ปีเก่าผ่านไปปีใหม่มาแต่ท้องถิ่น 2565 คงเดิมอาจหนักกว่าด้วยซ้ำ


ปีเก่าผ่านไปปีใหม่มาแต่ท้องถิ่น 2565 คงเดิมอาจหนักกว่าด้วยซ้ำ

31 ธันวาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

การกระจายอำนาจล้มเหลวเพราะดอง ชี้นำ รวบอำนาจ

 

วันสิ้นปีใหม่มักมีสองคำขอให้ทบทวนรีวิวปรากฏการณ์ ผลงานที่เกิดขึ้นในรอบปีที่จะผ่านไป อย่างที่สองที่คาดเดายากคือ ให้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ เรื่องเด่นต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในมิติของท้องถิ่นปี 2565 ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ การคาดเดาสถานการณ์อนาคตเป็นสิ่งท้าทายที่มุมมองต่างคนก็ต่างใจไม่เหมือนกัน

ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา มีสารพัดเรื่องอยากพูดถึง ขอร่ายยาวมาเริ่มที่ประเด็นการเมืองว่า “ปี 2565 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง” เพราะจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น และอาจมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่[2] (บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นจาก 350 ที่นั่ง เป็น 400 ที่นั่ง) หรือจากการยุบสภา แม้จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาแต่ปลายปี 2563 แต่ก็ยังเลือกตั้งไม่หมด เพราะยังเหลือกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ตามรูปธรรมที่เห็นถือเป็น “ความล้มเหลวของการกระจายอำนาจ” เพราะ การปฏิรูปกฎหมายหลักท้องถิ่น 4 ฉบับไม่คืบหน้า คือ กฎหมายกระจายอำนาจ(กฎหมายว่าด้วยหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ) กฎหมายรายได้(กฎหมายว่าด้วยรายได้ รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้) ประมวลกฎหมาย อปท.(กฎหมายว่าด้วยวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกฎหมายจัดตั้ง อปท.) และกฎหมายข้าราชการส่วนท้องถิ่น(กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล) ตามมาตรฐานที่บัญญัติไว้แต่เดิมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 303(5) [3] ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน[4] มิได้มีบทบัญญัติเฉพาะเร่งรัดของ อปท.ไว้ เพราะการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นไปรวมอยู่ในหัวข้อการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

ตอกย้ำด้วยปัญหานโยบายการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อปท.[5] ที่ดองไว้นาน นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนา โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โครงการโอทอปต่างๆ ที่หลายแห่งไม่สอดคล้องกับบริบท เพราะมาตรฐานที่ถูกกำหนดแบบพิมพ์เดียวกันมาจากส่วนกลาง (One size fits all) ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน (People Participation) ฉะนั้น หลายโครงการไม่ก้าวหน้า จนถึงขนาดร้างไป รวมทั้งโครงการนโยบายของรัฐ เช่น โครงการบ่อขยะรวม โครงการบำบัดน้ำเสีย ก็ยังยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะประชาชนขาดความผูกพันต่อองค์กร (Organizational Commitment) นอกจากนี้ โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจแบบขอตรงจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายใหม่ที่ใช้ทุก อปท.ตั้งแต่ปี 2564-2566 นี้[6] แต่ส่วนกลางยังมีอำนาจบารมีชี้นิ้ว ชี้นำ และอ้างแผนพัฒนา One Plan โดยยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของจังหวัด เพราะมีการแก้ไขตราระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.2562[7] 

ปัญหาทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง การพัฒนารายได้ท้องถิ่น ตามหนังสือที่ กค(กวจ) 0405.2/ว 845 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564[8] ให้ยกเลิก ว 89 (MIT & SME) ใช้ ว 845 แทน ที่อนุมัติยกเว้นและกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ได้สร้างบรรทัดฐานความรู้สึกที่ย้อนแย้งกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของท้องถิ่น ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบแต่มิอาจปฏิเสธการปฏิบัติได้ เพราะอาจมีการปฏิบัติ เลือกปฏิบัติ ที่มีส่วนได้เสียที่เป็นเหตุแห่งการทุจริตไม่หมดไป

เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 หรือ ภดส. ยิ่งทำยิ่งดูยิ่งขุดยิ่งลึกในการบริหารจัดการ ที่ล่าช้าแถมรัฐมีการลดยกเว้นภาษีถึง 90%[9] มันผูกโยงกับกฎหมายภาษีมรดก 2558 และ การจัดทำแผนที่และทะเบียนทรัพย์สินของ อปท.ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่นมาก แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ครม.ยังไม่ทราบ กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายว่าจะลดภาษีที่ดินฯ ลงอีกในปี 2565[10] ที่กดดันเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาก เพราะอีกไม่กี่วันก็จะขึ้นรอบการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ภดส.ใหม่แล้ว

 

วิกฤตการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาสองปีเศรษฐกิจบอบช้ำ

 

ผนวกกับวิกฤตการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาในรอบ 2 ปีสร้างความบอบช้ำทางเศรษฐกิจไทยและท้องถิ่นมาก แถมถูกซ้ำเติมจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) [11] หนึ่งในสายพันธุ์ใหม่ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOCs) [12] ที่รุนแรงกว่าเดิม หลายจังหวัดประสบปัญหาเกิดคลัสเตอร์เป็นสีแดง[13] เพราะคนเดินทางข้ามจังหวัดเสรี บางจังหวัดเจอ Omicron รายแรก ก็ยังไม่กล้าออกข่าวกลัวกระทบการท่องเที่ยว

การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด[14]  ไทยเริ่มเปิดประเทศตามนโยบายมาตรการท่องเที่ยวแซนด์บอกซ์ (Sand Box) [15] ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 63 ประเทศที่ภูเก็ต โดยไม่ต้องกักกันตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นโยบายมาตรการท่องเที่ยวบับเบิลในระหว่างพื้นที่[16] หรือมาตรการทำงานของคนงานในโรงงานซีลและบับเบิล (Seal & Bubble)[17] แม้จะรวบอำนาจขึ้นตรงกับ ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ก็แล้วแต่อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ของแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันไป ส่งผลกระทบความไม่เท่าเทียมกันต่อท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ที่แต่ละท้องที่มีบริบทที่แตกต่างกัน ถือเป็นอุปสรรคต่อนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่กระทบต่อท้องถิ่นมาก เพราะไม่สามารถทำนโยบายโควิดซีโรได้ และโควิดจะยังอยู่ยาวกลายเป็น “New Normal & Now Normal” [18]ไปอีกนาน หลังปีใหม่รัฐจะขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมโควิด และส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) มากขึ้น[19]

การใช้งบแก้ไขปัญหาโควิดมากมาย อาจเรียกว่าควบคุมได้ในระดับหนึ่งที่ดีกว่าในหลายประเทศ เพราะความได้เปรียบของระบบการสาธารณสุขไทยที่เข้มแข็ง หาใช่มาจากการบริหารของรัฐโดยตรงไม่ แอปไทยชนะ[20] ยังไม่ตอบโจทย์ การกรอกข้อมูลส่วนตัวมากไป ชาวบ้านเสียเปรียบเพราะอาจสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคลไปแก่มิจฉาชีพ เนื่องจาก ศบค.ไม่ห้ามการจัดงานเลี้ยง จึงให้ประชาชนเข้าประเมินตนเองที่แอปฯ “Thai Save Thai”[21] ก่อนไปร่วมงาน

ล่าสุดด้วยความล่าช้าดึงดองดึงดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ อย่างไว้ นี่ยังไม่รวมการกู้เงินของรัฐบาล 1.9 ล้านล้าน[22] เปิดโอกาสให้ทุนจีนครอบงำเศรษฐกิจมาหลายปี[23] นายทุนจีนยึดล้งผัก ล้งผลไม้ สินค้าต่างๆ แม้แต่การอุดมศึกษา ร้านค้า คอนโดฯ รวมโครงการพัฒนาภาคตะวันออก ตอนนี้สินค้าผักจีนทะลักมาทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านลาว วันละ 93-94 ตัน เข้าตีตลาดไทย[24] กระทบแหล่งปลูกผักตามเขตพื้นที่ชลประทาน และภาคกลาง โดยเฉพาะที่ “ตลาดไท” ศูนย์รวมสินค้า นอกจากนี้สังเกตว่าทุนจีน รวมร้านสะดวกซื้อ แต่อ้างแบรนด์ไทย ขยายฐานไปเวียตนาม ลาว เขมร เรียกว่าทำธุรกิจหลายประเภท (ทุกประเภท) เคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคาร โกยเงินคนไทย กรรมกรแรงงานไทย พม่า ลาว เขมร เวียตนาม สบายๆ

ด้านโลกข่าวสารโซเซียลก็มาไม่มีเว้น Metaverse[25] หรือ “อินเทอร์เน็ตเวอร์ชันเสมือนจริง” ของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก (FB) ที่ขายกิจการและเปลี่ยนชื่อใหม่ ยังไม่ทราบว่าจะกระทบกับไทยเพียงใด เพราะต่อไปไทยอาจถูกแพลตฟอร์มของจีนเข้ามายึดครองโซเซียลไทยก็ได้

 

ศาสตร์พระราชาสร้างสมดุล แก้พฤติกรรม “ซ่อนเร้นแบบจริต” ที่ทำสังคมไทยป่วน

 

สังคมไทยไม่สงบ เพราะผู้ใช้บทบาทของสังคมคนมีอำนาจหน้าที่ส่วนกลางซ่อนเร้น คืออะไร พฤติกรรมซ่อนเร้น คือการไม่ตรงไปตรงมา มีพฤติกรรมลึกลับ[26] ที่เก็บซ่อนความรู้สึกแท้จริงไว้ในใจ จึงแสดงพฤติกรรมอย่างอื่นกลบเกลื่อน ลืมหลักครองตนแบบกลางๆ สายกลางแบบพระพุทธเจ้า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตาม “ศาสตร์พระราชา” (Sufficiency Economy) [27] คือ “ทุกเรื่องสงบ เสมอภาค ไว้วางใจกัน” แต่กลับมีการเอาชนะคะคานกันแบบตรงๆ ระบบราชการมีการซื้อขายตำแหน่งแบบตรงๆ หรือ “การติดสินบนแบบจริต” แกล้งเพื่อหวังผลอื่น เล่นไพ่แกล้งตีโง่เอาใจ การยกยอปอปั้น(ชะเลีย) การประจบสอพลอ เหล่านี้ คือการใช้จริต 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ดำรัสว่า ทหารต้องกล้าหาญ แต่อย่าบ้าบิ่น ต้องรอบคอบเกิดสมดุล คือหลักพอประมาณ เศรษฐกิจพอเพียง แต่กลับสร้างทุกเรื่องแทนพลเรือน จนหน่วยงานล้น ตั้งกองกำลัง ลืมหน้าที่หลักของตัวเอง หลักบริหารบ้านเมืองและการเมืองต้องมี “จุดสมดุล” อยู่ที่การรักษาประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ แก่ส่วนรวม “อำนาจไม่เที่ยงแท้แน่นอน หน้าที่ต้องส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัว” การตรวจสอบเรื่องใดมีผลประโยชน์อะไรกันแน่ ตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะเพื่อประชาชน หรือเพื่อสนองประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่ชนะแล้ว มีการตรวจสอบแบบเอาเป็นเอาตาย ความพอดีไม่มี เลยเถิด รุกเอาให้ตาย ตรวจสอบเพราะความแก้แค้นเอาคืน ต้องมีธรรมะในใจ ต้องมีความเสมอภาคทางสังคม ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ต้องมี “ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” (Trust) ที่ความหมายตรงข้ามกับ “การชิงไหว ชิงพริบ” งบประมาณท้องถิ่นหลายอย่างตอแหลมา หลอกเอางบมาลงไม่ชอบ ตบแต่งข้อมูลที่มีน้อยเพียงเม็ดถั่วเขียว 

ชาวบ้านจะไม่ยึดติดเรื่องอื่น ใครเสนอประโยชน์ให้ได้ก็จะเลือกคนนั้น เขาไม่ได้คิดว่าคนที่ให้เขาไปเอาเงินมาจากไหน อาจมาจากการทุจริตก็เอาหมด เพราะชาวบ้านไม่เชื่อว่ามีใครรักษาประโยชน์ให้ ชาวบ้านไม่รู้ว่าใครดีที่สุด แม้คนโกงมาแต่ชาวบ้านได้ประโยชน์เขาก็เอา 

สถานการณ์โควิดรุนแรง แต่มีข้อสงสัยว่าเป็นเกมส์ของมหาอำนาจในสงครามเชื้อโรคหรือไม่ เพื่อขายวัคซีน เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทั้งสิ้น เหมือนการขายอาวุธสงครามของมหาอำนาจทั่วไป เหตุใดรัฐบาลไทยไม่ซื้ออาวุธจากบริษัทไทย ก็เพราะอาจไม่ได้ประโยชน์ จึงซื้อจากต่างประเทศดีกว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ขายปืนให้เขมร เพราะแลกกับการตัดไม้ ขายปืนให้ชนกลุ่มน้อยพม่า เพื่อแลกหยก ยาเสพติด

คิดแบบนี้คงไม่มีใครว่าหัวโบราณ เคยคิดบ้างไหมว่า มนุษย์เรามักทำเกินพอดี ละเมิดกฎธรรมชาติมานาน สร้างอาวุธทำลายล้างธรรมชาติ รุกถางป่าที่อยู่ของสัตว์ป่า ล่าสัตว์ป่า จนพืชสัตว์สูญพันธุ์ ไม่ได้ทำเพื่ออยู่ แต่ทำเอาจนธรรมชาติสูญพันธุ์ มองมุมกลับหากมนุษย์อยู่อย่างพอเพียง เรียนรู้ธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่ต้องไปทำลายพืชสัตว์สิ่งแวดล้อมดังเช่นทุกวันนี้ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ พอกิน พออยู่ พอแลกเปลี่ยน กันกิน กันใช้ ทำเกษตร พออยู่พอกิน ไม่ต้อง ทำมากจนล้น ก็จะไม่ไปทำลายธรรมชาติ ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ใช้สมุนไพรเป็นยา ไม่ต้องใช้สารเคมีทำยา ก็ไม่เกิดโรคมะเร็ง มีสมุนไพรอย่างเพียงพอ ป่าก็ไม่ถูกทำลาย ปลูกพืชพออยู่พอกิน แถมพืชในป่าก็เป็นอาหาร ที่อยู่ได้ทั้งคนและสัตว์ แต่ ณ เวลานี้มนุษย์ได้บริโภคธรรมชาติจนล้นเกินไปแล้ว การใช้เครื่องจักรกล ทำลายป่า ทำการเกษตร แต่ต้องพึ่งน้ำมันที่ต้องขุดเจาะน้ำมัน ต้องพึ่งน้ำก็ต้องสร้างเขื่อน ต้องสร้างถนน ท่าเรือ สนามบิน ล้วนทำธรรมชาติ ให้ย่อยยับ ต้องทำเครื่องสูบน้ำ เพื่อเอาน้ำมาทำการเกษตร 

อาจเป็นแผนชั่วร้ายของใครบางคนในชาติที่ยุยงให้แย่งอำนาจกัน เพื่อจะได้ขายอาวุธ ให้เขาทำร้ายกัน แล้วคนชาติอื่นก็เข้าไปจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชาติ ประเทศมหาอำนาจที่เหนือกว่าย่อมมีแต่ได้กับได้ ได้ขายอาวุธ ได้ครอบครองเศรษฐกิจ บ่อน้ำมัน แร่ธาตุสำคัญ ตามที่ตนต้องการ การได้ทำธุรกิจ ลงทุน ครอบครอง พื้นแผ่นดิน หากินยาวๆ แบบการรับสัมปทาน การค้า การลงทุน การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ จากกิจกรรมการดำเนินชีวิตของคนในชาติ ที่ถูกครอบครองด้วยเหตุอ้างว่า “ด้อยพัฒนา ต้องพึ่งพา” (Dependency) [28]

ใครคงไม่คิดว่าการปล่อยเชื้อโรคระบาดโควิด 19 เพื่อหวังทำวัคซีนขาย กอบโกยร่ำรวยบนความทุกข์ของมวลมนุษยชาติ มองมุมกลับเหตุใดประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เขมร พม่า ได้วัคซีนฟรีไม่ต้องซื้อ มีการบริจาควัคซีนให้ด้วยมองเห็นสิ่งที่จะได้มากกว่าขายวัคซีน เช่น ได้ลงทุน ได้กอบโกย ได้ทรัพยากรในดิน ในน้ำ ในภูเขา ได้ครอบครองใจ (บุญคุณ) ของคนชาตินั้น เพื่อเขาจะได้อยู่ยาว ในฐานะที่เป็นพ่อพระแม่พระ แต่สำหรับ คนเวียตนามตื่นรู้จึงถูกเมินจากทุนใหญ่ จึงเหลือแต่ประเทศทุนรองที่เข้าไปลงทุน สำหรับไทยถูกทุนใหญ่ดูดเอาทรัพยากรป่าไม้ ดีบุก น้ำมัน แร่ธาตุ ต่างๆ เอาไปไม่น้อย แถมขายสัมปทานสำคัญๆ เช่น สนามบิน ท่าเรือ (เอกชน) ทางด่วน ให้ทุนต่างชาติอยู่กันยาว แถมเป็นศูนย์กลาง ทางผ่านไปประเทศเพื่อนบ้านให้ด้วย ใครคบนายทุนเหล่านี้ ก็รวยไปด้วย แต่หากใครอยู่แบบพอเพียง ก็ถูกรุกราน ดังเช่นคนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ชาวมอแกน

ไม่เถียงว่าไทยก็ต้องพัฒนาไปตามกระแสโลกที่เจริญแล้ว ดังตัวอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลอื่นพาทำ เพื่อความอยู่รอดของคนทั้งชาติ ไม่ถูกกลืนไปแบบเพื่อนบ้านหลายชาติ คนตรงข้ามมองว่า หากไทยเป็นเมืองขึ้นตะวันตกป่านนี้ประเทศไทยเจริญแบบสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่มันเจริญขึ้น แต่ถ้ามองลงไปให้ลึกซึ้ง คนในชาติเหล่านี้ตรงข้ามกับคนไทย ล้วนเป็นโรคเครียด มีสถิติฆ่าตัวตายสูง ที่ชอบทำอะไรแผลงๆ และหันกลับไปอยู่อย่างโหยหาธรรมชาติ อยากอยู่อย่างพอเพียง

ดังนั้น ไทยยังไม่สาย แม้ไม่สามารถย้อนกลับไปหาอดีตได้ แต่การหันมามองปัจจุบันและอนาคต ว่าจะสร้างความสมดุลตามหลักพอเพียงและพัฒนา เพื่อป้องกันการรุกรานจากทางทหาร ทางการเมือง จากภายนอกได้อย่างไร และที่สำคัญ การรุกภายใน สินบน ความเชื่อ ศาสนา ทุนผูกขาด คอนเน็กชั่น คนครองอำนาจ สัญญาผูกขาด การรุกล้ำสิทธิความเป็นอยู่ของพลเมืองไทย ก็ต้องมีการเรียนรู้เท่าทัน คนชั้นนำที่ถือครองอำนาจอยู่ ก็ไม่ควร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ เอากับคนใต้การปกครอง จนคนในชาติปั่นป่วน หมดอนาคต หมดหวัง หมดสุข สร้างภาระ การดำเนินชีวิตดิ้นรน ต้องหากินหาใช้ คนเกิดความเครียด แบบประเทศที่กล่าวถึงคือ “ไทยแลนด์แดนคนยิ้ม” [29] ก็จะได้หลงเหลือไว้เป็นมรดกโลกสืบต่อไปได้ คนยิ้ม คือกระจกที่สะท้อนออกมาให้เห็น ภายใน ที่ไม่ใช่รอยยิ้มแห้งๆ ยิ้มอย่างยอมแพ้ ยิ้มอย่างเคารพ นบนอบ ยอมสิโรราบ หรือยิ้มอย่างเย้ยหยัน

 

ปีใหม่ 2565 ท้องถิ่น อปท.แม้ไม่ชัดเจนว่ามีสิ่งใดที่ถอยหลังบ้าง แต่เชื่อว่า พฤติกรรมการบริหารของผู้กำกับดูแลท้องถิ่นยังตั้งป้อมขอความร่วมมือสารพัดจาก อปท.เช่นเดิม ยังไม่ได้ช่วยเหลือเชิงการบริหารแก่ อปท. มีแต่ขอความร่วมมือ เป็นภาระ หน้าที่การขายสลากกาชาด บัตรการกุศล ขอรับการสนับสนุนที่เป็นภาระงบประมาณทั้งสิ้น การเสนอหน้า (ออกอีเว้นต์)รับหน้าหน่วยเหนือ ยังเป็นหน้าที่ปกติที่มิใช่หน้าที่ผู้กำกับฯ แฝงด้วยการมาล้วงแสวงประโยชน์ ถือเป็นจุดบอดสำคัญในการ “ยื้อยุทธการกระจายอำนาจ และการบอนไซท้องถิ่น” ด้วยอำนาจนิยมและการรวบอำนาจ ยกตัวอย่างการเสนอหนังสือให้นายอำเภอเรียกประชุมสภาครั้งแรกของท้องถิ่นที่เป็นหน้าที่โดยตรงของท้องถิ่นอำเภอ แต่ อปท.บางแห่งต้องเสนอเรื่องเองประสานเอง 

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 31 ธันวาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/309936 

[2]กลิ่นอายยุบสภา กับ 41 จังหวัดได้ประโยชน์จากเลือกตั้งบัตร 2 ใบ, ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, 25 พฤศจิกายน 2564, 

https://www.thansettakij.com/politics/504550 

[3]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 303ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

(5) กฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกฎหมายอื่นตามหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 176 ในการนี้ จะจัดทำเป็นประมวลกฎหมายท้องถิ่นก็ได้

[4]ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 10 กันยายน 2561, http://www.mnre.go.th/th/infographic/more/383

[5]กรณีที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมติเห็นชอบการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.จากสังกัด ก.สาธารณสุข ไปสังกัด อปท.ล่าสุด อปท.บางส่วน ยังกังวลว่า นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดู ข้อกังวลถ่ายโอน รพ.สต.สังกัด อปท., Thai PBS News, 3 มิถุนายน 2561, https://www.youtube.com/watch?v=9V0L-wJFVg0  & ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 254 ง วันที่ 19 ตุลาคม 2564 หน้า 14-15, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/254/T_0014.PDF & บทเรียนถ่ายโอน รพ.สต.สู่ ท้องถิ่น, 18 พฤศจิกายน 2564, https://www.youtube.com/watch?v=34fFEyjciLc & เปิดข้อเสนอแนะแก้ปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อปท. เป็นไปได้หรือไม่ ติดตามรับฟังได้ทาง Senate Podcast ในรายการ Law Talk กับ สว. ตอน เปิดผลการศึกษาถ่ายโอน รพ.สต. สู่ท้องถิ่น โดย นายณรงค์ อ่อนสอาด สมาชิกวุฒิสภา, 24 ธันวาคม 2564, https://www.facebook.com/watch/?v=1106535433510174

[6]ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 การขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจโดยตรงจากสำนักงบประมาณ เริ่มมาแต่ปี 2564-2566, http://www.ssklocaladmin.go.th/system_files/254/9c8f902c95378a3b63fd251ae83e1ef3.pdf  

[7]ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 149 ง วันที่ 11 มิถุนายน 2562 หน้า 1-10, http://www.dgr.go.th/division/th/newsAll/220/2195 & http://www.dgr.go.th/division/th/downloadFile/?file=rRMjET1Dql5ZAT0kMmA0YJycrTSjnT1Hql1ZBJ04MmA0BTxlrQOjAz03qmSZZ202MmI0ZJxgrTIjoT1cq2MZY21yM2k0nJyzrP9jp213q2IZoz0jMmO0ZJxirTEjLJ1iq2kZpT11Ml90pzyarTEjY213q3qZq20iM3W0LJy2rP8WewEb3Q&n=ระเบีบยกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ระดับอำเภอและตำบล%20พ.ศ.%202562&t=GTMgoJqwqS9cMUug&id=Mmu0BJxlrQRWewEb3Q 

[8]หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค(กวจ) 0405.2/ว 845 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เรื่อง อนุมัติยกเว้นและกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563, https://www.yotathai.com/passadu/w-845 

[9]พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ดู ราชกิจจาฯ ประกาศลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90 เปอร์เซ็นต์, ข่าวมติชน, 1 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2556495

[10]อ้างจาก เฟซบุ๊ก วีระศักดิ์ เครือเทพ, 24 ธันวาคม 2564, การประชุม ก.ก.ถ. เมื่อวันศุกร์ 24 ธันวาคม 2564 

[11]ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คาดจะพบผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 30,000 ราย หากพบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงปีใหม่จำนวนมาก เป็นการคาดการณ์กรณีที่ไม่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค แต่ที่ผ่านมาประชาชนร่วมมือดีมาก ทำให้สถานการณ์ติดเชื้อจริงดีกว่าที่คาดไว้ ขอให้ทุกคนร่วมกันป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา 

ดู ปลัด สธ. เตือนหลังปีใหม่อาจติดโควิดถึงวันละ 3 หมื่นคน หากไม่ร่วมกันป้องกันตนเองอย่างสูงสุด, Amarin TV, 29 ธันวาคม 2564, https://www.amarintv.com/news/detail/114616?utm_source=line&utm_medium=feed&utm_campaign=default

& โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์น่ากังวล แพร่เชื้อเร็ว, รพ.ศิครินทร์ : sikarin, 29 พฤศจิกายน 2564, https://www.sikarin.com/health/โอไมครอน-omicron-โควิดสายพันธุ 

[12]ดู COVID-19! OMICRON ทำไมถึงต้องจับตามอง?, แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ, โรงพยาบาลศิครินทร์, 9 ธันวาคม 2564, https://www.sikarin.com/health/covid19/covid-19-ทำไมถึงต้องจับตามอง & Covid-19 : 4 สายพันธุ์อันตรายในไทยที่ต้องระวัง, โรงพยาบาลศิครินทร์, 24 มิถุนายน 2564, https://www.sikarin.com/health/covid19-สายพันธุ์อันตรายในไทย 

[13]คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ติด ‘โอมิครอน’ พุ่ง 125 ราย ลามอีก 2 จังหวัด ‘อุดรธานี-ลำพูน’ กระบี่-ภูเก็ต แม่บ้านติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่พักอาศัย

ดู สธ. เกรงหลังปีใหม่ “โอไมครอน” ระบาดเพิ่ม จ่องัดมาตรการเสริมสู้, สยามรัฐ, 29 ธันวาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/309739 

 & ปลัด สธ. เตือนหลังปีใหม่อาจติดโควิดถึงวันละ 3 หมื่นคน หากไม่ร่วมกันป้องกันตนเองอย่างสูงสุด, อมรินทร์ทีวี, 29 ธันวาคม 2564, https://www.amarintv.com/news/detail/114616?utm_source=line&utm_medium=feed&utm_campaign=default&  & คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ติด 'โอมิครอน' พุ่ง 125 ราย ลามอีก 2 จังหวัด 'อุดรธานี-ลำพูน', ข่าวสด, 27 ธันวาคม 2564, https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6804510 & โอมิครอนคลัสเตอร์กาฬสินธุ์กระจายรวม 5 จังหวัด 135 ราย รอยันสายพันธุ์อีก 97, ไทยรัฐออนไลน์, 27 ธันวาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/2274882 

& “หมออุดม” รับกังวลไฮบริดลูกผสม “เดลตา-โอไมครอน” วอนช่วยกันสกัด ชี้ยิ่งแพร่เชื้อมากยิ่งมีโอกาสกลายพันธุ์, ผู้จัดการออนไลน์, 13 ธันวาคม 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9640000122873 & “โอมิครอน” แผลงฤทธิ์เขย่าโลก สะเทือนกองทัพ ปรับแผนเฝ้าระวังทหาร, ไทยรัฐออนไลน์, 3 ธันวาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/2256326

[14]เทรนด์ท่องเที่ยวปี'65 นักท่องเที่ยวพร้อมเปย์หนักขึ้น เพื่อค้นหาสิ่งใหม่, prachachat, 24 ธันวาคม 2564, https://www.prachachat.net/tourism/news-828897 & ปรับโครงสร้างท่องเที่ยวไทย กลยุทธ์มุ่งสู่การฟื้นตัวปี 2565, ไทยรัฐ thairath.co.th, 22 ธันวาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/2270131 & 5 สมาคมท่องเที่ยวรวมพลัง ‘One Voice’ จี้รัฐเร่งมาตรการพยุงธุรกิจ-กระตุ้นเดินทาง, โดยพรไพลิน จุลพันธ์, กรุงเทพธุรกิจ, 11 มิถุนายน 2564 เวลา 8:38 น., https://www.bangkokbiznews.com/news/942906 

[15]ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox), Thai on Tours, 22 ธันวาคม 2564, https://thaiontours.com/phuket-sandbox

[16]รู้จัก “บับเบิล”, ไทยรัฐออนไลน์, 9 ม.ค. 2564, https://www.thairath.co.th/sport/worldsport/badminton/2009164 

[17]จากโรงงานถึงเรือนจำ: มาตรการ Bubble & Seal คืออะไร จะใช้ได้ผลไหมใน ‘ราชทัณฑ์คลัสเตอร์’ โดย นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก, thestandard.co, 18 พฤษภาคม 2564, https://thestandard.co/bubble-and-seal/ 

[18]จากชีวิตวิถีใหม่แบบ ‘New Normal’ เรื่อยมาจนถึง ‘Next Normal’ และตอนนี้ก็คือยุค ‘Now Normal’ ชีวิตวิถีใหม่ของวันนี้ ที่ผู้คนต่างก็ได้ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ และต่างมองหาประสบการณ์แบบครบวงจร (Total Experience)  ดู รู้จักเทรนด์ยุค Now Normal ชีวิตวิถีใหม่ของวันนี้ พร้อมถอดรหัส Life on LINE แคมเปญใหม่จาก LINE [ADVERTORIAL]โดย THE STANDARD TEAM, 12 ตุลาคม 2564, https://thestandard.co/life-on-line-now-normal/  

[19]สำนักงานเลขาฯ วุฒิสภาให้ ขรก.WFH 100%หลังปีใหม่, Posttoday.com, 29 ธันวาคม 2564, https://www.posttoday.com/politic/news/671869 & “สาธิต”ยันเอกชนขอความร่วมมือWFH หลังปีใหม่ หวั่นตัวเลขติดโควิดพุ่ง เชื่อไม่ซ้ำรอยสงกรานต์ปีก่อน, 28 ธันวาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/309308  & ศบค.ขอหน่วยงานรัฐอนุญาต จนท. WFH หลังหยุดปีใหม่ แนะ ATK ก่อนกลับภูมิลำเนา-กลับเข้าทำงาน, มติชน, 22 ธันวาคม 2564, https://www.matichon.co.th/covid19/news_3099001

[20]แอปที่ได้รับความนิยมช่วงโควิด-19 ได้แก่ แอปเป๋าตัง (เป็นแอปรองรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลสารพัดมาตรการ ทั้งคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้, เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน) แอปหมอชนะ (เป็นตัวช่วยสำคัญในการสอบสวนโรค ทั้งยังสามารถตอบคำถามประเมินอาการของตัวเองได้ด้วย โดยแอปฯ จะแบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 4 ระดับ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง) แอปไทยชนะ (เพื่อใช้สแกนเช็กอิน เช็กเอาท์ประเมินกิจกรรม และสถานที่ที่บุคคลทั่วไปจะเข้าไปใช้บริการ ลดโอกาสการเดินทางเข้าไปในสถานที่ที่อาจจะแออัด มีคนมาก จึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค) แอปหมอพร้อม (ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนจองและรับคิวการฉีดวัคซีน) 

ดู โควิด-19: จาก “ไทยชนะ” สู่ “หมอชนะ” แอปชื่อดังจากฝั่งรัฐตอบโจทย์ป้องกันโรคได้เพียงใด โดย วัชชิรานนท์ ทองเทพ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, 24 มกราคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-55784607 & แอปฯ ของภาครัฐในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด, เวบสนุก, 24 มิถุนายน 2564, https://www.sanook.com/hitech/1535669/   

[21]กรมอนามัย ผุดแอปพลิเคชั่น ไทยเซฟไทย : Thai save thai ประเมินตัวเองก่อนเที่ยววันปีใหม่-เคาท์ดาวน์ปีใหม่ ศบค.ชุดเล็ก วอน การ์ดอย่าตก ดู เปิดแอป ไทยเซฟไทย ประเมินตัวเองก่อนร่วมเคาท์ดาวน์-เที่ยวปีใหม่, thansettakij, 24 ธันวาคม 2564, https://www.thansettakij.com/general-news/507958

[22]พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อใช้เยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ผ่านการลงมติ “เห็นชอบ” ของสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว พ.ร.ก. 3 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านสภาฯ เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 2563) แบ่งออกเป็น

(1) พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

(2) พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

(3) พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563

ดังนั้น รัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้จริง ๆ ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 9 แสนล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท. ยืนยันว่าเงิน 9 แสนล้านบาท ไม่ได้กู้และไม่ได้นำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ แต่ ธปท. ใช้วิธีการจัดสรรสภาพคล่องในระบบ นำเงินส่วนเกินที่มีอยู่แล้วมาเติมส่วนที่ขาด โดยปัจจุบัน ธปท. มีสภาพคล่องส่วนเกินกว่าล้านล้านบาท

ดูไขข้อข้องใจ พ.ร.ก. เยียวยาโควิด 1.9 ล้านล้าน โดย ดร.พีท - พีรภัทร, workpointtoday, 1 มิถุนายน 2563, https://workpointtoday.com/saving-guru-15/ 

[23]สำหรับไทย นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ดที่ยอมให้นักลงทุนจีนเช่าที่ดินในระยะยาวถึง 99 ปี ทำให้ดูคล้ายกับว่า ที่ดินและกิจการบนที่ดินนั้น เป็นอาณานิคมย่อส่วนของจีน ดู จักรวรรดินิยมจีนส่งทุนสร้างอาณานิคม โดย แสงไทย เค้าภูไทย, สยามรัฐ, 23 มีนาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/229680

[24]ผลพวงรถไฟลาว-จีน ทำผักผลไม้จีน ทะลักเข้าไทย หวั่นกระทบเกษตรกร, ch3plus news, 23 ธันวาคม 2564, https://ch3plus.com/news/category/271340 & ผัก-ผลไม้จีนติดล็อกด่านลาว ต่อลมหายใจ “ตลาดไท”, ประชาชาติธุรกิจ prachachat, 22 ธันวาคม 2564, https://www.prachachat.net/economy/news-826426 & รถไฟจีน-ลาวแผลงฤทธิ์ ผักผลไม้ทะลักท่วมตลาด, ประชาชาติธุรกิจ prachachat, 15 ธันวาคม 2564, https://www.prachachat.net/economy/news-821362 

[25]เมตาเวิร์ส (Metaverse)หรือในศัพท์บัญญัติว่า “จักรวาลนฤมิต” (มาจาก จักรวาล หมายถึง ปริมณฑล, ขอบเขต, ฝูงชน นฤมิต หมายถึง สร้าง, แปลง, ทำ)  เป็นการทวนซ้ำตามสมมติฐานของอินเทอร์เน็ต ซึ่งรองรับสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแบบ 3 มิติในรูปแบบออนไลน์ต่อเนื่อง สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เช่นเดียวกับอุปกรณ์สำหรับความเป็นจริงเสมือน (VR) และความเป็นจริงเสริม (AR) จักรวาลนฤมิตในรูปแบบที่จำกัด ได้ถูกนำมาใช้ในวิดีโอเกมแล้วอย่างเช่น เซคันด์ไลฟ์ : วิกิพีเดีย 

[26]ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี่ ดู รู้จักตัวเองดีพอหรือเปล่า, OK Nation, 25 สิงหาคม 2551, http://oknation.nationtv.tv/blog/global/2008/08/25/entry-1  

[27]เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา)

ดู เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy, เวบสนุก, 26 พฤศจิกายน 2556 05.25 น., https://guru.sanook.com/4303/

[28]ทฤษฎีพึ่งพา หรือ ทฤษฎีภาวะพึ่งพิง (Dependency Theory)เป็นมโนทัศน์ว่าทรัพยากรไหลจากรัฐยากจนและด้อยพัฒนาหรือ “ชายขอบ” ไปยังรัฐร่ำรวยหรือ “แกนกลาง” ทำให้ประเทศแกนกลางร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ประเทศชายขอบยากจนลง ข้อโต้เถียงใจกลางของทฤษฎีภาวะพึ่งพิงว่ารัฐยากจนลงและรัฐที่ร่ำรวยยิ่งรวยขึ้นจากวิธีที่รัฐยากจนถูกรวมเข้าสู่ “ระบบโลก” (world system) : วิกิพีเดีย

สรุป ประเทศร่ำรวยจะดึงเอาประเทศยากจนทั้งหลายเข้าสู่ระบบโลก ให้พึ่งพาประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะดูดเอาทรัพยากร บุคลากร แรงงาน และผลประโยชน์ต่างๆ จากประเทศยากจนที่ตนเองไปส่งเสริมสนับสนุน” ในนามของ “การพัฒนา”

ดู ทฤษฎีพึ่งพาและพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม, โดยเสรี พงศ์พิศ, สยามรัฐ, 15 มกราคม 2563, https://siamrath.co.th/n/126549

[29]Land of smiles, Land of Happy Smile เป็นฉายาของประเทศไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้ม ไทยแลนด์ ดินแดนแห่งมิตรภาพ ที่การท่องเที่ยวเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2556 แต่มีภาพลักษณ์ด้อยลงในปี 2561

ดู ภาพงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Thailand...Land of Happy Smile, ในบทความ..ไปไหนดี, 11 กันยายน 2556, http://www.painaidii.com/diary/diary-detail/000979/lang/th/

& ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังถือว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม Land of smiles อยู่มั้ยคะ?, เวบ pantip, 22 ธันวาคม 2561, https://pantip.com/topic/38389535  



ความเห็น (2)

Thank you for this insightful post.

I wonder if our elected Councillors (for Local Government Administrations -LGAs] had considered [any] these issues at all before the election. I did not see any election policies/promises on these issues in the media. I suppose these will have to learn while doing the job ;-)

Dear sr; You mean that we shall learn democracy in job. What are jobs that can learn?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท