ชีวิตที่พอเพียง  4262. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๔๗. Transform โรงเรียน ทั้งเขตการศึกษา


 

          การประชุมคณะอนุกรรมการแผนงานพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕  ของสำนักพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียน กสศ.    เกิดจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์สำคัญ    ในระดับผุดบังเกิด (emergence) ในสังคมไทย      

ที่ประชุมเห็นโอกาสหนุนให้ทีมโค้ชของเขตพื้นที่ประถมศึกษาสุรินทร์เขต ๒   ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ได้บรรลุฝันของตน    คือได้ขยายการเปลี่ยนวิธีทำงานของโรงเรียนจาก ๑๒ โรงเรียนนำร่อง   สู่โรงเรียนทั้งหมดในเขต จำนวน ๒๑๘ โรงเรียน    ตามที่ทีมโค้ช (ซึ่งทุกคนเป็น ศน.) ได้เสนอไว้ในวง DE ปลายน้ำปีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ท่านรองเลขาธิการ กพฐ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ได้โอกาสรับลูกทันที    ว่าจะคุยกับ ผอ. เขตพื้นที่ประถมศึกษาสุรินทร์เขต ๒ เพื่อขับเคลื่อนให้ฝันดังกล่าวเป็นจริง    และจะลงนามความร่วมมือกับ กสศ. และเขต ๒ สุรินทร์    ในการสนับสนุนให้เขตพื้นที่ประถมศึกษาเขต ๒ สุรินทร์ดำเนินการยกระดับคุณภาพตามแนวทางโรงเรียนพัฒนาตนเอง    โดยทีม ศน. ของเขตพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการหลัก   ท่านบอกว่าจะลองคุยกับเขต ๑ ด้วย       

   ผมเสนอให้ กสศ. เตรียมแผนงานนี้    เพื่อร่วมมือกับ สพฐ. ในการสนับสนุนให้เขตพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนในความรับผิดชอบของตนเองได้สำเร็จ    เป็นตัวอย่างแก่เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ในจังหวัดอื่นๆ ของปะเทศ

โดย กสศ. ควรเตรียมประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนใน ๑๒ โรงเรียนนำร่อง ของเขตพื้นที่ประถมศึกษาที่ ๒ สุรินทร์   เพื่อเตรียมนำออกสื่อสารสังคมว่า เด็กนักเรียนได้รับผลประโยชน์อย่างไรจากวิธีการจัดการศึกษาเชิงรุกแนวใหม่ ของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง   

การสื่อสารสังคมดังกล่าว ควรให้ผู้ปกครองนักเรียน ตัวนักเรียนเอง  ครู  ผู้อำนวยการโรงเรียน  และศึกษานิเทศก์ เป็นผู้สื่อสารตามประสบการณ์ตรงของตน   เพื่อให้ผู้รับสารได้เห็นผลตามบริบทจริงของพื้นที่    และจากตัวจริงเสียงจริงของผู้เกี่ยวข้อง    ไม่ใช่จากข้อสรุปของนักวิชาการ   

เพื่อสร้างเจตคติของผู้คนวงกว้างว่า   คนที่ทำงานในระบบการศึกษาไทยสามารถพัฒนางานของตนเอง ให้นักเรียนได้รับประโยชน์โดยตรงได้    หากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องเหมาะสม    

บ่ายวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ในวง AAR การจัด workshop active learning แก่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น   มีการเอ่ยถึงผู้อำนวยการโรงเรียนปลายทางของครูรัก(ษ์)ถิ่น ยังไม่เป็น academic leader   ยังไม่รู้จัก active learning   ผมจึงเสนอให้ กสศ. จัดวง PLC ผอ. โรงเรียน    โดยเลือก ผอ. ในโครงการ TSQP ที่มีประสบการณ์เป็นผู้นำทางวิชาการของโรงเรียนมานานหลายปี   รวมตัวกันทำหน้าที่โค้ช หรือ facilitator   รับสมัคร ผอ. โรงเรียน ๓๐ - ๕๐ คน ที่ต้องการ transform โรงเรียนของตนตามแนว TSQP   และยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดว่าจะร่วมทำงานต่อเนื่องตลอด ๑ – ๒ ปีการศึกษา   โดยมีรายละเอียดของเงื่อนไข   มาเข้าวง PLC ที่มีทั้ง onsite  และ online

วงทำนองเดียวกันนี้ ควรทำให้แก่ สพป. สุรินทร์ เขต ๒ ด้วย   เพื่อหนุนการขับเคลื่อนของตัว สพป. เอง

นอกจากนั้น ผมเสนอต่อ วสศ. ให้คิดโจทย์วิจัย เพื่อสนับสนุน  management transformation ของ สพป. สุรินทร์ เขต ๒ ด้วย    ในลักษณะของ operation research + developmental evaluation    

วิจารณ์ พานิช

๓๑ พ.ค. ๖๕

 



ความเห็น (2)

Transform โรงเรียน ทั้งเขตการศึกษาอ่านแล้วตื่นเต้นค่ะ ขอให้สำเร็จโดยเร็ว

ต้องขอขอบคุณท่าน ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช อย่างยิ่งค่ะ หลายปีมานี้ได้รับทราบแนวคิดทางการศึกษาที่ท่านได้มีโอกาสสื่อสาร และร่วมทำ เป็นผู้นำทางความคิดมาตลอด อย่างที่ไม่มีนักวิชาการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาของ ศธ. ทำได้ ถ้าไม่ได้ติดตามจาก โกทูโน ก็จะไม่ค่อยทราบ หรือไม่กระจ่าง ทำไม ศธ. ไม่สามารถสื่อสารสิ่งดี ๆ ต่อสังคมแบบนี้บ้างเลย การสื่อสารที่ดีจะทำให้สังคมเข้าใจและร่วมมือ

ผู็บริหารของ ศธ. เขียนแบบนี้ไม่ได้หรอกครับ ท่านไม่มีอิสระอย่างที่ผมมี
วิจารณ์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท