ข้อสังเกตการรวมกลุ่มพื้นที่ อปท.ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Clusters)


ข้อสังเกตการรวมกลุ่มพื้นที่ อปท.ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Clusters)

4 มีนาคม 2565 

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ข้อมูลขยะประเทศไทย 

อัตราคนสร้างขยะ 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน คนกรุงเทพฯ ผลิตขยะ 11,500 ตัน/วัน คนไทยผลิตขยะ 73,560 ตัน/วัน[2]สัดส่วนของขยะมูลฝอยชุมชน 1 กอง 100% แยกแยะดังนี้ ขยะอินทรีย์ 64% ขยะรีไซเคิล 30% ขยะอันตราย 3% ขยะทั่วไป 3%[3]

ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน[4] ปี 2556 26.77 ล้านตัน ปี 2557 26.19 ล้านตัน ปี 2558 26.85 ล้านตัน ปี 2559 27.06 ล้านตัน ปี 2560 27.40 ล้านตัน ข้อมูลปี 2561[5] ไทยมีปริมาณขยะถึงกว่า 50.6 ล้านตัน จากชุมชน 56% อุตสาหกรรม 43% และสถานพยาบาล 1% ซึ่งกากอุตสาหกรรมมีปริมาณพอกับขยะจากชุมชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ข้อมูลปี 2563 มีขยะไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง 7.88 ล้านตัน (31%)

อย่างไรก็ตาม “การกำจัดขยะ” เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของการจัดการขยะเท่านั้น การกำจัดขยะเป็นปลายทาง นอกจากนี้ ขยะคือความเหลื่อมล้ำ[6] เช่น กทม.ผลิตขยะมาก ปี 2562 กทม.ส่งขยะออกมากที่สุดถึง 5706 ตัน ไปกำจัดที่ราชาเทวะ นครปฐม และฉะเชิงเทรา ดังนั้น การจัดการขยะ มูลฝอยและของเสียอันตราย ด้วย “การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจร” [7] จึงเป็นสิ่งจำเป็น 

ปัจจุบันปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ปัญหาการจัดการ “ขยะมูลฝอย” (Solid Waste) [8]จึงเป็นปัญหาเรื้อรังระดับประเทศที่ต้องจัดการอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ด้วยวิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป แม้จะอยู่ในชุมชนเมือง หรือชุมชนชนบทต่างก็ต้องมีวิธีการกำจัดขยะเหมือนกัน แต่ความเป็นชุมชนเมืองย่อมมีขยะที่ซับซ้อนมากขึ้น มีขยะในครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น และยากต่อการจำกัด ด้วยวิถีความเป็นเมือง (Urbanization) [9]  สมัยก่อนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่มีรถเก็บขนขยะแต่อย่างใด โดยเฉพาะ อบต.เล็กๆ ตามชนบท เพราะพื้นที่ชนบทต่างเก็บขนทำลายขยะกันได้เอง เพราะปริมาณขยะมีเล็กน้อย แตกต่างจากพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่และหนาแน่นในเขตเมือง เช่น เทศบาลเมือง เทศบาลนคร เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร(กทม.) 

ต่อมาเมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้นจึงมีความจำเป็นต้องจัดระบบการเก็บขนและกำจัดทำลายขยะให้ถูกต้อง เพราะการเผาต่างๆ ของชาวบ้าน เช่น เผาฟางข้าว ต้นหรือซังข้าว ข้าวโพด หรือเศษไม้ใบหญ้า หรือเปลือกหรือกากของพืช เพื่อเตรียมการทำการเพาะปลูกใหม่ การเผาหญ้า เผาวัสดุขยะต่างๆ หรือสิ่งอันไม่พึงประสงค์ใดๆ รวมทั้งการทิ้งขยะด้วย สร้างมลพิษแก่พื้นที่ที่ผิดกฎหมาย จึงถูกจำกัดข้อกฎหมายท้องถิ่นหลายๆ ฉบับ[10] ทั้งอาจผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย เช่น มาตรา 217, 218, 220, 224, 225 หรือผิดละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่สำคัญคือกฎหมายสาธารณสุขเรื่องเหตุรำคาญ[11] ควันไฟ ควันพิษ เกิดมลภาวะ การห้ามเผาฟาง เผาหญ้า ห้ามเผาขยะในเขตทางหลวง กฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง กฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ล้วนเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้ชุมชนสะอาด ปลอดมลภาวะ ในพื้นที่และในอากาศ ช่วยลดฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ควันฝุ่นละอองจากเขม่าขี้เถ้า รวมทั้งการลดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ตาม Agenda ของโลกด้วย

ปัญหาความต่างในมาตรฐานของ อปท. ทำให้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยไม่เป็นระบบ เป็นภาระและสร้างปัญหาระบบภาวะแวดล้อมชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะขยะพิเศษที่ทำลายยาก เช่น ขยะพลาสติก ขยะพิษ ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ เป็นต้น ทำให้ อบต.ขนาดเล็ก เทศบาลขนาดเล็กประสบปัญหาเรื่องขยะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ปัญหาง่ายๆ เช่น ประชาชนจะทิ้งขยะกันอย่างไร ทิ้งที่ไหน จะทำลายขยะด้วยการเผาทำลายเอง หรือฝังกลบเองก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีพื้นที่ และมีการเข้มงวดกวดขันไม่ให้ชาวบ้านเผาหญ้าเผาขยะ โดยเฉพาะในหน้าแล้ง เพราะสร้างมลภาวะ ความเดือดร้อนรำคาญ

 

Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมศูนย์ (Clusters)

 

การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เริ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จาก เมื่อ 26 สิงหาคม 2557[12] ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถือว่า “ปัญหาขยะล้นเมือง” เป็นวาระเร่งด่วน (Quick Win) เป็น “วาระแห่งชาติ” (Agenda) ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) [13] โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ คือ การจัดการมูลฝอยรวม (Clusters) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) [14] โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันบริหารจัดการขยะมูลฝอย ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ.2565-2570) [15] กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ

ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคเจ็ด แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ได้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560[16] อันเป็นจุดเริ่มของการให้เอกชนเข้ามาจัดการขยะร่วมกับท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการจัดทำมาก่อนแล้ว แต่เป็นการดำเนินการด้วยระบบสมัครใจ แล้วแต่ศักยภาพของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นที่แตกต่างกัน สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทยเริ่มปลูกฝังแนวคิดนี้โดยการทัศนศึกษาดูงานต่างประเทศ การถ่ายทอดนวัตกรรมการกำจัดขยะแก่เทศบาล เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารชุมชนเมืองด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม

ในการบริหารจัดการขยะนั้น มีกิจกรรมที่สำคัญที่สุดกิจกรรมหนึ่งคือ “การกำจัดขยะ” ซึ่งแต่เดิมท้องถิ่นก็บริหารเอง กำจัดขยะเอง แต่เมื่อปริมาณขยะมากขึ้น การกำจัดย่อมมีปัญหาในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะต้นทุนในการบริหารจัดการที่สูงขึ้น สถานที่ในการกำจัดทำลายไม่มี หรือมีแต่ไม่เหมาะสม เทคนิคการกำจัดแบบเดิมคือการฝังกลบ (Landfills)[17] และการเผาทิ้งที่สร้างมลพิษ กลิ่น ควัน ต่อมาจึงมีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ในการกำจัดที่ดีขึ้น เชิง “บูรณาการ” มากขึ้น เช่น หลายๆ อปท.มี "การรวมกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย"[18] (Clusters) หรือ “การจัดการมูลฝอยรวมกัน” (Clusters) หรือ “จัดการขยะมูลฝอยแบบรวมศูนย์” มีเตาเผาขยะ มีโรงคัดแยกขยะ แน่นอนเป็นการดำเนินการธุรกิจอย่างหนึ่งของเอกชนที่จะมารับจ้างท้องถิ่นในการ “กำจัดขยะ” ด้วยการรับจ้างรับเหมากำจัดขยะ เพราะเมื่อมีขยะมูลฝอยมารวมศูนย์ก็ต้องมีการกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ โดยการรับจ้าง ข้อดีคือ การรวมกลุ่มโอกาสการจัดการได้มากขึ้น ดีกว่าการจัดการแบบเดี่ยว อปท. สามารถแชร์บ่อขยะได้ ส่วนอย่างอื่นเช่น รถขยะ บุคลากรไม่ได้แชร์ สามารถกระทำได้ใน 2 วิธีคือ (1) อบจ.มีศักยภาพจัดการพอ หรือ (2) อาจให้เอกชนรับเหมาจัดการ มีข้อเสนอจากนักวิชาการว่า จากการจัดการขยะ “Cluster” ไปสู่ “Regional” ได้[19] หมายถึงความร่วมมือของท้องถิ่นในการจัดการขยะที่มีขนาดพื้นที่กว้างขวางขึ้นที่อาจข้ามเขตจังหวัดไปรวมกับท้องถิ่นในจังหวัดข้างเคียงได้

ข่าวการทุจริตโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกลุ่มพื้นที่ในจังหวัดภาคอีสานเมื่อเร็วๆ นี้คือตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ลองมาย้อนดูความเป็นมาและตัวอย่างข้อสังเกต

 

ปัญหาทั่วไปการบริหารจัดการคลัสเตอร์ขยะ

 

ในมิติของการบริหารจัดการ ญี่ปุ่นมอง “ขยะ” (Waste) ว่าเป็น “วัตถุ” (Material Flow) [20] เพราะเมื่อขยะเป็นวัตถุเป็นสิ่งของ ขยะจะมีมูลค่าเป็นเงินได้ จึงมีธุรกิจการรับซื้อขยะเกิดขึ้น ปัญหาการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ที่พบเห็นทั่วไป ตัวอย่างเช่น (1) จังหวัดขาดการขับเคลื่อน เพราะไปสนใจทำโครงการจังหวัดสะอาด คือ โครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” [21] (2) ไม่มี อปท.ใดยอมเป็นเจ้าภาพ เพราะประชาชนต่อต้าน (3) เอกชน ไม่ลงทุนเพราะเงื่อนไขระบบราชการมากมาย (4) โรงไฟฟ้าขยะไม่ค่อยสำเร็จ เพราะเส้นสาย ยากในการขออนุมัติขออนุญาต ไฟฟ้าขายไม่ได้ การไฟฟ้าไม่รับซื้อ (5) คณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยระดับจังหวัดไม่ค่อยประชุม นานๆ ประชุมครั้ง (6) อปท.และจังหวัดขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในวิทยาการกำจัดขยะ (7) มีนอกมีในผลประโยชน์การจัดสรรงบประมาณ การวิ่งงบประมาณจากส่วนกลาง ที่บุคลากรส่วนกลางตีกิน ทำตามใบสั่ง (8) อปท. มีข้อจำกัดด้านงบประมาณอุปกรณ์เครื่องมือในการเก็บขนและกำจัด จึงไม่อยากเสียเงินงบประมาณ ค่าทิ้งค่ากำจัดขยะ และชาวบ้านก็ไม่อยากเสียเงินค่าขยะแพง (9) อปท.ไม่ยอมตราข้อบังคับเรื่องขยะ อปท.มีข้อบังคับที่มีบทลงโทษไม่เข้มงวด (10) ปัญหามากอยู่ที่การจัดการขยะพิษ (11) ส่วนกลางกระทรวงมหาดไทยขาดบุคลากรที่ดูแลขยะ เฉพาะทาง เช่น นักวิชาการสาธารณสุข สุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม วิศวกร เจ้าหน้าที่มีทำเฉพาะเรื่องการรายงาน ไม่ได้ทำเรื่องขับเคลื่อน เมื่อไม่รู้ก็ยากในแนวทางสั่งการ เพราะมัวแต่นั่งสั่งการ หรือยืมใช้นักวิชาการจากเอกชนที่อื่น เช่น ทีพีไอ สถ. ต้องมีนักวิชาการของตนเอง ไม่ยืมจมูกคนอื่น เพราะมันเรื่องเฉพาะทาง ที่ต้องรู้ลึก รู้ทางเขา ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา และแนวทางบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษ (คผ.) ทุกขั้นตอนต้องมีนักวิชาการเป็นเรื่องๆ แยกไปแต่ละเรื่อง (12) ครัวเรือนไม่มีการคัดแยกขยะ ไม่เห็นความสำคัญในการคัดแยกขยะก่อนที่จะนำไปทิ้ง ขาดความตระหนักและการมีส่วนร่วมของชุมชน ความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการ (13) การดูแลบ่อขยะมีลักษณะดูแลของใครของมันโดยเอกชน เจ้านายใครของใครของมันเสมือนเป็นเจ้าของเสียเอง ที่มิใช่ราชการ นักวิชาการ (2565) [22]สรุปว่า ปัญหาชุมชนกับบ่อขยะ คือ “เปไม่ถึง กับเปไม่ได้” (จ่ายไม่ถึง/จ่ายไม่ได้)

 

ปัญหาเชิงลึกการบริหารจัดการคลัสเตอร์ขยะ

 

คน อปท.ต้องหันมาศึกษาที่มาของโครงการจัดการขยะมูลฝอยให้มากขึ้น เพราะปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นวาระปฏิรูปแห่งชาติแล้ว มองย้อนกลับไปปัญหาพื้นๆ ที่เกิดขึ้นเช่น การออกแบบจัดกลุ่มคลัสเตอร์ ทั้งเรื่องขยะ บำบัดน้ำเสีย ต้องให้เหมาะสมกับสภาพเป็นจริงในพื้นที่ ไม่ควรเผื่อเอาไว้มาก เมื่อได้ผลและจำเป็นก็เพิ่มยูนิตอีกทีหลังได้ การใช้พลังงานจักรกลช่วยงานบำบัดน้ำเสีย ควรใช้เฉพาะจุดที่จำเป็น นอกนั้นใช้วิธีธรรมชาติ

การอ้างอิงงานวิจัยรับรองจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิชาการเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในทางวิชาการนั้นต้องนำเสนอภาพปัญหาอุปสรรค ความล้มเหลว เพื่อสะท้อนการแก้ไขปรับปรุงปัญหาด้วย มิใช่การนำเสนอด้านดี เพียงด้านเดียว โดยปกปิดจุดด้อย และ ไม่ยอมแก้ไขนั้นไว้ เพื่อการสร้างผลงานวิชาการแบบตามใจผู้ว่าจ้างประเมิน เพื่อหวังผลเลิศจาก “รางวัลเกียรติยศ” ที่อาจเรียกว่าเป็น “มือปืนรับจ้างทางวิชาการ” ที่ไม่เกิดผลดีในระยะยาว เพราะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายประการหนึ่ง 

ตกแต่งงบประมาณ โดยสร้างเงื่อนไขให้นำขยะหลายแห่งมารวมกัน สั่งปิดบ่อขยะแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างบ่อกำจัดขยะรวมใหม่ (Clusters) ใช้งบประมาณมากมายทุ่มเทลงไป ผลที่ได้คือ เพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายขึ้นมากมาย ในการกำจัดขยะ โดยสร้างภาระให้แต่ละ อปท. ที่บรรทุกขนขยะไปเป็นระยะทางไกลๆ หลายแห่งมากกว่า 80 กม. และค่ากำจัด ที่คิดเป็นตันละ 400 บาทขึ้นไป เมื่อขยะมาสุมรวมกัน จึงเกิดมลภาวะ ในบริเวณบ่อขยะมากมาย ด้วยสาเหตุคือคัดแยกขยะไม่ทัน ระบบขยะรวมบางจังหวัดจึงไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะทำไม่ได้ทุก อปท. โดยเฉพาะ อบต. ทำไปแบบฝืนๆ บ่อฝังกลบบางแห่ง (20 อปท.) ใกล้เต็ม ปัญหาคัดแยกขยะไม่ทันจึงใช้วิธีฝังกลบอย่างเดียว ไม่นานบ่อขยะก็เต็ม ที่ทิ้งขยะบาง อปท.ไปทิ้งนอกเขตต้องถูกปิด เพราะชุมชนพื้นที่ต่อต้านประท้วง อปท.บางแห่งเพิ่งกำลังสำรวจออกแบบ หลาย อปท.แยกไปเผาใครเผามันไม่รวมกลุ่ม ไปไม่รอด เพราะมีมลพิษมาก มีค่าใช้จ่ายสูง สุดท้าย หลาย อปท.จึงไปซื้อเตาเผาขยะมาเผาเอง แต่ก็ได้รับคำแจ้งเตือนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่าผิดกฎหมาย เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนสำรวจ EIA

การใช้บังคับแต่กฎหมายขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนมักไม่ได้ผล เพราะทุกวันนี้ อปท.หลายแห่ง รวมทั้งชาวบ้าน ก็นำขยะไปทิ้ง ตามซอย ถนนที่ลับตา มากมายในเมื่อขยะแห้ง ก็จะเผาทิ้ง แสดงว่า มาตรการต่างๆ เต็มไปด้วยต้นทุน เงินทุนมากมายที่ต้องทุ่มเทลงไป ตลอดจนขั้นตอน และแรงงาน เครื่องจักรกล ที่คนออกข้อกำหนด คนปฏิบัติ ที่ต่างคนต่างทำ ต่างไม่รับรู้กัน เพราะไม่อยากรับรู้ จึงเพียงทำไปให้สำเร็จพอผ่าน 

ขนาดนักวิชาการสิ่งแวดล้อมยังตอบไม่ถูก ตอบไม่ได้ว่า "เรื่องกำจัดขยะ สุดท้ายที่ถูกต้องคือต้องทำอย่างไร"

มีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ท้องถิ่นส่งขยะให้ เพื่อมีเชื้อเพลิงเผา มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ปริมาณขยะอาจจะได้ แต่คุณภาพจะนำไปเผา ผลิตไฟฟ้าได้ทันที นั้นยาก เพราะต้องมีการคัดขยะก่อน ขั้นนี้โรงงานคัดแยกรับไหวเพียงใด การบังคับกะเกณฑ์จำนวนขยะต่อวัน แถมให้ อปท.เสียค่าใช้จ่ายอีก ยิ่งเพิ่มภาระต้นทุนแก่ อปท. มันมองกันคนละมุม ในขณะที่อีกฝ่ายจะรอรับอย่างเดียว จะทำได้หรือ เครื่องจะเผาได้ต่อเมื่อเชื้อเพลิงพร้อม แต่ขยะจากแหล่ง อปท.ยังไม่ใช่เชื้อเพลิงที่พร้อมจะเผา

ส่วนใหญ่โรงคัดแยกขยะมูลฝอย (Waste Separation) [23] โรงเผาขยะเตาเผาขยะขยะมูลฝอย (Incinerator) [24] มักบริหารงานล้มเหลว เช่น ขยะ อบจ.นครราชสีมาถ่ายโรงคัดแยกขยะที่อำเภอครบุรีไม่ดำเนินงานได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง[25] หรือ กรณีโรงบำบัดน้ำเสีย บางแห่งก็เปิดเดินเครื่องเฉพาะตอนกรรมการมาตรวจ นอกนั้นปิดตลอดกาล ความล้มเหลวในโครงการกำจัดขยะจึงทำให้สูญเสียเงินงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก

 

ธุรกิจการจัดการขยะผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อนายทุน

 

การกอบโกยแย่งชิงกันใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเริ่มตั้งแต่ได้โครงการมาก่อสร้างเสร็จตามที่ผู้มีอำนาจและนักวิชาการจินตนาการวาดฝันไว้ แต่ขาดความรอบคอบ ขาดการศึกษาผลกระทบ การประชาพิจารณ์ที่ถูกต้อง เมื่อการบริหารงานผิดพลาดก็โอนภารกิจให้ อปท.รับงาน รับวัสดุครุภัณฑ์ที่บกพร่องพิการนั้นไปดำเนินการเสมือนเป็น “งานทดลองทำ” หรือเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ลองผิดลองถูก   

สาเหตุความล้มเหลว เพราะมีคนกลาง นายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนขาดสำนึกมีส่วนร่วม มีนักธุรกิจ นายทุน และ หน่วยงานกำกับดูและแสวงประโยชน์ และทับซ้อนในผลประโยชน์ ผลประโยชน์จากหน่วยงานส่วนกลางแย่งกันบริหารจัดการงบประมาณกำจัดขยะมูลฝอย อปท. เช่น มท.ขายเตาเผาขยะ ทส.ขายการจัด EIA[26]กรมอนามัยขาย HIA[27]หากเป็นเช่นนี้ความจริงใจมุ่งแก้ไขปัญหาจะเหลือสักเท่าใด ลองวัดดูเป็นผลประโยชน์มหาศาล ระยะยาวๆ หมายความว่า เอกชนผู้รับงานจ้าง อปท. ในการจัดการขยะย่อมได้อานิสงส์ จากการรับงานจ้าง เรียกเป็นการผูกขาดสัมปทาน ระยะยาวตามระยะเวลายุทธศาสตร์ชาติถึง 20 ปี

 

ข้อเสนอบริหารจัดการขยะ

 

ผลการศึกษา (2564) [28] ว่า (1) รัฐควรตรากฎหมายบริหารจัดการขยะขึ้นใหม่ให้เป็นฉบับเดียวกัน และยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการขยะในกฎหมายที่ซ้ำซ้อนกัน (2) ควรกำหนดให้มีองค์กรบริหารจัดการขยะระดับชาติทำหน้าที่กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ และ กำกับดูแล การจัดการขยะ ชุมชนให้ เป็นไปตาม สุขลักษณะและ มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม (3) รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ หรือเงินงบประมาณอุดหนุนแก่ อปท. เพื่อให้ใช้ในการจัดการขยะเบื้องต้นได้ และ (4) กำหนดให้รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือแก่ อปท.ในการกำจัดขยะ โดยจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้แก่ อปท. เพื่อให้สามารถก่อตั้งระบบการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนได้โดยเฉพาะ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง และ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษโดยเร่งด่วนและ กำหนดให้องค์การบริหาร ส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่และ มีความพร้อมทำหน้าที่รับกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนในพื้นที่ที่ อปท.ไม่สามารถกำจัดขยะได้เอง

 

เป็นข้อมูลภาคสนามอีกมุมมองหนึ่งที่ผู้มีอำนาจควรนำไปศึกษาวิเคราะห์ต่อยอด อย่าได้เชื่อทั้งหมด


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 4 มีนาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/328101  

[2]คู่มือการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน, โครงการวิจัย “การบูรณาการเพื่อการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน” ภายใต้โปรแกรมวิจัยการจัดการของเสียชุมชนแบบบูรณาการ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,HSM PERDO,  2561, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER3/DRAWER097/GENERAL/DATA0001/00001814.PDF

[3]อ้างแล้ว, เรื่องเดียวกัน

[4]ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ, 2561, อ้างแล้ว, เรื่องเดียวกัน

[5]โอกาสธุรกิจ 'กำจัดขยะ', โดย ภัทรานิษฐ์ เอี่ยมศิริ, คอลัมน์ Smart EEC, กรุงเทพธุรกิจ, 14 เมษายน 2563, https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/876099

[6]ขยะหายไปไหน และใครเป็นผู้แบกรับต้นทุนของการจัดการขยะ? สาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ. ขอเชิญชวน ร่วมพูดคุยในประเด็น "การเมืองของขยะ" ชวนคุยโดย อาจารย์ ดร.ภูมิ เพชรกาญจนาพงศ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย จะมาชวนทุกคนร่วมพูดคุยเรื่องการบริหารจัดขยะในเชิงพื้นที่ที่ไม่เท่าเทียม และอำนวยความสะดวกโดย อาจารย์ทสิตา สุพัฒนรังสรรค์ รัฐศาสตร์ มสธ. (PoliticalSci STOU) วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 19.00 - 20.00 น. ทาง facebook Zoom Meeting, https://www.facebook.com/101038241966020/posts/336765995059909/?d=n

ดู เช็คเส้นทางขยะกทม. 10,706 ตัน/วัน ไปไหน?, The Bangkok Insight, 19 สิงหาคม 2562, https://www.thebangkokinsight.com/news/business/economics/193971/

[7]การจัดการขยะแบบครบวงจร (Integrated Approaches of Municipal Solid Waste Management : ISWM) เป็นแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยที่มุ่งเน้นให้มีการควบคุมอัตราการเกิดขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นทางหรือในแต่ละครัวเรือนก่อนจะรวบรวมขยะที่ใช้ไม่ได้อีกไปกำจัดขั้นสุดท้าย โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างพลังงาน หรือ waste to Energy เพื่อให้ขยะมูลฝอย ซึ่งเดิมที่คนมองว่าเป็นภาระที่จะต้องนำไปกำจัด ให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตแทนวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ

กระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจร จำแนกออกเป็น 4 กระบวนการ ดังนี้ (1) การลดการเกิดขยะมูลฝอย ได้แก่ (1.1) ปฏิเสธ/หลีกเลี่ยงไม่รับถุงพลาสติกและกล่องโฟม (1.2) ลดการใช้ (1.3) เพิ่มการใช้ซ้ำ (2) การคัดแยกขยะ (3) การเก็บรวบรวม ขนส่งขยะมูลฝอย (4) การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ นำไปรีไซเคิล 

ดู เทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร (Integrated Solid Waste Management : ISWM) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล, Center of Excellence in Biomass : COE, Suranaree University of Technology, http://biomass.sut.ac.th/biomass/?page=WebInfoMenu/webInfoShow&id=18 & การจัดการขยะแบบครบวงจร คืออะไร, ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร, http://www.chaingpeng.go.th/downloadfile-35.html  & การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจร คู่มือสำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2547, http://infofile.pcd.go.th/waste/Municipal.pdf

[8]ขยะมูลฝอย (Solid Waste)หมายถึง เศษสิ่งเหลือใช้และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์รวมถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด หรือที่อื่นๆ ทั้งจากการผลิต การบริโภค การขับถ่าย การ ดำรงชีวิต และอื่นๆ ประเภทของขยะ 3 ประเภท (1) ขยะเปียก หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร พืชผัก เปลือกผลไม้ เป็นต้น (2) ขยะแห้ง หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เศษผ้า ไม้ ยาง เป็นต้น (3) ขยะอันตราย ได้แก่ สารเคมี วัตถุมีพิษ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล

[9]การกลายเป็นเมือง หรือ urbanizationคือ กระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ชนบทให้กลายเป็นเมือง ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนรูปแบบการกระจายตัวของประชากรเชิงพื้นที่ไปยังเขตเมืองมากขึ้น และยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและพฤติกรรม ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคมและประชากรของพื้นที่เมืองและชนบท

[10]ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเผาหญ้า ขยะ หรือสิ่งอื่นๆ ในที่ดินของตนเอง, องค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, 5 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.wnk.go.th/node/169

[11]เหตุรำคาญ หมายถึง เหตุหนึ่งเหตุใด อันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีสาเหตุ มาจากการกระทำใน 5 สาเหตุ ตาม คำนิยาม หรือประเภทของ ของเหตุรำคาญ ในมาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ปัจจุบันปัญหาเหตรำคาญเกิดขึ้นในหลายพื้น ส่วนใหญ่มีเหตุมาจาก มลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง เสียงดัง กลิ่นเหม็น น้ำเสีย กากขยะ อุตสาหกรรม ฯลฯ รวมถึงกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งเหล่านี้หาก ไม่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โรงงาน อุตสาหกรรม อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 

[12]วิจารย์ สิมาฉายา, แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและขงเสียอันตราย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559, กรมควบคุมมลพิษ, 2557, http://oops.mnre.go.th/download/download05/new210958/แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน%20Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย%20ในปีงบประมาณ%202559.pdf

[13]แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ประกอบกับในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ที่ประชุมได้ลงมติ ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ

[14]แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564), กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, https://www.pcd.go.th/publication/5061/ 

[15](ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ.2565-2570), กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, กันยายน 2564, 16 ตุลาคม 2564, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2021/10/pcdnew-2021-10-16_05-41-25_882141.pdf

[16]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 267 ง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หน้า 2, http://www.dla.go.th/work/garbage2.PDF  

[17]การกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ เป็นการนำขยะมูลฝอยมาเทกองในพื้นที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ แล้วใช้เครื่องจักรกลเกลี่ยและบดอัดให้ยุบตัวลง แล้วใช้ดินกลบทับและบดอัดให้แน่นอีกครั้ง หลังจากนั้น นำขยะมูลฝอยมาเกลี่ยและบดอัดอีกเป็นชั้นๆ สลับด้วยชั้นดินกลบ เพื่อป้องกันปัญหาในด้านกลิ่น แมลง และน้ำฝนชะล้างขยะมูลฝอย และเหตุรำคาญอื่นๆ 

ดู การกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill), กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กันยายน 2547, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-20_08-22-59_490753.pdf 

[18]การจัดการมูลฝอยรวมกัน หรือ การรวมกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการมูลฝอย (Clusters)ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของประเทศตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558

ดู หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.5/ว 0263 ลงวันที่ 16 มกราคม 2561 เรื่อง แนวทางการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER18/DRAWER097/GENERAL/DATA0000/00000087.PDF

[19]จาก Cluster สู่ Regional การจัดการขยะ, โดย พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์, มติชนออนไลน์, 13 ธันวาคม 2562, https://www.matichon.co.th/article/news_1809961 

[20]Material Flow คือ พื้นฐานของ Supply Chain โดย Material Flow ของ Supply Chain คือ การไหลของวัตถุดิบจนกลายเป็นสินค้าจนถึงมือลูกค้า 

Supply Chainโซ่อุปทาน หรือ ห่วงโซ่อุปทาน หรือ เครือข่ายโลจิสติกส์ คือ การใช้ระบบของหน่วยงาน คน เทคโนโลยี กิจกรรม ข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากร มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการ จากผู้จัดหาไปยังลูกค้า กิจกรรมของห่วงโซ่อุปทานจะแปรสภาพทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และวัสดุอื่นๆให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จ, วิกิพีเดีย

[21]โครงการการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด" ประจำปี 2561 แบ่งการประกวดฯ ออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้ (1) ระดับจังหวัด 2 ประเภท คือ อำเภอและ อปท.(2) ระดับประเทศ 3 ประเภท คือ กลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่/กลาง/เล็ก

[22]อ้างจาก ดร.ภูมิ ,มรภ.เลย, 26 กุมภาพันธ์ 2565, อ้างแล้ว

[23]การคัดแยกขยะ (Waste Separation)หมายความถึง กระบวนการหรือกิจกรรมจัดแบ่งหรือแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะ องค์ประกอบ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ อลูมิเนียม โดยใช้แรงงานคนหรือ เครื่องจักรกล เพื่อการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ หรือใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์

[24]Incineration เป็น เทคโนโลยีเตาเผา คือ การเผาไหม้มูลฝอยกับอากาศเพื่อเกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้ ที่ให้ความร้อนและอุณหภูมิเพื่อทำลายมวลและปริมาตรของมูลฝอย การเผาไหม้เกิดขึ้นในเตาเผาที่ได้มีการ ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้เข้ากับลักษณะสมบัติของขยะมูลฝอย คืออัตราความชื้นสูง และมีค่าความร้อนที่แปร ผันได้การเผาไหม้จะต้องมีการควบคุมที่ดีเพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษและการรบกวนต่อสภาพแวดล้อม เช่น ก๊าซพิษ เขม่า กลิ่น เป็นต้น

ดู เทคโนโลยีเตาเผาที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน, Bangkok Green, http://bangkokgreencity.bangkok.go.th/kmedweb/pdf/Incinerator_technology.pdf 

[25]มีตัวอย่างกรณีศึกษาหลายแห่ง ดูข่าวเช่น “ชาวบ้านครบุรี ” โคราช ร้องโรงงานขยะเทศบาล ถูกทิ้งร้าง ส่งกลิ่นเหม็น, brighttv, 15 กันยายน 2562, https://www.brighttv.co.th/news/ชาวบ้านครบุรี-โคราช-ร & ทุกข์ชาวบ้านสุดทนกองขยะล้นโรงคัดแยกร้องศูนย์ดำรงธรรมช่วยแจ้งเทศบาลแล้วไม่คืบ, โพสต์ทูเดย์, 14 กันยายน 2562, https://www.posttoday.com/social/local/600671 

[26]การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment ย่อว่า EIA) หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง

[27]การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA)หมายถึง การคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงานและโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางลบ ทางบวก และความเป็นธรรมจากการได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือที่หลากหลายและมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนและเสนอต่อกลไกที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

[28]วิกฤตกฎหมายกับการบริหาร จัดการขยะมูลฝอยชุมชน: ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในระดับปฏิบัติการ โดย ฤทธิภัฏ กัลยาณภัทรศิษฏ์, CMU Journal of Law and Social Science 14 (1), 138-161, 2021, มกราคม-มิถุนายน 2564, https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/view/246461



ความเห็น (2)

ความเห็นต่างสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จ.เชียงราย, 3 มีนาคม 2565, https://youtu.be/pNF0KoukIWQ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท