ศิษย์เก่านักกิจกรรม (ุ10) ใจทิพย์ สอนดี อีกหนึ่ง “สวย-เก่ง” ของการเป็นนิสิต มศว มหาสารคาม


พี่ทิพย์ เป็นคนเรียนเก่ง ใส่ใจและรับผิดชอบต่อการเรียนอย่างดีเยี่ยม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากในยุคนั้นมักคุ้นเคยและชินตากับภาพลักษณ์ของความเป็น “หญิงแกร่ง” ที่ย่ำเดินอยู่บนถนนสายกิจกรรมเสียมากกว่า

“...  พี่ไม่ใช่คนอีสานนะ  พี่เป็นคนจังหวัดราชบุรี  เข้ามาเรียนที่นี่ปี 2532  ตอนนั้นเป็น มศว. มหาสารคาม เพื่อนๆ พี่ๆ ชอบเอาชื่อจริงพี่มาเรียกเป็นชื่อเล่นว่า ‘ใจทิพย์’ ทั้งๆ ที่ชื่อเล่นพี่คือ ‘ทิพย์’....”

ไม่รู้สิ – สำหรับผมแล้ว ผมกลับสุขใจที่จะเรียกพี่สาวที่ “เก่ง” และ “สวย” คนนี้ว่า “พี่ทิพย์” 


ไม่ผิดหรอกครับที่ผมจะเรียกพี่สาวคนนี้ว่า “เก่งและสวย”  เพราะในสายตาของผม หรือแม้แต่พี่ๆ น้องๆ ในยุค “มศว มหาสารคาม”  มีไม่น้อยที่มองว่าพี่ทิพย์เป็นนิสิตอีกคนที่ออกในแนวสวย น่ารัก สดใส มีน้ำใจ และภายใต้ความสวยสดใสก็มีประกาย “ความแกร่ง” ฉายชัดอยู่ในตัว 

 




พี่ทิพย์ มีชื่อจริงว่า “ใจทิพย์ สอนดี” เป็นศิษย์เก่ารุ่นมฤคมาศ 4 (รุ่นนี้ตามตำนานบอกเล่าว่าเป็นรุ่นที่อุดมไปด้วยคนสวย คนหล่อ) ปีการศึกษา 2532 เข้าศึกษาในสาขาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมศาสตร์  (สมัยนั้นยังไม่ยุบรวมกับคณะมนุษยศาสตร์)  ตลอดระยะเวลาของการเป็นนิสิต พี่ทิพย์คืออีกหนึ่ง “ตำนาน” ของการเป็นนิสิตที่ผมหลงรักและมักกล่าวถึงในเวทีต่างๆ เพราะเป็น “ต้นแบบ” ที่ควรศึกษาไม่แพ้คนอื่นๆ –

พี่ทิพย์ เป็นคนเรียนเก่ง ใส่ใจและรับผิดชอบต่อการเรียนอย่างดีเยี่ยม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากในยุคนั้นมักคุ้นเคยและชินตากับภาพลักษณ์ของความเป็น “หญิงแกร่ง” ที่ย่ำเดินอยู่บนถนนสายกิจกรรมเสียมากกว่า 

 


เอาจริงๆ เลยนะ ในมุมมองของผมเอง  พี่ทิพย์คืออีกหนึ่ง “ขุนพล” คนสำคัญของชมรมอาสาพัฒนาในยุคนั้นเลยทีเดียว เพราะเป็นทั้งสมาชิกค่ายและกรรมการชมรมอาสาพัฒนา แต่ละปีแต่ละเทอมแพลนชีวิตไปออกค่ายเป็นว่าเล่น ซึ่งมีทั้งค่ายในจังหวัดมุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หรือแม้แต่ชุมพร อันเป็น “ค่าย 8 วิทยาเขต” ของชาว มศว (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)


ที่สำคัญ พี่สาวคนนี้ แม้จะดูออกแนวสวยใส แต่ในวิถีค่ายกลับไม่ใช่สายหวานเลยสักนิด จะเรียกว่าออกแนว “สายวิชาการ” หรือหนักไปในทาง “แบกหาม” ก็ไม่ผิด  เนื่องเพราะเท่าที่ผมเคยร่วมงานด้วย พี่ทิพย์เป็น “คนหน้างาน”  ขนานแท้ อันหมายถึง “ทำจริง ลุยจริง”   – แบกหามข้าวของในค่ายไม่แพ้ผู้ชาย นั่นเอง

มิหนำซ้ำยังเคยเป็นหนึ่งในแกนนำชมรมอาสาพัฒนาที่ “เขียนแบบอาคาร” ได้ รวมถึงเคยเป็นหนึ่งในทีมงานจัดคอนเสิร์ตการกุศลระดมทุนออกค่ายฯ โดยมี ปู-พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ เป็นศิลปิน และครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จได้เงินไปออกค่ายฯ ในราวเกือบๆ 70,000 บาท 

 

 

อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแกนนำโครงการ “เพื่อเมืองไทยด้วยใจและใจ” อันเป็นหนึ่งในแนวคิดการนำเยาวชนเข้ามาอบรมที่มหาวิทยาลัยฯ (อาคารโภชนาคาร) เสมือนการ “ติดอาวุธทางความคิด” เพื่อให้เยาวชนได้นำความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ 
 

ผมกับพี่สาวคนนี้เคยร่วมชะตากรรมค่ายอาสาในกระแสธาร “พฤษภาทมิฬ” ด้วยกันหนึ่งครั้ง  กล่าวคือ  ครั้งนั้นเมื่อค่ายอาสาพัฒนาเริ่มมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตบเท้าเข้าไปในค่าย ทั้งผมและพี่ทิพย์ รวมถึงพี่เอ๋ (เอกชัย สมกล้า) ได้รับมอบหมายจากชาวค่ายให้หลบออกมาจากค่ายเพื่อมาสมทบกับองค์การนิสิตในยุคนั้น (2535) เตรียมขับเคลื่อนเรื่อง “พฤษภาทมิฬ” 

 




ผมจำได้แม่นยำว่า วันนั้นเราสามคนออกจากค่ายในตอนเช้ารุ่ง มานั่นโบกรถริมถนน –ริมถนนที่สองฝั่งเป็นทุ่งโล่ง  สายลมร้อนโชยพัดไม่หยุดหย่อนและมีความแล้งแร้งห่มคลุมตามครรลองของธรรมชาติ

ถึงตรงนี้ผมยังยืนยันว่า พี่ทิพย์ เป็น “หญิงแก่ง” (สุดสวยและแสนเก่ง) –เพราะไม่ใช่แค่ทุ่มเทให้กับการทำกิจกรรมนิสิตในสายบำเพ็ญประโยชน์เท่านั้น  หากแต่ยังครอบคลุมถึงการ “เปิดใจ” ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นองค์การนิสิต ชมรม กลุ่มนิสิต (พรรค)  และองค์กรภายนอกอย่างไม่อิดออด ขออย่างเดียวคือเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม – 

 
การ “เปิดใจ” ที่ว่านั้น ในมุมคิดของผม คือภาพสะท้อนอันสำคัญของการเป็นนักกิจกรรมในยุคนั้น เป็นการเปิดใจต่อการเรียนรู้ในทุกๆ มิติ เป็นการเปิดใจโดยไม่ปิดกั้นที่จะทำประโยชน์  เป็นการเปิดใจร่วมงานกับผู้คนต่างองค์กร รวมถึงเปิดใจที่จะเสียสละเพื่อสังคมก็ว่าได้ 

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่จะเห็นพี่ทิพย์ปรากฏตัวอยู่ในสถานะอื่นๆ ที่หลากหลายอย่างน่าชื่นชม เป็นต้นว่า  เป็นนักกีฬาของคณะ เป็นนักกีฬาเปตองของมหาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาตัวแทนของจังหวัดมหาสารคาม หรือแม้แต่การเป็นนักกีฬาตัวแทนเขต 4 

 



ครับ – ที่เล่าๆ มาโดยสังเขปนั้นก็ครอบคลุมกิจกรรมไปแล้วทั้งด้านวิชาการ กีฬา บำเพ็ญประโยชน์ ส่วนศิลปวัฒนธรรมนั้นก็แจ่มชัดในการเรียนรู้ในหลักสูตร การเรียนรู้ชุมชนผ่านวิถีค่าย หรือแม้แต่การเหยียบยืนบนเวที “ความงาม” หรือ “นางงาม”

 

แน่นอนครับ – ฟังไม่ผิดครับ  เพราะในปี 2535 พี่สาวคนนี้สวยพอที่คนทั้งคณะจะลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นเวทีประกวดนางนพมาศในมหาวิทยาลัย แม้จะไม่มีรางวัลใดๆ ติดไม้ติดมือมาให้ชาวคณะสังคมศาสตร์ก็เถอะ แต่กลับผงาดไปคว้ารางวัล “นางนพมาศ” ในระดับจังหวัดมาครองอย่างสง่า –

 

 

กรณีความงามนั้น  ผมเคยถามทักกึ่งหยอกล้อพี่ประมาณว่า “เพราะเป็นคนราชบุรี ใช่ไหมพี่ถึงได้สวย 5555” (จริงๆ ตอนที่ถาม ผมไม่กล้ายิ้ม หรือหัวเราะหรอกนะครับ ผมเป็นคนขำยาก ถนัดซีเรียสมากกว่า) 

“...  คนเมืองราชบุรี เป็นเมืองหน้าด่าน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตาก และรัชกาลที่ 1 ราชบุรี เป็นเมืองด่านหน้า ป้องกันพม่า จากด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญ ก่อนเดินเท้าถึงอยุธยา  นางสนม นางในจะอยู่แถบนี้ รวมถึงกวาดต้อนและรับกลุ่มคนต่างๆ มาร่วมรบ ไทยวน จากเชียงแสน นครพิงค์ ลาวส่วย จากเวียงจันทร์ มอญ มาอยู่ตาม ริมน้ำ...”

นั่นคือถ้อยคำจากพี่สาวคนนี้  ไม่มีสักคำที่ขานรับว่า “สวย” แต่กลับปูพรมให้ผมถอดความจากตะเข็บประวัติศาสตร์แทน

 



ทุกวันนี้ พี่ทิพย์ยังคงเฝ้าติดตามเรื่องราวความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยฯ อันเป็นที่รักของเราอย่างต่อเนื่อง เป็นสะพานเชื่อมโยงเรื่องราวจากคนยุค มศว. มายัง มมส. อย่างน่ายกย่อง 

 

บ่อยครั้งทักถามผมถึงเรื่องราวกิจกรรม  บางครั้งช่วยประสานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับจิตอาสาข้ามพื้นที่ที่พี่เขารู้จัก บ้างกดไลก์ กดแชร์เรื่องราวดีๆ จากข้อเขียนของผมที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยฯ ไปสู่สาธารณะโดยที่ผมไม่ได้ร้องขอ

บ้างส่งความปรารถนาดีมาเยือนผมและผู้คนในถนนสายกิจกรรม ไม่ว่าห้วงนั้นจะเป็นห้วงแห่งสุข หรือทุกข์
 

 

เช่นเดียวกับการอุทิศตนให้กับการงานอย่างสุดกำลัง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019  ผมสัมผัสได้ว่าพี่ทิพย์ทำงานหลักไม่แพ้คนอื่นๆ เป็นการทำงานในวิชาชีพแต่ฉายชัดถึง “จิตใจ” หรือ “ทำงานด้วยจิตวิญญาณ” 

และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเฝ้าติดตามการทำงานของพี่สาวคนนี้อย่างเงียบๆ ซึ่งผมสัมผัสได้ว่า พี่ทิพย์ทำงานหนักมาก เพราะการงานที่ว่านั้นได้รุกคืบเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของพี่ทิพย์ไปโดยปริยาย แต่พี่สาวสุดสวยและแสนเก่งคนนี้ก็ “เอาอยู่” สามารถบริหารจัดการได้อย่างลงตัว  ดังจะเห็นได้จากบางข้อความที่เปรยผ่านเฟซบุ๊กเป็นระยะๆ เช่น

 

“...  ไม่สามารถทนเห็นคนตายลงต่อหน้าได้ เพราะคนที่โทรอคือคนที่เดือดร้อน ต้องการคนช่วยเหลือท่ามกลางความโกลาหล ถ้าไม่รับสายเขาอาจตาย สถานะเพียง 2 วัน เขาอาจตายได้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น...เลยเลือกไม่พัก ยอมเหนื่อย นั่งทำงาน WFH รับสายที่บ้านแทน...”

 


ครับ – ขอสารภาพถึงพี่สาวคนนี้ออกสื่อแบบตรงๆ ว่า ผมตั้งใจเขียน  บอกเล่าเก้าสิบ ถึงพี่สาวคนนี้นานแรมปี ตั้งแต่โควิดกระหึ่มในระลอกแรก ล่าสุดตั้งใจจะเขียนในช่วงที่น้ำหลากอันเป็นห้วงเวลาที่กระทงไหลล่องอย่างหลากหลาย เพื่อรำลึกเรื่องราวของพี่สาวในแบบ “สุดสวย”  

แต่พอมาคิดอีกที (คิดเอง)  ว่ารออีกสักนิดดีกว่า เพราะเรื่องราวของพี่มีมากกว่า “ความสวย” บนเวทีที่ว่านั้น

 

ปัจจุบัน พี่ทิพย์ ดำรงตำแหน่งนักวิชาการหลักประกันสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี ยังคงทำหน้าที่ด้วยความรักเฉกเช่นเคยเป็นมา  ...
 



เรื่อง : พนัส  ปรีวาสนา
ภาพ : ใจทิพย์ สอนดี

 

หมายเลขบันทึก: 698882เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2022 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2022 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท