ตรวจการบ้าน "หม่อมอุ๋ย" 3 เดือน เสียศูนย์ "มองไม่ครบทุกมุม"


ตรวจการบ้าน "หม่อมอุ๋ย" 3 เดือน เสียศูนย์ "มองไม่ครบทุกมุม"
            ตรวจการบ้าน "หม่อมอุ๋ย" แค่ 3 เดือนเศรษฐกิจ-คลังเสียศูนย์ จากรื้อโครงการประชานิยมมาประจานพร้อมรับใช้หนี้เก่ารวดเดียวกว่า 8 หมื่นล้านบาท ส่งผลรัฐแบกภาระหนี้กระอัก ตามด้วยนโยบายจำนำข้าว หวั่นกดราคาทำรัฐเจ๊งเพิ่มอีกหมื่นล้าน ป.ป.ช.ตีแสกหน้าฐานอุ้มคนผิด เข็นกฎหมายหวยบนดินยกเดียวจอด ล่าสุดออกมาตรการกลับลำ "ธันวาทมิฬ" ทำมูลค่าตลาดหุ้นวูบวันเดียว 8 แสนล้านบาท  ปี 2549 กล่าวได้ว่า เป็นปีที่คนวงการเงินและตลาดหุ้นตกอยู่ในสภาพหนีเสือปะจระเข้ ทั้งจากพิษการเมืองทำบรรยากาศการลงทุนซบเซาเกือบตลอดปี พอมีการปลดล็อกการเมืองได้รัฐมนตรีคลังที่ถูกอกถูกใจ ชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชนิดไม่มีตำหนิ แต่พอนั่งกุมบังเหียนทีมเศรษฐกิจ กลับฝากผลงานโดดเด่น จนผู้คนต้องจดจำไปแสนนาน  สำหรับผลงานโดดเด่นๆ ของ "หม่อมอุ๋ย" ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งสำคัญในการเป็นแม่ทัพใหญ่คุมงานด้านเศรษฐกิจ มีผลงานมากมาย เริ่มต้นจากภารกิจแรกๆ ที่เห็นได้ชัด คือ การเข้าไปรื้อโครงการประชานิยม ที่รัฐบาลชุดก่อนทำเอาไว้เละ แล้วแอบซุกความเสียหายสอดไว้ใต้พรม หลายเรื่องถูกขุดคุ้ยขึ้นมาตีแผ่

อาทิ โครงการที่รัฐบาลออกไปกู้เงินหรือแอบไปก่อภาระผูกพันไว้ในอนาคต อย่างเช่น กรณีที่รัฐบาลไปกู้เงินธนาคารออมสิน 70,000 ล้านบาท แล้วนำเงินแจกไปเป็นทุนประเดิมให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เหลือหนี้ทิ้งไว้ให้รัฐบาลชุดต่อไป ต้องมานั่งผ่อนชำระ 29,371 ล้านบาท, ติดค้างค่าบริการทางการแพทย์ที่เข้าโครงการ 30 บาท 7,761 ล้านบาท, ค่าหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 23,000 ล้านบาท, ติดค้างเงินสมทบที่ต้องจ่ายให้กองทุนประกันสังคมอีก 20,665 ล้านบาท เป็นต้น รวมเป็นเม็ดเงินที่รัฐบาลชุดก่อนทำหนี้เอาไว้ให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไป ต้องมาใช้หนี้ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 85,849 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้กลไกของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสภาพอิดโรย ไม่มีสมองที่จะไปคิดทำงานปกติ เพราะมีภาระที่จะต้องแบกหนี้เอาไว้ งานนี้ "หม่อมอุ๋ย" จึงได้ตัดสินใจเข้ามารับใช้หนี้ให้ทั้งก้อน เพื่อให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง โดยการจัดวงเงินงบประมาณไปใช้หนี้ให้หน่วยงานเหล่านี้ ส่งผลให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2550 มียอดขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 46,200 ล้านบาท รวมแล้วปีนี้งบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น 146,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปใช้หนี้ที่เป็นกรรมเก่า แทบจะไม่มีผลในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ประชาชาติธุรกิจ : 29 ธ.ค. 49




คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 70069เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท