พุทธศาสนศึกษา: ตาย ตาย ตาย


เมื่อปีก่อนโน้น…

แม่:  นี่ต้นอะไรเนี่ย
ลูก:  ต้นจากครับ
แม่:  ชื่อไม่เป็นมงคลแบบนี้เขาไม่ให้ปลูกหน้าบ้าน
ลูก:  ชื่อไม่เป็นมงคลตรงไหน
แม่: ก็คำว่า “จาก” หมายถึง “ตาย”
ลูก:  มีบ้านตระกูลไหนที่ไม่ได้ปลูกต้นจากหน้าบ้าน และบ้านตระกูลนั้นยังไม่มีคนตายบ้าง?
แม่:  …?…. (ยังไงก็ไม่โอเค)
………………………..

ปีนี้…ข้างบ้าน

แม่:  ต้นแก้วข้างบ้านหายไปไหนแล้ว
ลูก:  ขนไปไว้ที่ขนำแล้ว
แม่:  อาวทำไมล่ะ
ลูก:  แม่จำไม่ได้หรือที่แม่บอกว่า “รก” หน้าบ้าน ผมก็เลยบอกว่า ตั้งไว้ข้างบ้านก่อนเดี๋ยวค่อยขนไปไว้ที่ขนำ
 

ปีนี้…หน้าขนำ
 

แม่:  ทำไม? ปลูกต้นจากไว้หน้าขนำ (ในท่อน้ำที่ทำไว้ปลูกพืชน้ำ)
ลูก:  ก็ไม่รู้จะไปปลูกที่ไหน
แม่:  เขาไม่ให้ปลูกหน้าบ้าน
ลูก:  ทำไม?
แม่:  มันไม่เป็นมงคล
ลูก:  ไม่เป็นมงคลอย่างไร?
แม่:  ชื่อไม่เป็นมงคล
ลูก:  ….?…. นี่คือมงคลที่สุดแล้ว พระพุทธเจ้าบอกให้นึกความตายทุกวินาทีด้วยซ้ำ
 

แม่ขึ้นรถขับออกไป
ลูกคิดในใจ “ตั้งแต่แม่ไปทำงานอาสาในชุมชน ดูเหมือนสิ่งที่คนพูดกันในกลุ่มชาวบ้าน แม่จะเชื่อมากๆ และนำมาบอกลูกที่แม่ส่งไปเรียนพยาบาลจนจบให้ทำตาม เช่น ต้องพยายามดื่มน้ำอุ่นไว้นะ เพื่อฆ่าเชื้อโควิด ต้องดื่มน้ำขิงนะ จะช่วยได้ เป็นต้น  เดี๋ยวนี้แม่จะสรรหาพืชมงคลตามคำชาวบ้านมาปลูกข้างบ้านเยอะแยะเชียว การปลูกต้นไม้เป็นส่งที่ดี แต่การกล่าวนะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ จบ พร้อมกับ กล่าวคำขอถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็น ”ที่ระลึก (สรณะ)" นั้น แล้วมองว่าพืชมงคล/ต้นไม้ให้โชคลาภ อาจจะไม่สอดคล้องกับ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิฯลฯ สักเท่าไร

………………………………

ตาย ตาย ตาย 

ต้นเรื่องนี้เอง จึงเป็นที่มาของ “ตาย” ที่เคยได้ยินพระพูดให้ฟังถึง “มรณสติ” อันมีประโยชน์ต่อการมีชีวิต เมื่อพยายามค้นคว้าข้อมูล มีเนื้อหาเกี่ยวกับมรณสติจำนวนไม่น้อย ในที่นี้จะแปลเนื้อหาจำนวนหนึ่งจากคัมภีร์พระไตรปิฎกจากภาษาคัมภีร์เป็นภาษาทั่วไปด้วยการเก็บความและถอดศัพท์เป็นความหมาย จากปฏิปทาสุตรที่ ๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ ข้อ ๑๗๐

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นาทิก ทรงสอบถามเหล่าพระว่า “นี่พวกเราผู้เห็นความน่ากลัวในการเวียนว่ายตายเกิด (ภิกษุ) ทั้งหลาย การระลึกถึงความตาย (มรณสติ) ที่ใครๆอบรมเรียนรู้แล้ว (ภาวิตา พหุลีกตา) จะมีผลานิสงส์มากเลยนะ..พวกเธอยังอบรมกันอยู่หรือเปล่า?”

ภิกษุ:  “ยังอบรมเรียนรู้อยู่ครับ”
พระพุทธเจ้า:  "เธอเรียนรู้กันอย่างไรหรือ?
ภิกษุ: “ในการระลึกถึงความตายนั้น ผมคิดในใจว่า ”เออนะ เราอยู่ได้แค่วันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น จึงควรใคร่ครวญคำสอนของพระพุทธเจ้า เรานั้นได้ปฏิบัติตามคำสอนไว้เป็นอันมากแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมระลึกถึงความตายครับ"
ภิกษุ (รูปต่อมา) : "ผมคิดในใจว่า “ เออนะ เราอยู่ได้เพียงครึ่งวัน จึงควรใคร่ครวญคำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ปฏิบัติตามคำสอนไว้มากแล้ว…” 
ภิกษุรูปต่อๆมา ต่างช่วยกันแจงสิ่งที่ตนปฏิบัติ เช่น อาจมีชีวิตอยู่ได้แค่อาหารมื้อหนึ่ง อาจอยู่ได้แค่กลืนกินข้าวได้สักสี่ห้าคำ อาจอยู่ได้แค่กลืนข้าวได้คำเดียว อาจอยู่ได้แค่หายใจเข้าออกหายใจเข้า หรือหายใจเข้าและหายใจออกเท่านั้น …นี่คือสิ่งที่พวกผมระลึกถึงความตายอยู่ครับ

พระพุทธเจ้า: นี่นะ ชาวเราเหล่าผู้เห็นความน่ากลัวของการเวียนว่ายตายเกิดทั้งหลาย (ภิกษุ) …ผู้ใดที่ระลึกถึงความตายว่า เราน่าจะอยู่ได้เพียงชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืน คิดถึงคำสอนที่ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติมาอย่างดีแล้ว และใครที่คิดว่าเราน่าจะอยู่ได้ชั่วหายใจออกแล้วหายใจเข้า หรือหายใจเข้าแล้วหายใจออก เหล่านี้แหละที่เรากล่าวว่า ไม่มีความประมาท เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่ประมาทระลึกถึงความตายเพื่อสิ้นความสิ้นสิ่งสกปรกทางใจ (อาสวะ) กันเถอะ…

นอกจากนั้น ในคำสอนที่ว่าด้วยเรื่อง “คืนเดียวก็งามได้” (ภัทเทกรัตตสูตร/ผู้มีราตรีเดียวเจริญ) พระพุทธเจ้าได้สอนเหล่าพระไว้อย่างน่าสนใจว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และไม่ควรคาดหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งใดที่ล่วงไปแล้วก็คือล่วงไปแล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึงก็คือยังมาไม่ถึง 

ผู้ใดเห็นธรรมในปัจจุบัน/ที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ผู้นั้นควรบำเพ็ญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง

บุคคลควรมีความเพียรพยายามซะตั้งแต่วันนี้เลย ใครล่ะจะรู้ว่า ความตายจะมีในวันถัดไป เพราะ ไม่มีวันซะหรอกที่จะขอผลัดความตายต่อราชาแห่งความตายที่มีพวกพวกมากนั้น

ผู้รู้ที่มีความสงบ เรียกขานคนที่มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน ทำอย่างนั้นอยู่เป็นปกติว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ 

จากการที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การระลึกถึงความตายบ่อยๆมีผลานิสงส์ คำถามคือ อะไรคือผลดีที่เกิดขึ้นจากการระลึกถึงความตายบ่อยๆ คำตอบที่เป็นคุณธรรมเชิงลึกมีอยู่ในเนื้อหาข้างต้นแล้ว กล่าวคือ “ทำให้เราไม่ประมาท” ในการที่ยังมีชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือทางแห่งความบริสุทธิ์ (คัมภีร์วิสุทธิมรรค) แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านได้เสนอให้เห็นความตายใน ๒ แบบคือ ตายแบบทั่วไปคือสิ้นอายุและหมดบุญ และตายแบบเฉพาะคือกรรมตัดรอน เช่น การถูกฆ่า เป็นต้น

ในการระลึกถึงความตายนั้น ให้แต่ละคนคิดอยู่เสมอว่า ความตายจักมีแก่เราแน่ๆ ความตายเหมือนเพชฌฆาตที่วางคมดาบประชิดคออยู่ ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด …คนที่ระลึกถึงความตายเสมอๆนี้ จะละความคลั่งไคล้ในชีวิต ไม่มีความตระหนี่ เมื่อถึงคราวที่ต้องตายจะไม่มีความสะดุ้งกลัวและไม่หลงคราวจะต้องตาย ตลอดถึงการสัมผัสคุณธรรมที่สูงกว่านั้น (อ่านรายละเอียดใน พระพุทธโฆสเถระ. วิสุทธิมรรค แปลโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพรส จำกัด.หน้า ๓๙๗-๔๑๐) 

 

ดังนั้น 

ถ้าต้นจากเป็นสัญลักษณ์ของความตาย

การระลึกถึงความตายคือธรรมที่พระพุทธเจ้าแนะนำให้ปฏิบัติ

การระลึกถึงความตาย มีผลานิสงส์ให้เราไม่ประมาทในการมีชีวิต

การมีต้นจากหน้าบ้าน เป็นตัวจูงใจให้เรานึกถึงความตาย

ต้นจากจึงเป็นมงคลในการให้เราระลึกถึงคำสอนของพุทธเจ้าว่าด้วยความตาย (มรณสติ)

จึงมีเหตุผลที่จะบอกว่า ต้นจากไม่ใช่สิ่งอัปมงคล หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่สิ่งเป็นมงคลคือธรรมที่พระพุทธเจ้าเสนอแนะให้แต่ละคนค้นหาตามศักยภาพแห่งตน
นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าต้นไม้คือ เราจะค้นหาธรรมของพระพุทธเจ้าจากต้นไม้อย่างไรต่างหาก
 

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ 

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

…………………..

ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

การนึกถึงความตายทำให้เราไม่ประมาท

หรือ

การนึกถึงความตายย่อมรักษาเราให้เราไม่ประมาท
 

แต่มันไม่ง่ายหรอกนะสำหรับผู้มีกิจธุระมากและไม่ได้เจียดเวลาให้กับธรรม

หมายเลขบันทึก: 699971เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2022 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2022 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท