(เปิด)ค่าย ปนน. อาสาแนะแนว ครั้งที่ 52


ชมรมประสานงานนักศึกษาเพื่อน้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ปนน.มข.)  จัดกิจกรรมค่าย ปนน. อาสาแนะแนวครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565  ณ โรงเรียนนางิ้ววิทยาสรรค์ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น 

ในฐานะที่ปรึกษาชมรม จึงเดินทางไปร่วมพิธีเปิดในเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 กลับมาจึงได้เขียนบันทึกของการไปพบเรื่องราวของ “ค่าย”  คงไม่ได้สาระแก่นสารมากนัก เนื่องจากไม่ได้เป็นคนทำค่ายแล้ว ไปเพียงผิวเผิน ก็คงเห็นอะไรไม่มากเท่า “คนค่าย” 

 

ค่าย ปนน. อาสาแนะแนว ครั้งที่ 52 นี้ลากยาวมาเพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาดยาวนาน เตรียมการแล้ว ได้สถานที่แล้ว เป็นอันต้องเลื่อน เลื่อนแล้ว เป็นอันต้องยกเลิก จากนั้นก็ล่วงเลยมา 2 ปีที่ไม่ได้ทำค่าย เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ก็ตั้งใจจะจัด ประสานงานกับโรงเรียนเรียบร้อย เตรียมการกันไปต่าง ๆ นานา กะว่าเปิดเทอมมาชาว ปนน.มข. จะออกไปเรียนรู้โลกกว้าง กับค่าย'52 ปรากฏว่า โรงเรียนขออนุญาตยกเลิกเนื่องจากมีภารกิจอื่น ประธานชมรม ฯ และกรรมการจึงเฟ้นหา ขอความอนุเคราะห์โรงเรียนที่เคยสำรวจที่สำรองไว้ขอไปจัดกิจกรรม ก็ลุ้นกันว่าโรงเรียนจะกรุณาไหม เมื่อโรงเรียนตอบรับ ก็รีบกลับมาตั้งหลัก ระดมทุน วางแผน ปรับแผน แล้วเดินหน้าต่อ  ขลุก ๆ ขลัก ๆ ก็เป็นธรรมดา แถมเป็นค่ายพิเศษที่ต้องปรับแผนเพราะเปลี่ยนแปลงสถานที่ ปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็ย่อมต้องใช้ "พลัง" มากขึ้นเป็นเท่าตัว ... ที่ปรึกษาชมรมอย่างผม ทำได้เพียงถามข้อมูลเท่าที่ได้ ให้คำแนะนำเท่าที่มีปัญญา (อันน้อยนิด) และแล้วก็ถึงวันเปิดค่าย การเตรียมการต่าง ๆ เริ่มเป็นผล เสียงกลองปะทะเสียงร้องเพลงประกอบต้อนรับชาวค่ายในช่วงเช้าทางเข้าโรงเรียน เป็นสัญญาณหนึ่งของความมันในค่าย ... 

พี่ฟิล์มต้นเฌอ ฝาเมท ห้อง 12/302 นอกจากประธานชมรม ฯ และประธานค่าย ก็ต้นเฌอนี่แหละเป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญของค่าย เป็นเสมือนผู้จัดการที่รอบคอบ ประสานงานคล่องแคล่วฉับไว ทันการณ์ (แต่ออกขี้บ่นสักหน่อย) ... ไหนอาจารย์บอกว่าไม่มาค่าย ประชุมกันไปหมดแล้วว่าที่ปรึกษาชมรมไม่มา ... ผมก็ได้แต่ยิ้มเช่นเคย เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา  ผมคิดโดยส่วนตัวว่าไม่ใช่คนสำคัญอะไรของค่ายในเบื้องหน้า เป็นเพียงเบื้องหลังที่มีหน้าที่ "สนับสนุน" ให้ลุล่วง ไม่ได้ไปอยู่ในค่ายหรือข้างหน้าก็ไม่ผิดอะไร พี่ต้นเฌอก็วิ่งวุ่น หมุนวนรอบค่าย เป็น controler ที่ดี 

พี่มาร์ค ประธานชมรม ปนน. '65 ที่ดำรงตำแหน่ง ไม่ถึง 3 สัปดาห์ ก็ต้องลาออก เพราะไปดำรงตำแหน่งอุปนายก อน.มข. (ลูกชายสุดที่รักอาจารย์นั่นแหละ-เสียงของต้นเฌอที่พูดย้ำเสมอเมื่อเจอหน้า) พี่มาร์คพูดว่า "ไหนอาจารย์บอกมาร์คว่าจะไม่มา มาร์คดีใจมากที่อาจารย์มาค่ายวันนี้" พี่มาร์คก็เป็นกำลังสำคัญอีกคนที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของประธานชมรม ฯ และประธานค่าย (สงสัยรับผิดชอบความเป็นประธาน 3 สัปดาห์) 

ยืนคุยกับประธานชมรม ฯ ข้างถนน กับเหรัญญิกข้างหอประชุม ไม่ได้บันทึกภาพไว้ แต่ก็ถามไถ่ข้อมูล ให้คำแนะนำ เงินค่ายที่มาจากน้ำพักน้ำแรง การระดมทุนในหลากหลายรูปแบบ ผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนมากน้อยตามกำลัง ทั้งทุนทรัพย์ สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค รวมมูลค่ามากกว่าทุนที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้กว่า 6 เท่า (มข. สนับสนุน 26,400 บาท) เด็ก ๆ เก่ง ขยัน และมานะมาก แม้จะยากลำบากก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ ถือเป็น "บทเรียนอันสำคัญ" ในการทำค่าย ...

#เลือดสีอิฐพิชิตผองภัยหาญกล้าสมนามมหาวิทยาลัยของไทอีสานอนาคตไทยใหม่อีกไม่นาน เสียงเพลงชื่นบาน เสียงแคนเร้าเร่งให้เรามั่นใจ 

ประธานในพิธี รองผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวประโยคต้นนำสู่การกล่าวเปิดค่าย แต่หากเป็นคนมอขอไข่จะรู้ถ้วนทั่วกันว่านั่นคือตอนหนึ่งของเพลงมอดินแดง 

รอง ผอ. ท่านเรียน มข. รหัส 39 จากคณะศึกษาศาสตร์ ท่านจึงจำเนื้อเพลงขึ้นใจ เรียกเสียงปรบมือจากพี่ ๆ นักศึกษาทั่วทั้งหอประชุม 

ระหว่างนั่งข้างกันที่โซฟา ท่านก็สอบถามข้อมูลจากผมหลายเรื่อง ที่สำคัญกว่า ท่านสอบถามข้อมูลจากน้อง ๆ นักศึกษาหลายเรื่องแล้วก็เล่าให้ผมฟัง แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แสดงถึงว่าท่านให้ความสำคัญและสนใจกับค่าย ทั้งในฐานะผู้บริหาร ในฐานะครู และฐานะศิษย์เก่า มข. ระหว่างฟังท่าน ผมจับใจความได้ไม่มาก เพราะกำลังอินกับท่อนขึ้นต้นก็เพียงพอแล้ว 

ผมเป็นพวกไม่ค่อยชอบพิธีรีตองมากนัก (แต่ก็ถูกมอบหมายให้อยู่ฝ่ายพิธีการเสมอเสมือน) ทีแรกผมนั่งเก้าอี้ฝั่งนักศึกษา แต่รอง ผอ. ให้คุณครูไปเชิญผมมานั่งโซฟา เคยมีบางค่าย โรงเรียนไม่รู้ว่าผมไปค่าย ผมนั่งเนียน ๆ กับนักเรียนที่พื้น ก่อนจะถูกเชิญไปกล่าวที่หน้าเวที 

ท่านรอง ผอ. ชมว่า พิธีกรชายปี 2 หญิงปี 3 น้ำเสียงดี พูดจาคล่องแคล่ว ใช้ภาษาได้เยี่ยม ... เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ท่านรอง ผอ. เล่าว่า บรรจุครั้งแรกที่นี่ และอยู่ที่นี่มาตลอดจนได้เป็นรอง ผอ. ... ได้เห็นพัฒนาการของโรงเรียนมาอย่างยาวนาน ก็น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของการศึกษาในพื้นที่ให้งดงาม สมตามความฝัน ความหวัง และอุดมคติในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ต้องขออภัยทางโรงเรียน ที่ผมเป็นผู้ไม่ค่อยคุ้นชินกับการพูดคุยกับคนแปลกหน้าเท่าใดนัก ไม่ค่อยเป็นผู้มักเจรจาพาทีหากไม่รู้จักมักคุ้น (ถ้ามักคุ้นก็เข้าขั้นพูดมาก) 

ค่ายอาสาแนะแนวครั้งนี้ ก็คงดำเนินไป หวังว่าจะงดงาม ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายครับ 

เห็นป้ายกลุ่ม ก็เลยไปยืน ๆ หยิบ ๆ ดู น่ารักดี พี่ ๆ ค่ายประจำกลุ่ม ทำเตรียมไว้มอบให้น้องนักเรียน 

ระหว่างเวลาก่อนพิธิเปิดค่าย ก็ไปเดินด้อม ๆ มอง ๆ ที่โรงครัว (ชั่วคราว) อาจดูรก ๆ หน่อย ก็นี่แหละค่าย แถมฝนตกตลอดวันคืน ทำให้เฉอะแฉะไปหมด ... สอบถาม ทักทายแม่ครัว (รุ่นพี่ศิษย์เก่าทั้งนั้น) เมนูวันนี้ได้อะไรกินน้อครับ??? 

ไปร่วมพิธีเปิดค่าย ตอนท้ายก่อนกลับ ก็มายืนคุยกับประธานชมรม พี่โฟร์ท ปี 4 ที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีที่หอประชุม ประธานค่ายทำหน้าที่ไป ประธานชมรมขออยู่ห้องครัว จึงได้สอบถามได้ข้อมูลน่าสนใจว่า มีปัญหาอยู่บ้าง 

ไม่มีรถยนต์ใช้ในค่าย ไปตลาดด้วยมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก แต่หากจำเป็นต้องแจ้งครูล่วงหน้าถ้าจะขอใช้รถยนต์ ข้าวสารก็เกรงจะไม่พอต้องหาซื้อมาเพิ่ม ห้องน้ำไม่สะดวกเพราะน้ำไหลช้า เวลาอาบน้ำพร้อม ๆ กันน่าจะลำบาก เสื่อก็มีน้อย เพราะยืมมาได้ไม่มาก วัดต้องใช้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พี่ค่ายยังทำงานได้ไม่ลงตัว มีความเห็นไม่ตรงกัน ... 

ที่ปรึกษาก็ให้คำแนะนำ แต่ไม่รู้จะใช้แก้ปัญหาได้จริง มากน้อยเพียงใด เพราะไม่ได้พักอยู่ค่ายด้วย แต่ก็ให้แนวคิดไป ข้าวสารต้องซื้อไว้เยอะ ๆ หุงข้าวเผื่อคนค่ายอย่า "ขี้ถี่ข้าว" คนหิวแล้วไม่มีกินมันจะลำบาก อยู่ค่ายลำบากอยู่แล้ว แต่อย่าขาดข้าว ซื้อไข่มาไว้สำรอง กับข้าวไม่พอ ไข่ก็น่าจะช่วยแก้ไขได้ไวที่สุด ปัญหาน้ำใช้น้ำอาบไม่พอก็หาภาชนะใหญ่มา "ต่ง" ไว้ จะได้เปิดน้ำสำรองไว้ใช้ เพราะจะมีผลกระทบเวลาอาบน้ำพร้อม ๆ กัน ถ้าใช้เวลาอาบน้ำนาน อาจกระทบตารางกิจกรรม เรื่องเสื่อก็ไปยืมใหม่ เพราะวัดใช้งานเสร็จแล้ว ขอความเมตตาหลวงพ่อหลวงตา ส่วนเรื่องปัญหาการทำงาน แบ่งงานและความเห็นต่าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ แบ่งปัน ประคับประคอง และรับฟังกันและกัน พี่ค่ายก็ใหม่ ๆ ทั้งนั้น เพราะไม่ได้ออกค่ายมา 2 ปี ก็ขาดช่วง ขาดประสบการณ์ มีอะไรก็ต้องค่อย ๆ พูดค่อย ๆ จากัน อย่าใช้อารมณ์ อย่าด่าอย่าว่ากัน ต้องค่อย ๆ ฟังกัน ค่อย ๆ พูดคุยกัน คิดต่างไม่ผิด ดูแลกันไป ไม่กี่วันก็จบค่ายแล้ว .... คำแนะนำนี้ ไม่รู้ว่าถูกวิธี ถูกหลักการ หรือเป็นหลักกูกันแน่ 

บอกย้ำกับประธานชมรมว่า ค่ายมันมาอยู่แล้วต้องลำบาก ถ้าอยากสบายก็อยู่ที่หอพักที่มหาวิทยาลัย มาค่ายมันมาแล้วลำบาก แต่ลำบากแบบสุข ๆ ทุกข์ ๆ นี่แหละ เพื่อเรียนรู้ ถ้าไม่ลำบากก็ไม่ใช่การมาออกค่าย ให้ฝึกปฏิบัติทั้งกายใจ ... 

ค่ายนี้ พี่ ๆ ปี 3 เยอะมาก นักเรียนประมาณ 180 คน พี่นักศึกษาประมาณ 80 คน 260 ชีวิตที่อยู่ร่วมค่าย ความบันเทิงย่อมเกิดขึ้น 

ผมกล่าวในช่วงพิธีเปิดอยู่สามสี่เรื่อง 

ขอบคุณโรงเรียนที่กรุณาให้โอกาสให้พวกเราชาว มข. มาเรียนรู้จากห้องเรียนห้องใหญ่ที่นี่ 

ขอบคุณคณะครูที่เสียสละเวลาวันหยุดยาวมาอำนวยความสะดวก จึงต้องกล่าวขออภัยที่ต้องรบกวนวันพักผ่อน 

ขอบคุณนักศึกษา นักเรียน ที่สละเวลาอยู่สบายมาค่ายอันแสนลำบาก ฝ่าฝนมาแต่เช้าตั้งแต่วันเริ่มค่าย และฝากขอบคุณผู้ปกครองที่อนุญาตให้มาร่วมค่าย

ขอบคุณชุมชนที่ให้พวกเราลงพื้นที่เรียนรู้ และขอแผ่ข้าวสาร วัดที่ให้ยืมอุปกรณ์ต่าง ๆ 

บอกพี่ค่ายว่า เรามาทำค่ายครั้งนี้ เป็นค่ายแรกของการเปิดเทอม เป็นค่ายแรกหลังโควิดระบาด ห่างหายกันไปสองปี จึงเป็นค่ายที่อาจจะขลุกขลักค่อนข้างมาก เพราะพี่ค่ายก็เป็นสมาชิกใหม่เกือบทั้งสิ้น ก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป

บอกนักเรียนว่า ค่ายนี้ถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากพี่ ๆ ที่สำคัญคือแรงบันดาลใจเป็นที่ตั้ง การเรียนต่อที่ มข. เป็นเป้าหมายเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เรียนจบ ม.6 จะไปเรียนต่อที่ไหนก็ได้ตามความสนใจ หรือไปประกอบอาชีพอื่นใดก็ตามประสงค์ แต่ค่ายนี้เป็นค่ายที่พี่ ๆ จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ 

วันแรกก็จะผ่านไปอย่างช้า ๆ ดูน่าเบื่อ แต่วันสุดท้ายแทบจะไม่อยากจากลากัน ขอให้ฉวยโอกาสนี้ไว้ให้มาก ๆ 

 

 

14 ก.ค. 65

หมายเลขบันทึก: 704044เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท