ชีวิตที่พอเพียง 4223. อุทิศตนเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง


 

โพสต์โดย ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย   ผมรับมาเผยแพร่ต่อ

“เคยสงสัยว่าชีวิตเราผิดปกติหรือเปล่านะ   แต่อ่านเรื่องนี้จบแล้ว...มีคำตอบชัดเจน   เกิดแรงบันดาลใจและเติมพลังในชีวิตที่เป็นอยู่    และรู้สึกซาบซึ้ง กตัญญูรู้คุณ ในความเสียสละของครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ทำงานเพื่อพระศาสนา
ตลอดกาลยาวนานผ่านมา...จนถึงมือเราในวันนี้”   
..................

Csoma de Koros

ไม่ใช่แค่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์   หรือความรู้ทางการแพทย์เท่านั้น   ที่ได้มาจากความเสียสละ กล้าเสี่ยงอันตราย    ความรู้ทางแขนงอื่นก็เหมือนกัน รวมทั้งความรู้ทางพุทธศาสนาด้วย
.
ความรู้ทางพุทธศาสนาที่ตกทอดมาถึงเราทุกวันนี้  ที่สำคัญๆ ก็เกิดจากการอุทิศตัว
ของผู้คนจำนวนไม่น้อย    ไม่ใช่เฉพาะพระ ไม่ใช่เฉพาะนักบวช   แต่ยังมีอีกเยอะเลย รวมทั้งฝรั่งด้วย
...
เมื่อ ๒๐๐ ปีก่อนมีหนุ่มฮังกาเรียนคนหนึ่ง ชื่อโชมา เดอ โคโรส (Csoma de Koros)     เขาอยากรู้ว่า
รากเหง้าของชนเผ่าฮังกาเรียนอยู่ที่ไหน    เขาเชื่อว่า อยู่แถวเอเชียกลาง    เขาจึงออกสำรวจเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนี้ 
เขาเดินทางด้วยเท้าจากฮังการี    ซึ่งอยู่ในยุโรปไปถึงเอเชียกลาง    ถึงแล้วก็ไม่พอใจแค่นั้น    เขาเดินทางต่อไปจนถึงอินเดีย
.
เท่านั้นไม่พอ  ยังต่อไปอีกจนไปถึงลาดัก   ที่นั่นเขาบังเอิญเจอวัดทิเบต   เขาเกิดสนใจภาษาทิเบตขึ้นมา    แล้วยิ่งมารู้ว่าวัดทิเบตวัดนั้นมีคัมภีร์ทิเบตเยอะมาก    เขาจึงเปลี่ยนเป้ามาเรียนภาษาทิเบต    จากเดิมไม่มีความรู้อะไรเลย เริ่มจากศูนย์    มาเรียนภาษาทิเบตจากลามะแก่ๆ คนหนึ่ง
   .
เขาทุ่มเทมากกับการเรียนภาษาทิเบตทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้มาก่อน   ลามะก็พูดภาษาฮังกาเรียนหรืออังกฤษไม่ได้    ตำราและคู่มือก็ไม่มี เรียกว่าไม่มีอะไรเลยที่ช่วยการเรียนภาษาทิเบตและอ่านคัมภีร์ทิเบต    แต่เขาไม่ย่อท้อ    เขาใช้เวลาเป็นปีๆ ในการศึกษา
โดยอยู่อย่างยากลำบากมาก    เพราะว่าลาดักไม่มีอะไรที่สะดวกสบาย  อัตคัดไปแทบทุกอย่าง    ยิ่งฤดูหนาวด้วยแล้ว ลำบากมาก  ทุกวัน    ตั้งแต่เช้ามืดเขาก็ตื่นขึ้นมาอ่านคัมภีร์ทิเบต   หนาวก็หนาว   แถมไม่มีไฟผิงให้ความอบอุ่นด้วย    ต้องเอาผ้าหนา ๆ คลุมตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า    แล้วก็อ่านหนังสืออย่างจริงจังจนค่ำ   กินก็ไม่ค่อยได้กินเท่าไหร่ เพราะอาหารอัตคัด 
.
เวลานอนเขาก็นอนกับพื้น   ไม่ได้นอนบนเตียงหรือฟูก   วันทั้งวันเขาไม่ได้ทำอะไรนอกจากอ่านหนังสือ   และเมื่อรู้ภาษาทิเบตแล้วเขาก็เริ่มอ่านคัมภีร์ทิเบต ซึ่งยากมากและเป็นภาษาโบราณ 
.
เขาทำอย่างนี้ทุกวัน   เช้ามืดตื่นขึ้นมา ก็ศึกษา ค้นคว้า  แปลคัมภีร์จนค่ำแล้วก็นอน    ตื่นเช้าก็ลุกขึ้นมาทำงาน    กลางวันแม้จะมีแดดเขาก็ไม่เคยออกไปรับแดดเพื่อให้ตัวเองอบอุ่น    ขลุกอยู่กับหนังสือ   เที่ยวก็ไม่เคยเที่ยว    ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจของเขานอกจากคัมภีร์ทิเบต
...
ตอนหลัง… เมื่อเขาอ่านภาษาทิเบตได้แตกฉาน    เขาก็เขียนตำราไวยากรณ์ทิเบต    แล้วก็ทำพจนานุกรมทิเบต-อังกฤษ  เป็นฉบับแรกของโลก
...
เท่านั้นยังไม่พอ  เขายังอุตสาหะแปลคัมภีร์ทิเบต  ซึ่งในวัดนั้นมีเป็นร้อยๆ ผูกเลย   เขาคร่ำเคร่งมาก    ทั้งวันทำแต่งานแปล  โดยไม่สนใจทำอะไรอย่างอื่นเลย    อยู่แต่ในกระท่อมคนเดียวทั้งวันทั้งคืน    ทำอย่างนี้เป็นปีๆ  ใช้ชีวิตเหมือนกับนักบวช
.
ฝรั่งที่มาเห็นบอกว่าเขาอยู่เหมือนฤาษี    ไม่ทำอย่างอื่นเลย
.
คนอึ่นมีความสุขกับการกิน ดื่ม เที่ยว เล่น    แต่เขาไม่สนใจเลย อยู่อย่างเรียบง่าย    แต่อัตคัดในสายตาของคนอื่น   แถมกินอาหารมังสวิรัติเป็นส่วนใหญ่ด้วย    เหล้าก็ไม่แตะเลย
.
หลังจากอ่านคัมภีร์ทิเบตในวัดนั้นจนไม่เหลือ    เมื่อทราบว่าที่กัลกัตตามีคัมภีร์ทิเบตมากมาย   จากการสะสมของฝรั่งที่เป็นนักวิชาการ  แต่อ่านคัมภีร์เหล่านั้นไม่ออก   เขาก็รับคำชวนไปกัลกัตตา    ไปเพื่ออะไร   ไปเพื่ออ่านและแปลคัมภีร์ทิเบต   แล้วก็เก็บตัวเหมือนเดิม ทั้งวันทั้งคืน   อยู่อย่างนั้นเป็นปี ๆ 
...
ชีวิตของเขาน่าสนใจมาก    เช่นเดียวกับผลงานของเขาก็มีความสำคัญมาก   เพราะว่างานแปลของเขาทำให้โลกรู้ว่า
คัมภีร์ทิเบตล้วนแปลมาจากคัมภีร์สันสกฤตในอินเดีย    รวมทั้งทำให้พบในเวลาต่อมาว่า  ศาสนาพุทธในทิเบต
มีที่มาหรือมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย
.
อันนี้เป็นความรู้ใหม่มาก    เพราะ ๒๐๐ ปีก่อน ไม่มีใครรู้ว่าพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองที่อินเดีย    เพราะว่าพุทธศาสนาสูญหายไปเกือบพันปี    ไม่มีคนรู้เลยว่าพุทธคยาคืออะไร    สถานที่สําคัญของพุทธศาสนา  โดยเฉพาะสังเวชนียสถานทั้งสี่แต่ก่อนไม่มีใครรู้ว่ามีความสำคัญทางพุทธศาสนา    ใคร ๆ รวมทั้งคนอินเดีย ก็คิดว่าเป็นศาสนสถานของฮินดู     ส่วนคัมภีร์ทางพุทธศาสนาไม่ว่าภาษาบาลีหรือสันกฤตก็สูญหาย  หรือถูกทำลายจนแทบไม่เหลือ
.
ผู้คนเวลานั้นแม้กระทั่งคนอินเดีย ไม่รู้เลยว่าพุทธศาสนาเคยประดิษฐานตั้งมั่นในอินเดียมานานนับพันปี
.
แต่ผลงานของ โชมา เดอ โคโรส รวมทั้งของฝรั่งอีกหลายคน  โดยเฉพาะชาวอังกฤษ   ซึ่งแม้จะไม่ใช่นักวิชาการอาชีพ
แต่ก็อุทิศตนให้กับการศึกษาค้นคว้า   จนทำให้โลกได้รู้ว่าอินเดียเคยมีพุทธศาสนา ที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน   ซึ่งต่อมาได้แพร่ไปยังหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งทิเบต เนปาล พม่า ลังกา และไทย
 
รวมทั้งรู้ในเวลาต่อมาว่า พุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา   ต่อมาก็รู้เพิ่มขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้ามาจากตระกูลศากยวงศ์ มีบิดาชื่อสุทโธทนะ    ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอินเดีย รวมทั้งพุทธประวัติ เรารู้ได้เพราะว่า คนเหล่านี้ซึ่งมี เดอ โคโรส เป็นหนึ่งในนั้น
...
ดังนั้นเดอ โคโรสจึงเป็นคนที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนามาก    ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเลย    เขาไม่ได้เป็นชาวพุทธ   แต่สาเหตุที่เขาอุทิศตนเกือบทั้งชีวิตให้กับคัมภีร์ทิเบต   ก็เพราะเขาเห็นคุณค่าของคัมภีร์ทิเบต    ซึ่งในสายตาของเขา
เป็นขุมทรัพย์ที่ล้ำค่าในทางวิชาการและวรรณกรรม เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์ที่ล้ำค่าของมนุษยชาติก็ได้    แล้วเขาก็มีความสุขที่จะนำขุมทรัพย์นี้มาเปิดเผยให้โลกรับรู้
..
อันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อทำสิ่งที่มีค่าอีกทั้งมีความสุขกับการทำสิ่งนั้นนับเป็นแบบอย่างของคนที่ทำงานด้วยฉันทะ   แสดงให้เห็นถึงพลังของฉันทะ   เรื่องนี้สำคัญเพราะทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า จะทำอะไรต้องมีตัณหาเป็นแรงจูงใจ เช่น อยากมั่งมี อยากมีชื่อเสียง จึงจะมีแรงทำงาน   ถ้าทำด้วยแรงจูงใจอย่างอื่นจะไม่เกิดผลเท่าไหร่
  .  
แต่ว่า เดอ โคโรส เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าฉันทะนั้นมีพลังมาก    ฉันทะทำให้เกิดการทุ่มเท อุตสาหะ   ทำให้คนเราทำสิ่งยากให้สำเร็จได้

เป็นเพราะเดอ โคโรสทำงานด้วยฉันทะ  เขาไม่ได้สนใจชื่อเสียง   ไม่ได้สนใจเงินตอบแทน    เขาจึงทำงานอย่างทุ่มเท   โดยอยู่อย่างสมถะมาก    เป็นเพราะทำด้วยใจรักเขาจึงสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำค่าให้แก่พุทธศาสนาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธ    เขาไม่ได้ทำด้วยศรัทธาแต่ทำด้วยใจรักล้วน ๆ
...
เดอ โคโรสยังเป็นตัวอย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่าความสุขไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเสพจากการกิน ดื่ม เที่ยว หรือเกิดจากการมีทรัพย์ มีชื่อเสียง     ผู้คนมักจะคิดว่าความสุขเกิดจากการเสพ  เกิดจากการมีการได้ หรือเกิดจากสิ่งเร้า    แต่ว่าคนอย่างเดอ โคโรส บอกเราว่า ความสุขเกิดจากการทำก็ได้    เขามีความสุขทั้งที่ชีวิตของเขาดูเหมือนจืดชืดมาก

อีกทั้งยังอัตคัดขัดสน  แต่เขามีความสุข   มีความสุขที่ได้ศึกษาค้นคว้าและแปลคัมภีร์   โดยไม่มีอะไรอย่างอื่นมาทำเขาเขวได้
ไม่ว่าอาหารอร่อย สถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เหล้ายา  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้เขามีความสุขได้เลย

เขามีความสุขและหลงใหลกับงานของเขา จนไม่สนใจอย่างอื่นเลย

เสื้อผ้าหน้าผมก็ไม่สนใจ  แม้กระทั่งอาบน้ำเขาก็แทบไม่ได้ทำ    เพราะว่าจะทำให้เขาเสียเวลา   มีเวลาน้อยลงกับการทำงานที่ตนรัก    แบบอย่างสำหรับชาวพุทธ
.
คนเราถ้าเข้าถึงความสุขจากการทำสิ่งที่ตนรักหรือมีคุณค่า   ย่อมสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้มากมาย    รวมทั้งสามารถมีชีวิตที่เรียบง่ายไม่เรียกร้องต้องการจากคนอึ่น    จนนำไปสู่การเบียดเบียนหรือแก่งแย่งแข่งดีกัน
...
เดอ โคโรส ไม่ได้นับถือพุทธ  แต่ดูจากวิถีชีวิตและคุณภาพจิตของเขาแล้ว    นับว่าเป็นชาวพุทธแท้ๆ เลย    อีกทั้งยังมีชีวิตเรียบง่ายเหมือนพระเลย    เหล้าก็ไม่แตะ เนื้อก็กินน้อยมาก    อยู่อย่างสมถะ  ทุ่มเทเพื่อการแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนา    ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธมาก

ชาวพุทธในญี่ปุ่นถึงกับยกย่องเดอ โคโรส ให้เป็นพระโพธิสัตว์เลยทีเดียว ซึ่งก็สมควร   เพราะแม้เขาจะเป็นชาวคริสต์
แต่ชีวิตและงานของเขาคู่ควรกับการเป็นชาวพุทธอย่างยิ่ง    จะว่าไป งานแปลของเขา นับเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง    เขาภาวนาด้วยการแปลหนังสือช่วยทำให้เขามีสมาธิ  มีจิตใจที่สงบ และยินดีในชีวิตที่เรียบง่าย
....
“อุทิศตนเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๕ 

......................................................................

 

หมายเลขบันทึก: 702790เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท