๙๘๒. การปรับตัวทางการศึกษา


การปรับตัวทางการศึกษา

เช้าของวันนี้ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕…ได้อ่านเรื่องจากรุ่นพี่ที่อยู่ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยดังส่งมาในกลุ่มให้อ่านถึงที่ว่า…มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็น “มหาวิทยาลัยตลอดชีวิต”แล้ว โดยจะดูแลประชากร ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับปริญญาตรี ๔ ปี และปริญญาโท - เอก…แต่จะดูแลประชากร และคอย Update ทักษะ ความรู้ให้ประชากรได้เรียนรู้และทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ลูกค้า หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่จะขยายออกไปได้อีกมากมาย

โดยมหาวิทยาลัยจะต้องคอยออกหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อให้เด็กที่จบการศึกษาไปสักระยะหนึ่งนั้น สามารถกลับมา Upgrade หรือ Up ความรู้ ทักษะ ได้อีกเรื่อย ๆ โดยมหาวิทยาลัย NUS สามารถกระทำได้กับศิษย์เก่า สามารถกลับเข้าไปเรียนเพื่อเพิ่มทักษะได้ฟรี ๒ Modul ภายใน ๓ ปี ซึ่งก็จะทำให้ได้ลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นลูกค้าเก่า กลับเข้าไปใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ…ถ้าหากสะสมคอร์สให้เหมาะสม จนครบตามมาตรฐาน สามารถเปลี่ยนไปเป็นปริญญาได้ เช่น ปริญญาตรีใบใหม่ หรือปริญญาโทในสาขาต่าง ๆ ได้เช่นกัน เป็นไปภายใต้มาตรฐานที่สูงของประเทศสิงคโปร์

รัฐมนตรีศึกษาธิการของสิงคโปร์ บอกว่า ในยุคแห่งการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หรือยุค Industry ๔.๐ การศึกษาแบบเดิม มหาวิทยาลัยแบบเดิม กำลังจะล้าสมัย จึงต้องรีบปรับตัวด่วน…ซึ่งสิงคโปร์มีแผนการปฏิรูปมหาวิทยาลัย เน้นการสร้างผลกระทบต่อผู้เรียนมากกว่าเกรด ผลิตคนที่หลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน และเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต เช่น

๑. Experiential learning เปลี่ยนการเรียนรู้แบบทฤษฎีในห้องเรียน มาเป็นการฝึกฝนประสบการณ์ ผสมผสานการทำงานจริง แก้ปัญหาจริง เพราะความรู้มันหาได้ง่ายมาก มหาวิทยาลัยในอนาคตจะมีลักษณะ เรียนไป ทำงานไป เป็นผู้ประกอบการไป

๒. Promote digital literacy เด็กสิงคโปร์ต้องอยู่ในโลกยุคการค้าแห่งดิจิทัลได้ มีทักษะ Computational Thinking (น่าจะเป็นทักษะด้าน Data Science)

๓. Diversify higher education pathways เพิ่มความหลากหลายของอุดมศึกษา เด็กสามารถเลือกเส้นทางตามความสนใจ และจริตของตน มีสายอาชีพหลากหลาย แนะนำเส้นทางต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก (ให้รู้ตัวเองว่าชอบและถนัดอะไร ให้เร็วที่สุด)

๔. Encourage lifelong learning ยุคต่อไปคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และมหาวิทยาลัยต้องคอยติดตาม คอยตอบสนอง ว่าคนที่จบไปแล้วอยากกลับมาเรียนอะไร

๕. Broadening the role of universities อันนี้ผมว่า มันคล้ายๆ หลายๆ ธุรกิจที่ปรับตัวนะ เช่น ธนาคาร หันมาทำเรื่องอื่นๆ นอกจากรับฝากกู้เงิน ปตท. หันมากาแฟ .. มหาวิทยาลัย ก็ทำแค่สอน-วิจัย ไม่ได้แล้ว ต้องเพิ่มเติมบทบาทตัวเองให้มากขึ้น ไม่งั้นก็อยู่ไม่รอด

อย่างเช่นตอนนี้ มหาวิทยาลัย NUS ของสิงคโปร์ มีโปรโมชั่น สำหรับศิษย์เก่า สามารถกลับเข้าไปเรียนเพิ่มทักษะได้ฟรี 2 โมดูล ภายใน 3 ปี ซึ่งก็จะทำให้ได้ลูกค้าใหม่ (ที่เป็นลูกค้าเก่า) กลับเข้าไปใช้บริการ

จากบทความข้างต้น…ผู้เขียนมีแนวคิดเห็นด้วยตามข้างต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศไทยต้องปรับตัว โดยไม่ใช่หวังเช่นได้นักศึกษาจากเด็กที่จบชั้น ม.๖ เพียงเท่านั้น…ในการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรต้องมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์เช่นข้างต้น สามารถทำได้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย วิสัยทัศน์ของคนเป็นผู้บริหารที่จะนำพาให้คนในมหาวิทยาลัยช่วยกันคิด พัฒนาหลักสูตร เพื่อรองรับการศึกษาในอนาคตที่จะได้รับการเรียนรู้ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวเองให้รู้และเท่าทันกับความรู้ในระดับโลกให้ได้ มิใช่ปล่อยผ่านรอเด็กที่จบเพียงชั้น ม.๖ เท่านั้น

แม้แต่การพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ก็เช่นกัน ต้องมองถึงหลักสูตรที่จะต้องนำมาพัฒนาให้บุคลากรในองค์กรได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาการ หรือสายสนับสนุน สามารถหาลูกค้าได้จากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ได้รับการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ Update ความรู้จากเดิมที่เป็นความรู้ ณ เวลาหนึ่ง หลักสูตรในช่วงเวลาหนึ่ง สถานการณ์หนึ่ง เหตุการณ์หนึ่งนั้น สามารถ Update ความรู้ และทักษะให้ได้รับการพัฒนาขึ้นได้ นี่คือ การคิดขยายตลาดของการศึกษา เหตุที่ผู้เขียนคิดแบบนี้ เนื่องมาจากผู้เขียนเองสังเกตตัวเองตั้งแต่ทำงานทางด้านการศึกษา และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ ตนเองได้เรียนรู้จากการจบจากมหาวิทยาลัย และได้เรียนรู้จากแหล่งของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ คือ สำนักงาน ก.พ. ที่ต้องการให้คนทำงานภาครัฐได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ตลอดจากการบรรจุเข้ารับราชการมาเกือบ ๓๔ ปี ก็ยังมิเคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้เลย จึงเข้ากับความหมายว่า การศึกษาตลอดชีวิต

ทำให้เห็นว่า การเรียนรู้มิใช่เพียงแค่จบเฉพาะการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก แต่การศึกษานั้นสามารถ Up ความรู้ Up Skill ของตนเองให้ได้รับความรู้ที่ได้เกิดการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา ทำให้สามารถนำความรู้ที่ตัวเราเองได้ Update ขึ้น นำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการคิด การเรียนรู้ การใช้ชีวิต การทำงานของตัวเราเองให้มีประสิทธิภาพ และคุณมากยิ่งขึ้น ทำให้แสดงถึงการปรับเปลี่ยนตัวเองในเรื่องของความรู้ ให้รู้ทันสังคม ทันโลกได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เกิดการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก เพราะปัจจุบันเป็นยุคของการมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท สำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เมื่อโลกเปลี่ยน…สำหรับตัวเราเองก็ควรปรับเปลี่ยน และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับความรู้ที่เปลี่ยนแปลงนั้น การเปลี่ยนแปลงนั้น มีส่วนสำคัญต่อเวลามาก ยิ่งตัวเราปรับตัวเราเร็วมากขึ้นเท่าไร ก็ทำให้เราใช้เวลาให้มีประโยชน์มากขึ้น เสมือนการแข่งขัน ทำให้เราได้เปรียบกับคู่แข่งขันมากขึ้น…ซึ่งการมองแบบนี้ เป็นมุมมองของการเป็นผู้บริหาร ผู้นำองค์กร และบุคลากรทุกคนในองค์กรควรเข้าใจ และมีวิสัยทัศน์มองเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ทางด้านการศึกษา ที่ตัวเราควรที่จะปรับเปลี่ยนตัวของเราเองให้ทันโลกมากยิ่งขึ้น อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กร แต่ก็ควรที่จะเริ่มต้นของการปรับตัวเองทางด้านการศึกษาค่ะ…เพราะหากปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตโลกจะเห็นถึงคนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพทางด้านการศึกษาที่มีการพัฒนาแล้วมากขึ้นค่ะ

เขียนขึ้นเพื่อ…แค่ต้องการเห็นการปรับเปลี่ยนการพัฒนาทางด้านการศึกษา นับจากที่ทำงานด้านการศึกษามาตลอดชีวิตของการรับราชการค่ะ…จากใจของคนมีหัวใจของนักพัฒนาที่เดินตามรอยเท้าพ่อ (รัชกาลที่ ๙)

************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาในบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท