลขานุการ

เมื่อประชุมถึงตอนสำนักงานบริหารระบบ (สปสช. ในปัจจุบัน) ทีมยกร่างเตรียมโครงสร้างองค์กรมาอย่างดี   ผมบอกที่ประชุมว่า   ไม่ควรระบุโครงสร้างองค์กรไว้ใน พรบ.   เพราะยังไม่รู้ว่าจะทำงานอย่างไร   หลักการคือในเรื่องการออกแบบองค์กร function ต้องมาก่อน structure   คือต้องรู้ว่าจะทำงานอย่างไร แล้วจึงออกแบบโครงสร้างให้สนองตอบวิธีทำงาน   เป็นข้อเรียนรู้ที่ผมได้จาก พรบ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕   ที่ช่วยเอื้อความคล่องตัว ให้ผมบริหาร สกว. ประสบความสำเร็จ   

เข้าใจว่า สปสช. ได้รับประโยชน์มากจาก พรบ. ที่ไม่ระบุโครงสร้างหน่วยงานไว้จนขาดความยืดหยุ่น 

เมื่อถามว่าคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า    และองค์กรตระกูล ส  เป็นไปตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ผมตอบได้ไม่ดี จึงขอแก้ไขคำตอบในที่นี้    ว่าใช่   เพราะคนที่ร่วมกันริเริ่มระบบทำเพื่อส่วนรวม    ไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว    ไม่มีอัตตาตัวตนรุนแรง    จึงร่วมกันสร้างระบบองค์กรตระกูล ส ที่ร่วกันสร้างสรรค์ระบบสุขภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทั่วไป    จนเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๖๕

       

หมายเลขบันทึก: 704112เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2022 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2022 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท