2564 สถานการณ์การปฏิรูปท้องถิ่นยังไม่เปลี่ยนแปลง


2564 สถานการณ์การปฏิรูปท้องถิ่นยังไม่เปลี่ยนแปลง

10 มกราคม 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

มีประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่นที่คนทั่วไปยังกังขาสงสัย

อย่าไปฝันว่า อบต.จะยกฐานะเป็นเทศบาลทั้งหมด และ อบต.จะปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพ ข้อสังเกตเรื่องนี้เป็นเรื่อง "ไร้สาระ" (None sense) เพราะ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" หรือ สปท. (2559) เสนอ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วง คสช.) ให้ยุบ อปท.ขนาดเล็กๆ เพื่อรวมกันให้มีขนาดที่เหมาะสม แต่ สนช. ไม่เห็นด้วย และ สนช.ได้ดองร่างกฎหมายประมวลท้องถิ่นมาตั้งแต่บัดนั้น (2559-2560) และ เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีสภา เรื่องจึงตกค้าง พอมีรัฐบาลใหม่ 2562-ปัจจุบัน (2 ปีที่ผ่านมา) รัฐบาลบาลก็ยังไม่ได้ทำอะไร ร่างกฎหมายท้องถิ่นหลัก เช่น ประมวลกฎหมายท้องถิ่น กฎหมายกระจายอำนาจ กฎหมายรายได้ และกฎหมายบุคคลท้องถิ่น ยังกองอยู่ที่ มท. ไม่คืบหน้า 

ในทางการเมือง ใครไม่รู้จริง บ่นไปก็ไร้ความหมาย เพราะ รัฐ(ปัจจุบันและที่ผ่านมาตลอด 7 ปีกว่า)ไม่จริงใจในการถ่ายโอนอำนาจ หรือการกระจายอำนาจ มีแต่การ "รวบอำนาจ" (อำนาจนิยมโดยรัฐราชการ) เพื่อกลุ่มชนชั้นนำ (Elite) บางกลุ่มเท่านั้น เห็นได้จาก "การอยู่ยาวของ คสช." "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" "แผน one plan" ที่นำมาบังคับใช้กับท้องถิ่นซึ่งตีกรอบการวางแผนท้องถิ่นไว้ รัฐพยายาม “เสริมและขยายอำนาจ” อย่างมีนัยยะสำคัญให้แก่ "ราชการส่วนภูมิภาคและการปกครองท้องที่" (การปกครองท้องที่ตามทฤษฎีถือว่าเป็น "การปกครองแบบราชการส่วนภูมิภาคจำแลง) ซึ่งก็คือ การรวบอำนาจโดยราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนั่นเอง

 

ความจริงที่ต้องยอมรับว่าท้องถิ่นทุกรูปแบบเป็นสาขาของจังหวัดและอำเภอ

สังคมการเมืองไทยอยู่ภายใต้การชี้นำของ “กลุ่มชนชั้นนำ”(elite : อีลีท) 3 กลุ่มที่จับกลุ่มกันเหนียวแน่น มีผลประโยชน์ร่วมกันไม่เปลี่ยนแปลง คือ (1) กลุ่มทหาร (2) กลุ่มนายทุน (3) กลุ่ม "คนผู้ดี" (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2564) รัฐบริหารงานการพัฒนาประเทศ (Administrative Development) แบบลำเอียง ให้ประโยชน์แก่กลุ่มคน(ชนชั้น) ในประเทศไม่เท่าเทียมกัน รัฐลืมคนรากหญ้า ที่เป็นคนส่วนใหญ่ และลืม คนชั้นกลางระดับล่างหมด โดยมีกองเชียร์เป็นกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มสลิ่ม มีการชี้นำการปกครองและการบริหารประเทศที่ผิด เช่น ด้วยกรอบความคิดแบบ “logical fallacy” (ตรรกะวิบัติ) มาจากภาษาละตินว่า argumentum ad hominem หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ad hominem ซึ่งหมายถึงการใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล หรือการหันไปโจมตีตัวบุคคลแทนที่จะถกประเด็นที่กำลังพูดถึงอยู่จริงๆ 

 

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการปฏิรูปประเทศ

แต่ก่อน ครม.มาจากพรรคการเมือง การเลือกตั้ง มีความอ่อนไหว ในเรื่องการปฏิรูป อปท. เมื่อทหาร คสช.ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ใจคน อปท.ก็มีความหวังขึ้นมาทันที แต่ที่ไหนได้ สถานการณ์กลับแย่ลงกว่าเดิม ส่งผลให้อำนาจต่อรอง คน อปท.ไม่มีราคา ถูกพรรคทหาร อ้างประชาธิปไตยเทียม (ปลอม) โดยใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2557-2560 ที่ถือว่านานกว่าปกติ 

เรื่องการปฏิรูปประเทศ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ที่จัดทำเวทีรับฟังกันมากมาย และได้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ววันที่ 6 เมษายน 2561 แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า แผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ได้แก่ (1) การปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (2) การปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) การปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (4) การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (5) การปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (6) การปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (8) การปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (9) การปฏิรูปประเทศด้านสังคม (10) การปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (11) การปฏิรูปประเทศด้านป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ (12) การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (13) การปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากร

ที่พอมีหวังบ้าง คือ "พลังประชาชน" จากคนรุ่นใหม่ (Young Generation) และแนวร่วม รวมทั้ง “องค์กรประชาชน” หรือ “ประชาสังคม” (Civil Society) ที่จะรวมพลังกันด้วยมติมหาชนด้วยสันติวิธี กดดันอำนาจรัฐ ที่เป็นแบบ “อำนาจนิยม” (คือเผด็จการ) ให้ผ่อนคลายอำนาจลง และให้รัฐหันมายอมรับความเห็นต่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะประจ้นหน้ากัน การเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงสร้างการบริหารประเทศเป็นสิ่งจำเป็น เช่น ในกระบวนการยุติธรรม (อำนาจศาลยุติธรรม) รวมทั้ง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องปลอดจากอิทธิการสืบทอดอำนาจ การชี้นำชักใยโดยอำนาจนิยม อยู่เบื้องหลัง ต้องคอยกำกับ ให้องค์กรเหล่านี้ ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและเป็นธรรม (Equity) ประเทศไทยจึงจะมีทางรอด จากวิกฤติปัญหาต่างๆ เพราะ ศาลและองค์กรอิสระ ต้องมีความอิสระจริง เที่ยงตรงจริง มีประสิทธิภาพจริง ไม่ดองแช่คดี และเลือกปฏิบัติ จนชาวบ้าน หาที่พึ่งไม่มี 

 

การปฏิรูปท้องถิ่น

มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมาแล้วถึงปัจจุบัน รัฐยังไม่มีท่าทีในการปรับปรุงปฏิรูป อปท ยิ่งปัจจุบันยิ่งยากเพราะรัฐบาล (1) ไม่มีอำนาจเต็มดั่งเช่นอำนาจ คสช.แต่ก่อนที่มีอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 (2) การบริหารงานราชการโดยให้ส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยหลักมาที่ ผวจ.สะท้อนถึงการขยายฐานอำนาจ ผวจ จากเดิมที่กำหนดให้ อปท มีภารกิจเฉพาะเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น แต่ ปัจจุบัน รัฐให้อำนาจและเพิ่มอำนาจให้แก่ ผวจ. คือ อำนาจอนุมัติหรือใช้เงินงบประมาณด้วยวงเงินที่สูงขึ้น เช่นการจัดการภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน การบริหารจัดการโรคโควิด-19 ตามกฎหมาย รวมทั้งอำนาจที่มากขึ้นในการกำกับดูแล อปท.ตามระเบียบ มท. เป็นต้น 

ดังนั้น ผลงานของรัฐบาลจึงส่งผ่านไปยังประชาชนโดย ผวจ.เป็นการหาเสียงโดยรัฐโดยชอบ การคิดเรื่อง “การกระจายอำนาจ” ให้ท้องถิ่นจึงมองไม่ออก ไม่เห็นทาง นอกจากนี้ ปัจจุบันอำนาจงานบุคคล ก็อยู่ในมือของ ก กลาง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 เช่น การสรรหาสายงานผู้บริหารที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และมีข้อกังขา ทำให้การแก้ปัญหาขาดคนของ อปท. ไม่ได้

แน่นอนว่า อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางการสั่งการและควบคุมต่างๆ จึงง่าย พวกนายทุนและเผด็จการ ซึ่งข้าราชการก็ชอบ เพราะบริหารง่ายดี มองมุมกลับก็คือ เมื่อรัฐมีอำนาจแต่ไม่คิดพัฒนาเช่นนี้ก็เท่ากับการทำร้ายประเทศ ทำให้ประเทศเสียโอกาสต่างๆ ในการพัฒนาไปโดยปริยาย เรากำลังย้อนยุคสู่ปี 2504 สมัยผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ที่สะท้อนให้เห็นว่า “เสนาบดีรวมอำนาจ” ยังคงอยู่ ปัจจุบันกฎหมายหลักท้องถิ่น ที่มีผลต่อการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น เช่น ประมวลกฎหมาย อปท. กฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ยังคงถูกดองไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคืออุปสรรค

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ล็อกกรอบการพัฒนาประเทศไว้ล่วงหน้าในระยะยาว ซึ่งรวมทั้งท้องถิ่น อปท.ด้วย เพราะ ภายใต้ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.2562 ได้รวมถึง อปท.ด้วย หมายความว่ายุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์จังหวัด ท้องถิ่นต้องถูกบังคับให้นำมาปฏิบัติด้วย ตามระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.2562

 

ข้อเสนอเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง”

ประเทศไทยมีความพยายามที่จะทำเป็นจังหวัดจัดการตนเอง มาตั้งแต่ พ.ศ.2499 จนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่สำเร็จ ประเทศจึงล้าหลัง และเกิดเป็น “รัฐราชการ” ที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะ เรื่องอะไรที่แม้การเปลี่ยนแปลงแล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่หากกระทบต่อผลประโยชน์ของข้าราชการประจำก็ทำไม่ได้ ทำไมในแต่ละจังหวัด ต้องยุบรวมส่วนภูมิภาคเข้าเป็นท้องถิ่น "จังหวัดจัดการตนเอง" ท่ามกลางสถานการณ์ความสับสนในการกระจายอำนาจของรัฐสู่ท้องถิ่น ขอเสนอสาระสำคัญเหตุผลตามแนวคิดของบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการท้องถิ่น (2563) 

(1) ปัจจุบันประเทศไทย มีเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแล ให้ อปท.ทำงาน มากเกินไป ไม่เพียงเฉพาะหน่วยของกระทรวงมหาดไทย (มท.) แต่มีทุกกระทรวงทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

(2) ราชการส่วนภูมิภาคที่มาตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด เป็นจำนวนมากที่เปลี่ยนบทบาท จากเดิมที่เคยทำงานเอง โยนงาน(ไม่ใช่การถ่ายโอนตามแผนการกระจายอำนาจ)ให้ อปท.ทำงานแทน แล้วยกฐานะตนเองให้ไปนั่งเป็นผู้กำกับดูแลแทน รอให้ อปท.รายงาน และเมื่อมีผู้กำกับดูแล อปท.มาก นอกจาก อปท.ต้องรับงานจากหลายหน่วยงานมาทำแล้ว ยังต้องทำรายงานให้กับหลายๆ หน่วยงานนั้นอีกด้วย

(3) หน้าที่กำกับดูแล อปท.นั้น สามารถออกแบบให้มี “สภาพลเมือง” (Civil/Citizen Juries or Civic Assembly/Council) ซึ่งมีอยู่ในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง เป็นกลไกให้ภาคประชาชนในท้องถิ่นทำหน้าที่กำกับดูแล อปท.เองได้

(4) จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแต่ละเดือนจำนวนมหาศาลให้แก่เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค หรือส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลให้คนอื่นทำงานและรอให้เขารายงานอย่างเดียว รัฐต้องจ่ายงบเป็นเงินเดือนให้แก่บุคลากรในหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวเช่นว่านั้น 70-90% โดยไม่มีงบพัฒนา ในขณะที่กฎหมายบุคคลท้องถิ่นล็อกค่าตอบแทนบุคลากรของ อปท.ที่ต้องทำงานเองจริงๆ ไว้ที่ไม่เกิน 40%

(5) ยังไม่กล่าวถึง ปปช. สตง.ซึ่งมีเงินเดือนรวมกับค่าตอบแทนมากกว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ถึงสองเท่า ซึ่งไม่มีงานของตนเองเช่นกัน ทำหน้าที่เพียงคอยจับผิด ติงานของเจ้าหน้าที่อื่นที่เขาเหน็ดเหนื่อยทำไว้แล้ว แต่ได้รับเงินตอบแทนมากกว่าคนที่ทำงานจริงถึงสองเท่า ซึ่งมันควรจะกลับกัน อยากให้ประชาชน ได้รับทราบว่า ประเทศเรา มาถึงจุดที่ข้าราชการที่ทำหน้าที่เพียงกำกับดูแล และเพียงคอยจับผิดในงานของคนอื่นทำไว้แล้ว ล้นประเทศอยู่ในเวลานี้

(6) ต้องเปลี่ยนบทบาท ข้าราชการจำพวกที่ทำหน้าที่เพียงกำกับดูแล ให้มาทำงานในลักษณะเดียวกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเสียให้สิ้น ประชาชนก็มีลูกจ้างที่ทำงานบริการสาธารณะแก่เขาจริงๆ มากขึ้น ในขณะที่เจ้าขุนมูลนายจะน้อยลง

(7) ปัจจุบันนี้ในแต่ละจังหวัด ยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะจัดการตนเองเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ขาดคนทำงาน มีแต่คนสั่งให้คนอื่นทำ ตัวเองคอยรับรายงาน คนทำงานต้องเพิ่มงานรายงาน เป็นอีกงานหนึ่งด้วย ทุกจังหวัดขาดเอกภาพเป็นเบี้ยหัวแตก ราชการส่วนภูมิภาคที่มาตั้งสำนักงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดรับนโยบายมาจากกระทรวง กรมตนเอง ไม่ได้ฟัง ผวจ. แม้ ผวจ. ที่มานั่งในแต่ละจังหวัดเองก็แหงนมองไปจังหวัดที่ใหญ่กว่า มองไปที่กรม กระทรวง ไม่ได้ก้มมองประชาชนในจังหวัด บางแห่ง ผวจ.อยู่ไม่กี่วันก็ย้าย

(8) ตลอดทั้งทรัพยากรการบริหาร คน เงิน และพัสดุของจังหวัดรวมท้องถิ่น ไม่อาจนำมาใช้บูรณาการทำงานร่วมกันได้ ที่ผ่านมากรณีโรคระบาด แม้แต่ละจังหวัดพยายามจะบริหารจัดการแบบจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อรับมือกับโรค แต่กฎหมายและโครงสร้างของส่วนราชการในแต่ละจังหวัดในปัจจุบันไม่รองรับการดำเนินการดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จได้

 

ปัจจุบันท้องถิ่นเปรียบดัง “เสือผอม” มีคนแวดล้อมหิวโซเข้ามาแบ่งแย่งกินทรัพยากรของเสือจนเสืออดโซ งบประมาณก็ไม่มีมากมาย ซ้ำ อปท.บางแห่งมีขนาดเล็กมาก ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องจัดตั้ง “กลุ่มผลักดัน” และพร้อมกันช่วยเหลือการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง อปท.ท้องถิ่นทุกรูปแบบต้องรวมพลังกัน ไม่แยกสีแยกเหล่า ทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่นและฝ่ายประจำข้าราชการส่วนท้องถิ่น อย่างน้อยที่สุดให้เป็นจังหวัดนำร่องให้ได้สักภาคละ 1 จังหวัดในระยะภายใน 5 ปีนี้ หรืออาจวางไว้ในแผนระยะยาว 10-15-20 ปีก็ได้

 

รวมความเห็นข้อวิพากษ์ อปท.

มีข้อติข้อแย้งว่า ก่อนอื่นต้องแยกอำนาจหน้าที่ใครหน้าที่มันออกให้ชัดเจนก่อน อปท.หลายๅ แห่ง ที่ว่าเหมือนเด็กอมมือ มองเห็นแต่นิ้วตัวเองอร่อย แต่ อปท. งานรับผิดชอบไม่มากไปกว่าส่วนกลาง และยังน้อยกว่าองค์กรอิสระเยอะ อปท. ทำงานพลาดทำงานผิดก็เยอะ ซ้ำไม่ยอมรับความจริงก็มาก ไม่ต่างกับส่วนราชการอื่นๆ ที่อาจแย่กว่าด้วยซ้ำ หลักการให้ประชาชนเข็มแข็งเป็นศูนย์กลางล้มเหลว ส่วนหนึ่งก็เพราะความมักง่ายของการทำโครงการต่างๆ ของ อปท.ด้วย ล้มเหลวพอกันหมดกับส่วนกลาง
(1) บาง อปท.คนที่ไม่ทำงาน ได้แต่นั่งคอยจับผิดในผลงานที่คนอื่นทำ จัดเป็นข้าราชการเกรดต่ำ ไม่มีความดีความชอบ
(2) เปรียบว่า สตง.มีนิ้วไว้ชี้ ส่วน อปท.มีนิ้วไว้ทำงาน ผิดบ้างพลาดบ้างยังดีกว่า จำพวกคอยทำหน้าที่เพียงคอยติงานที่คนอื่นเหน็ดเหนื่อยทำไว้แล้ว
(3) ท้องถิ่นควรบริหารจัดการ ในท้องถิ่นของตนเอง มีระเบียบของตนเอง ภายใต้ความต้องการของประชาชนเมื่อมีเรื่องใหญ่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ก็ต้องลงมาช่วย ดำเนินการ ส่วนเรื่องนโยบาย อปท.ทำเอง เหมือนตำรวจกองปราบปรามส่วนกลางลงช่วย สภ.โรงพัก
(4) จังหวัดใหญ่เทอะทะเกินไปไม่คล่องตัว เพียงระดับอำเภอจะเหมาะสมกว่า จึงเหลือท้องถิ่นประมาณ 795 แห่งที่จำนวนใกล้เคียงกับญี่ปุ่น 
(5) อนาคต อปท. แบกรับภาระทำงานในทุกบทบาท ต้องรับผิดชอบงานหลายแขนง ถูกตรวจสอบ มีปัญหาหน่วยงานในแต่ละกระทรวงก็สามารถพาดพิงชี้มูลเหตุความผิดมาจากเจ้าหน้าที่ อปท. ทั้งที่อปท. ทำตามคำสั่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่ง อปท. ไม่มีอำนาจวางแผนและตัดสินใจ บางกรณีก็ชี้มูลเหตุ อปท. ทำงานผิดพลาด ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่คำนึงถึงว่าหน่วยงานนั่นไปส่งเสริมสนับสนุนหรือภารกิจแผนงานให้ อปท. หรือไม่ และแน่นอนว่าหลายกระทรวงยังคงมองว่า อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน กำกับดูแลประสานงานกลุ่มเป้าหมายประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งโครงการแผนงานและงบประมาณของส่วนราชการ แม้ว่า อปท. เองก็มีส่วนราชการแยกกันบริหารงานอยู่ ในขณะที่เป้าหมายคือประชาชน บุคคลในท้องถิ่นหรือจังหวัดเดียวกัน ทุกหน่วยงานราชการก็ถ่ายโอนมอบงานให้เป็นภาระบทบาทของ อปท. ทั้งที่แผนงานของ อปท. เองก็มีอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นแนวทางบริหารเดียวกัน โดยแผนงานบูรณาการในระดับจังหวัด มีการทำงานและรับผิดชอบร่วมกัน ประชาชนเป็นผู้สะท้อนผลการทำงาน และเลือกตั้งผู้บริหารเอง กล่าวคือให้ ผวจ.กำกับดูแลและรับผิดชอบภาพรวมและกำกับดูแลแผนงานและยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ มากกว่าให้ส่วนราชการและท้องถิ่นรายงานไปยังแต่ละกระทรวงและนายกรัฐมนตรีโดยตรง ผวจ.ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลราชการ และประเมินและตรวจสอบการทำงานจากองค์กรอิสระ เช่น กาีประเมิน ITA โดย ปปช. ที่ทางส่วนกลางจัดตั้งขึ้น มิใช่มาจากเสียงสะท้อนจากประชาชนในท้องถิ่น เพราะไม่อยากให้ความเป็นประชาชนถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ ริดรอนอำนาจอธิปไตยในมือลง ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ระบบโครงสร้างมากกว่า
(6) ผ่านมา 88 ปียังไม่สาย ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ จาก 0 เริ่มต้น 1 ได้แล้ว ประชาชนไทยที่มักอ้างกันยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์เกือบ 70-80% คนที่กำหนดโครงสร้างอาจจะมองปัญหาเหล่านี้รวมอยู่ด้วย เพื่อป้องกันหลายๆ อย่าง ถึงเวลาหนึ่งอาจจะ 50-100 ปี เมื่อประชาชนเข้มแข็งและใส่ใจในสิ่งเหล่านี้ สถานการณ์ที่ใฝ่ฝันอาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้
(7) เรื่องนี้มีคนคิดเขาจะทำนานแล้วเหมือนญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ แต่มีการขวางไว้ อาจด้วยเรื่องอคติหรือความกลัว
(8) เสนอให้ทำประชามติกันก่อนดีหรือไม่ว่า เห็นด้วยหรือไม่กับ "ให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น และให้มี ผวจ.ที่มาจากการเลือกตั้ง"
(9) อบต.เทศบาล เป็นงานเทกระโถน หรืองานกรมจเรทั่วไป ถ่ายเทงานแทบทุกกระทรวงลงมาหมด ยกเว้นเพียงงานสำนักนายกฯ การทำงานเช่นนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ นอกจากนั้น อปท.ยังต้องทำงานด้านบริหาร/บริการประชาชนอีกด้วย หน่วยเหนือ(ภูมิภาค ส่วนกลาง)ก็มีนโยบายลงมาคอยกำกับติดตามและรายงาน มันก็น่าปวดหัวน่าเห็นใจกับ อปท.ที่เป็นหน่วยงานเล็กๆ ในท้องถิ่นเป็นกระโถนที่ต้องดูแลประชาชนด้วย เมื่อสตง.เข้าตรวจสอบ อปท.จึงพบว่ามีความผิดพลาดสูงมาก คงต้องมีการแก้ไขกฎหมายและแก้รัฐธรรมนูญใหม่
(10) ต้องแก้ไขด่วน อย่าปิดหูปิดตาแกล้งมองไม่เห็น ท้องถิ่นรับงานทุกกระทรวงมาเต็มๆ งานในส่วนของตนเองก็เยอะมากอยู่แล้ว คนท้องถิ่นไม่ได้สอบเข้ามาแล้วทำหน้าที่ตามตำแหน่งที่สอบมีอย่างเดียว แต่ต้องช่วยทุกส่วนราชการ ทุกกอง งานราษฎร งานหลวง อย่าโยนงาน เข้าใจลูกน้อง อย่ายัดเยียดงานมาให้ท้องถิ่นนักเลย

(11) ระบบนี้คงอยู่เช่นนี้ไปอีกนาน​ รากฝังลึกเกินที่จะถอนได้ เห็นด้วยตามแนวคิดนี้ เพราะบรรยายได้เห็นสภาพปัจุบันที่เป็นรูปธรรมตามหลักความเป็นจริง
(12) ควรจัดให้มีจังหวัดนำร่องบริหารจัดการตนเองสักแห่งสองแห่งในลักษณะองค์กรมหาชนในกำกับของรัฐ เช่น คล้ายๆ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว 
(13) ทุกอย่างจะเป็นแบบนี้อีกนานแสนนาน หากไม่เปลี่ยนแปลงความคิด ผู้ปกครองบริหารในรัฐบาลชุดนี้
(14) ถูกต้องที่สุดส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคโยนงาน งานอะไรก็โยนให้ อปท. และรอรับผลงาน (รับชอบ) แต่รับผิด โยนให้ อปท. เพื่อให้ ปปช.และ สตง.มาตรวจจับผิดท้องถิ่นอย่างเดียว ปัจจุบันส่วนกลางจึงเพียงนั่งขอรายงานจากท้องถิ่นทั้งสิ้น
(15) ดังภาษิตที่ว่าไว้ อย่าคิดง้างกระดูกออกจากปากสุนัข 

(16) ชาวบ้านรอจังหวัดจัดการตนเองมานานมากกว่า 60 ปีแล้ว อยากเห็นตัวอย่างต้นแบบสัก 3 - 4 จังหวัด ภายใน 3-4 ปีนี้ 
(17) เป็นเรื่องจริง​ที่​พิสูจน์​ได้​คนไทยติดกับดักว่า​ อบต. เทศบาล​โกงมาก แต่ไม่ดูตัวเลขเงินความเสียหายที่ภูมิภาค​โกง รัฐบาล​โกงที่มีจำนวนมากกว่า หน่วยงาน​หน่วยงานตรวจสอบ​ก็เป็นเครือข่ายสารพัด connection โยงใยกัน มีอำนาจคุมเคลียร์​กันภายในได้หมด ท้องถิ่นจึงตกเป็นแพะซวยฝ่ายเดียว เพราะหน่วยตรวจสอบต้องการผลงาน กับตัวชี้วัด ขั้น เลื่อนยศ ตำแหน่ง กลับเป็นว่าแม้ท้องถิ่นจะรับงานทุกเรื่อง​ แต่ยังถูกตำหนิว่าไม่ได้ทำอะไร
(18) ทุกหน่วยงานสุดท้ายก็มาลงที่ท้องถิ่น ไม่เฉพาะส่วนภูมิภาค หน่วยงานอิสระ ปปช.จะประเมินความโปร่งใส ITA ก็จ้างคนทำเวบไซต์แล้วให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำข้อมูลส่งให้ ถามว่าให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำข้อมูลเพื่อประเมินผู้บริหารของตนเองไปเพื่ออะไร ทำไมหน่วยตรวจสอบไม่ทำเอง เงินเดือนค่าตอบแทน ปปช.สูง จ้างไว้ทำไม กกต.ด้วยที่ว่างงานมานานถึง 6-7 ปี สุดท้ายเอกสารงานต่างๆ ก็ให้ท้องถิ่นรายงาน งานหลักงานรอง งานนโยบายชาติ จังหวัด อำเภอ งาน อปท.ก็ยังต้องทำ แถมต้องไปทำงานให้หน่วยงานอื่นอีก
(19) พรบ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ  หากกระจายงานเพื่อให้ถึงประชาชนเฉพาะในท้องถิ่นของตนเองก็เป็นสัดส่วนที่ดี แต่ปัจจุบันกระจายงานทั้งทุกส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปให้ อปท.  แถมไม่ส่งคนมาให้ เห็นได้จากมีแต่ให้รายงานสารพัดเพื่ออะไร
(20) ก่อนจะคิดการใหญ่ ลองเริ่มจากตรงนี้ก่อนลองสำรวจใกล้ๆ ตัว ใน อบต./เทศบาล มีพนักงานจ้างคนงานกี่คนที่นายก/ปลัด จ้างคนงาน โดยเฉพาะคนงานจ้างเหมาให้มานั่งเล่นๆ ไปวันๆ เเต่ไม่มีงานให้ทำ เพราะระบบอุปถัมภ์ไง ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

(21) ในประเทศสารขันธ์ที่เต็มไปด้วย​ทฤษฎี ถ้า​สำเร็จ​ตามทฤษฏี​จริง ต่างประเท​ศก็ต้องมาดูงาน ผลการประเมินจะฟ้องชาวโลกว่าล้าหลัง​ ไม่โปร่งใส​เพราะว่า​ภาครัฐบาล​อ้างนโยบายแผนงานและผลงานที่เต็มไปด้วยกระดาษ แต่ประชาชน​ไม่ได้อะไรจากแผนงานและโครงการที่ซ้ำซ้อน มีหัวคิวผลประโยชน์ที่ยาว ขอให้หยุดทำร้ายประเทศ ปรับกระบวนทัศน์​ ทบทวนโครงสร้างราชการใหม่ เพื่อทุกอย่างจะชัดเจนในบริบทที่ดีกว่าเดิม
(22) มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แปลกที่คนทำเยอะ ก็ผิดเยอะ ส่วนคนไม่ทำก็ไม่ผิด มันเป็นเช่นนี้แล
(23) บางครั้งท้องถิ่นทำแล้วต้องรายงานเรื่องเดียวกัน แต่ขอหลายจากหน่วยงาน แปลกใจว่าระบบไอที ทำไม่ไม่ลิ้งค์กันจะได้ดึงข้อมูลได้ ไม่ต้องเป็นภาระให้กับท้องถิ่น ที่ทำงานแล้วต้องรายงานผู้ขอข้อมูลในหลายๆ หน่วยอีก
(24) แม้จะชัดเจนจริงแต่ทำไม่ได้ เพราะ “ค่านิยมศักดินานิยมรวมศูนย์อำนาจ” มันหยั่งรากลึกมากจนเกินจะแก้ไขได้ รอดูอีกสัก16 ปีข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอาจพอมีหวัง
(25) งานทะเบียนพานิชย์ งาน พรบ.โรงงาน งาน พรบ.หอพัก  งาน  พรบ.น้ำบาดาล งานฝากทำทั้งนั้น รวมงาน พม. งานราชทัณฑ์ด้วย

(26) ระบบเจ้าขุนมูลนายยังมีเหลืออยู่เยอะในประเทศไทย แม้ในท้องถิ่นก็มี ยังเหมือนประชาธิปไตยในพม่า
(27) คนทัองถิ่นขออันดับแรกให้ยุบเลิก ก.ต่างๆ ใน การบริหารงานบุคคล อปท.ให้ได้เสียก่อน เปลือง​เงินงบประมาณค่าตอบแทนค่าจ้างเปล่าๆ เพราะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประโยชน์

 

อ้างอิง

ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.2562, 
https://www.uthailocal.go.th/govdoc_detail.php?id=11369 

แผนการปฏิรูปประเทศ (13 ด้าน) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC), http://nscr.nesdc.go.th/แผนการปฏิรูปประเทศ/

& ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง), ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 44 ง วันที่  25 กุมภาพันธ์ 2564 หน้า 1, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/044/T_0001.PDF

& ประกาศแล้ว! แผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ฉบับปรับปรุงใหม่, มติชน, 25 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2597876

& พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก วันที่  31 กรกฎาคม 2560 หน้า 1-12, https://www.ldd.go.th/www/files/81731.pdf

& ประกาศเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580), ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 82 ก วันที่ 13 ตุลาคม 2564 หน้า 1, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF 

ข้อเสนอจังหวัดจัดการตนเองอ้างจากเฟซบุ๊ก บรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการท้องถิ่น (อบจ.), 28 มีนาคม 2563

 

หมายเหตุ

บทความนี้เผยแพร่ในสยามรัฐออนไลน์ วันที่ 14 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/313484 

หมายเลขบันทึก: 695755เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2022 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2022 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท