บ้านในป่าจาก: เกริ่นนำก่อนลงแรงสร้างบ้าน


บ้านคือปัจจัยการดำรงชีวิตที่จำเป็น

บ้านคือหนึ่งใน “ปัจจัยการดำรงชีวิตที่จำเป็น” เมื่อกล่าวถึงคำว่า “บ้าน” เรามักมองไปที่อาคารใหญ่น้อยที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่บ้านจำนวนหนึ่งอาจไม่ใช่อาคารแบบนั้นก็ได้ หากย้อนอดีตไปในยุคโบราณและร่องรอยจากยุคโบราณที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน 

ในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ยังสืบสานชีวิตแบบดั้งเดิม เราเรียกเขาว่า "ซาไก" แต่กลุ่มคนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “มันนิ” กลุ่มคนชาวมันนิมีบ้านเป็นเพียงเพิงพักสำหรับอาศัยเท่านั้น ขณะที่ชนเผ่าฮาดซา/ฮาด์ซาเบ (Hadza/Hadzabe) ในแอฟริกาก็มีบ้านเพียงใบหญ้าซ้อนกันเป็นสุมทุมเท่านั้น และหากย้อนไปสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระภิกษุสร้างกุฏิอยู่อาศัยขนาดเพียง 3.5x1.75 เมตร เท่านั้น เพราะมองเพียงเป็นที่อยู่อาศัย

หลายคนเคยมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านด้วยตนเอง ขณะที่หลายคนเคยเห็นการสร้างบ้านมามากกว่า ๑ หลังคาเรือน บางบ้านยกสูงมีใต้ถุนบ้านไว้เลี้ยงสัตว์ บางบ้านสองชั้น บางบ้านมากกว่าสองชั้น บางบ้านสร้างเรียบพื้นดิน ทั้งนี้แล้วแต่อำนาจในการสร้างบ้านของเจ้าของบ้าน 

ในอดีต การสร้างบ้านหนึ่งหลังคาเรือนอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะเรามีไม้อยู่รอบบ้าน ญาติๆลุงป้าน้าอามีประสบการณ์ในการสร้างบ้านด้วยตนเอง เราสามารถแลกแรงกันได้ แต่ปัจจุบัน แรงที่แลกกันถูกพัฒนาให้กลายเป็นค่าจ้าง ไม้ที่อยู่รอบบ้านหมดแล้วจึงมีวัสดุทดแทนที่ต้องใช้เงินซื้อ ผนวกกับวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้านมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บ้านหนึ่งหลังจะหมายถึงเงินที่เราต้องหามาแลกวัสดุและค่าแรงในการสร้างบ้าน 

การมีบ้าน อย่างน้อยก็มีที่หลับนอนพักผ่อนกาย ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มีที่ซุกหัวนอน” การสร้างบ้านหนึ่งหลัง จะสร้างเพียงการอยู่ชั่วคราวไม่ได้อีกแล้ว มิฉะนั้น เราจะต้องสร้างซ้ำ เมื่อต้องสร้างซ้ำก็หมายถึงเราต้องเจียดเวลา แรงกาย ทุนทรัพย์ ฯลฯ ซ้ำ นอกจากนั้น ค่านิยมที่มาพร้อมกับการมีบ้านคือการยอมรับจากสังคม หลายคนยอมกู้เงินในการสร้างบ้านขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง เรื่องนี้ไม่ใช่ความแปลก เพราะการกูและผ่อนส่งตามระบบทุนจะหมายถึงการมีเครดิต หลายคนกู้เงินสร้างบ้านไม่ได้ เพราะไม่มีเครดิต เครดิตที่หมายถึง การเคยมีหนี้และส่งคืนหนี้และดอกที่เกิดจากการกู้ให้เจ้าของทุน บ้านดินคือรสนิยมหนึ่งของคนที่ไม่ต้องการอยู่ในระบบทุนและต้องการหาวัสดุที่มีตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เพราะแท้ที่จริงแล้ว จะบ้านดิน บ้านปูน บ้านไม้ บ้านมุงจาก บ้านมุงหน้าคา มันคือบ้าน และบ้านยังคงคุณค่าเดิมคือ “ที่อยู่อาศัย” แม้จะถูกแปลงให้เป็นของประดับและสินค้าก็ตาม

ความคิดเรื่องการสร้างบ้าน

ผมไม่ได้มีความคิดอยากจะมีบ้านเป็นความต้องการหลัก แต่ถ้าถามว่า "แล้วต้องการอะไรมากที่สุด" คำตอบจากการตรวจสอบตัวเองคือ “ไม่รู้” “ไม่รู้” “ไม่รู้” อาจจะเป็นคำเดียวกันที่เหล่านักสนใจการเมืองล้อเลียนนักการเมืองบางท่านหรือเปล่านั้น ไม่อาจทราบได้ เพราะคำว่า “ไม่รู้” บ่งชี้ถึง “ความไม่รู้” ถ้าถามต่ออีกว่า ที่ตอบว่า "ไม่รู้" ตกลงคุณรู้อะไรบ้าง คำตอบที่ตามมาก็คงเป็นคำเดียวคือ “ไม่รู้” 

ในทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี่ เจ้าของทฤษฎีได้แบ่งตัวตนของคนออกเป็น ๔ ช่อง สรุปรวบยอดเป็น ๒ ส่วนคือ (๑) ส่วนที่เรารู้ แบ่งเป็น เรารู้แต่เราไม่บอก และเรารู้เราจึงบอก (๒) ส่วนที่เราไม่รู้ แบ่งเป็น เพื่อนรู้จักเราดี แต่เราไม่รู้ และส่วนที่ใครๆก็ไม่อาจรู้ได้เลย

คำว่า “ไม่รู้” ว่าต้องการอะไร อาจจะรู้ว่าเราต้องการอะไรมากที่สุด ผมรู้ว่าผมต้องการอะไรมากที่สุด หากแต่ความต้องการนั้นจะขึ้นอยู่กับบริบท ลึกๆจริงๆคือ "ไม่ต้องการมีภาระ" เพราะภาระคือตัวยึดโยงชีวิตให้ทำสิ่งต่างๆอย่างใจไม่ได้ และเมื่อมองลึกลงไปอีก จะคือ “คนเห็นแก่ตัว”

ความต้องการมีบ้าน เพียงเพราะเห็นแม่กับพ่อสร้างขนำอยู่อาศัยส่วนตัว โดยแยกตัวเองออกจากครอบครัวของลูก แม่บอกว่า “อยู่คนเดียวสบายดี” แต่สุดท้ายหลานก็มาวุ่นวายแม่อยู่ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของครอบครัว เพราะพ่อแม่ยามแก่เฒ่าก็ได้หลานนี่เองเป็นที่แบ่งเบาหัวใจ เป็นประจำที่เราจะเห็นแม่จูงมือหลานไปงานแต่ง ไปวัด ไปตลาดฯลฯ ภาพแบบนี้บอกอะไรกับผมได้บ้าง อย่างน้อยคือ "มนุษย์ต้องการเพื่อน" และแท้จริงเรามีเพื่อนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เรามองไม่เห็น เพื่อนของเราที่อยู่กับเราตลอดมาคือตัวเราเอง

ก่อนแม่เสียชีวิต ผมได้บอกเปรยๆว่า "จะสร้างบ้านสักหลัง เผื่อตอนแก่ตัวจะได้มีที่ซุกหัวนอน" แม่เห็นดีด้วย แต่แม่ไม่รู้ว่า จริงๆแล้วผมไม่ได้อยากได้บ้านหรอก เพราะเป็นภาระ อีกอย่างหนึ่ง สร้างไว้แล้วแต่ไม่ได้อยู่ ก็เห็นอยู่ว่าบ้านที่ไม่มีคนอยู่ก็เหมือนกับบ้านร้าง วัสดุจะทรุดโทรมเร็วผิดปกติ การคิดจะสร้างไม่ใช่คิดเพื่อตัวเองเท่านั้น จึงจัดการซื้อดินลูกรังมาถมให้ที่สูงขึ้น น้ำจะได้ไม่ท่วม จ้างช่างเขียนแบบอยู่ที่เทศบาลตำบลท่ายางเขียนให้ในราคา ๕,๐๐๐ บาท ทำเรื่องขออนุญาตจากเทศบาลตำบลบางหมากเพื่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย

แต่น่าเสียดาย แม่เสียชีวิตไปก่อน เมื่อแม่ชีวิตไปแล้ว ผมจะสร้างบ้านไปเพื่ออะไร จึงปล่อยความคิดเรื่องการสร้างบ้านทิ้งไป แต่นั่นแหละ เมื่อคิดถึงแม่ที่ตายไปแล้ว ร่างกายกลายเป็นเถ้าถ่าน ตลอดถึงพ่อก็เช่นกัน และคำพูดเรื่องการสร้างบ้านก็เตือนตัวเองตลอด ขณะเดียวกัน หากเราสร้างตอนที่เราขุดหลุมไม่ได้แล้ว ผสมปูน เชื่อมเหล็กฯลฯ ไม่ได้แล้ว เราคงต้องจ้างช่างเขาอย่างเดียว อันหมายถึง ค่าแรงที่เรารู้ดีว่าสูงกว่าราคาบ้าน ขณะที่วัสดุการสร้างบ้านก็ราคาสูงขึ้นเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย ลงมือกันเลยดีกว่า

เรื่องแรก ดูแปลนที่เคยจ้างช่างให้เขียน จากนั้นคิดว่า "ราคาไม่น้อยเลย" เพราะเมื่อดูราคาเหล็กในเวลานี้ X2 เมื่อถามเพื่อนที่รับเหมาก่อสร้าง เขาบอกว่า ตารางเมตรละ ๓,๐๐๐-๓,๕๐๐ บาท เหมาเฉพาะค่าแรง เพราะราคาวัสดุก่อสร้างไม่นิ่ง หากเหมาทั้งหมดอาจเจ็บตัว

เรื่องสอง เพื่อลดต้นทุนการสร้าง แต่เป็นไปได้ที่จะใช้ทุนมากกว่าจ้างช่างรับเหมา จึงคุยกับน้องชายที่เป็นช่างเชื่อมเหล็กต่อเติมอาคารมาหลายปี สุดท้ายจึงรบกวนให้น้องชายช่วยสร้างในช่วงเวลานอกเหนืองานประจำ ส่วนตัวผมจะเดินทางไปสร้างเองด้วย

เขียนแบบบ้าน/แบบขนำหลังน้อย

เคยไขว่คว้าหาโปรแกรมออโต้แคดมาเรียนรู้ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ แต่ได้แค่ฝันเพราะเป็นคนที่เหมือนกับคำกลอนสอนไว้เมื่อตอนเด็ก “อยากได้ดี ไม่ทำดีนั้นมีมาก ดีแต่อยากหากไม่ทำน่าขำหนอ อยากได้ดีเร่งทำดีอย่ารีรอ ดีแต่ขอรอแต่ดีไม่ดีเลย” ขออภัยที่ไม่รู้จักผู้แต่ง เพราะจำมาจากอาจารย์สอนอบรมให้ฟัง ในกลอนนี้อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ดีแต่อยากหากไม่ทำน่าขำหนอ” หลายอย่างที่เข้ามาในชีวิตของเรา เราอยากได้มัน แต่เราไม่ลงมือทำ การออกแบบด้วยโปรแกรมนี้ก็เช่นกัน ผมอยากออกแบบเป็นด้วยตนเอง แต่ได้แค่อยากจริงๆ เพราะไม่ลงสมองในการเรียนรู้ จริงๆแล้ว ถ้าเราอยู่กับงานก่อสร้าง ผมก็คงต้องเรียนรู้แน่ๆ แต่เพราะงานที่เราทำไม่ได้สัมพันธ์กับการก่อสร้าง การเรียนรู้หลายอย่างจึงได้แค่ “อยาก” 

ปัจจุบันมีแอป/โปรแกรมหลากหลายเกี่ยวกับการออกแบบบ้าน ตลอดถึงแบบบ้านฟรีจากกรมโยธา แบบบ้านที่หาซื้อได้จากลาซาดา แบบบ้านตามเวบต่างๆ แต่ “กรรมกร (ผู้ทำงานด้วยตัวเอง/กรรม=การงาน, กร=ผู้ทำ)"  อย่างผมที่ให้ความสำคัญมากกว่าสมอง ชอบที่จะลงมือทำด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งคือ “การเรียนรู้” คือปัจจัยหลัก ทั้งที่ หลายเรื่องเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่นอนว่า หากรู้แล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นก็ “ไม่รู้” จะรู้ไปทำไมเหมือนกัน เช่น เขานินทากัน เขาด่ากัน เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น จึงไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่การสร้างบ้านเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า "ผมควรรู้" โดยเฉพาะรู้จากการลงมือทำ

เมื่อไม่ถนัดโปรแกรมออกแบบบ้านใดๆ ในมือมีโปรแกรมไมโครซอฟเอ็กเซลอยู่ "เราน่าจะทำได้" นั่นคือความคิดเริ่มจากการเขียนแบบบ้าน ออกแบบเสร็จ ขับรถจากสงขลาไปคุยกับน้องชาย ในช่วงเวลาที่น้ำมันดีเซลราคา 30 บาท จากการประท้วงของรถบรรทุกและการนำภาษีตรึงราคาไว้ของรัฐบาล

ปัญหาอย่างหนึ่งของความไม่เข้าใจคือ "ความเข้าใจที่ต่างกัน" ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ไปในระนาบเดียวกันก่อน อาจเริ่มจากการเรียกชื่อ เช่น อะเส คาน ฯลฯ ที่เราไม่รู้ในภาษาช่างสร้างบ้าน 

แบบบ้านที่คิดว่าน่าจะลงตัวที่สุด บ้านหลังน้อยแต่เผื่อคนอื่นด้วย น้องชายเตือนว่า "สุดท้ายก็ทำเผื่อคนอื่นตลอด" จึงตอบน้องชายไปว่า “เออ ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าคิดเผื่อคนอื่น” ปัจจุบัน การคิดเผื่อแผ่คนอื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่การคิดแทนคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ดี การคิดเผื่อแผ่คนอื่นจะดีก็ต่อเมื่อมีสิ่งนั้นอยู่จริง เช่น เผื่อว่าเพื่อนมาเที่ยวที่บ้านจะได้ไม่ต้องไปนอนที่อื่น แต่ไม่มีเพื่อน หรือมีเพื่อนแต่เพื่อนไม่เคยมาที่บ้านเราเลย เป็นต้น ที่แน่ๆ บ้านนี้แม้จะน้อยนิด สิ่งที่คิดเผื่อคือ “ไว้กระดูกพ่อแม่และตัวเราเอง ตลอดถึงเป็นศูนย์รวมในการทำบุญรอบปี” และอื่นๆอีกเล็กน้อย

ผมปรับแบบบ้านหลายหน สุดท้ายตัดสินใจแน่วแน่ตามนั้นคือ มีหัว (จั่ว) มีหน้าบ้าน มีห้องนอน มีห้องนั่งเล่น เผื่อหลานมานอน มีห้องน้ำ ๑ ห้อง น่าจะเพียงพอแล้ว

๒๕๖๕๐๖๐๙

หมายเหตุ "ขนำ" ภาษาพื้นบ้านชุมพรแต่เดิมเรียกว่า “ห้าง” ที่หมายถึงเพิงพัก

หมายเลขบันทึก: 702968เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2022 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2022 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I admire home builders. (My latest case is 84 years old man is building his farm house by hand.) Birds have ‘cultural’ (or genetic) plans to build their nests. Wild pigs also build nurseries for their newborns (with leaves and branches) and so many other animals. Human tops the list of design, innovation and use of materials. 👍️

I wonder if your plan should be overlaid with electrical wiring, water plumbing, waste water disposal, air/heat flows, … (I see 2 septic tanks - but no sinks, no basins, no showers, no kitchen, no fire/emergency exits, and no rain water catchment/tank.) I think incorporating these considerations can make much safer, more energy efficient, more comfortable and more distinct homes.

ขอบคุณมากครับ sr ทำให้ผมมองละเอียดมากขึ้น- เรื่องหนึ่งที่กำลังแก้ปัญหาอยู่คือ น้ำในหมู่บ้านไหลช้า ฝักบัวอาจไม่เหมาะ ถ้าจะเหมาะก็ต้องมีถังเก็บน้ำที่ยกสูงขึ้น และหมายถึง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นความจำเป็น- เรื่องน้ำเสีย จะขุดหลุดเพิ่มสำหรับรองรับน้ำเสียอีกทีครับขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท