ไม่ควรมองอะไรเพียงด้านเดียวแล้วตัดสิน


พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “คนทั้งหลายที่มองอะไรเพียง ด้านเดียว ย่อมถือข้อขัดแย้งทะเลาะวิวาทกัน” ฉะนั้น จึงควรลดการมองจากด้านเดียวมามองหลายด้าน จะทำให้ ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น และช่วยลดข้อขัดแย้งได้ เมื่อลดข้อขัดแย้งได้ ย่อมจะก่อให้เกิดความสุขสงบได้ในครอบครัว ในสังคมและในประเทศชาติ และคนในองค์กรก็จะไม่แตกความสามัคคี

ไม่ควรมองอะไรเพียงด้านเดียวแล้วตัดสิน

 

ไม่ควรมองอะไรเพียงด้านเดียวแล้วตัดสิน

                                                         ดร.ถวิล  อรัญเวศ

       สรรพสิ่งในโลกนี้ ย่อมจะมีเป็นคู่กันเสมอ เช่น มีดี ก็มีชั่ว

มีคนรวย มีคนยากจน  มีคนสวยมาก หล่อมาก และก็มีคนสวยน้อย

หล่อน้อย มีมืด  มีสว่าง มีขาวมีดำ มีนินทา มีสรรเสริญเยินยอ

มีลาภ มีเสื่อมลาภ มียศ มีเสื่อมยศ มีสุชและก็มีทุกข์

        เวลาเราได้รับชมรับฟังหรือได้ยินได้ฟัง หรือพบเห็นการนำเสนอข่าวที่ตื่นเต้น เ
ร้าใจ และมีเพียงถ้อยคำสั้น ๆ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ดี และเป็น

ความจริง ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่จริง เป็นเพียง

การนำเสนอข่าวเพื่อก่อให้เกิดความตื่นอกตื่นใจน่าติดตาม ก็อาจจะ

ก่อให้เกิดความเสียหายได้

        เราเห็นอะไร อาจจะไม่ถูกใจ ไม่สบอารมณ์ตนเอง ก็อย่าเพิ่งไป

ตัดสินว่าดีไม่มีที่ติ หรือเลวจนไม่อาจจะให้อภัยได้ เป็นต้น

         ฉะนั้น โบราณ ท่านจึงสอนให้มองอะไรไม่ควรมองเพียงด้านเดียวควรมองหลายๆ ด้าน
โดยเฉพาะนักบริหารถ้าไปเชื่อลูกน้องเพียงคนใดคนหนึ่ง ก็คงไม่ถูกต้องนัก 
แม้แต่เรื่องนี้พระพุทธองค์ก็เคยตรัสสอนไว้แล้วในหลักกาลามสูตรหรือสูตรว่าด้วยการจะเชื่ออะไร
 อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเชื่อง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนจึงเชื่อ

ดังที่ว่า
“สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น
สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ
สืบมือคลำ ไม่เท่าได้ทำเอง”

 

ข้อเสียของการมองอะไรเพียงด้านเดียว

การมองอะไรเพียงด้านเดียว แล้วด่วนสรุป จะก่อให้เกิด

ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันได้ ถ้ามีความเห็นที่ไม่ตรงกันแล้วไซร้ ก็จะก่อให้

เกิดความแตกแยกของคนในองค์กร หรือในสังคมได้ โดยเฉพาะถ้า

เรื่องที่มองนั้น ไม่เป็นความจริงแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายได้

เรื่องนี้ ขอยกนิทานปรัมปราซึ่งได้เล่ากันสืบ ๆ กันมาว่า

        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังพระราชาพระองค์หนึ่ง

ทรงนึกสนุกขึ้นมา จึงตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่พระราชวังประชุมคนตาบอด
ในเขตพระนครและโดยให้นำคนตาบอดมาประมาณ ๑๒ คน

         คนตาบอดเมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ก็ดีใจที่จะได้มีโอกาสเข้าวัง

เมื่อคนตาบอดมาพร้อมกันแล้ว พระราชาจึงทรงสั่งให้เจ้าหน้าที่

จัดแบ่งคนตาบอดออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒ คน รวม ๖ กลุ่ม
โดยให้แต่ละกลุ่มจับเพียงเฉพาะอวัยวะส่วนใด ส่วนหนึ่งของช้างเท่านั้น

        จากนั้น พระราชาจึงเรียกคนตาบอดทุกกลุ่มมาพร้อมกันแล้วให้
คนตาบอดแต่ละกลุ่ม บรรยายลักษณะของช้างตามที่ตนได้รับรู้มา

        คนตาบอดในแต่ละกลุ่มบอกลักษณะของช้างแตกต่างกันออกไป
ขึ้นอยู่กับอวัยวะของช้างที่พวกเขาได้สัมผัสมา ๖ กลุ่ม

        พวกที่คลำปลายหางช้าง บอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด

   พวกที่คลำหางช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนสาก

       พวกที่คลำลำตัวช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนยุ้งข้าว

       พวกที่คลำงวงช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนง่อนไถ

       พวกที่คลำหูช้าง บอกว่าช้างเหมือนกระด้ง

       พวกที่คลำหัวช้าง บอกว่าช้างเหมือนหม้อ

        พระราชาจึงตรัสถามพร้อมกันอีกครั้งหนึ่งว่า

ที่แท้จริงแล้วช้างมีลักษณะเป็นอย่างไรกันแน่

        คนตาบอดต่างถกเถียงกันใหญ่ว่า ลักษณะที่กลุ่มของตนได้กราบทูลต่อพระราชาถูกต้องแล้ว
เพราะคลำมากับมือเลย และไม่ได้คลำเพียงคนเดียว คลำ ๒ คน และก็คลำตั้ง ๒-๓ ครั้ง จนมั่นใจแล้ว

        คนตาบอดต่างคนต่างก็ไม่ยอมกัน ยังยืนยันความคิดของตน สุดท้ายไม่มีใครฟังใคร
คนตาบอดจึงได้ชกต่อยกันชุลมุน

       พระราชาจึงทรงพระสรวลด้วยความพึงพอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก

        เรื่องคนตาบอดคลำช้างจึงถือเป็นข้อคิดได้ว่า การมองอะไรเพียง

ด้านเดียว ยังไม่เพียงพอ เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดได้ใน

องค์รวมที่แท้จริง เพราะสิ่งที่มองด้านเดียวจะได้ข้อเท็จจริงด้านเดียว

        ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ต้องมองหลาย ๆ ด้าน และมองให้เห็น

ความเชื่อมโยงกันในหลายมิติจึงจะทำให้ได้ข้อมูลชัดเจน

        การมองเพียงด้านเดียว เมื่อนำข้อเท็จจริงมาแลกเปลี่ยนกัน

ถ้าต่างฝ่ายต่างยืนยันกันโดยไม่ตรวจสอบให้ข้อเท็จจริงแล้ว ย่อม

ก่อให้เกิดข้อทะเลาะวิวาทกันได้

        พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “คนทั้งหลายที่มองอะไรเพียง

ด้านเดียว ย่อมถือข้อขัดแย้งทะเลาะวิวาทกัน”

        ฉะนั้น จึงควรลดการมองจากด้านเดียวมามองหลายด้าน จะทำให้

ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น และช่วยลดข้อขัดแย้งได้ เมื่อลดข้อขัดแย้งได้

ย่อมจะก่อให้เกิดความสุขสงบได้ในครอบครัว ในสังคมและในประเทศชาติ
และคนในองค์กรก็จะไม่แตกความสามัคคี

 

สรุปข้อคิด

        คนเราไม่ควรจะมองอะไรเพียงด้านเดียวแล้วด่วนนำมาตัดสิน

เพราะจะก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงได้ ฉะนั้น

นักบริหาร จึงควรมีข้อมูลหลายด้านเพียงพอก่อนจะวินิจฉัยสั่งการออกไป

และจะทำให้ข้อวินิจฉัยสั่งการไปนั้น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ และ

ประการสำคัญคนในองค์กรหรือในสังคมจะไม่แตกแยกกันเพราะ
ความเห็นไม่ลงรอยกันนั้นเอง ท้ายที่สุดขอฝากข้อคิดดังนี้

 

               ก่อนจะเชื่อ สิ่งใด ให้พิสูจน์

            ก่อนจะพูดให้ยั้งคิดวินิจฉัย

            ก่อนจะทำ กิจการ งานใดใดให้ดี  

             คิดให้ ถ้วนถี่ จึงจะเกิดผลดีตามมา

 

 

 

 

 

 

---------------------


 

หมายเลขบันทึก: 696943เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2022 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2022 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท