สอนทักษะสร้างสรรค์  8. หกโรงเรียนกรณีศึกษา เรื่องราวของความสำเร็จ


 

บันทึกชุด สอนทักษะสร้างสรรค์ ฝึกนักเรียนให้คิดเป็นและคิดอย่างมีวิจารณญาณ นี้ ตีความจากหนังสือ Teaching Creative Thinking : Developing learners who generate ideas and can think critically (2017)  เขียนโดย Bill Lucas  และ Ellen Spencer    ที่เป็นหนังสือว่าด้วยการคิดสร้างสรรค์ (critical thinking)   แต่ตีความเชื่อมโยงออกไปกว้างขวางมาก    และมีคำแนะนำภาคปฏิบัติ   รวมทั้งมีตัวอย่างโรงเรียนที่ดำเนินการในแนวทางที่เสนอ    ผมเขียนบันทึกชุดนี้ เพื่อร่วมขบวนการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะให้แก่สังคมไทย   

ตอนที่ ๘ นี้ ตีความจากหนังสือบทที่ 5  Promising Practices : Some case studies    ครึ่งแรกของบท     ว่าด้วยโรงเรียนที่สอนการคิดสร้างสรรค์อย่างประสบผลสำเร็จ ๖ โรงเรียน    แสดงวิธีการที่ครูใหญ่และครูดำเนินการให้นักเรียนได้พัฒนาขีดความสามารถควบคู่หรือบูรณาการไปกับการเรียนความรู้และทักษะ    มีผลให้ในที่สุดโรงเรียนเกิดหารเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับองค์กร     

 

โรงเรียนมัธยม Rooty Hills  ออสเตรเลีย

โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ชานเมืองด้านทิศตะวันตกของนครซิดนีย์   รับนักเรียนจากย่านนั้น ซึ่งมีครอบครัวรายได้ต่ำรวมอยู่ด้วย   เป็นโรงเรียนที่เน้นผลการเรียนที่เป็นเลิศ ทั้งด้านวิชาการและด้านการพัฒนาสมรรถนะ หรือขีดความสามารถ (คุณลักษณะ - capabilities) ของนักเรียน   

โรงเรียนนี้ใช้ โมเดล ๕ มิติของการคิดสร้างสรรค์ (ดูบันทึกที่ ๓) มา ๕ ปีก่อนการเขียนหนังสือ Teaching Creative Thinking    โดยใช้โมเดลนี้ในการวางแผนหลักสูตร จัดการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้   หลักสูตรการศึกษาของประเทศออสเตรเลียมีลักษณะพิเศษจากประเทศอื่นๆ ที่เป้าหมายการเรียนรู้บูรณาการสาระวิชาและสมรรถนะเข้าด้วยกัน   กำหนดให้พัฒนาการคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  สมรรถนะส่วนบุคคลและเชิงสังคม  ความเข้าใจเชิงจริยธรรม และความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้รายวิชา     

โรงเรียนมัธยม รูที ฮิลล์ ได้ดัดแปลงเพิ่มเติมรายละเอียดของแผนผังของโมเดล ๕ มิติ    ได้เป็น “วงล้อแห่งการสร้างสรรค์” (the creativity wheel)  ดังรูป (๑)   โดยเพิ่มเติม ๒ วงล้อด้านนอก บอกพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้นักเรียนได้ฝึก   และวงนอกสุดบอกเครื่องมือฝึกการคิดที่ใช้เป็นประจำ (thinking routine  ที่เอามาจาก Project Zero)   และสร้างซี่ ๕ ซี่ขึ้นมาหนุน ๕ ส่วนของกงล้อ (๕ มิติ) ด้วยกลุ่มคำกริยาที่แสดงพฤติกรรมของมิตินั้นๆ     ส่วนที่ต่อเติมนี้ มีประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติมาก   ทางโรงเรียนมีรูป creativity wheel ให้นักเรียนแต่ละคนได้ใช้สะท้อนคิดตรวจสอบการฝึกฝนตนเองอยู่ตลอดเวลา    ช่วยให้มองเห็นเรียนรู้ของตนเอง (visible learning)    

ครูใหญ่ Christine Cawsey สะท้อนคิดว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ๓ ประการคือ  (๑) การมีครูแกนนำและกลุ่มผู้นำโครงการ   ที่ร่วมกันริเริ่มโครงการทดลองเล็กๆ ก่อน  เพื่อสร้างความรู้ สำหรับนำไปใช้ดำเนินการทั้งโรงเรียนในภายหลัง   และสร้างตำแหน่งครูผู้นำ ทำหน้าที่โค้ชในโครงการ  (๒) การสร้างทีมเรียนรู้ของครู ครูทุกคนรวมทั้งผู้อำนวยการและฝ่ายบริหาร ต้องเป็นสมาชิกของทีมเรียนรู้หนึ่งทีม  เพื่อดำเนินการวิจัยปฏิบัติการ (ใช้วิธีการของ Expansive Education Network)    เสนอรายงานผลการวิจัยระหว่างปีหรือตอนสิ้นปี   เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ทั้งโรงเรียน  (๓) สร้างหลักสูตรที่ขับเคลื่อนขีดความสามารถ (capability-driven curriculum)    เพื่อาชนะแรงเฉื่อยของ content-based curriculum ที่มีมานาน

โรงเรียนนี้ได้รับการยกย่องว่ามีความสำเร็จในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการศึกษาทั้งในระดับโลก และในระดับประเทศ (ออสเตรเลีย) 

ข้อเรียนรู้สำคัญจากโรงเรียน รูที ฮิลล์ ได้แก่

  1. พึงสื่อสารอย่างชัดเจนต่อครู เจ้าหน้าที่ นักเรียน และพ่อแม่
  2. กำหนดตัวหัวหน้าทีมวิจัยปฏิบัติการเพื่อทดสอบแนวความคิดและวิธีการ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
  3. สร้างชุมชนเรียนรู้ของครู (PLC) ที่ได้รับการยกย่อง
  4. กำหนดขีดความสามารถ (เช่นความคิดสร้างสรรค์) ที่บูรณาการอยู่ในหลักสูตร   และมีแนวทางปฏิบัติสำหรับครูได้เริ่มดำเนินการ
  5. ติดตามความก้าวหน้าของการพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนแต่ละคน โดยใช้ digital portfolio     

 

โรงเรียน Thomas Tallis  ลอนดอน

ไม่ว่าไปที่ไหนในโรงเรียน โธมัส ทัลลิส จะเห็นโปสเตอร์ Tallis Habits (๒) เต็มไปหมด   ซึ่งเมื่ออ่านชื่อของแต่ละ habit ก็จะเห็นว่า คือ ๕ มิติของความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง    โรงเรียนนี้ได้เข้าร่วมเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้และประเมินความสร้างสรรค์ในโรงเรียน ในปี ค.ศ. 2011 (๓)   และได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาในฐานะส่วนหนึ่งของ Expansive Education Network 

มีการปลูกฝังสมรรถนะ (ขีดความสามารถ) ทั้ง ๕ มิติ บูรณาการอยู่ในหลักสูตรทั้งหมด   เน้นโฟกัสทีละมิติต่อครึ่งเทอม    โดยให้นักเรียนประเมินความก้าวหน้าของสมรรถนะของตน     

โปสเตอร์ Tallis Habits มีผลให้วาทกรรมให้ความสำคัญแก่ความสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาแพร่หลายในกลุ่มครูและนักเรียนครอบคลุมทั้งโรงเรียน ยกเว้นในสาขาด้านศิลปะ   เขาไม่ได้ขยายความว่ามีเหตุผลอะไร   

ปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของโรงเรียน โธมัส ทัลลิส ได้แก่

  • สร้างรูปแบบการทำงานที่มีการบูรณาการ ๕ มิติของความสร้างสรรค์เข้าไปในแผนการจัดการเรียนการสอน   เช่นการใช้ การสอนแบบแบ่งสองจอ (split-screen teaching)
  • เริ่มบทเรียนด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์    ดังกล่าวในบันทึกที่ ๕ และ ๖
  • พัฒนา Tallis Pedagogy Toolkit ตามแนวทางที่ระบุในหนังสือ Teaching Creative Thinking ช่วยให้ครูใช้ง่าย 
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนตั้งโจทย์เพิ่มเติมเพื่อการพัฒนามิติของความสร้างสรรค์ 
  • ใช้ web app ชื่อ Tallis Habits ในวิชา computer science ของนักเรียนเกรด ๗   เพื่อให้นักเรียนได้สะท้อนคิดเรื่องนิสัยการเรียนรู้ของตน
  • ให้รางวัลนักเรียนเกรด ๗ และ ๘ ที่พัฒนา Tallis Habits ของตนได้ดี  และรายงานความก้าวหน้าต่อพ่อแม่
  • ทำงานวิจัยปฏิบัติการวัดผลกระทบจาก Tallis Habits ในนักเรียนทั้งหมด   ด้วยความร่วมมือจาก Expansive Education Network  และ University of Greenwich 

ก่อนพิมพ์หนังสือ Teaching Creative Thinking ไม่นานโรงเรียน โธมัส ทัลลิส ได้ร่วมมือกับโรงเรียน รูที ฮิลล์     ดำเนินการวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการจัดการเรียนรู้กับแต่ละมิติของความสร้างสรรค์        

ข้อเรียนรู้สำคัญจากโรงเรียน โธมัส ทัลลิส ได้แก่

  1. พึงลงทุนดำเนินการสื่อสารอย่างชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ นักเรียน และพ่อแม่
  2. ย้ำอยู่เสมอว่าการเรียนรู้ด้านสาระวิชากับด้านสมรรถนะมีความสำคัญเท่าเทียมกัน
  3. สลับการให้ความสำคัญแก่หนึ่งมิติของความสร้างสรรค์ทุกๆ ครึ่งเทอม
  4. เน้นที่วิธีจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียนพัฒนา Tallis Habits ใส่ตน 
  5. ส่งเสริมการตั้งคำถามของครู เป็นเครื่องมือพัฒนาขีดความสามารถของครู
  6. สร้างกลไก feedback เรื่องมิติด้านความสร้างสรรค์ บูรณาการเข้าในระบบประเมินและการรายงานผลงานของโรงเรียนทั้งระบบ

 

โรงเรียนประถม Redlands  เมืองเรดดิ้ง  อังกฤษ

โรงเรียนประถม เรดแลนด์ส ตั้งอยู่ในชุมชนที่มึความหลากหลายด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมสูงมาก    นักเรียนพูดภาษาแม่ที่บ้านแตกต่างกันถึง ๔๐ ภาษา    ทางโรงเรียนจึงใช้ปัจจัยนี้เป็นจุดแข็งให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจความคิดของผู้อื่น   

โรงเรียนประถม เรดแลนด์ส เน้นจัดการเรียนรู้เชิงรุก บนฐานคุณค่าและวิสัยทัศน์ ๓ ประการคือ 

  1. การสร้างวัฒนธรรมกระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset culture)    กระบวนการเรียนรู้จัดในลักษณะที่ทำให้ทั้งนักเรียนและครูตระหนักว่า หากต้องการเรียนรู้ ตนต้องกล้าหาญและกล้าทำผิดพลาด   ซึ่งจะช่วยให้ได้เผชิญความท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อน   โดยนัยนี้ นักเรียนมีโอกาสได้ตั้งคำถาม  ได้เผชิญความท้าทาย  ได้มีประสบการณ์การทำผิดพลาด  ได้ค้นหาและฝึกความสามารถในการปรับตัว    ทั้งหมดนั้นเป็นพื้นฐานสู่การฝึกคิดสร้างสรรค์ 
  2. จัดการเรียนรู้แบบ topic-based enquiry approach  นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้ตั้งคำถาม และท้าทายต่อแนวความคิด   นักเรียนได้ตระหนักว่า เมื่อตั้งคำถามแรก จะนำไปสู่คำถามต่อๆไป  เป็นการเดินทางของความคิดที่นำไปสู่การค้นพบ    ครูทำหน้าที่เอื้ออำนวยตามแนวทาง Philosophy for Children 
  3. สร้างการคิดสร้างสรรค์ด้วยรายวิชาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย เรดแลนด์ส    ย้ำว่าเด็กชั้นประถมเรียนรายวิชาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย    โดยเรียนในภาคฤดูร้อนครึ่งเทอมหลัง    มหาวิทยาลัยและโรงเรียนร่วมกันกำหนดรายวิชาให้นักเรียนเลือกตามระดับชั้นของเด็ก    นักเรียนเรียนในชั้นคละสัปดาห์ละครึ่งวันในช่วงเช้า    ตัวอย่างวิชาที่เรียนเช่น การซ่อมจักรยาน,   การสร้าง go-kart, การปลูกพืชสวน,  แฟชั่น,  การครัวและการโรงแรม,  ศิลปะการละคร,  การผลิตภาพยนตร์,   การทอผ้าและทำกระดาษ,  การให้บริการดูแลสุนัข (doggy daycare), เป็นต้น   การได้เรียนวิชาระดับปริญญาตรีเหล่านี้ ช่วยเปิดหูเปิดตาเด็กต่อโลกกว้าง ช่วยให้มีปณิธานต่อชีวิตในอนาคต   เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กพัฒนาความสร้างสรรค์ใส่ตน            

วิสัยทัศน์และคุณค่า ที่นำสู่วิถีปฏิบัติทั้งสามประการข้างต้น เชื่อมโยงกับชุมชนและภาคีอื่นๆ ช่วยให้นักเรียนของโรงเรียนประถม เรดแลนด์ส มีการพัฒนาความสร้างสรรค์และขีดความสามารถอื่นๆ   โดยโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียน

  • เป็นเจ้าของ และจัดการเรียนรู้ของตนเอง
  • ตั้งคำถามและท้าทาย
  • คิดเชื่อมโยงและทำความเข้าใจความสัมพันธ์
  • มองหาสิ่งที่เป็นไปได้
  • เปิดใจและสำรวจหา ไอเดีย
  • ใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจังในเรื่องแนวความคิด การปฏิบัติ และผลลัพธ์ 
  • คิดอิสระ 
  • แสวงหาความท้าทายและประสบการณ์ใหม่ๆ
  • มองความผิดพลาดว่าเป็นช่องทางของการเรียนรู้ที่มีคุณค่า
  • มองว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ค่อยๆ ขยับ    “ฉันยังทำสิ่งนี้ไม่ได้”
  • เป็นผู้เรียนที่กล้าหาญและยืดหยุ่น

โดยโรงเรียนช่วยเอื้อ

  • หลักสูตรที่นำโดยเด็ก (child-led curriculum)   ทำโดยตรวจสอบสิ่งที่นักเรียนรู้แล้ว    ให้ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับรายวิชา   และตรวจสอบว่านักเรียนต้องการเรียนรู้อะไร 
  • โอกาสแสวงหาและสร้างคำถาม ผ่านกิจกรรมปลายเปิดเพื่อแก้ปัญหา
  • ความยืดหยุ่นในการวางแผนการเรียนรู้   ซึ่งหมายความว่า ครูเองก็อาจไม่รู้ว่าการเรียนรู้จะดำเนินไปทางใด
  • ประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในและนอกโรงเรียน
  • การดำเนินการเพื่อสร้างและสนองคุณค่า (value-led approach) ด้านการพัฒนาสังคม คุณธรรม จิตวิญญาณ และวัฒนธรรม 
  • โอกาสเรียนรู้ข้ามระดับ (cross-phase learning) เช่นนักเรียนประถมได้เรียนรู้ระดับมัธยม หรือระดับอุดม   ดังกรณีการให้นักเรียนมีโอกาสเรียนวิชาระดับมหาวิทยาลัย 
  • การมีชุมชนที่แตกต่างหลากหลาย คือนักเรียนพูดภาษาที่บ้านถึง ๔๐ ภาษา ช่วยเปิดโอกาสให้ได้ฝึกเข้าใจ เคารพ ผู้อื่น    และอดทนต่อความแตกต่าง  

ข้อเรียนรู้สำคัญจากโรงเรียนประถม เรดแลนด์ส ในการทำให้การฝึกความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในโรงเรียน ได้แก่ 

  1. ปลูกฝังกระบวนทัศน์พัฒนาในทุกกิจกรรม
  2. จัดการเรียนรู้แบบ topic-based enquiry approach อย่างจริงจัง    โดยใช้วิธีการของ P4C หนุน
  3. ดำเนินการเพื่อให้นักเรียนได้ขยายขอบฟ้าของตน
  4. ส่งเสริมให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง  ผ่านความเอาจริงเอาจัง และการใคร่ครวญสะท้อนคิด   

 

โรงเรียนประถม Brunswick East  นครเมลเบิร์น  ออสเตรเลีย 

โรงเรียนประถม บรันสวิค อีสต์ (BPES) ตั้งอยู่ชานเมืองของนครเมลเบิร์น (๔)   จัดการเรียนรู้แบบชุมชนเรียนรู้พื้นฐานคละอายุ (multi-age learning community)    คือครูกับนักเรียน ป. ๑ - ๓   และ ป. ๔ – ๖ เรียนด้วยกัน     ดำเนินการตามทฤษฎีการศึกษาหลายทฤษฎี ได้แก่ constructivism, Dewey, Reggio Emilia, และ Loris Malaguzzi   เน้นผสมผสานการสอนกับการเรียนรู้เป็นเนื้อเดียวกัน    เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ   

องค์กร VCAA (Victorian Curriculum Assessment Authority) ของ ออสเตรเลีย ได้พัฒนาหลักสูตรเน้นความสามารถ (capability-led curriculum) ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ดำเนินการทั่วทั้งหลักสูตร และข้ามหลักสูตร    ที่โรงเรียนประถม บรันสวิค อีสต์ นำมาประยุกต์ใช้โดยเน้นที่สองขีดความสามารถ (สมรรถนะ)    คือ ความเข้าใจด้านคุณธรรม กับการคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์    ดำเนินการผ่านวิธีการตั้งข้อสงสัย (enquiry)    

โรงเรียนประถม บรันสวิค อีสต์ ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกับอีก ๑๐ โรงเรียน สนับสนุนโดย Centre for Real-World Learning   เพื่อทำวิจัยปฏิบัติการหาแนวทางจัดการเรียนรู้ผสมผสานระหว่างการพัฒนาสมรรถนะกับการพัฒนาความรู้และทักษะวิชาการ   

โรงเรียนประถม บรันสวิค อีสต์ จัดระบบองค์กรโดยแบ่งออกเป็น “ชุมชนเรียนรู้” (learning community)     แต่ละชุมชนเรียนรู้โฟกัสการตั้งคำถามต่อหลักการใหญ่ๆ เพื่อแสวงหาแนวทางเรียนรู้และประเมินสองสมรรถนะ คือ ความเข้าใจด้านคุณธรรม กับการคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์   ขอยกตัวอย่างว่า มีชุมชนเรียนรู้หนึ่งตั้งคำถามเพื่อค้นหาตรวจสอบหลักการที่ว่า ประวิติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นประวัติศาสตร์ของความเฉลียวฉลาด (ingenuity),  นวัตกรรม (innovation),  และการประดิษฐ์ (invention)   โดยมีคำถามย่อยดังต่อไปนี้

  • วิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร
  • มนุษย์สร้างประวัติศาสตร์อย่างไร
  • นวัตกรรมมีผลต่อโลกอย่างไร
  • นวัตกรรมหนึ่งชิ้นที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกคืออะไร
  • ใครเป็นผู้ทำให้เกิดความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์
  • สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนชีวิตของเราอย่างไร
  • สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนประวัติศาสตร์อย่างไร
  • มนุษย์เราตัดสินอย่างไรว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งมีผลดีต่อสังคม   

กระบวนการตั้งคำถามและหาคำตอบนี้ดำเนินต่อเนื่อง ๒ ภาคการศึกษา    เสริมด้วยกิจกรรมเวทีเสวนาเชิงปรัชญาสัปดาห์ละครั้ง เพื่อทำความเข้าใจมิติเชิงคุณธรรม และเรียนรู้ด้านการคิดสร้างสรรค์และคิดอย่างมีวิจารณญาณ

อีกชุมชนเรียนรู้หนึ่งไปเยี่ยมชม National Gallery of Victoria  และใช้แนวทางฝึก “เห็น – คิด – สงสัย” (see – think – wonder) เพื่อช่วยให้นักเรียนทำความเข้าใจนิทรรศการ พัฒนาแนวคิดต่อเนื่อง และตั้งคำถามเพื่อเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย       

โรงเรียนประถม บรันสวิค อีสต์ ใช้ “แปดพลังวัฒนธรรม”(eight cultural forces) ในการจัด “การคิดในชีวิตประจำวัน” (thinking routines) ที่เสนอโดย Ron Ritchhart (๕)  คือ ความคาดหวัง,  ภาษา, เวลา,  โมเดล,  โอกาส, ทำเป็นประจำ,  ปฏิสัมพันธ์,  และสภาพแวดล้อม   

ครูแกนนำของโรงเรียนบอกว่า นักเรียนได้เรียนวิธีตั้งข้อสงสัย สร้างความเชื่อมโยง และคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการคิดของตนเอง   รู้จักฟังเพื่อน   ผลัดกันพูดผลัดกันฟัง  และร่วมมือกันทำงาน     

ข้อเรียนรู้สำคัญจากโรงเรียนประถม บรันสวิค อีสต์   คือได้จารึกการคิดสร้างสรรค์และคิดอย่างมีวิจารณญาณเข้าในโรงเรียน  ผ่านกลไกสำคัญคือ

  1. การจัดระบบการทำงานเป็นชุมชนเรียนรู้หลายกลุ่มอายุ
  2. ใช้การเรียนรู้ผ่านการตั้งข้อสงสัย
  3. ใช้หลักการ P4C ทั่วทั้งโรงเรียน 
  4. ใช้ visible thinking routines
  5. รับฟังเด็กอย่างให้ความเคารพต่อความคิดของเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดความรักต่อการเรียนรู้ เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความคิดอย่างมีวิจารณญาณ  และเกิดการตอบสนองต่อประเด็นเชิงจริยธรรม     

 

โรงเรียนประถม Our Lady of Victories   เมือง Keighley

เมือง Keighley อยู่เหนือเมือง แมนเชสเตอร์ นั่งรถไฟจากลอนดอนใช้เวลาราวๆ ๓ ชั่วโมง    โรงเรียน Our Lady of Victories เป็นโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิก  ที่ประกาศตัวว่าเป็นโรงเรียนแห่งความสร้างสรรค์    ใช้หลักสูตรสร้างสรรค์    จัดการเรียนรู้บนฐานการปฏิบัติ (skills based)   เน้นเรียนเป็นเรื่องๆ (theme-based) (๖)  

  โรงเรียน Our Lady of Victories เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นการผจญภัย  ที่นักเรียนได้มีโอกาสเผชิญสิ่งที่น่าพิศวง และน่ากลัว    จัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กพัฒนาต่อยอดจากชั้นเด็กเล็ก และบนฐานความสนใจของตัวเด็กเอง   แนวคิดนี้ใช้กับครูด้วย    ครูจะจัด “สัปดาห์แห่งความพิศวง” (wonder week) หนึ่งครั้งต่อภาคการศึกษา    โดยจัดภายใต้หัวข้อ (theme) หนึ่ง   ตัวอย่างหัวข้อที่เคยจัดคือ การขี่ม้า  เดอะ บีเทิ่ลส์   ฟุตบอลล์   ญี่ปุ่น  เครื่องปั้นดินเผา  เล่นกีต้าร์  เป็นต้น    เป็นหัวข้อที่ครูกับนักเรียนร่วมกันกำหนด ร่วมกันวางแผน และร่วมกันจัด    โดยที่กิจกรรมนี้มีสาระเชื่อมโยงกับสาระวิชาที่กำหนดในหลักสูตรแห่งชาติ และเอื้อต่อการเรียนรู้ฝึกฝนความสร้างสรรค์   รวมทั้งมีธรรมชาติเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร     

หัวข้อการเรียนรู้ใน theme-based learning ต้องกว้างพอที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้การคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายรายวิชา    ตัวอย่างหัวข้อที่เพิ่งใช้คือ “ฉันพิศวง”  กับ “ผ่านหน้าต่าง”   

โรงเรียนจัดทัศนาจรเพื่อการเรียนรู้ไปยัง สก็อตแลนด์   ฝรั่งเศส  และเนเธอร์แลนด์     นักเรียนจะต้องเสนอผลงานของตนในบรรยากาศจริง ผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง ได้แก่วิทยุ (โรงเรียนมีสถานีวิทยุของตนเอง),   Photo Story 3,  PowerPoint, podcast โดยสื่อผ่านเว็บไซต์ของโรงเรียน (๖)    เป็นการนำผลงานจริงเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนพื้นที่เรียนรู้เสมือน (virtual learning space) 

นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้เขียนบันทึกความสร้างสรรค์ (creative learning journal) เพื่อฝึกสะท้อนคิดจากประสบการณ์ตรงของตน   โดยนักเรียนที่มีผลงานสร้างสรรค์ดีจะได้รับรางวัลเป็น ‘creative sticker’   

สถานีวิทยุของโรงเรียน (Radio LV) เปิดกระจายเสียงทุกวันศุกร์เวลา ๑๕.๐๐ น.   เสนอเรื่องขำขัน   ข่าว  รายงานจากทัศนาจรของนักเรียน   บทกวี   เพลง  บทสัมภาษณ์ครู ผู้มายือน รวมทั้งผู้มีชื่อเสียง   และที่สำคัญที่สุดผลงานของนักเรียน    ผลงานที่ออกรายการวิทยุแล้วนี้ จะทำเป็น podcast เอาไปแขวนบนเว็บไซต์ของโรงเรียนด้วย    จะเห็นว่า โรงเรียน Our Lady of Victories เน้นให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง    มีผลให้นักเรียนพัฒนาขึ้นมากในทักษะการพูด  และทักษะไอซีที   โรงเรียนกำลังดำเนินการประเมินผลการพัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์      

 ข้อเรียนรู้สำคัญจากโรงเรียน Our Lady of Victories  ได้แก่

  1. ดำเนินการตามความสนใจของเด็ก
  2. ใช้พลังความหลงใหลของครูในการร่วมกันวางแผนงานข้ามสาขาวิชา
  3. ใช้หลัการเรียนรู้ในวัยเยาว์ (Early Years Principles)   และขยายช่วงเวลาเรียน
  4. พยายามจัดให้มีผู้รับรู้หรือเข้าชมผลงานของนักเรียน  ที่เป็นผู้ชมตัวจริง        

 

โรงเรียน Duloe Church of England   เมือง Liskeard

เมือง Liskeard อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะอังกฤษ นั่งรถไฟจากลอนดอนใช้เวลาราวๆ ๔ ชั่วโมง   เลยเมือง Exeter  และ Plymouth   โรงเรียน Duloe Church of England เป็นโรงเรียนประถม (๗)     ประกาศตัวเป็น “โรงเรียนแห่งความสร้างสรรค์”   มีคำขวัญว่า “การผจญภัยทางจิตใจ และความอบอุ่นของหัวใจ” (An adventure for the mind, and a home for the heart)    เน้นทำงานใกล้ชิดกับครอบครัวและชุมชน   เพื่อจัดการเรียนรู้แนวสร้างสรรค์ ที่สอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ และความกระตือรือร้น ของนักเรียนป็นรายคน   

โรงเรียน Duloe Church of England ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน ๕๔ โรงเรียนในอังกฤษที่ได้เข้าร่วม Creative Partnerships programme  ระหว่างปี 2002 – 2011    แม้โครงการนี้สิ้นสุดแล้ว แต่โรงเรียน Duloe Church of England ยังคงดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์อย่างจริงจัง   

ที่นี่ครูได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวของตัวเองสูงมาก รวมทั้งได้รับการสนับสนุนให้กล้าเสี่ยง    ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อความต้องการของศิษย์ได้    โดยคาดหวังว่าการจัดการเรียนรู้จะมีลักษณะแปลกใหม่  น่าตื่นเต้น ใช้โอกาสการเรียนรู้ใหม่ๆ   และเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง   

เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการคิดสร้างสรรค์ โรงเรียน Duloe Church of England  จัดโอกาสเรียนรู้ดังนี้ 

  • ให้โอกาสและความท้าทายแก่นักเรียน    เริ่มตั้งแต่ชั้นก่อนชั้น ๑ (เขาเรียกชั้น Reception) ไปจนถึงชั้นสูงสุดคือชั้น ๖  นักเรียนจะได้ฝึกรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง   ผ่านการอภิปรายในกิจกรรม plan-do-review สำหรับนักเรียนก่อนชั้น ๑    ส่วนนักเรียนชั้นโต คือ ชั้น ๕ และ ๖ ก็จะได้ใช้กิจกรรมที่ยากขึ้น เช่น learning detectives ในการฝึก   นอกจากนั้น นักเรียนทุกคนยังฝึกทำหน้าที่ติดตามและประเมินการเรียนรู้ของเพื่อน    นักเรียนได้ตระหนักว่าความคิดและคำพูดของตนได้รับการรับฟังอย่างจริงจัง และนำไปปฏิบัติในการจัดการชั้นเรียน      
  • สร้างความเชื่อมโยง (อย่างสร้างสรรค์) ระหว่างประเด็นเรียนรู้    นักเรียนได้รับการฝึกให้มีทักษะสู้ความท้าทายในการเรียน และให้มีนิสัยสู้สิ่งยาก  ในบทเรียนเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำ (river bank) เกิดความติดขัด ไม่สามารถเขียนต่อได้    นักเรียนคนหนึ่งเสนอให้ออกไปเดินภายนอกห้องเรียน ช่วยให้นักเรียนจินตนาการสภาพของริมแม่น้ำออกและเขียนได้    และทำให้นักเรียนสนุกสนานกับคำว่า bank ตลอดทั้งวัน   ผลงานในวันนั้นมีคุณภาพสูงเป็นพิเศษ       

การเรียนรู้ที่ โรงเรียน Duloe Church of England เน้น whole-school theme approach   ทำให้ครูต้องทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อ (theme) ของเทอมถัดไป ที่จะใช้ทั่วทั้งโรงเรียน    ตัวอย่างหัวข้อที่ตกลงและมีการใช้ไปแล้วเช่น “เราจะมีชีวิตรอดได้อย่างไรหากเราอยู่ในยุคหิน”  นักเรียนชั้นเล็กต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกห้องเรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน เป็นเวลา ๖ สัปดาห์   โดยต้องหาทางช่วยตัวเองในทุกเรื่อง    นักเรียนจัดกลุ่มคละชั้น เพื่อคิดทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กลุ่มคิดขึ้น เช่นเรื่องดนตรี   การเต้นรำ   ประติมากรรม  การวาดภาพ   การใช้ ICT ช่วยการเรียนรู้  เป็นต้น   

นักเรียนจะทำงานเพื่อนำผลงานไปเสนอต่อเพื่อนๆ กลุ่มอื่นในช่วงบ่ายตามที่นัดกัน   โดยแต่ละทีมต้องอธิบายว่าเกิดแนวคิดทำเรื่องนั้นมาอย่างไร  อธิบายวิธีทำงาน  และอธิบายความเชื่อมโยงกับชิ้นงานของเพื่อนๆ    ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า เขาไม่เน้นโชว์ผลงาน แต่เน้นการอธิบายความคิด และวิธีทำงานฟันฝ่าเพื่อให้ได้ผลงานนั้น    ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาความสร้างสรรค์และสมรรถนะอื่นๆ   

อีกมิติหนึ่งที่ โรงเรียน Duloe Church of England ให้ความสำคัญ คือการสร้างโอกาสให้พ่อแม่และคนในชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการพัฒนาโรงเรียน    เช่นเข้ามาเป็นทีมภายนอกทำหน้าที่จัด “วันสร้างสรรค์” (creative day) ที่จัดโดยคนภายนอกโรงเรียนทั้งหมด   ความร่วมมือนี้นำไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ อีกมากมาย   

ประเด็นเชิงนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่งคือการขยายโลกทัศน์ (horizon) ของนักเรียน ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย   กิจกรรมหลักคือทัศนาจร เพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์สัมผัสโลกภายนอก    ทั้งประสบการณ์ที่จัดโดยโรงเรียน และที่จัดโดยองค์กรภายนอก  นอกจากนั้นยังมีการเชื้อเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาเล่าประสบการณ์ตรงของตนแก่นักเรียน   หรืออาจเข้ามาช่วยจัดกิจกรรมใหญ่ ดังกรณีนักแสดงท่านหนึ่ง ที่เข้ามาในโรงเรียนในบทบาทของนักรบโรมันเมื่อสองพันปีก่อน   นำไปสู่การจัดค่ายโรมันในป่าใกล้หมู่บ้าน    ที่นักเรียนทั้งโรงเรียนแต่งกายเป็นชาวโรมันด้วยเครื่องแต่งกายที่ตนเตรียมเอง เมื่อนักเรียนเดินสวนสนามเข้าไปในป่าก็ตลึงพรึงเพริดกับสภาพของค่ายโรมัน    ที่มีนักรบโรมัน และกรรมกรเคลติก (Celtic workers) เสมือนเมื่อสองพันปีก่อน    นักเรียนใช้เวลาตลอดวันตั้งคำถาม หาคำตอบ สานเสวนา และสะท้อนคิดต่อกันและกัน      

  ข้อเรียนรู้สำคัญจากโรงเรียน Duloe Church of England คือกลยุทธเอื้อให้นักเรียนพัฒนาความสร้างสรรค์ใส่ตน ๖ แนวทาง คือ

  1. เอาจริงเอาจังกับการวางแผนงานตามหัวข้อ (thematic work) เพื่อให้นักเรียนพัฒนาขีดความสามารถ  ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สาระวิชา   
  2. ช่วยให้นักเรียนฝึกเชื่อมโยง และมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสาระวิชา
  3. ทำใจให้เปิดกว้าง เพื่อตั้งข้อสงสัยและท้าทายเพื่อการเรียนรู้
  4. เชื่อมั่นในครูและทีมผู้ช่วย  ทำให้กล้าเสี่ยงปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้
  5. มีกิจกรรมเชื่อมโยงกับพ่อแม่และครอบครัว
  6. สิ่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กคิดสู่อนาคต และเปิดกว้างต่อโอกาสเรียนรู้   

 

หกโรงเรียนกรณีศึกษานี้มาจากอังกฤษและออสเตรเลีย  เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการโรงเรียนเพื่อเอื้อให้นักเรียนพัฒนาความสร้างสรรค์  เขาบอกว่าระบบการศึกษาภาพใหญ่ของออสเตรเลียเอื้อกว่าระบบของอังกฤษมาก   เพราะระบบของอังกฤษมัวหลงหมกมุ่นกับผลลัพธ์การเรียนรู้ทางวิชาการเท่านั้น    ทำให้เป้าหมายของการเรียนรู้แคบเกินไป   ไม่ให้คุณค่าของการพัฒนาขีดความสามารถ (capabilities) หรือสมรรถนะ มากเท่าที่ควร

ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงมาตรการระหว่างชาติ และมาตรการระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์                     

วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ย. ๖๔ 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท