ปัญหาการสอบคัดเลือกการคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่น


ปัญหาการสอบคัดเลือกการคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่น

28 กุมภาพันธ์ 2565

เป็นดรามาของบุคลากรท้องถิ่นฝ่ายประจำในรอบปลายปีที่แล้ว (2564) จนถึงปัจจุบัน ลองมาสำรวจดูความเห็นจากคนท้องถิ่น

-จากกรณีที่หัวหน้าคสช.มีคำสั่งที่ 8/2560 ให้ดึงอำนาจการสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้ารับราชการใน อปท. จากเดิมเป็นอำนาจของอปท. มาให้ก.กลาง (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ที่มีประธานคือมท.1 แต่ไม่เคยเข้าประชุมเลย มีฝ่ายเลขาฯเป็นรองอธิบดีสถ.และมีผช.เลขาฯและทีมเลขาฯมาจากคนของ กรมสถ.ทั้งหมด รับผิดชอบแทน โดยระบุให้ก.กลางสามารถมอบอำนาจให้ ก.สถ.หรือคณะอนุกรรมการกลางในการสอบแข่งขันฯดำเนินการแทนได้ และอีกหนึ่งข้อ ดึงอำนาจการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่น (เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นการสอบ/คัดเลือกภายใน) จากเดิมเป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นที่จะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับงานและตำแหน่งที่ว่าง ไปให้ก.กลางรับผิดชอบแทน โดยในคำสั่งนี้ ได้ระบุให้ ก.กลางสามารถมอบอำนาจให้ ก.จังหวัด (ก.จ.จ./ก.ท.จ./ ก.อบต.จังหวัด) ซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธานฯ ดำเนินการแทนได้ (เท่านั้น)

-ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้ว ตั้งแต่มีการสอบครั้งแรกเมื่อปี 2560 ว่า ก.กลางไม่น่าจะมีอำนาจมอบต่อให้ คณะอนุกรรมการสรรหาที่มีอธิบดีกรมสถ.เป็นประธานดำเนินการแทนได้ เพราะในคำสั่งคสช.มิได้กำหนดไว้ ไม่เหมือนการสอบแข่งขันบุคคลภายนอก แต่ก็ไม่มีใครรับฟัง ยังคงดำเนินการมาจนถึงเจอปัญหาในปัจจุบันที่เป็นการสอบครั้งที่ 3

-มีนักกฎหมายท้องถิ่นท่านหนึ่งในทีมงานผมนี่แหละ ได้ตั้งข้อสังเกตกรณีการสอบครั้งล่าสุดไว้อย่างน่าสนใจสรุปได้ว่า 1. การสอบครั้งนี้อาจโมฆะได้จากการที่มีผู้เข้าสอบกว่า 500 คน ไปร้องศาลปกครอง 15 ศาลทั่วประเทศ และหนึ่งใน 15 ศาลได้สั่งอายัดข้อสอบมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยข่าวที่ออกมาว่า ผู้เข้าสอบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้อสอบที่ทางผู้ถูกฟ้องนำมาให้ตรวจสอบต่อหน้าศาลไม่ตรงกับข้อสอบที่ได้รับในวันสอบ ซึ่งหากเป็นจริงตามนี้ ศาลอาจมีมาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมาระงับการเรียกบรรจุแต่งตั้งในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เรื่องนี้ลากยาวแน่

2.กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่า ให้เพิกถอนบัญชีการสอบครั้งนี้แต่ออกหลังจากที่กรม สถ.ได้บรรจุแต่งตั้งไปหมดแล้ว หรือศาลได้ให้มีการตรวจข้อสอบใหม่ และผลปรากฏว่า บัญชีสอบได้ต้องเรียงใหม่หมด แล้วคนที่บรรจุแต่งตั้งไปแล้วจะทำอย่างไร และคนที่ได้ลำดับต้นๆ ที่เรียงใหม่จะทำอย่างไร เพราะตำแหน่งที่จะบรรจุแต่งตั้งไม่มีแล้ว หากมีก็เล็กน้อยและอยู่ไกลบ้านมาก นักกฎหมายท่านนี้ก็ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่บรรจุแล้วก็ถือว่า บรรจุชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคนที่เรียงบัญชีใหม่ กรม สถ.ก็ต้องหาตำแหน่งให้บรรจุแต่งตั้ง ทางออกที่ดีหาก กรม สถ.และคณะอนุสรรหา ซึ่งเข้าใจว่าหนึ่งในนั้นน่าจะมีผอ.ชนินทร์ และ ผอ.ปิยะ เป็นอนุสรรหาด้วย หลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้และอาจถูกผู้เข้าสอบฟ้องอาญา ม.157 ต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 500 กว่าคดีๆ ละ 1-2 ปี ก็ปาเข้าไป 100 ปี (จำคุก) และฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายอีกนับร้อยล้าน ก็ควรระงับการบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งที่เป็นปัญหาที่ฟ้องร้องกันอยู่ในศาล รวมทั้งที่มีการไปร้องหน่วยงานต่างๆ ไว้ก่อน ส่วนตำแหน่งที่ไม่มีปัญหาก็บรรจุแต่งตั้งไปตามกำหนดการเดิม พร้อมทั้งควรเสนอก.กลางพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยเร็วมิใช่ให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจสอบตัวเองดังที่ทำอยู่เหมือนตลกคาเฟ่เล่นมุกกับคนดู

-อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยควรเสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 อันเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายสับสนอลหม่านนี่เสีย อย่าไปเสียดายอำนาจที่มิควรเป็นของพวกท่านตั้งแต่แรกเลย ชงเอง กินเอง แบบนี้มันน่าทุเรศที่สุด.

ป.พิพัฒน์ 16/2/65

NB : 

ปกติทั่วไปตามหลักทางปกครอง “อำนาจ”(Authority/Power) ในการบริหารงานเมื่อมีการมอบอำนาจ (Delegation) แล้ว จะมอบอำนาจต่อไปอีกไม่ได้ แต่ผู้มอบอำนาจยังคงมีอำนาจในอำนาจที่มอบนั้นอยู่เสมอ มีสิทธิในการควบคุมกำกับดูแล (Tutelle) ได้ จะเรียกอำนาจนั้นคืนก็ได้ หากไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วนกฎหมาย ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 698361เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2022 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2022 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท