แอ่วน่านกันเต๊อะ (1) รอบรู้เรื่องเมืองน่าน


แอ่วน่านกันเต๊อะ  (1) รอบรู้เรื่องเมืองน่าน

ก่อนจะมาเป็นจังหวัดน่านเหมือนในปัจจุบันนี้ เมืองน่านในอดีตเป็นเมืองเล็กๆที่ก่อตัวขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน โดยแต่เดิมนั้นมีการเรียกชื่อใหม่ว่า นันทบุรี แต่ก็เป็นชื่อที่มีหลายพยางค์และเรียกยาก ชาวบ้านจึงกลับมานิยมเรียกตามเดิมว่า “เมืองน่าน” มาจนถึงทุกวันนี้

ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เมืองน่านมีกำเนิดเป็นหลักฐานครั้งแรกที่เมืองวรนคร หรือ เมืองปัว โดยพระยาภูคา เจ้าเมืองย่าง มีราชบุตร 2 องค์ คือ ขุนนุ่น และ ขุนฟอง เมื่อเจริญวัยขึ้น พระมหาเถรแตงได้สร้างเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงชื่อว่า จันทบุรี (หลวงพระบาง) ให้แก่ขุนนุ่นผู้พี่ แล้วสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำน่านชื่อว่าวรนคร (เมืองปัว) ให้แก่ขุนฟองผู้น้อง ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อน ราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้เป็นหลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปเมืองย่างและมอบให้ชายาคือ นางพญาแม่ท้าวคำปินดูแลรักษาเมืองปัวแทน บริเวณเมืองปัวในปัจจุบันยังพบร่องรอยของคูน้ำคันดิน อันเป็นหลักฐานแสดงถึงความเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณ โดยพบว่ามีการขยายของเมืองปัวหลายครั้ง ทำให้เมืองปัวเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญมาก

ในสมัยของพญาการเมือง เมืองปัวได้มีการขยายตัวมากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากพระมหาธรรมราชาลิไท เจ้าเมืองสุโขทัย ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) แล้วเจ้าเมืองสุโขทัยได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาก ารเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวอีกด้วย ซึ่งได้นำมาบรรจุไว้ในพระธาตุแช่แห้ง

หลังจากนั้นพญาการเมืองครองเมืองต่อมาอีก 5 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย พญาผากองจึงครองเมืองสืบต่อแทน และอีก 6 ปีต่อมาเกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตก บริเวณบ้านห้วยไค้ ในปี พ.ศ. 1911 คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบันนี้

จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ติดกับชายแดนทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ประมาณ 668 กิโลเมตร บริเวณเส้นรุ้งที่ 18 องศา 46 ลิปดา 30 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 18 องศา 46 ลิปดา 48 ฟิลิปดาตะวันออก ระดับความสูงของพื้นที่อยู่สูง 2,112 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ 11,472,076 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,170,045 ไร่

อาณาเขตโดยรอบของจังหวัดน่าน

ทิศเหนือ ประกอบด้วย อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว มีอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอบ่อเกลือ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงฮ่อน-หงสา ของสปป.ลาว

ทิศตะวันออก ประกอบด้วยอำเภอภูเพียง อำเภอสันติสุข โดยมีอำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา มีพื้นที่ติดต่อกับแขวงไชยบุรีของสปป.ลาว

ทิศใต้ ประกอบด้วย อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภานาน้อยและอำเภอเวียงสามีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดแพร่

ทิศตะวันตก ประกอบด้วย อำเภอบ้านหลวง มีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา อำเภอท่าวังผามีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอปง จังหวัดพะเยา อำเภอสองแควมีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ทิศเหนือและทิศตะวันออก  มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นระยะทางยาวประมาณ 227 กิโลเมตร

สัญลักษณ์ประจำจังหวัดน่าน

เป็นรูปพระธาตุแช่แห้งบนหลังโคอศุภราช
ความหมาย 
โคอศุภราช หมายถึง นามเมือง โดยมีตำนานเล่าว่าสมัยเมื่อพญาผากองสร้างเมืองน่านเมื่อ พ.ศ  1911 พระองค์ทรงนิมิตว่ามีโคอศุภราชวิ่งมาจากป่าทางด้านทิศตะวันออก ข้ามแม่น้ำน่านมายังทิศตะวันออก แล้วถ่ายมูลเป็นรูปพื้นฐานของตัวเมืองน่าน เมื่อพระองค์ตื่นบรรทมปรากฏว่ามีเหตุการณ์ตามที่ได้นิมิตดังกล่าว ประกอบกับพระองค์จะย้ายเมืองมาตั้งที่บริเวณจังหวัดน่านในปัจจุบันด้วย พระองค์จึงก่อกำแพงเมืองตามรอยมูลที่โคอศุภราชถ่ายไว้  ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายอันสำคัญ จึงให้โคอศุภราชเป็นนามเมือง

พระธาตุบนหลังโคอศุภราชหมายถึงพระธาตุแช่แห้งซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดน่าน มีอายุกว่า 600 ปีมาแล้ว

(โคอศุภราช คือโคที่มีผิวกายสีขาว เป็นสัตว์พาหนะของพระอิศวร)

คำขวัญประจำจังหวัดน่าน

แข่งเรือลือเลื่อง  เมืองงาช้างดำ  จิตรกรรมวัดภูมินทร์  แดนดินส้มสีทอง  เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง

ดอกไม้ประจำจังหวัดน่าน

เสี้ยวดอกขาว (เสี้ยวป่าดอกขาว)

ลักษณะทั่วไป มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและมาเลเซีย เป็นไม้ยืนต้นสูง 5 -10 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ เรือนยอดกลม ใบเดี่ยวค่อนข้างกลม ปลายและโคนใบเว้า คล้ายใบแฝดติดกัน ใต้ใบมีขน  ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายกิ่ง 6 -10 ดอก ดอกมี 5 กลีบ คล้ายดอกกล้วยไม้ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตลอดปี ดอกดกช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ผลเป็นฝักแบน เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ความชื้นสูง แสงแดดจัด

ประโยชน์ของเสี้ยวดอกขาว  ฝักแก่ใช้เป็นยาถ่าย เพราะในเนื้อมีสารแอนทราควิโนนอยู่หลายชนิด เหมาะสำหรับผู้ที่ท้องผูกประจำ

พันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดน่าน

กำลังเสือโคร่ง หรือ กำลังพญาเสือโคร่ง

ลักษณะทั่วไป  เป็นไม้ยืนต้นสูง 20 -35 เมตร วัดโดยรอบลำต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกไม้มีสีน้ำตาลเทาหรือเกือบดำ มีรูระบายอากาศเป็นจุดขาวเล็กๆ กลมบ้างรีบ้างปะปนกัน เปลือกมีกลิ่นคล้ายการบูร ยอดอ่อน ก้านใบและช่อดอกมีขนสีเหลืองหรือน้ำตาลปกคลุม หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือแคบ ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร

ใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมหอก หรือรูปหอก เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ใต้ใบมีตุ่ม โคนใบป้านเกือบเป็นเส้นตรง ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยสองชั้นหรือสามชั้น ซี่หยักแหลม ปลายใบเรียวแหลม เส้นแขนงใบมี 7-10 คู่

ดอกออกเป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ออกตามง่ามใบแห่งละ 2-5 ช่อ ดอกย่อยไม่มีก้าน ช่อดอกเพศผู้ยาว 5 - 8 เซนติเมตร กลีบรองดอกเป็นรูปโล่หรือกลม มีแกนอยู่ตรงกลาง ปลายค่อนข้างแหลม มีขนที่ขอบเกสรเพศผู้ 4 -7 อันติดอยู่ที่แกนกลาง ช่อดอกเพศเมียยาว 3 - 9 เซนติเมตร กลีบรองดอกไม่มีก้าน มี 3 หยัก ด้านนอกมีขน รังไข่แบน กรอบนอกเป็นรูปไข่ หรือเกือบกลม มีขน ท่อรังไข่ยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ผลแก่ร่วงง่าย แบน มีปีกบาง 2 ข้างโปร่งแสง

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ทนแล้งได้ดี ชอบความชื้นน้อย ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

ประโยชน์ของต้นกำลังพญาเสือโคร่ง

เนื้อไม้ใช้ทำพื้นกระดาน ด้ามเครื่องมือเกษตรกรรม เครื่องเรือน ใช้ในการก่อสร้าง

เปลือกใช้ประโยชน์ทางยา ใช้ต้มกับน้ำเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ

ประเพณีแข่งเรือหัวพระยานาค หนึ่งเดียวของจังหวัดน่าน

ประเพณีแข่งเรือเมืองน่านเป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณ แต่ก่อนได้กำหนดว่าให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงาน "ตานก๋วยสลาก"(ถวายทานสลากภัต) หมู่บ้านใด วัดใดจัดให้มีงานตานก๋วยสลาก ก็ให้มีการเชื้อเชิญหมู่บ้านและวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคี งานตานก๋วยสลากกับการแข่งเรือจึงเป็นประเพณีคู่กันมาแต่โบราณ ต่อมาทางราชการจึงถือเอางานตานก๋วยสลาก ณ วัดช้างค้ำ ซึ่งเป็นวัดหลวงกลางเวียงของน่านเป็นการเปิดสนามการแข่งเรือของจังหวัดน่าน ซึ่งงานจะจัดช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี และงานตานก๋วยสลากจะไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน12 หรือประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นการแข่งขันนัดปิดสนาม

เอกลักษณ์ของประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน คือ เรือแข่งจะเป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือตะเคียนทองทั้งต้น ด้วยความเชื่อว่ามีความทนทานและผีนางไม้แรง โดยเฉพาะเอกลักษณ์ตรงหัวเรือ หรือ โขนเรือแกะสลักเป็นหัวพญานาคแบบแนา กำลังแยกเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายเรือสลักเป็นหางของพญานาค มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เป็นความเชื่อกันว่าพญานาคมีความศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล สามารถทำไร่ทำนาได้ผลดี


ประเพณีการแข่งเรือได้สอดแทรกกุศโลบายในการสร้างความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนเมืองน่านหลายอย่าง เช่น การบูชาเทพอารักษ์ที่สิงสถิตย์อยู่ในไม้ตะเคียนที่นำมาทำเรือ เรียกว่า "ผีเรือ" หรือที่ทางภาคกลางเรียกว่า "แม่ย่านางเรือ" ซึ่งเป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันมานาน โดยการนำเรือลงสู่แม่น้ำในเวลาแข่งเรือต้องหาฤกษ์ หาวันและเวลา หรือแม้แต่หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลแข่งเรือแล้วจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญและเลี้ยงผีเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดน่าน

1.วัดพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน

(ภาพจากอินเทอร์เน็ต เนื่องจากองค์พระธาตุกำลังบูรณะฯ )

2.วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่บนเขาน้อยทางตะวันตกของตัวเมืองน่าน สามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของเมืองน่านได้ 

3.วัดภูเก็ต วัดที่มีภูมิทัศน์สวยงาม มีระเบียงชมวิวด้านหลังวัดซึ่งเป็นทุ่งนากว้างไกลและสามารถมองเห็นดอยภูคาได้

4. วัดหนองบัว  วัดเก่าแก่ท่ามกลางชุมชนไทลื้อ ด้านหลังมีบ้านโบราณแบบไทลื้อที่อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม

5. วัดปรางค์  unseen Thailand ต้นดิกเดียม ต้นไม้มหัศจรรย์ ที่ใบจะสั่นไหวเมื่อมีใครไปสัมผัสที่ลำต้น 

6. วัดบุญยืน เป็นวัดที่มีพระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนแตกต่างจากโบสถ์โดยทั่วไปที่มักจะเป็นปางมารวิชัย

7. วัดภูมินทร์  เดิมชื่อวัดพรหมมินทร์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองน่าน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันลือลั่น คือภาพปู่ม่านย่าม่านกระซิบรัก


8. วัดศรีพันต้น วัดสีทองเรืองอร่าม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองน่าน

9. วัดมิ่งเมือง  เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองจังหวัดน่าน เป็นวัดสีขาวที่มีความวิจิตรงดงาม

10. อุทยานแห่งชาติดอยภูคา สถานที่ชมความงามของดอกชมพูภูคาซึ่งมีอยู่เพียงที่เดียวในโลก และจะบานเพียงปีละครั้งช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม

11. อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) 

12. เสาดินนาน้อย  เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่งดงาม เกิดจากการทับถมของดินและเกิดน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นริ้วรายที่แปลกตา

13. บ่อเกลือสินเธาว์ ชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์การทำเกลือภูเขาที่ไม่มีที่ใดเหมือน

14. หมู่บ้านสะปัน  หมู่บ้านเล็กๆกลางหุบเขา ที่อำเภอบ่อเกลือ

15. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เดิมเคยเป็นหอคำ ต่อมาใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในปัจจุบัน เป็นที่เก็บรักษางาช้างดำ

16. โฮงเจ้าฟองคำ  บ้านไม้สักรูปแบบล้านนาโบราณ 

ขอขอบคุณ

  • บริษัททัวร์ฟ้าใสและทีมงานทุกคนในการให้บริการที่ดีเยี่ยม
  • วิทยากรคุณเกม บัณฑิต ภิรมย์ภักดิ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติสถานที่แต่ละแห่ง
  • น้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน
หมายเลขบันทึก: 698624เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2022 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2022 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากค่ะ เคยไปมาแล้ว แต่ยังอยากไปอีกค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท