ฐานรายได้ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและท้องถิ่นได้


ฐานรายได้ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและท้องถิ่นได้

18 กุมภาพันธ์ 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1] 

 

ตามหลักการกระจายอำนาจที่สำคัญประการหนึ่งเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนงานการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ที่นอกเหนือจากการบริการและการจัดทำกิจกรรมสาธารณะ (Public Service) ก็คือการกระจายอำนาจทางการคลัง (Fiscal Decentralization) [2] ซึ่งหัวใจสำคัญได้แก่ “การพัฒนารายได้” ที่หมายรวมถึงการจัดเก็บรายได้ทั้งหมดของ อปท. รวมทั้งที่ อปท.จัดเก็บเอง หรือที่ส่วนกลางจัดเก็บแล้วแบ่งให้ อปท.ตามสัดส่วน แม้กระทั่งเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

ทั้งหมดนี้รวมๆ อยู่ในกระบวนการ “การบริหารการพัฒนา” (Development Administration) ที่ท้องถิ่นต้องบริหารจัดการให้ได้ ปัญหาประการหนึ่งที่กล่าวถึงมานานคือ โครงสร้างรายได้ภาษี ที่ไม่เอื้อการพัฒนาประเทศ ทำให้ฐานรายได้ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงท้องถิ่นด้วย[3] เพราะฐานรายได้ประเทศหลายๆ ส่วนก็ส่งต่อมาเป็นฐานรายได้ของท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นปัจจุบันยังต้องพึงงบประมาณจากรัฐในส่วนที่เป็นภาษี และเงินอุดหนุนอีกเป็นจำนวนมาก ตามผลการศึกษาที่ระบุว่าท้องถิ่นต้องพึ่งรายได้จากส่วนกลางถึงร้อยละ 90 จากรัฐ[4] ซึ่งหมายความว่า อปท.นั้นสามารถใช้งบประมาณในการบริหารที่เป็นรายได้จริงๆ ของ อปท. เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งเทียบสัดส่วนแล้วถือว่าน้อยมาก

 

โครงสร้างรายได้ อบต.

 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพรายได้ท้องถิ่น อปท.ขนาดเล็ก ในที่นี้คือ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. มีโครงสร้างรายได้ 9 ประเภท[5] ดังนี้ (1) ภาษีอากร ประกอบด้วย (1.1) ภาษีอากรที่ อบต. จัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.) เดิมคือ ภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.) และ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.) อากรฆ่าสัตว์ (1.2) ภาษีได้รับจัดสรรจากกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ภาษีสุราและสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ (ขณะนี้ยังไม่ได้รับขณะนี้รอการแก้ไข พ.ร.บ. จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม) (1.3) ภาษีและค่าธรรมเนียมที่ได้รับจัดสรรจากจังหวัด ได้แก่ ภาษีและค่าธรรมเนียม นอกจากนี้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535[6] ตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล (2) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราและใบอนุญาตการเล่นการพนัน ได้แก่ อบต.ต้องออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มไม่เกิน 10% ของค่าธรรมเนียม (3) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน (4) รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ อากรรังนกอีแอ่น[7] (เฉพาะ 9 จังหวัดภาคใต้ คือประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎรธานี พัทลุง กระบี่ ตรัง พังงา สตูล และตราด) ค่าธรรมเนียมน้ำบาดาล ค่าภาคหลวงและค่าธรรมเนียมป่าไม้ อากรประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตรการประมง (5) รายได้จากภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียม อบต. ได้รับการจัดสรรปีละ 4 งวด โดยมีหลักเกณฑ์การจัดสรรของแร่ 30% จากค่าภาคหลวง และปิโตรเลียม 20% จากค่าภาคหลวง (6) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งเงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ (7) รายได้จากเงินทีเก็บตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ได้รับในอัตรา 5% ของเงินทีเก็บไดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติในเขต อบต. ใดให้ อบต. นั้นทุกแห่ง เท่ากันแบ่งการจัดสรรเป็น 4 งวด จัดสรรให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเงิน (8) เงินกู้ (9) รายได้ประเภทอื่นๆ ได้แก่ ค่าปรับจราจรทางบก[8] (นำส่งค่าปรับเป็นรายได้ให้ อบต. ทั้งจำนวน โดยจ่ายเงินรางวัลให้ผู้แจ้งความนำจับ และเจ้าหน้าที่ผู้จับ คนละ 17.5% ของเงินที่เปรียบเทียบปรับ ถ้าไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้จ่ายเจ้าหน้าที่ผู้นำจับ 25%) รายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ รายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต้องให้ ฯลฯ

ตัวอย่างการของบอุดหนุนของ อปท.จากสำนักงบประมาณ การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจว่าควรจ่ายหรือไม่เพียงใด เช่นการขอจากชาวบ้านก็ต้องดูว่าเอื้อประโยชน์ให้ส่วนรวมได้มากน้อย เพียงใด อบต.ในท้องถิ่นจะต้องเข้าถึงและบริหารจัดการชุมชนให้เกิดประโยชน์เช่น การช่วยเหลือการลงทุนและการตลาดในหมู่บ้าน สร้างเสริมรายได้ให้กระจายไปทุกๆ ครัวเรือนเช่น เกษตรกรครอบครัวใดควรเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาก็ช่วยเหลือ เพราะ อบต.ในหมู่บ้านจะเข้าใจรู้ใกล้ชิดและเข้าถึงช่วยเหลือได้ถูกต้อง และการจ่ายงบประมาณได้ถูกต้องตรงเป้าหมายมากกว่า

 

ข้อคิดการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นใหม่ๆ

 

          ภาษี (tax) มีทั้งภาษีทางตรง ทางอ้อม ภาษีทางอ้อมคนจะไม่มีความรู้สึกมากว่าได้รับผลกระทบ 

ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม (fee) รับอนุญาตเป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เพื่อการค้า ที่เป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ[9] ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามหลักผู้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสาธารณะต้องรับผิด ระบบการให้มา “รับใบอนุญาต” (License) ที่เป็น “ระบบบังคับอนุญาต” และต้องเสีย “ค่าธรรมเนียม” รายปีให้แก่ อปท. เป็นไปตามกฎหมายอำนวยความสะดวก[10]

อยากจะบอกว่าประเทศไทยไม่มีฐานภาษีที่ดี ประเทศไทยไทยอุดมด้วย ดิน น้ำ แสงแดด ศูนย์กลางภูมิภาค เสรี วัฒนธรรม (Soft Power) [11] ที่เป็นจุดแข็งของไทย ทำอย่างไรจึงจะหาช่องว่างนี้เอาออกมาเป็นจุดขายให้ได้ เช่น อาหารไทย มวยไทย นวดแผนไทย 

เนื่องจาก อปท.เป็นหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้เองตามขอบข่ายของกฎหมายที่ให้อำนาจตามหลักการกระจายอำนาจ มีฐานรายได้ที่ควรพิจารณา เพื่อให้เป็นภาษีของท้องถิ่นได้ เพื่อสร้างรายได้ และปลุกจิตสำนึกของคนในท้องถิ่นให้รักท้องถิ่นตัวเองมีส่วนร่วมรับผิดชอบรักหวงท้องถิ่นของตนเองเสมือนเป็นเจ้าของ (Local Commitment) ได้แก่ 

(1) ภาษีจากทรัพย์สิน การแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน[12] (การขายของบนฟุตบาท) ตัวอย่างฟุตบาท กทม.นนทบุรี ทม.ปากเกร็ด และเมืองที่มีตลาดการค้า 

(2) ภาษีบวก เพิ่มจากภาษีที่ส่วนกลางจัดเก็บเพื่อจัดแบ่งให้แก่ท้องถิ่น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสุรา บุหรี่ น้ำมัน ภาษีธุรกิจเฉพาะ หลักการคือ ให้ลดการจัดเก็บภาษีบวกนี้ โดยหันไปเพิ่มเก็บภาษีจาก “ทรัพย์สิน” แทนให้มากขึ้น นอกจากนี้รัฐต้องมีมาตรการ ควบคุมหวงห้ามเอกชนดำเนินการ เช่น อาวุธ ยุทโธปกรณ์ กัมมันตรังสี เคมีอันตราย อากาศยาน เป็นต้น หรือมีมาตรการในการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่ท้องถิ่นด้วย

 (3) ภาษีจากธุรกิจทางโซเชียล ขายออนไลน์ เพราะ เป็นรายได้ที่ไม่ปรากฏการครอบครองทรัพย์สินที่มีมากในปัจจุบัน ขายของขายสินค้าออนไลน์ ขายในกลุ่มเฟสบุ๊ก ยูทูป เหมือนเช่นตลาดนัดที่ไม่มีการครอบครองทรัพย์ เหมือนขายของหน้าร้าน เพราะเป็นการขายสินค้าที่โฉบไปโฉบมาไปได้ในทุกพื้นที่ 

(4) ภาษีจากธุรกิจสัญจรต่างๆ เช่น สัญจรแบบตลาดนัดสินค้า ตลาดนัดวัวควาย การขายการประมูลที่ไม่ประจำ แต่ทำเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนเวลา เป็นต้น นี่ยังมี อปท.ที่มีหน้าที่เก็บขยะ แต่ไม่รู้ว่าขยะเป็นของใคร เพราะมี “ขยะสัญจร” ที่ผู้คนต่างเขต อปท. หรือผู้ลักลอบทิ้งขยะอีกเพียบ ทำให้เป็นภาระแก่ อปท. ในการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ 

การตรากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.) พ.ศ.2562 และ ภาษีมรดกมาก็เอื้อนายทุนมากกว่า[13] มีข้อยกเว้นมาก ทำให้เก็บภาษีไม่ได้ อย่างนี้จะไม่มีประโยชน์แก่ท้องถิ่นเลย ท้องถิ่นจะหันไปเก็บค่าธรรมเนียมประกอบการฯ แทนก็ยาก เพราะต้องมีระเบียบที่ชัดเจนที่ให้อำนาจในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และต้องมีการประเมินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ถูกต้อง ใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีที่ไม่ชอบ ไม่เอื้อประโยชน์ หมกเม็ด เนื่องจากปัจจุบัน ตอนนี้ไม่มีภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่แล้ว 

ส่วนเรื่องนโยบายของรัฐในการบริหารจัดการภาษีของประเทศนั้นก็สำคัญ เช่นเรื่อง การส่งออก นำเข้าสินค้าจากไทยไปต่างประเทศ การอนุญาต การสัมปทาน สิทธิพิเศษต่างๆ ในอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะกิจการที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้องถิ่นโดยตรง เช่น เหมืองแร่ เหมืองทองคำ การจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ผลิตพลังงานส่งออก-จำหน่าย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เช่น โรงงานกำจัดขยะเอกชน[14] โรงงานไฟฟ้าชีวมวล[15] โรงงานไฟฟ้าจากขยะ[16] โซล่าฟาร์ม[17] หรือแม้กระทั่ง การบริหารท่าเรือระหว่างประเทศ[18] เช่น แม่น้ำโขง เป็นต้น มีผู้เห็นว่ากฎหมายแร่ พ.ศ.2560 เอื้อนายทุน[19] ที่มีการค้านเหมืองทอง ก็เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า มีไม่กี่ประเทศที่เปิดให้สัมปทานเหมืองทอง ดังตัวอย่างแย่ๆ ที่เกิดแล้วในประเทศเปรู อเมริกาใต้[20]

 

โครงการพัฒนาสร้างฝันของท้องถิ่นต้องปรับเปลี่ยน

 

การเรียบเรียงกรอบความคิดใหม่ในโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นการสร้างฝัน ประสบการณ์ที่ผ่านมามักไม่ค่อยเป็นจริงเป็นจังนัก เหมือนกับการทดลองทำโน่นนี่นั่น แบบ pilot project เรื่อยเปื่อย เช่น โครงการโคกหนองนา[21] โครงการโซล่าเซลล์[22] โครงการป๊อกแท็งค์[23] โครงการถนนพาราซอยล์[24] โครงการสนามเด็กเล่น[25] โครงการสารพัดฯลฯ ตามที่ส่วนกลางจะคิดขึ้นมาหยิบยื่นให้ชาวบ้าน โดยอ้างยุทธศาสตร์บ้าง อ้างโครงการพระราชดำริบ้าง อ้างแก้ไขโควิดบ้าง อ้างนโยบายต่างๆ นานา ที่ล้วนเป็น pilot project ทั้งสิ้น ผลสุดท้าย ไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชน เพราะมาจาก top down (เบื้องบน) เป็นโครงการร้าง ขาดการดูแลรักษา หวงแหน เป็นแหล่งทุจริต เงินทอน ผลประโยชน์ทับซ้อน ปลูกฝังวัฒนธรรมที่ไม่ดีแก่ผู้นำท้องถิ่น

มีคำเปรียบเปรยจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นว่า หลายๆ โครงการจากเบื้องบนที่ส่งมาลงให้ท้องถิ่นนั้น “พาคนเข้าคุก” หมายความว่า ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและหรือรวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นต้องหาคดีอาญา แพ่ง ละเมิด วินัย กันมานักต่อนัก ด้วยความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารจัดการพัสดุ (การจัดซื้อจัดจ้าง) ทำให้เป็นการเอื้อประโยชน์ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ไปจนถึงตุกติก เป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ได้ดังปรากฏเป็นข่าวคดีอาญาทุจริต ข่าว ป.ป.ช. ป.ป.ท. ส.ต.ง. มากมายตามสื่อ เอาง่ายๆ ลองย้อนไปดูหนังสือสั่งการ ว 89 ว 845 ว 78 ของกรมบัญชีกลาง[26] เลยว่า เอื้อนายทุน ส่งเสริมทุจริตหัวคิว เงินทอน ไปจนถึงระดับชาติด้วย จริงหรือไม่ เพราะ หนังสือสั่งการพัสดุฉบับดังกล่าวนี้ใช้ทุกหน่วยงาน ไม่เฉพาะ อปท.เป็นการแบ่งชั้นระดับผู้ประกอบการ แบ่งชั้นจดทะเบียน เอสเอ็มอี หรือไม่ ดูชื่อห้างฯ แล้ว เป็นของผู้ประกอบการ นักการเมืองกลุ่มเดียวกันทั้งสิ้น เช่น โครงการก่อสร้างถนน คสล. งบประมาณ 7.2 ล้าน ได้ผู้เสนอราคาคู่สัญญาราคาลดไม่ถึงหมื่น ลองไปทบทวนข้อเท็จจริงที่ผ่านๆ มา

นอกจากนี้ นโยบายการบริหารงานแบบ “ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนหัวได้แบบง่ายๆ หรือแบบคุณธรรมตามระบบความรู้ความสามารถ (Merit) ของการจัดสรรแต่งตั้งบุคลากรประจำตำแหน่งบริหาร ทำให้ได้ผู้นำบริหารฝ่ายประจำที่มีปัญหาผูกติดกับระบบต่างตอบแทน “อุปถัมภ์” (Patronage) [27] ทำให้ “หางตาย” ขบวนการบริหารสะดุด ไม่เดิน ขาดขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ระดับกลาง ส่งผลให้กระบวนการพัฒนา หรือที่เรียกว่า “การบริหารการพัฒนา” บิดเบี้ยวไม่มีประสิทธิภาพ หากกระทำแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ถ่ายน้ำเสียออก เอาน้ำดีแทน เป็นวงจรอุบาทว์ทางการบริหารที่เล่าลือกันตลอดสามบ้านแปดบ้านไม่รู้จบ อย่างนี้บ้านเมืองจะไปได้อย่างไร เพราะบ้านเมืองเป็นของทุกคน มิใช่ผูกขาดอยู่เฉพาะผู้ใดผู้หนึ่ง

 

ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า

 

รายได้ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะได้เยอะและไม่น่าจะจัดเก็บได้คือ “ที่ดินและโรงเรือนที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสภาพ” เพราะการเก็บภาษีจะเก็บจากราคาประเมินของทุนทรัพย์ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณภาษีแล้วทำให้ยอดภาษีสูงกว่าภาษีตัวเดิม คือภาษีบำรุงท้องที่ 

จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประชาชนประสบปัญหาการหารายได้ วิกฤตโรคโควิด ช่วงข้าวยากหมากแพง มีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนค่าคอรงชีพสูงขึ้น ค่าน้ำมันแพงขึ้น การนำเงินไปลงทุนในที่ว่างเปล่าเช่น ทำการเกษตรอาจประสบปัญหาเรื่องเงินทุน ที่มีน้อยหายาก ซ้ำยังเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน หรือลงทุนทำการเกษตรแล้วอาจไม่ได้ผล ขาดทุน การต้องลงทุนลงมือทำทุกปีก็ต้องมีเงินทุนและมีความถนัดเชี่ยวชาญ มือใหม่คงยาก เจ้าของที่ดินบางรายซื้อที่ดินทิ้งไว้ให้ลูกหลาน แต่เมื่อตนเองแก่ตัวแล้วจะมาทำประโยชน์ในที่ดินก็ไม่ได้ แต่ยังไม่อยากโอนให้ลูกหลาน จึงเป็นภาระในการที่ต้องชำระภาษี เพราะเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ ที่แม้จะจัดเก็บเพียง 3%[28] แต่การตีราคาประเมินที่ดินที่สูง ก็ย่อมเสียภาษีที่จากมาก เพราะเดิมไม่เคยเสียภาษีที่ดินมาก่อนเลย

ส่วนใหญ่แล้วภาระภาษีจะตกกับคนที่มีรายได้น้อยไม่มีทุนลงมือทำการเกษตร ส่วนคนรวย นายทุน ไม่มีปัญหาเพราะทุนหนา สามารถลงทุนทำเกษตรหรือทำอย่างอื่นที่จะไม่ต้องเสียภาษีได้ และ ภาษีที่ดินปีนี้ 2565 เก็บเต็ม 100% ไม่ได้รับการยกเว้น[29] ลดหย่อนภาษีเหมือนดัง 2 ปีที่ผ่านมา การประเมินค่าภาษีเป็นยอดที่สูง จะเป็นภาระหนักแก่คนยากจน คนที่ไม่มีรายได้เลย 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน หากเจ้าของที่ดินไม่มายื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ เช่นเดิมเป็นบ้านอยู่อาศัยแล้วมาทำการค้า ต้องรอหรือเลี่ยงจนกว่า จนท.จะสำรวจเอง ซึ่งจะล่าช้าไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้การประเมินภาษีผิดพลาดไม่เป็นปัจจุบัน ที่เจ้าของที่ดินจะโต้แย้งไม่ได้ 

ปัญหาทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ใช้โปรแกรม LtaxGIS 2.2[30] และโปรแกรม Ltax3000 v.4.0[31] ซึ่ง Ltax3000 v.4.0 ยังไม่สมบูรณ์ในการคำนวณ การลงข้อมูลภาษี การออกภาษีป้าย (ภป.) ก็มีด้านหน้าแผ่นเดียว ด้านหลังผู้ประเมินไม่มีให้ บุคคลากรไม่พร้อมทั้งคนทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการจัดเก็บภาษี  ความรู้ด้านกฎระเบียบน้อยทั้งคนทำและคนเสียภาษี

 

ฉะนั้น ผู้บริหารบ้านเมืองทุกคน รวมผู้บริหารท้องถิ่นต้องปรับวิสัยทัศน์ใหม่ให้ได้ ให้ทันโลกที่พลิกผันตลอดเวลา (Disruptive) ของดีๆ อย่าให้ใครเขามาล้วงเอาไปหมด แล้วมันจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานไทย


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 18 กุมภาพันธ์ 2565, https://siamrath.co.th/n/323785 

[2]การกระจายอำนาจ (Decentralization)หมายถึงระบบการบริหารประเทศที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจในการจัดการดูแลกิจการหลายๆ ด้านของตนเอง โดยมิใช่ปล่อยให้รัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจในการจัดการภารกิจแทบทุกอย่างของท้องถิ่น กิจการที่ท้องถิ่นมีสิทธิจัดการดูแลมักจะได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม การดูแลชีวิตและทรัพย์สินและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนกิจการใหญ่ๆ 2 อย่างที่รัฐบาลกลางควบคุมไว้เด็ดขาดก็คือ การทหาร และการต่างประเทศ

การกระจายการคลังสู่ท้องถิ่น เป็นการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจทางการคลังแก่ท้องถิ่นอย่างอิสระตามกรอบที่กำหนด สร้างความรับผิดชอบทางการคลังของท้องถิ่น มอบอำนาจการหารายได้แก่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดการใช้จ่ายทั้งขนาดและประเภทได้ด้วยตัวเอง ให้ท้องถิ่นกำหนดและจัดทำงบประมาณได้ด้วยตัวเอง

ดู ประเด็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น, V-Reform เครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป, http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/08/reviewการกระจายอำนาจ.pdf 

[3]ล่าสุดข้อมูลสิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อปท. (ขนาดใหญ่ ทน.,ทม., กทม.และเมืองพัทยา รวม 226 แห่ง ไม่รวม อบจ.) จัดเก็บรายได้เอง (ภาษี) ลดลงเนื่องจากนโยบายรัฐ เป็นจำนวน 22,031.79 ล้านบาท, ข้อมูลจาก กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สส.จ.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสภาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

[4]ในประเทศไทยรายได้ของรัฐที่มาจากภาษีอากรคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้หลักประกอบด้วย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

โครงสร้างรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบร้อยละ 90 ของรายได้มาจากที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้และเงินอุดหนุนทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องท้องถิ่นต้องพึ่งพารัฐบาล จึงส่งผลให้รายรับของท้องถิ่นขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นและยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศจึงคาดหมายได้ว่าในปีงบประมาณต่อไป รัฐบาลจะยังคงไม่สามารถทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดหมายไว้ 

ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 บัญญัติให้การกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการที่จำเป็น คือ

(1) ให้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะ ที่รัฐดำเนินการอยู่ให้เสร็จสิ้น ภายในสี่ปี หากยังไม่แล้วเสร็จภายในสี่ปี ให้รัฐทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ และช่วยเหลือท้องถิ่น ให้ถ่ายโอนภารกิจให้แล้วเสร็จ ภายในสิบปี

(2) กำหนดการจัดสรรภาษี และอากรเงินอุดหนุน และรายได้อื่น ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน ปี พ.ศ.2544 ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ของรายได้รัฐบาล และในปี พ.ศ.2549 ไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้า ของรายได้รัฐบาล ให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ พิจารณาทบทวนแผนการกระจายอำนาจฯ ทุกระยะเวลาไม่เกินห้าปี

ดู การศึกษาการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดมหาสารคาม โดย รวิวรรณ อินทรวิชา, ในวารสารการเมืองการปกครองปีที่ 7 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560, 

http://copag.msu.ac.th/journal/filesjournal/7-2/31072017120508.pdf 

& การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 - 2557, รายงานทางวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา (ฉบับที่ 7/2558), สิงหาคม 2558, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=210 

[5]พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562

มาตรา 74 ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมรวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ ทั้งนี้ ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดเมื่อได้มีการจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นแล้วให้เป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่ของนำยกเทศมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่และกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมอบอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการแทนก็ได้ และให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดในมาตรา 81

มาตรา 81 องค์การบริหารส่วนตำบลจะมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียม เรียกเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพื่อองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ ในกรณีเช่นนี้เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้กระทรวง ทบวง กรมนั้นส่งมอบให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล

มาตรา 82 องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้ (1) รายได้จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล (2) รายได้จากสาธารณูปโภคขององค์การบริหารส่วนตำบล (3) รายได้จากกิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล (4) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามที่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ (5) เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ (6) รายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้ (7) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (8) รายได้อื่นตามที่จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล

[6]กฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เช่น 

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และมาตรการในการควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2545

กฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545

กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.2551

กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ.2559

กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 6/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารที่พักอาศัยที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 7/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารที่พักของคนงานก่อสร้างที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 8/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารโรงงานที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558

ดู กฎหมายไทยเล่ม 27 การสาธารณสุข : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ปรับปรุงข้อมูลถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560, 

https://www.krisdika.go.th/data/ebook/thailaw/thailaw27.pdf 

[7]ตัวอย่าง ข่าวประชาสัมพันธ์ประกาศคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง เรื่อง ประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น ครั้งที่ 9 (วิธีคัดเลือก) ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.krabipao.go.th/files/com_networknews/2021-08_a3191e3881d0484.pdf

& คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอนจังหวัดพังงา จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2564 วันที่ 12 ตุลาคม 2564,  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG211012142224991  

[8]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.3/ว 2455 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลในคดีจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522, https://www.phraelocal.go.th/mydoc/pdf/2554/003/02-54/V%20668.pdf

ดู คู่มือการขอรับเงินสินบทและเงินรางวัล ในตามความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ที่สามารถเบิกเงินสินบนและรางวัลนำจับได้ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, (1) คดีความผิดตาม 132 พ.ร.บ. (2) คดีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์และจราจรทางบก (3) คดีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน (ผู้จำหน่ายสลากกินรวบ), โดย พ.ต.อ.สมจิตร ทองแท่ง และ พ.ต.อ.อัมพล วงใหญ่, 7 มิถุนายน 2551, http://www.singburi.police.go.th/law/20.pdf  

[9]เช่น กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 & ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558

[10]แนวทางการปฏิบัติในการต่ออายุใบอนุญาต ตามพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ.2564 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/11/26394_2_1635845670203.pdf?time=1635854918928 

[11]อธิบายให้ง่าย ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power)คือ การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องยอมปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ

ดู SOFT POWER คืออะไร? พลังซอฟต์ ที่ไม่ซอฟต์เสมอไป พลังที่กระตุกจิต กระชากใจคนทั่วโลก, โดยชัยยะ ฤดีนิยมวุฒิ, ใน brandthink, 6 มกราคม 2564, https://www.brandthink.me/content/whatissoftpower

[12]การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน คือ “โอกาส” ในการประกอบอาชีพที่ประชาชนสามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยใช้ประโยชน์จาก สินทรัพย์ที่มีอยู่แม้จะไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ โดยเด็ดขาดแต่มีเพียงสิทธิครอบครองสินทรัพย์

 “การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน”หมายความว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอันจะเป็นการสร้างโอกาสแก่ ประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแปลงให้เป็นทุน เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 

ดู ข้อ 3 แห่ง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน พ.ศ.2546, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTEROPM/DRAWER01/GENERAL/DATA0004/00004274.PDF

& โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดย จุฬารัตน์ ยะปะนัน กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในเกร็ดกฎหมายน่ารู้ จุลนิติ ปีที่ 1 ฉบับ 4, หน้า 89-92, 2547, http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/K3_jun_1_4.pdf  

[13]ภาษีที่ดินกำลัง “อุ้มคนรวย ซ้ำเติมคนจน ?” : 'ท้องถิ่น' ส่งเสียงเตือน, voice tv, 15 กุมภาพันธ์ 2565, https://voicetv.co.th/read/69ERuschw & ภาษีที่ดินใหม่อุ้มนายทุน..ซ้ำเติมคนทำกิน คอลัมน์แยกรัชวิภา บ้านเมืองออนไลน์, 7 สิงหาคม 2563, https://www.banmuang.co.th/column/politic/6006 & “ภาษีมรดก เก็บแบบเมตตาธรรม เป็นคุณแก่นายทุนเยอะนะ” มุมมองศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ โดยthaireform, 20 ตุลาคม 2557, https://www.isranews.org/content-page/item/33747-tax_33747.html  

[14]อบต.ปากน้ำ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ร่วมกับ บ.พีรชัย บิลดิ้ง จำกัด เตรียมเปิดโครงการก่อสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตไฟฟ้า และงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะด้วยเทคโนโลยี Plasma Gasification และ Hydrogen Fuel Cell(Waste to Energy-H2 Power Plant) ดู สุโขทัยจับมือเอกชนตั้ง “โรงกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า”, สยามรัฐออนไลน์, 2 มีนาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/224099   

[15]ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดบ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ดำเนินการโดย : บริษัท แอ๊ดวานซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด กำลังการผลิตรวม 9.9 เมกะวัตต์ เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ปี 2555 ดู โครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล (Absolute Clean Energy : ACE), https://www.ace-energy.co.th/th/our-business/projects/biomass-power-plant-projects & https://www.ace-energy.co.th/th/our-business/projects/biomass-power-plant-projects/22/โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดบ้านบึง

[16]เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) หมายถึง ขยะที่เผาไหม้ได้ โดยการนำขยะมูลฝอยชุมชน มาผ่านกระบวนการบำบัดทางกายภาพ อาทิ การคัดแยก การลดขนาด และการลดความชื้น เป็นต้น เพื่อให้ได้วัสดุที่มีค่า ความร้อน ขนาด และคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน สะดวกต่อการขนส่ง เหมาะสมในการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (RDF) ซึ่งเป็นระบบการเผาไหม้ แก๊สซิไฟเออร์ (Gasification System) โดยนำ Product  Gas ที่ได้มาสันดาปภายในเครื่องยนต์รอบต่ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เกิดมาจากทีมวิศวกรไฟฟ้า ต้องการทำขยะ ให้เป็นศูนย์

ดู โครงการโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ, บริษัท SANKYO ASIA (Thailand), http://www.sankyo-asia.com/content--4-1612-33323-1.html  

[17]โครงการโซล่าฟาร์ม (Solar Farm)คือ โรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซล่าฟาร์ม) หรือ โรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาฟรีเป็นต้นพลังงาน และใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่มีความคงทนอายุยาวนานในการผลิตไฟฟ้า

[18]กรณีท่าเรือเชียงแสนที่รับการถ่ายโอนภารกิจจากกรมเจ้าท่า ดูข่าว

“ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2” กับความท้าทายการเป็นเมืองเศรษฐกิจบนความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม (1), ประชาธรรม, 26 มกราคม 2558, https://prachatham.com/th/th/node/11273

& ทต.เชียงแสน ถูกร้องค่าเสียหายถึง 85,000,000 บาท (แปดสิบห้าล้านบาท) กรณีท่าเรือเชียงแสน, ข่าวเด็ด, 24 มิถุนายน 2564, https://www.77kaoded.com/news/big/2133004 

& นายกเวียงเชียงแสน ประกาศ ยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ออกยกชุด หลังพบขัดต่อกฎหมาย โดย สราวุธ คำฟูบุตร, ข่าวเด็ด, 15 ธันวาคม, 2564, https://www.77kaoded.com/news/big/2211223 

& ท่าเรือริมโขงเชียงแสน 1 ไร้ทิศทาง เจอโควิดร้างยาวไม่พอ-เทศบาลฯ รื้อบอร์ดจ่อปรับทำแลนด์มาร์กซ้ำโดย ผู้จัดการออนไลน์, 16 ธันวาคม 2564, https://mgronline.com/local/detail/9640000124087 

& หมดสภาพ เมื่อ.ผ.ว.จ.ชร.ไม่รับอุทธรณ์ คำสั่ง นายกปลดบอร์ดท่าเรือ ชส., โดย สราวุธ คำฟูบุตร, ข่าวเด็ด, 15 มกราคม 2565, https://www.77kaoded.com/news/big/2227340  

[19]พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560, Industry Laws, กระทรวงอุตสาหกรรม, http://law.industry.go.th/laws/detail/32667

ดู ถก พ.ร.บ.แร่ภาคประชาชน จี้ยกเลิกกฎหมายเอื้อนายทุน, โดยiLaw, 27 ธันวาคม 2554, https://ilaw.or.th/node/1329 & สรุปเสวนา: วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.แร่ เอื้อเอกชนทำเหมืองง่าย ภาคประชาชนคัดค้าน, โดย iLaw, 13 ธันวาคม 2559, https://ilaw.or.th/node/4369 & การแก้ปัญหามลพิษที่ไปไม่สุดของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่, iLaw, 3 มิถุนายน 2560, https://ilaw.or.th/node/4522 

[20]ปรอทดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้มาจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองทองคำในเมือง La Rinconada ประเทศเปรู ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร เป็นแหล่งที่ชาวเหมืองใช้ปรอทในการถลุงทองคำมากที่สุดในเปรู และได้ปล่อยไอปรอทออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ในปริมาณมากกว่าปรอทที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาถ่านหินทั้งโลก ชาวเมืองมีสุขภาพไม่ดีเพราะต้องประสบภาวะอากาศเป็นพิษระดับรุนแรง

ในละตินอเมริกา ชิลีเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านเหมืองแร่เมื่อปี พ.ศ.2533, เปรูในปี พ.ศ.2543 และในปี พ.ศ.2553 ก็ได้เกิดขึ้นที่ประเทศโคลอมเบีย

ดู บทเรียนจากการทำเหมืองทองคำในประเทศเปรู, โดย สุทัศน์ ยกส้าน, ผู้จัดการออนไลน์, 22 มกราคม 2564, https://mgronline.com/science/detail/9640000006841 & โคลอมเบียอนุมัติ เหมืองทองคำ เกรย์สตาร์ ให้ผ่านในปีนี้ โดย จอห์น โอทิส, 13 พฤษภาคม 2558, http://utcc2.utcc.ac.th/sealac/a_trade_thai_colombia_Permits_This_Year_th%20.html  

[21]โคก-หนอง-นา โมเดล คือ อะไร โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสุโขทัย, muangsukhothai, 9 มกราคม 2563, https://district.cdd.go.th/muang-sukhothai/2020/01/09/โคก-หนอง-นา-โมเดล-คือ-อะไร/ 

[22]โครงการโซล่าเซลล์ เช่น โครงการติดตั้งไฟฟ้าส่อง สว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โครงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างโซล่าเซลล์ (Solar Cell) สาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาลดจุดเสี่ยงภายในชุมชนของประชาชนและประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น ติดตั้ง 30 จุด งบ 1.5 ล้านบาท (เฉลี่ยจุดละ 50,000 บาท) 

[23]“ป๊อกแทงค์” (Pog Tanks) คือ “นวัตกรรมระบบผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน” ที่ถูกคิดค้น ออกแบบวิจัยพัฒนา ขึ้นมาใหม่ จากปัญหาและข้อจำกัดของระบบประปาหมู่บ้านที่มีอยู่เดิม โดยขจัดความยุ่งยากในขั้นตอนต่างๆ ของการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาและการซ่อมบำรุงให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทวอเทอร์ป๊อกจำกัด

ดู “ป๊อกแทงค์” เพื่อคนไทยทุกท้องถิ่น ได้ “น้ำประปาสะอาด” มีมาตรฐาน, ผู้จัดการออนไลน์, 2 กรกฎาคม 2564, https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000063991

[24]การสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ หรือ ถนนพาราดินซีเมนต์ (Para Soil Cement) ดินผสมปูนซีเมนต์และน้ำยางพาราสด ได้ข้อสรุปออกมาเป็นมาตรฐานของกรมทางหลวงแล้ว สามารถทำได้ 2 แบบ (1) แบบแรก เป็นการนำส่วนผสม ดิน ปูนซีเมนต์ หรือปูนซีเมนต์ผสมปูนขาว มาเทบนถนนที่จะสร้าง แล้วบดอัดทันที (2) แบบที่สองเป็นการผสมโดยใช้เครื่องจักรที่เรียกว่า รถรีไซคลิ่ง (Pavement In Place Recycling) จะผสมบนถนนเลย หรือจะผสมจากโรงงาน แล้วนำมาเทบดอัดอีกครั้ง แต่ทั้ง 2 แบบ มีวิธีการที่แตกต่างกัน เพื่อไม่ให้ อบต. เทศบาล และหน่วยราชการต่างๆ ที่ร่วมโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร มีปัญหาในเรื่องเซ็นรับมอบงาน ไม่ตรงตามมาตรฐาน และไม่มีปัญหาเหมือนกรณี จ.กระบี่ ทำได้ไม่กี่วัน ถนนพัง เพราะทำได้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน

ดู พาราซอยล์ซีเมนต์ (1),  ไทยรัฐออนไลน์, 12 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.thairath.co.th/news/local/1493526  & เปิดขบวนการแบ่ง “ค่าขนม” จากโครงการถนนยางพารา (EP.1), Thai PBS News, 12 มีนาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/302343  & ครม.รับข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.ป้องทุจริตโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กม.ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์, อินโฟเควสท์, 24 สิงหาคม 2564, https://www.infoquest.co.th/2021/119338  

[25]โครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเครื่องมือพัฒนาการศึกษาปฐมวัย อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง

ดู ฉบับเต็ม สตง.ชำแหละสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ใช้ 'สุพรรณโมเดล' ปูพรมขยายสอบทั่วปท., สำนักข่าวอิศรา, 22 พฤศจิกายน 2564, https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/104380-investigative00-2-106.html  

[26]ดู หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยหนังสือฉบับนี้ จะมีผลกับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่จะประกาศเชิญชวนในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก โดย กรมบัญชีกลางยกเลิกแนวทางปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 845 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 และยกเว้นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน แก้ไขปัญหาการสมยอมกันในการเสนอราคา คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ยกเลิกแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ว 845 (ซึ่ง ยกเลิก ว 89), https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/51156  

[27]ระบบต่างตอบแทน “อุปถัมภ์” (Patronage) เกี่ยวกับการเมืองโดยมีลักษณะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบต่างตอบแทน ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 5 - 16 และในสังคมไทยจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในสมัยพระบรมไตรโลกนาถจนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ คำว่า “ผู้อุปถัมภ์” (patron) เป็นคำที่มาจากภาษาละติน คือ pratronus หมายถึง บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมหรือรับรอง (sanction) โดยคนเหล่านี้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือเป็น “ผู้รับอุปถัมภ์” (client) ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือป้องกัน โดยผู้อุปถัมภ์จะให้ประโยชน์กับผู้รับอุปถัมภ์โดยหวังจะได้ประโยชน์ตอบแทนกลับมาในรูปแบบของสินค้า ความจงรักภักดี การสนับสนุนทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ความสัมพันธ์ในเชิงตอบแทนซึ่งกันและกัน (reciprocal relationships) โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้ ฝ่ายผู้รับอุปถัมภ์มักจะเป็นผู้เสียเปรียบเพราะโดยคำจำกัดความว่าเป็นผู้ที่อ่อนแอกว่าทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง (วิกิพีเดีย)

ระบบอุปถัมภ์เป็นกลไกที่ยึดโยงอย่างต่อเนื่องกับการเมืองไทย บุคคลแม้มีความรู้ ความสามารถความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ พร้อมความหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะพัฒนาประเทศชาติ แต่ไม่มีสมัครพรรคพวก ญาติพี่น้อง รุ่นพี่ คนรู้จัก และบุคคลที่เป็นกลุ่มอ้างอิงก็ยากที่จะนำพาตนเองเข้าไปทำงานและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ จนทำให้เกิดการแต่งตั้ง มอบหมาย และฝากอนาคตของประเทศไว้กับพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวมีอยู่มากในการเมืองไทยและระบบราชการไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มิได้คำนึงถึงหลักคุณธรรม

ดู ระบบอุปถัมภ์กับปัญหาความยากจนในประเทศไทย (Patronage System and Poverty Problem in Thailand) โดย ฐานริณทร์ หาญเกียรติวงศ์, รุจิกาญจน์ สานนท์ และ ทีปอุทัย แสนกาศ, ใน วารสารวิชาการสังคมศาสตร์เครือข่ายวิจัยประชาชื่น ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม 2563)

[28]แบบ ภ.ด.ส. 6 คือ หนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบบ ภ.ด.ส. 7 คือ แบบแสดงรายการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ที่ดินเปล่าที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อันใด จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง คือเริ่มต้น 0.3% และเมื่อปล่อยรกร้างเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 

ดู ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2564 เก็บเท่าไร เคลียร์ให้ชัด หลังปรับลดภาษี 90%, เวบ kapook, 17 พฤศจิกายน 2563, https://money.kapook.com/view233742.html & คลังลุยเก็บภาษีที่ดิน 100% เจ้าสัวแปลงที่ดินพันล้านเป็นสวนมะม่วง, ประชาชาติธุรกิจ, 19 มกราคม 2565, https://www.prachachat.net/finance/news-845045 

[29]กทม.นำร่องยืดจ่ายภาษีที่ดิน 100% เอกชนภูเก็ตวอนลด90%ถึงปี67, ฐานเศรษฐกิจ, 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13:00 น., https://www.thansettakij.com/property/512571 & อัพเดท ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ล่าสุดเสีย 100% แล้วจ้า, โดย TAXBugnoms, ยูทูป, 25 มกราคม 2565, https://www.youtube.com/watch?v=kflupLey_A4 & ครม.ขยายเวลาคงอัตราเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 65-66 ก่อนทบทวนในปี 67, ข่าวเศรษฐกิจ, 7 ธันวาคม 2564, 14:58, https://www.ryt9.com/s/iq03/3279636?fbclid=IwAR3iQ2jHfj-WWvihkUbwfqYUp_NNO8YYw5BjPgOyUvzot8roOi8vvFMYiqA 

[30]การข้อมูลแผนที่แม่บทจากโปรแกรม LTAX GIS 2.2 เป็น โปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (LTAX GIS) ใช้คู่กับโปรแกรม LTAX 3000 V 4.0

ดู การส่งชั้นข้อมูลแผนที่แม่บทจากโปรแกรม LTAX GIS 2.2 เข้าโปรแกรม LTAX 3000 V 4.0 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://ltax3000.dla.go.th/download/การส่งชั้นข้อมูล%20LTAX%20GIS%20เข้า%20LTAX%203000%20V%204.0%20ล่าสุด.pdf  & การติดตั้งโปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (LTAX GIS)(บทที่ 2), http://chonburilocal.go.th/public/docoperation_upload/backend/docoperation_1_3.pdf 

[31]โปรแกรมแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน (LTAX 3000) เป็นโปรแกรมที่กรมส่งเสริมการปกครองถิ่นพัฒนาขึ้นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินและการจัดเก็บรายได้และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้ว

ดู ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน (LTAX 3000 v.4), http://ltax3000.dla.go.th/download/การติดตั้งโปรแกรมแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน.pdf & คู่มือการติดตั้งโปรแกรมแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน (LTAX 3000), http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2553/11/8509_2.pdf   

หมายเลขบันทึก: 697979เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท