ทำไมต้องปลดล็อกท้องถิ่น : ท้องถิ่นดักดานเพราะการกระจายอำนาจที่ขาดหายไป (5)


ทำไมต้องปลดล็อกท้องถิ่น : ท้องถิ่นดักดานเพราะการกระจายอำนาจที่ขาดหายไป (5)

30  พฤษภาคม 2565
: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

 

ข่าวการดิสเครดิตท้องถิ่นว่า “ยังไม่เข้มแข็งยังไม่พร้อมกระจายอำนาจ” เป็นข่าวช่วงก่อนการประกาศรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สร้างความสงสัยประหลาดใจให้แก่คนท้องถิ่นมาก แต่ช่วงนั้นกระแสข่าวนี้ถูกกลบข่าว ด้วยคำสั่ง หัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 คือ 

(1) คำสั่งปราบการทุจริตด้วยการสั่งประจำ/ช่วยราชการของสมาชิกสภาท้องถิ่น/ผู้บริหารท้องถิ่น(สถ.ผถ.) และข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต โดย ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบผู้บริหาร อปท.ทั่วประเทศกว่า 60 ราย ส่งให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว (หยุดปฏิบัติหน้าที่)โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และ สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นบางราย (กลุ่มที่ 4 ข้าราชการ อปท.)ให้ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่ อปท.นั้นตั้งอยู่หรือสถานที่ ราชการอื่นในจังหวัดนั้นๆ ตามที่ ผวจ.กำหนด แต่ต้องมิใช่ อปท. ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิม รวม 304 ตำแหน่ง สั่งปลด กรรมการพนักงานส่วนตำบล จ.สมุทรสาคร 7 ตำแหน่ง พักงานเจ้าหน้าที่ อปท.รวม 193 ตำแหน่ง และโยกย้ายปฏิบัติราชการในตำแหน่งอื่นรวม 104 ตำแหน่ง 

(2) คำสั่งให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป ซึ่งในช่วงปี 2557-2560 อปท.จึงถูกควบคุมอย่างเด็ดขาดโดย คสช. 

 

การกระจายอำนาจที่ขาดหายไปเป็นปฐมเหตุทำให้ท้องถิ่นดักดานถูกล็อก

(1) บรรณ แก้วฉ่ำ ข้าราชการ อบจ./นักวิชาการท้องถิ่น เปิดประเด็นนายกกาชาดจังหวัดแห่งหนึ่งขอรับการสนับสนุนค่าอาหารผู้บริจาคโลหิต ณ ที่ว่าการอำเภอ สร้างภาระให้แก่ อปท. เพราะกาชาดเป็นหน่วยงานการกุศลมีงบอุดหนุนจากรัฐบาลแล้วสูงถึงปีละ 8.8 พันล้าน ไม่ควรมาขอรับบริจาคอีก (ข่าว 17 มีนาคม 2565)

(2) ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการกระจายอำนาจ (ก.ก.ถ.) เปิดประเด็นหนังสือที่เขียนปี 2558เรื่อง “การบริหารงานคลังบนฐานความยั่งยืน” ว่าการลงทุนในภาครัฐไทยไม่จำเป็นต้องมีสนามบินมาก รัฐบาลสร้างสนามบินไม่ดูจุดคุ้มทุน เปลืองงบแผ่นดิน สร้างแล้วสนามก็ร้าง เช่น สนามบินเพชรบูรณ์ นครราชสีมา เบตง สำหรับสนามบินร้าง ยังมีที่อื่นๆ อีก เช่นที่ สุรินทร์ แม่ฮ่องสอน (ข่าว 17 มีนาคม 2565)

(3) โอทอปร้าง ด่านพรมแดนร้าง สนามกีฬาร้าง ทางจักรยานร้าง ฯลฯ มากมายก่ายกอง ระบบ “อำนาจรวมศูนย์” ถ้าเป็นท้องถิ่นทำ จะเป็นคดีอาญาทันที

(4) การสร้างเงื่อนไขต่างๆ แก้ไขไปมา เพี่อแสดงบทบาทของ สถ. เช่น เรื่องเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สถ.แจ้งว่า อปท. ที่ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ งบกลางพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ให้ส่งเรื่องขอเปลี่ยนแปลงแก้ไข ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2565 หากเลยกำหนดแล้ว จังหวัดจะไม่รับพิจารณา นี่คือการขัดเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งมาตรา 4 ได้บัญญัติให้ อปท.เป็นหน่วยรับงบประมาณ ที่ต้องของบประมาณเงินอุดหนุนตรงจากสำนักงบประมาณ

 

ปัญหาความเข้าใจเรื่องกระจายอำนาจที่คลาดเคลื่อนของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่น

(1) ปัญหาคือ อปท.คิดและต้องการได้ แต่ทำไม่ได้ถ้าคิดไม่ตรงกับฝ่ายอำนาจเขา แม้จะเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ประเทศนี้ตลก ในมุมมองมหาดไทย ท้องถิ่นคือเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งในการอ้างว่ามีการกระจายอำนาจเพียงเปลือกนอกเท่านั้น กล่าวคือ (1.1) หลักการส่งเสริม “การกำกับดูแล” (Tutelle) แต่ความเป็นจริงกลับเป็น “การควบคุมสั่งการ” (Control) (1.2) หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization/Devolution) ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ดูจากภารกิจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ท้องถิ่นต้องทำ ต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่าโอนภารกิจตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนในการกระจายอำนาจฯ กันแล้วหรือยัง เมื่อกลับมาดูอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งก็ขัดแย้งกันจนมั่วไม่นับกฎหมายลูก ระเบียบฯ ต่างๆ ที่ต้องไปดำเนินการ มันพิกลพิการไปหมด

(2) ข้อสำคัญคือ มีการห้ามว่าอย่าพยายามเลย ดึงไม่ขึ้นหรอกเพราะฝ่ายอำนาจที่มีหน้าที่ โดยเฉพาะ มท.อบรมปลูกฝังกันมาแบบนั้น มี Mindset ที่ต่างกัน ซึ่ง มท.รับคำสั่งจากส่วนกลางโดยตรง ฉะนั้น ทำอย่างไรจะทำให้คนท้องท้องถิ่นรู้จักตัวตนของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะ คน อปท.บางคนยังเข้าใจว่าตัวเองสังกัดมหาดไทย หรือทำตัวเหมือนข้าราชการส่วนกลางแต่รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนของท้องถิ่น

(3) ข้อสั่งการของ มท. ต่อท้องถิ่นมีมาตลอดทุกยุคทุกสมัยจนกลายเป็นปกติ ธรรมเนียมประเพณีโดยชอบมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อคน อปท.เริ่มเข้าใจคำว่ากระจายอำนาจและการกำกับดูแล ในขณะที่คนกำกับดูแลเองยังไม่ยอมเข้าใจเพราะยังต้องการใช้คน ใช้สมอง และงบประมาณของ อปท.ไปทำผลงานเสนอหน้าส่วนราชการของตน หากคน อปท.แย้งก็จะมีอาการฟาดงวงฟาดงาตามสภาพของสถานะผู้ที่ยังติดอยู่กับคำว่านักปกครองแบบที่เคยอบรม สั่งสอน สร้างเสริมวิสัยทัศน์ให้กันมารุ่นต่อรุ่น โดยเข้าใจผิดว่าตนเองคือผู้บังคับบัญชา ซึ่งตามหลักประชาธิปไตยแล้วประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างหากที่มีสิทธิถอดถอน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542

(4) มท. เดินเกมรุกจน อปท.ตกอยู่ในสภาพที่ขาดอิสระ ถูกครอบงำ ไม่มีจุดยืนตามหลักการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น คน อปท.ต้องรวมพลังกันเรียกร้อง รุกกลับในส่วนที่ขาด ส่วนที่ไม่ถูกต้อง เพราะการรุกกลับย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ปัญหาคือ คนท้องถิ่นมีหลายกลุ่ม ชมรม สมาพันธ์ สมาคม ที่ไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างกลุ่มก็เรียกร้องของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ “จิกตีกัน” เหมือนไก่ในเล้า เพราะคนท้องถิ่นมีทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายประจำข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่หลากหลายแยกกันเป็นกลุ่มๆ นอกจากนี้กฎหมายการรวมกลุ่มของข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่มีรองรับ แม้จะมีผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น (4 พฤษภาคม 2554) นี้มาตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล

 

เหตุความเสื่อมถอยของ อปท.

ย้อนไปดูยุคแรกในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็น “ยุคทอง” ยุคบุกเบิกก่อตั้ง อบต.ในชุด “สามทหารเสือ” (ปลัด คลัง ช่าง) ซึ่งช่วงนั้นถือเป็นยุคที่คนทำงาน อบต. เริ่มสนุกกับงาน ทำงานตอบสนองท้องถิ่นได้หลากหลายและตรงเป้า รวมทั้งทุกหน่วยงานก็ให้เกียรติข้าราชการท้องถิ่นรุ่นแรกมาก เพราะเป็นรุ่นบุกเบิก ความเสื่อมถอยของ อปท.จนเกิดภาวะ “ยุคมืด” เกิดขึ้นจาก

(1) นักการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น ไม่รู้จักบทบาท หน้าที่และสร้างแต่เรื่องเสียๆ หายๆ โดยเฉพาะการถูกกล่าวหาว่าทุจริต (ยกเว้น อปท.ที่ทำดีก็มีมาก)

(2) กระทรวงมหาดไทยพยายามลิดรอนพร้อมๆ กับพยายามฆ่าตัดตอน ซ้ำเติม ใช้อำนาจให้คุณให้โทษ สร้างวัฒนธรรมการแสวงประโยชน์ ทำให้ อปท. และคน อปท.อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ คน อปท.ฝ่ายประจำหลายคนเริ่มท้อ วางไมค์ วางปากกาที่จะต่อสู้ แสดงความคิดเห็น หลายคนถูกดำเนินการทางวินัย ทางอาญา ถูกไล่ออกปลดออกเกิดความเบื่อหน่าย ขาดขวัญกำลังใจ ช่วงนี้ต้องมีคนมาจุดประกาย จุดประเด็น ชี้ทางให้ เชื่อว่าต้องมีแนวร่วมออกมาสานต่อเจตนารมณ์อีกมาก และเริ่มกลับมามีคนแสดงความคิดเห็นขึ้นมาอีก

(3) ปัญหาประการสำคัญคือ ผู้บริหารท้องถิ่นหลายคนสนองรับใช้ราชการส่วนภูมิภาคอย่างมีเลศนัย แสวงประโยชน์ส่วนตนร่วม มีประโยชน์ทับซ้อน เพราะตัวผู้บริหารเองก็ยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตนเองโดยเฉพาะ อบต.ยังเข้าใจว่าสิ่งที่เคยปฏิบัติมาเดิมๆ ถูกต้องแล้ว เช่น เข้าใจว่านายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา อีกส่วนหนึ่งคือยังหวังที่จะพึ่งพา “งบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” ที่ผ่านมายังจังหวัด อำเภอ หรือกรม สถ. ซึ่งปัญหางบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจส่วนนี้ได้สร้าง “ความเหลื่อมล้ำ” ให้แก่ อปท.เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ อปท.ขนาดเล็กๆ ก่อให้เกิดการวิ่งเต้นงบประมาณ และเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตทั้งหลาย เพราะมียอดเงินงบประมาณที่สูงหลักร้อยล้าน สมควรตัดทิ้งงบประมาณส่วนนี้ออกไปอยู่ในรูปเงินอุดหนุนทั่วไปให้หมด แต่เป็นเจตนาของมหาดไทยที่ยังคงไว้เพื่อหวังสร้างอำนาจและบารมี หัวคิวและไว้เป็นข้อต่อรองให้ท้องถิ่นทำงานให้

(4) ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในงบประมาณ อปท.ขนาดใหญ่ เช่น เทศบาลใหญ่ หรือ อบจ.ซึ่งดูแลพื้นที่ตนเองได้ดีผู้กำกับดูแลทั้งระดับอำเภอ จังหวัดต่างให้เกียรติ ไม่กล้าไปใช้คำว่าปกครอง เพราะเป็น อปท.ใหญ่ไม่จำเป็นต้องไปรอขอความช่วยเหลือจากจังหวัด อำเภอ หรือกรม สถ. มีแต่ ผู้กำกับดูแลเองต้องไปขอรับการสนับสนุน ขอเงินอุดหนุน เช่น จาก อบจ. แต่ในกรณีของ อปท.เล็กๆ เช่น อบต. ผู้กำกับดูแลมาขอรับเงินอุดหนุน อาจใช้อำนาจหรือสร้างเงื่อนไขเพื่อจะขอเงินอุดหนุนให้ได้ (ขู่บังคับฯ) จะเอาเงินอุดหนุน ซึ่งอาจไม่ถูกต้อง หรือด้วยสถานะการคลังของ อบต.ที่มีขนาดเล็ก (ประชากรที่น้อยกว่า 7,000 คน รายได้ที่จัดเก็บเองต่ำกว่า 20 ล้านบาท) แต่ทั้งสภาฯ ทั้งผู้บริหาร ต้องให้เงินอุดหนุนส่วนนี้ เช่นเพราะเหตุผลว่า (4.1) อปท.ยังไม่มีความเข้าใจในสถานะตนเองตามหลักการกระจายอำนาจ (4.2) อปท.ไม่อยากสร้างความขัดแย้ง เพราะอาจไม่ได้งบอุดหนุนเฉพาะกิจลงพื้นที่ตามที่นายกคาดหวัง (4.3) ด้วยสำนึกความคิดความรับผิดชอบผิดๆ ว่า การให้เงินอุดหนุนเป็นการสร้างสัมพันธภาพเส้นสายที่ดี (Connection) กับผู้กำกับดูแล เพื่อหวังผลอื่น เอาไว้พึ่งพาอาศัย นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ดีกว่า หากมีเรื่องมีคดีความจะได้ช่วยเหลือได้ เป็นต้น (4.4) ผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายอำเภอ ยังใช้ข้อความว่า “มอบภารกิจ” ให้ อปท.ดำเนินการ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะ อปท.มิใช่หน่วยงานสาขาของราชการส่วนภูมิภาค ไม่ได้สังกัดอำเภอจังหวัด หรือสังกัดกรม สถ.หรือสังกัด มท. แต่อย่างใด ภารกิจ อปท.นั้นมีอยู่แล้วตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. และตามกฎหมายกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ (การถ่ายโอนภารกิจ) มิใช่การมอบภารกิจโดย ผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายอำเภอ

 

การกระจายอำนาจ มีลักษณะเป็น “พหุมิติ” 

เมื่อกล่าวถึงการกระจายอำนาจ (Decentralization) นั้น ในทางวิชาการหมายถึงการกระจายอำนาจโดยส่วนกลางมีลักษณะของพหุมิติ ใน 3 มิติ คือ (1) มิติทางด้านการเมือง (2) มิติทางด้านการบริหาร และ(3) มิติทางด้านสังคม เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีคำว่า “การกระจายอำนาจ” และต้องมีคำว่า “การรวบอำนาจ” (Centralization) ที่ควบคู่กันมาเสมอ เป็นปัญหาหนักที่สุดของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่มีมากมาย สุดจะบรรยาย ในทั้ง 3 มิติของการกระจายอำนาจดังกล่าวสับสนปะปนกันไปหมด (มั่ว) อยากสรุปให้เห็นภาพอย่างรวบรัดว่า 

(1) ความไม่เข้าใจของนักการเมืองท้องถิ่น ในภารกิจที่รับถ่ายโอนมา หรือไม่เห็นความสำคัญ เพราะไม่ตรงตามเรื่อง (ภารกิจ) ที่ตนอยากทำ หรืออยู่กลุ่มตรงกันข้ามกัน ไม่สนใจในภารกิจงานที่ถ่ายโอน

(2) ส่วนกลางไม่จัดสรรทรัพยากรทางการบริหาร (4M) มาสนับสนุน มักถ่ายโอนแต่ภารกิจที่ไม่สำคัญ ที่หน่วยงานตนเองไม่ทำ หรือไม่อยากทำแล้ว ฉะนั้นในหลายภารกิจที่ถ่ายโอนมาจึงเหมือนการทิ้งขว้างงาน มีปัญหาที่ติดตามมาสารพัด (หมกเม็ด) เป็นต้น

(3) การตราระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาบังคับใช้แก่ อปท. โดยส่วนกลางใช้สูตรสำเร็จเหมือนกันทุกท้องที่ โดยเฉพาะการถ่ายโอนภารกิจสำคัญจะมีระเบียบกฎเกณฑ์มาพร้อม ทำให้ไม่คล่องตัว ปฏิบัติตามยาก หรือเป็นการปิดช่องทางใหม่ๆ ที่เหมาะสมกว่า ทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติของภารกิจที่ถ่ายโอนนั้นๆ 

(4) บุคลากรที่จะถ่ายโอนมา อปท.ไม่มั่นใจในมาตรฐานความก้าวหน้าในสายอาชีพของตน (Career Path)

ปัญหาส่วนกลางคิด แต่ท้องถิ่นทำ คงจะใช้ไม่ได้ในทุกๆ เรื่องแบบสูตรสำเร็จ เพราะท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ มีบริบท (Context) ที่หลากหลายแตกต่างกัน มี “Soft Power” จุดขายที่แตกต่างกันมาก ทุกฝ่ายต้องหาเพียรหาคำตอบให้ได้ว่า นโยบายจะอยู่เหนือกฎหมายได้หรือไม่ หากได้เขาจะทำนโยบายกันอย่างไร หากไม่ได้ เขาขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของท้องถิ่น เพราะรัฐไม่เคยทบทวนตัวเอง

 

อ้างอิง

การกระจายอำนาจที่ดีสู่ท้องถิ่น. รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล, คณะรัฐศาสตร์ มสธ., ในวารสารดำรงราชานุภาพ, 

http://www.stabundamrong.go.th/base/j2.1.pdf 

ร่างพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ..., ร่างพระราชบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร เสนอโดยนายถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์, 4 พฤษภาคม 2554, https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/299908/f54ร่างพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.....%28ถวิล%292.pdf.jpg?sequence=2https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/299908

ร่าง รธน.ใหม่ รื้อใหญ่ท้องถิ่นยุบ อบต. 5 พันแห่ง-เพิ่มอำนาจเก็บภาษี, ประชาชาติธุรกิจ, 18 พฤษภาคม 2558, https://www.kroobannok.com/75063 

ดีเดย์ มกราคม 2561 “ยุบ อบต.” วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ สส. โดย ฐานเศรษฐกิจ, 11 พฤศจิกายน 2559, จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2559, http://www.thansettakij.com/2016/11/11/112301 

ประยุทธ์' แนะท้องถิ่นปรับปรุงให้เข้มแข็ง ลั่นยังไม่พร้อมกระจายอำนาจ, ไทยรัฐ, 24 มีนาคม 2560, https://www.thairath.co.th/news/895011 

จะกระจายอำนาจต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดย ชำนาญ จันทร์เรือง, กรุงเทพธุรกิจ, 1 พฤษภาคม 2561, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/119441 

หนุนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต, อ้างจากเฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, 13 พฤษภาคม 2561, https://www.facebook.com/181318038626087/posts/1750572628367279/?d=n

ดร.เจิมศักดิ์ โพสต์ชวนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วไทย ดีกว่าส่งคนไปเป็นเจ้าเมือง, โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต, mthai, 16 พฤษภาคม 2561, อ้างจากเฟซบุ๊ก, 13 พฤษภาคม 2561, https://news.mthai.com/politics-news/641967.html 

เมื่อ 16 กรกฎาคม 2557 ถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความ “เหตุผลที่ต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” อ้างจาก “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ” ในขอคิดด้วยฅน โดย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, 14 พฤษภาคม 2561, 02.00 น., https://www.naewna.com/politic/columnist/35339 

สี่ปีคสช. ภาพรวมการใช้มาตรา 44, โดย iLaw, 29 พฤษภาคม 2561, https://ilaw.or.th/node/4823 

ย้อนดู มาตรา 44 เด้งข้าราชการหลายร้อยตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กกต. ยัน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, workpointTODAY, 28 เมษายน 2562, https://workpointtoday.com/section44/ 

คืนตำแหน่ง นักการเมือง-ขรก.ท้องถิ่น ถูกพักงาน-ย้ายเพราะคำสั่งหัวหน้า คสช., workpointTODAY, 7 มิถุนายน 2562, https://workpointtoday.com/law44/

ยิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งกระจายทุจริต : ศึกษากรณี อบต.ราชาเทวะ, กรุงเทพธุรกิจ, 5 กรกฎาคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/127727 

ไพศาล โพสต์ บัญชีอัปยศ : “4 สนามบิน” สร้างเสร็จแต่ไร้เครื่องบินพาณิชย์ไปใช้, คมชัดลึก, 16 มกราคม 2565, https://www.komchadluek.net/news/501427? 

ไม่ใช่แค่ไร้เที่ยวบินมาลง สนามบินเบตงยังไร้งบอุดหนุน 2 ปีแรก, สำนักข่าวอิศรา, 20 มีนาคม 2565, 20:34 น, https://www.isranews.org/article/south-news/other-news/107441-suspendflight.html?

นิด้าโพลเผยคนต่างจังหวัดอยากเลือกตั้งผู้ว่าเหมือน กทม., 24 เมษายน 2565, https://www.thaipost.net/x-cite-news/129006/ 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ปิศาจในรัฐรวมศูนย์, นิตยสาร WAY, 10 พฤษภาคม 2565, https://waymagazine.org/interview-thanathorn-juangroongruangkit/

บอกลา 3 มายาคติที่ขัดขวางการกระจายอำนาจในประเทศไทย, 6 มิถุนายน 2565 อ้างจาก “ผมไม่ได้ฝันไกลเกินกว่าสิ่งที่มนุษย์เคยทำมา” ความหวังในท้องถิ่นและบทเรียนการเมืองของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, 2 พฤษภาคม 2565, https://www.the101.world/thanathorn-juangroongruangkit-interview/

8ปีหลังรัฐประหาร กฎหมายหลายมาตรฐาน ทุจริตมากกว่ายุคนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นักกฎหมายมหาชน อดีตอธิการ มธ. เมื่อ 7 พฤษภาคม 2565, สำนักข่าวอิศรา, 9 พฤษภาคม 2565, https://youtu.be/KNtg8Ljd0WY

สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯ จี้พรรคการเมือง ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช., 27 พฤษภาคม 2565,https://www.thaipost.net/x-cite-news/149974/ 

นักวิชาการชี้ ‘โคราช-ขอนแก่น’ ยังไม่พร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ เหตุเก็บรายได้ไม่พอเลี้ยงดูตัวเอง, มติชน, 28 พฤษภาคม 2565, 19:16 น., https://www.matichon.co.th/politics/news_3371201 

หมายเหตุบทความนี้ ตีพิมพ์ในสยามรัฐออนไลน์, “ทำไมต้องปลดล็อกท้องถิ่น : ท้องถิ่นดักดาน การกระจายอำนาจที่ขาดหายไป (5)”, 17 มิถนายน 2565, https://siamrath.co.th/n/357559 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท