ชีวิตที่พอเพียง  4248. KM 5.0


 

 

KM 5.0 สำหรับสังคมยุค 5.0    ยุค 5.0 คืออะไร  คงจะแล้วแต่จะตีความ    ผมขอตีความว่า หมายถึงสังคมยุค VUCA  หรือยุค BANI (https://www.coachforgoal.com/blog/topic/จาก-vuca-world-สู่-bani-world)    ที่คนทุกคนต้องเป็น “นักจัดการความรู้ 5.0”     

ผมตีความว่า การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างความรู้ และสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติ    เป็นการให้ความสำคัญต่อ “ความรู้ฝังลึก” (tacit knowledge) ในคน และในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน   

“นักจัดการความรู้ 5.0” สามารถพัฒนาประสบการณ์สู่การเรียนรู้ได้หมด  และได้อย่างทรงพลัง    คือไม่ใช่แค่เรียนรู้เชิงวิธีการหรือเทคนิคเท่านั้น    ยังเรียนรู้สู่การพัฒนาทฤษฎีได้ด้วยตนเอง      

มนุษย์ได้สร้างทฤษฎี หรือหลักการว่าด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการปฏิบัติ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง    เครื่องมือสำคัญ ๒ เครื่องมือ คือ Kolb’s Experiential Learning Cycle  กับ Double-Loop Learning    จะเป็นกลไกสู่ KM 5.0    ซึ่งหมายถึง การจัดการความรู้สู่การสร้างทฤษฎีใหม่   และสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่  

 

Benefits of Experiential Learning & Kolb's Learning Cycle for Training

ตามไดอะแกรมข้างบน Kolb’s Experiential Learning Cycle เริ่มจาก “ประสบการณ์ตรง” (concrete experience)    ที่นำสู่ การ “สังเกตผลพร้อมกับสะท้อนคิด” (reflective observation)    ที่เป็นทักษะสำคัญต่อการเรียนรู้จากการปฏิบัติ     คือต้องช่างสังเกต และช่างคิดไปพร้อมๆ กัน    ในลักษณะทำไป สังเกตไป และสะท้อนคิดไป    นำสู่ขั้นตอนที่ ๓ คือ สร้างหลักการหรือทฤษฎี (conceptualization) จากการปฏิบัติ    ต้องไม่แต่สะท้อนคิดสู่การเรียนรู้วิธีการหรือเทคนิคเท่านั้น    ต้องกล้าสะท้อนคิดสู่ทฤษฎีใหม่หรือหลักการใหม่   หรือสู่การปรับปรุงทฤษฎีที่มีอยู่เดิม อย่างน้อยก็ในบริบทของตัวเราเอง    โดยที่ตนเองเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งต่อทฤษฎีที่ตนเองคิดขึ้น    นำสู่ขั้นตอนที่ ๔   คือการนำทฤษฎีใหม่นั้นไปลองใช้ (active experimentation)     เพื่อตรวจสอบในสถานการร์เดิม ว่าให้ผลดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่   หรือนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าใช้ได้ผลหรือไม่   

คนที่มีฉันทะ และวิริยะ ต่อการหมุน Kolb’s Experiential Learning Cyclc คือนักจัดการความรู้ตัวจริง    หรือ “นักจัดการความรู้ 5.0” 

 

Double Loop Learning for Surviving & Thriving

 

 

Double-Loop Learning เป็นอีกอวตารหนึ่งของ “การจัดการความรู้”     เพื่อสร้างและใช้ความรู้จากการปฏิบัติ      ที่ใช้ผลจากการปฏิบัติเป็น “ข้อมูลป้อนกลับ” (feedback) เพื่อการปรับปรุงไม่เฉพาะปรับปรุงเทคนิคหรือวิธีทำงาน (single-loop learnig) เท่านั้น   ยังใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับสู่สมมติฐาน (assumption) หรือทฤษฎี (theory) ที่ใช้    เพื่อการเรียนรู้เชิงทฤษฎี (double-loop learning)  หรือเพื่อเปลี่ยนความเชื่อ (mindset change)    ที่เป็น transformative learning ได้ด้วย      

 

Double-Loop Learning จึงเป็นเครื่องมือของ “การจัดการความรู้ 5.0”   คือไม่เพียงจัดการความรู้เชิงปฏิบัติเท่านั้น   ยังจัดการความรู้เชิงทฤษฎีหรือเชิงหลักการด้วย    เช่นเดียวกันกับ Kolb’s Experiential Learning Cycle   

การจัดการความรู้ 5.0    เป็นเครื่องมือให้เกิดพลังการคิดไปข้างหน้า (feed-forward)    และสู่พลังการเปลี่ยนแปลงระดับ transformation   

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 703256เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2022 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2022 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท