ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๓๐. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๒๔) วิจัยระบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพและความเสมอภาค


 

ระบบการศึกษาไทยเดินมาผิดทางเป็นเวลายาวนานไม่ต่ำกว่าสามสิบปี    การเปลี่ยนโฉม (transformation) ต้องทำอย่างเป็นระบบ   คือต้องทำ systems transformation 

ที่ผ่านมา ปฏิรูปการศึกษาทีไร เน้นที่โครงสร้างและผลประโยชน์ของคนในระบบทุกที    ความผิดพลาดนี้อ่านได้จาก World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise ของธนาคารโลก ที่ผมตีความเสนอไว้ในบันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูง     ข้อผิดพลาดที่ผ่านมา ยังรวมทั้งวางโครงสร้างที่แข็งทื่อ ไร้กลไกเรียนรู้และปรับตัว   

โครงสร้างของระบบ    การจัดการระบบ    และวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่    เป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องการการทำความเข้าใจ และออกแบบวิธีสร้างการเปลี่ยนแปลง   โดยยึดเป้าหมายที่ผลลัพธ์การพัฒนาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง   และมีตัวอย่างระบบการศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จมากมาย    และมีองค์การและโครงการระหว่างประเทศที่พร้อมให้ความร่วมมือมากมาย   แต่เราต้องตั้งโจทย์ของเราให้ชัดเจนเสียก่อน   

การวิจัยนี้ต้องไม่ใช่เน้น “เพื่อรู้”    แต่ต้องเน้น “เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง”      

ขั้นตอนแรกคือการจัดกระบวนการตั้งโจทย์วิจัย โดยหาคนทบทวนองค์ความรู้เรื่องระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงในโลก ว่าเขาจัดระบบและกลไกต่างๆ อย่างไร   ความรู้เกี่ยวกับระบบของไทยเท่าที่มีเป็นอย่างไร    ความรู้ใดที่มีแล้วแต่ยังไม่มีการแก้ไขมีอะไรบ้าง   ยังขาดความรู้เชิงระบบเพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างไรบ้าง    ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งโจทย์วิจัย    ที่ผมเสนอว่าต้องเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนา หรือวิจัยปฏิบัติการ   

ผมขอเสนอว่า การทำความเข้าใจวัฒนธรรมของคนในระบบการศึกษาไทย เป็นเรื่องใหญ่มาก    เพราะมีวัฒนธรรมหลายด้านที่ต้องปรับ จึงจะสามารถ transform ระบบการศึกษาได้    โจทย์วิจัยด้าน educational culture, educational anthropology จึงน่าจะได้รับการพิจารณา   

ตั้งแต่เรามี สสค. และต่อมาเป็น กสศ. การวิจัยระบบการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การศึกษาก้าวหน้าขึ้นมาก   และมีการประยุกต์สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างน่าชื่นชม    บัดนี้ น่าจะถึงเวลาที่จะให้ความสนใจประเด็นด้านสังคมวัฒนธรรมภายในระบบ   

โจทย์วิจัยระบบการศึกษา ส่วนที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม   หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และระหว่างหน่วยงาน ภายในระบบ   รวมทั้งข้อกำหนดด้านกฎข้อบังคับที่มีส่วนกำหนดพฤติกรรมเหล่านั้น     เราต้องการนักสังคมศาสตร์ นักพฤติกรรมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา  มาช่วยกันดำเนินการ 

โดยน่าจะต้องมีคณะกรรมการ steering ที่จัดกระบวนการเหลาโจทย์ให้คมชัด    และหารือแนวทางรวบรวมข้อมูล  รวมทั้งดำเนินการทดลองหรือเก็บข้อมูลใหม่ในบางด้าน    เพื่อเจาะลึกทำความเข้าใจสมมติฐานที่ซ่อนอยู่ภายในระบบ    ที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง             

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๕ 

 

  

หมายเลขบันทึก: 695883เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2022 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2022 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท